การเข้ามาของแมชชีนที่ทดแทนกลุ่มแรงงานสายฟาสต์ฟู้ด
หลังจากที่เข้าไปส่องเว็บไซต์ http://creator.rest ผมสรุปได้คำเดียวเลยว่า “หุ่นยนต์ทำเบอร์เกอร์คือเจ๋งสุดๆไปเลย” อยากได้เอามาตั้งไว้ในครัวเพื่อทำเบอร์เกอร์ที่สุดแสน “perfect” ชั่งตวงตัดหั่นราดซอสที่เป๊ะๆตามที่เราต้องการ ไม่ขาดไม่เกิน
ที่จริงแล้วพอเรียกมันว่าหุ่นยนต์หลายๆคนอาจจะคิดว่ามันต้องมีรูปร่างเหมือนพ่อครัวแม่ครัวที่มีขามีแขนเหมือนมนุษย์ แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ มันเป็นหุ่นยนต์ที่มีรูปทรงเหมือนโต๊ะตัวใหญ่ๆ มีอุปกรณ์ต่างๆตั้งอยู่ด้านบน ถ้าจะเรียกให้ถูกมันคือเครื่องจักรที่ทำเบอร์เกอร์นั้นแหละ แต่ที่เราเรียกมันว่าหุ่นยนต์ก็เพราะว่ามันไม่ใช่แค่ย่างเนื้อหรือแค่ทำอาหารจากอุปกรณ์เครื่องปรุงที่เตรียมมาแล้วจากมนุษย์ แต่เราสามารถใส่ทั้งเนื้อเป็นชิ้นๆเข้าไป หอมหัวใหญ่ แตงกวาดอง มะเขือเทศ เป็นลูกๆ แล้วเครื่องจะหั่นเอง ทานเนยบนขนมปัง บดเนื้อ ย่างเนื้อ ทาซอสมะเขือเทศที่ชั่งด้วยความแม่นยำขนาดมิลลิลิตร นี่มันอนาคตชัดๆ
เจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้ไม่ต้องการวันหยุด ป่วย (เสีย) ก็เปลี่ยนชิ้นส่วน ทำงานล่วงเวลาได้โดยไม่กร่นด่าเจ้านาย ไม่มีนินทาลับหลัง (คือถ้าแมชชีนคุยกันเองอันนี้ก็อาจจะล้ำหน้าไปอีกขั้น) เพราะฉะนั้นเงินที่สามารถประหยัดได้จ้างการจ้างแรงงานมนุษย์นั้นทาง Creator บอกว่าพวกเขานำมันไปใช้ซื้อเครื่องปรุง ส่วนประกอบที่มีคุณภาพสูงขึ้น ดีต่อสภาพแวดล้อม และให้เพื่อนร่วมงานที่ยังเป็นมนุษย์อยู่นั้นทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยตอนนี้พวกเขามีพนักงานกว่า 60 ชีวิตและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆด้วย
คำถามคือนอกจากที่มันจะดูล้ำหน้าเหมือนมาจากอนาคตและดูเจ๋งสุดๆไปเลยถ้าเอาไปตั้งไว้กลางร้านเบอร์เกอร์คืออะไรกันหล่ะ?
คำใบ้ก็อยู่ในย่อหน้าก่อนหน้านี้แหละครับคือมันมาทดแทนแรงงานมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งมนุษย์อย่างเราๆนั้นถ้าเป็นงานที่ทำซ้ำๆแบบนี้จะไม่มีทางสู้กับแมชชีนได้เลย ไหนจะเป็นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่ต้องขึ้นตามกฎหมายในแต่ละประเทศ (บ้านเราอาจจะยังไม่คุ้มที่ลงทุนเพราะค่าแรงยังค่อนข้างถูก แต่ถ้าเป็นประเทศบ้านเกิดของบริษัท Creator อย่างอเมริกาที่ค่าแรงขั้นต่ำจะขยับเป็น $15/ชั่วโมง (ประมาณ 450 บาท/ชั่วโมง หรือ 3,600 บาท/วัน เฉลี่ยที่ 8 ชั่วโมง)) จึงไม่แปลกใจที่เทคโนโลยีตรงนี้จะเริ่มเป็นที่จับตามอง เพราะแฮมเบอร์เกอร์เป็นอาหารประเภทหนึ่งที่รับประทานกันเยอะที่สุดในประเทศ แล้วก็มีบริษัทใหญ่ทั้ง McDonald’s และ Burger King ที่เงินทุนหนาที่พร้อมจะลงทุนกับเทคโนโลยีเหล่านี้อยู่แล้ว ถ้าไม่ลงทุนเองก็อาจจะเข้าซื้อ (เพราะถ้าไม่เปลี่ยนแปลงเลยคงเป็นไปไม่ได้ ค่าแรงขั้นต่ำคือสิ่งที่จะทำให้กำไรของบริษัทเหล่านี้ลดลงจำนวนมหาศาล) แต่ Alex Vardakostas ผู้ก่อตั้ง Creator มีแผนที่จะขยายมากกว่าที่จะขายสิ่งที่เขาสร้างมันขึ้นมากับมือ
