คนหน้าตาดี ไม่น่าใช่คนเลว (ใช่มะ?) : รู้จัก Beauty Bias อคติความคิดเรามักคิดว่าคนสวยหล่อมีศีลธรรม
ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่ผ่านมาเรามักเชื่อมโยงความสวยงามกับความดีเสมอมา ตั้งแต่นักปรัชญาอย่างโสกราตีสก็บอกว่า
“ภาพลักษณ์ที่ดีและท่าทางที่เหมาะสมมีความสำคัญต่อโอกาสทางการเมืองของผู้ชาย เพราะความงามและความดีงามเชื่อมโยงอยู่ในจินตนาการของคนทั่วไป”
แม้แต่งานศิลปะที่มีชื่อเสียงมากมายต่างแสดงให้เห็นว่าศิลปินหลายคนคิดว่าคนที่มีศีลธรรมดีงามต้องมีหน้าตาที่สวยงาม ส่วนคนที่เลวต้องหน้าตาน่าเกลียดไม่ชวนมอง
มีเรื่องเล่าจากยุคกรีกโบราณเกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่งชื่อว่า ‘ฟรายนี’ (Phryne) ที่ถูกพิจารณาคดีในข้อหารลบหลู่เทพเจ้าขณะแสดงละคร ระหว่างที่ขึ้นศาลได้ใช้ความงามของเธอโต้แย้งว่าเธอเป็นที่โปรดปรานของเหล่าทวยเทพให้มีรูปร่างหน้าตาที่สวยงามไร้ที่ติขนาดนี้จะสามารถก่ออาชญากรรมได้เยี่ยงไร
ศาลตัดสินให้เธอพ้นผิดในที่สุด (เยี่ยมไปเลย!!!)
สมมติฐานที่ว่าคนหน้าตาดีต้องเป็นคนดีนั้นได้รับการศึกษาอยู่บ่อยครั้งในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีการวิจัยอย่างกว้างขวางในเรื่องนี้ย้อนหลังไปตั้งแต่ยุค 70’s งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าเรา ’มักจะ’ คิดว่าคนแปลกหน้าที่หน้าตาหล่อ/สวยนั้นมีคุณลักษณะนิสัยบางอย่างเช่นอบอุ่น จริงใจ และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ นอกจากนั้นแล้วคนที่หน้าตาดียังถูกมองว่าเป็นคนที่ฉลาดกว่า มีสติสัมปชัญญะ เข้าสังคมได้ดี และโดยรวมทำงานได้ดีกว่าคนอื่น ๆ
ถ้าคุณจะบอกว่าคุณไม่ตัดสินคนจากภายนอกหรอก ไม่ใช่คนตื้นเขินแบบนั้น ขออย่าชะล่าใจครับ การศึกษาหลายชิ้นบ่งบอกว่าเราส่วนใหญ่ทำอยู่ตลอดเวลา ตัดสินอย่างรวดเร็วและไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ
อคตินี้มีผลกระทบในโลกแห่งความเป็นจริงนะครับ เอาเป็นเล่นไป
คนที่หน้าตาดีมีโอกาสน้อยกว่าที่จะถูกตัดสินว่ามีความผิดโดยคณะลูกขุนจำลองและมีแนวโน้มที่จะได้รับการลงโทษที่ลดลงด้วย ผู้คนมักจะลงคะแนนให้นักการเมืองที่มีเสน่ห์ ส่งเสริมลูกน้องที่หน้าตาดีกว่า และให้ความสนใจกับเด็กที่หน้าตาดีกว่าด้วยซ้ำ
(กรณีเคสจริงอย่างของ O.J. Simpson ที่หลุดพ้นโทษข้อหาฆ่าอดีตภรรยาก็มีคนบอกว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเสน่ห์และหน้าตาของเขาเช่นกัน)
มีงานศึกษาอีกชิ้นหนึ่งในปี 2021 ที่ตีพิมพ์ใน Journal of Nonverbal Behavior ที่แสดงให้เห็นว่าคุณลักษณะทางศีลธรรม (อย่างเช่น ความยุติธรรม น่าเชื่อถือ หรือความซื่อสัตย์) มีแนวโน้มที่จะเกี่ยวข้องกับหน้าตามากกว่าคุณลักษณะทั่วไป (อย่างเช่น เป็นคนตลก มีระเบียบ หรือใจเย็น) ซึ่งมีการทดลองในวัฒนธรรมอื่น ๆ นอกจากคนอเมริกันและผลก็ออกมาเหมือน ๆ กันเลย
เพราะฉะนั้น…ไม่ว่าใครก็มีอคติทางความคิดอันนี้ได้ และผู้ที่ทำการทดลองชิ้นนี้ก็บอกว่าแม้เราจะรู้ว่ามันเป็นจริง มีอยู่จริง แต่ก็ยังไม่มีวิธีไหนที่มีประสิทธิภาพที่จะช่วยให้เราไม่ลำเอียงและลดอคติตรงนี้ลงได้เลย
เพราะฉะนั้นครั้งต่อไปถ้าเราเห็นคนหน้าตาดีแล้วรู้สึกว่า “เขา/เธอไม่ทำผิดหรอก” หรือ “เขา/เธอไม่น่าใช่คนเลว จะหลอกคนอื่นได้ยังไง? ไม่จริงหรอก” ขอให้คิดถึงอคติทางความคิดตรงนี้เอาไว้ครับว่ามันมีจริง ๆ และเราก็อาจกำลังตกเป็นเหยื่อก็ได้เช่นกัน
อ้างอิง
https://www.psypost.org/…/attractiveness-biases…
https://en.wikipedia.org/wiki/Phryne#Trial
https://link.springer.com/article/10.1007/s10919-021-00388-w