ต้องเข้าใจก่อนว่าหุ่นยนต์นั้นจะไม่สามารถใช้ได้กับร้านอาหารทุกประเภท ไม่สามารถเป็นพ่อครัวแม่ครัวให้กับทุกร้านได้ เพราะเมื่อแบ่งออกมาแล้วมันมีทั้งร้านอาหารแบบแฟนซี หรูหราสำหรับผู้มีรายได้สูง (หรือคนทั่วไปสำหรับโอกาสพิเศษๆ) แบบกลางๆ ครอบครัว โฮมเมด ไปจนกระทั่งฟาสต์ฟู้ด (หรือที่รู้จักกันว่า QSR – Quick Service Restaurants) ทั้งแบบสั่งที่เคาน์เตอร์หรือที่โต๊ะก็ตาม ซึ่งสำหรับร้านอาหารราคาสูงคงเป็นเรื่องยากมากๆที่จะเห็นหุ่นยนต์มาทำ food-paring เลือกไวน์ตามออเดอร์อาหารของลูกค้าที่นั่งทานที่ร้าน หรือในกลุ่มร้านอาหารแบบกลางๆสำหรับครอบครัวก็คงยังไม่เห็นเช่นกันเพราะรสชาตินั้นขึ้นอยู่กับฝีมือของพ่อครัว/แม่ครัวอย่างมาก ทั้งการปรับเปลี่ยนเมนูตามส่วนประกอบพืชผักในท้องถิ่นและตามฤดูกาลอีกด้วย แต่ถ้าเรามองไปในส่วนของร้านอาหารฟาสต์ฟูดส์ที่ต้องพยายามประหยัดจ้างแรงงานที่ถูกที่สุด ใช้พนักงานให้คุ้มที่สุด ลดต้นทุนของส่วนประกอบทั้งผักเนื้อและซอสต่างๆ จึงทำให้มันเป็นร้านอาหารที่เหมาะสมที่สุดในการใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เพื่อทำงานเหล่านี้แทน
Vardakostas เน้นว่าเขายังไม่คิดที่จะขายธุรกิจของเขาในเวลานี้
ดูจากเงื่อนไขด้านบนแล้ว พาร์ทเนอร์ที่จะมาร่วมงานกับพวกเขานั้นคงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ Creator นั้นเป็นหนึ่งในร้านอาหารที่อยู่ในโปรแกรม “Zero Foodprint” ที่คอยตรวจสอบคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของตัวเอง และหักรายได้ส่วนหนึ่งของยอดขายให้กับระบบเกษตกรรมที่สนับสนุนการพัฒนาดินเพื่อใช้ปลูกพืชต่างๆ เนื้อวัวก็นำมาจากฟาร์มที่ปล่อยวัวตามธรรมชาติ (Country Natural Beef – ผักต่างๆก็มาจากฟาร์มที่ทำการเกษตรแนวดิ่ง ปลูกในโรงเรือนที่มีหลังคาไร้การใช้สารเคมีและยากำจัดศัตรูพืช และแพคเกจที่ห่อมาก็ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติอีกด้วย (Plenty)
Creator ไม่ใช่ร้านแรกที่ได้ทดลองใช้หุ่นยนต์เพื่อการทำอาการ ก่อนหน้านี้เราเห็น Flippy ที่คอยกลับเนื้อเบอร์เกอร์ และ Bistrobot ที่ทำแซนวิช แต่พวกเขาน่าจะเป็นที่แรกที่เป็นระบบอัตโนมัติตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ใช่แค่ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง พวกเขาได้รับเงินทุนจาก Google Ventures โดยมีทีมที่เป็นทั้งวิศวกร นักวิทยาการหุ่นยนต์ นักออกแบบ เซฟทำอาหาร เจ้าของร้านอาหารจากที่ต่างๆอย่าง Tesla และ NASA – Creator ไม่ใช่แค่ห้องครัว แต่มันเหมือนกับการโชว์ความสามารถของสิ่งประดิษฐ์อันล้ำหน้าว่าสามารถทำอะไรได้มากขนาดไหน
จุดยืนของ Vardakostas ก็คือว่าเจ้า Creator นั้นจะทำงานที่คนส่วนใหญ่ไม่อยากทำ งานซ้ำๆเดิมๆที่น่าเบื่อ เพื่อให้คนทำงานที่เป็นมนุษย์จริงๆได้พัฒนาความสามารถทางด้านอื่น เช่นการบริการลูกค้าหรือดูแลเรื่องคุณภาพของส่วนประกอบต่างๆ มองมุมหนึ่งมันก็ถูก แต่ถ้าเราจะบอกว่ามันจะไม่สร้างผลกระทบเลยในวงกว้างต่อตลาดแรงงานขั้นต่ำ? มันก็ดูไร้เดียงสาเกินไปหน่อย
Nima Fazeli ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ University of Michigan, Ann Arbor สาขา Robotics Institute and the Mechanical Engineering Department กล่าวว่า
Fazeli บอกต่อว่าการรับออเดอร์ลูกค้า บดกาแฟ เตรียมฟองนม หรือแม้แต่การเขียนชื่อลูกค้าผิดๆถูกๆ (ที่ดูเหมือนจะเป็นแนวทางการตลาดของสตาร์บัคส์ที่ได้ผลมาก) พวกนี้แมชชีนน่าจะทำได้ เพียงแต่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีเหตุการณ์แปลกอย่างเช่นลูกค้าขอจ่ายเงินเป็นเงินหยวนที่สนามบิน หรือต้องการให้เพิ่มคาราเมลซอสอีกเล็กน้อย caramel macchiato แก้วโปรดและลดน้ำแข็งลงอีกนิดหน่อย ถ้าเหตุการณ์ไหนที่ไม่ได้ถูกคาดเดาหรือโปรแกรมเอาไว้แน่นอนว่าหุ่นยนต์ไม่ว่าราคาแพงขนาดไหนก็ไร้ประโยชน์
Fazeli กล่าวต่ออีกอย่างหนึ่งว่าหุ่นยนต์เป็นต้นทุนที่ราคาสูงมากและในธุรกิจที่กำไรบางอยู่แล้วอย่างร้านอาหาร นี่อาจจะเป็นเรื่องที่ท้าทายไม่น้อย
สำหรับร้านอาหารที่มีแค่ไม่กี่ร้าน นี่อาจจะเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า (Creator ก็ไม่ได้แจ้งว่าพวกเขาใช้เงินลงทุนไปเท่าไหร่) มันไม่เหมือน Amazon ที่ใช้หุ่นยนต์ในโกดังเก็บสินค้าของพวกเขา เพราะนั้นคือสเกลระดับใหญ่ มันคุ้มค่ากับการลงทุน แต่ถ้าเป็นร้านฟาสต์ฟู้ดที่เป็นเชน นั้นก็อาจจะเป็นไปได้ เพราะมันสามารถใช้เทคโนโลยีที่เหมือนกันในทุกสาขาและนั้นก็นำมาซึ่งความไม่มั่นคงของแรงงานขั้นต่ำหลายล้านตำแหน่งในทุกๆที่
หลายคนอาจจะมองว่ามันไม่ใช่งานที่ดีเยี่ยมอะไรขนาดนั้น ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร เพียงแต่ว่ามันเป็นงานสำหรับคนหลายคนที่ไม่มีโอกาส มีหลายคนที่เป็นคนอพยพต่างด้าวหางานยากแล้วต้องพึ่งพางานเหล่านี้เพื่อเลี้ยงครอบครัว สำหรับบางคนมันเป็นงานแรกที่ทำในช่วงปิดเทอม แม้จะรายได้ต่ำแต่มันเป็นงานที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดแล้วในบางสถานการณ์ที่จำเป็น และยิ่งการที่จะมีกฎหมายให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ (ในอเมริกา) ยิ่งทำให้ระบบอัตโนมัติโดยหุ่นยนต์นั้นล่อตาล่อใจเหล่าผู้บริหารระดับสูงและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ๆของบริษัทเหล่านั้นอย่างมาก
จริงอยู่ที่ว่าพรุ่งนี้ตื่นขึ้นมาเราจะไม่เห็นหุ่นยนต์ทำเบอร์เกอร์ทุกร้านที่เราเดินเข้าไป งานสำหรับกลุ่มแรงงานขั้นต่ำนั้นก็ยังไม่หายไปไหน เพียงแต่อยากให้ลองดูตัวอย่างของกลุ่มธุรกิจรถยนต์ที่มูลค่าของตลาดเพิ่มขึ้นแต่จำนวนพนักงานที่มีอยู่กลับไม่เพิ่มตามไปด้วย สาเหตุก็เพราะหุ่นยนต์ที่อยู่ในสายพานการผลิตที่เพิ่มขึ้นในเวลาเดียวกัน เพราะฉะนั้นผลกระทบมันเกิดแน่นอนกับกลุ่มแรงงานขั้นต่ำเหล่านี้ แค่จะมากหรือน้อยและรวดเร็วแค่ไหนเท่านั้น
ในตอนนี้หุ่นยนต์ที่ทำเบอร์เกอร์เป็นสิ่งใหม่ที่น่าสนใจ เพียงแต่อยากให้มองข้ามจุดนั้นไปก่อนแล้วหันกลับมาคุยกันว่านอกจากความเจ๋งของมัน แล้วดูว่าผลกระทบอะไรกับเศรษฐกิจและแรงงานที่อยู่ตรงนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง Creator อาจจะเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆที่เกิดขึ้น พนักงานในร้านของพวกเขาอาจจะมีงานอื่นๆที่ทำได้ทดแทนก็จริงอยู่ แต่ถ้าสเกลมันใหญ่โตกว่านี้จะยังคงเป็นแบบนี้อยู่รึเปล่า?