ความรู้สึกด้านลบมีไว้ทำไม? : ทำไมต้องเศร้า เสียดาย เป็นทุกข์ รู้ทั้งรู้ว่ามันทำให้ความสุขของเราลดลง
ในหนังสือ “The Power of Regret” (พลังแห่งความเสียดาย แปลไทยโดย สนพ. WeLearn) ของ Daniel H. Pink (ผู้เขียน “Drive” / “When” ซึ่งเป็นหนังสือที่ชอบมากส่วนตัวทั้งสองเล่มเลย) เล่ามุมมองตรงนี้ไว้อย่างน่าสนใจเลยอยากเอามาแชร์กันนิดหนึ่งครับ
เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้จะกล่าวถึง ‘ความเสียดาย’ ในชีวิตว่ามันมีประโยชน์ยังไง ซึ่งในความเข้าใจของเราแล้วความเสียดายเป็นอารมณ์ในหมวดหมู่เชิงลบไม่พึงประสงค์ที่ทำให้โลกขุ่นมัว ไม่ต่างจากพวกความรู้สึกโกรธ แค้น เศร้า ต่างๆนานา แต่ความรู้สึก ’เสียดาย’ เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยกว่าคนอื่นเขา เพราะความสามารถของมนุษย์ในการจินตนาการถึงความจริงอื่นๆที่ไม่เกิดขึ้น
เช่น ถ้าวันนั้นฉัน… ถ้าตอนนั้นทำ… รู้แบบนี้คง…
พอเราเป็นแบบนี้ความรู้สึกเสียดายก็เข้ามาทำงานทันที
ทีนี้เขาก็เลยตั้งคำถามว่าแล้วความรู้สึกด้านลบมีไว้ทำไม โดยเฉพาะความเสียดาย?
เขาบอกว่ามีครับแล้วก็แบ่งออกเป็นสามข้อ
- ความรู้มีไว้เพื่อเพิกเฉย – มุมมองนี้จะมองว่าอารมณ์เป็นเพียงสิ่งน่ารำคาญ เป็นสิ่งที่ควรมองผ่านไป อย่าไปสนใจเดี๋ยวมันก็หายไปเอง การปัดเป่าอารมณ์หรือทิ้งไปเป็นเรื่องที่ฉลาดกว่า แต่การเก็บซ่อนอารมณ์ไว้ เป็นเพียงการถ่วงเวลาก่อนที่จะต้องเผชิญความยุ่งเหยิงที่เก็บไว้ข้างใน อารมณ์ไม่ถูกปิดกั้นจะนำไปสู่ปัญหาทางกายภาพเช่นโรคหัวใจปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ปวดหัวนอนไม่หลับและโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง
เราพยายามจะคิดสวนทางกับความเป็นจริงว่า ‘อย่างน้อย…’ เพื่อปลอบใจตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งในบางกรณีทำได้และจำเป็น แต่ทำไปนาน ๆ เข้าจะกลายเป็นเก็บกด ปลอบใจตัวเองแบบปลอม ๆ กลายเป็นความเชื่อฝังหัวว่าเราก็โอเคแล้ว ปิดกั้นการพัฒนาของตัวเองได้เช่นกัน - ความรู้สึกมีไว้เพื่อรู้สึก – แนวคิดนี้ อารมณ์คือแก่นแท้ของการดำรงอยู่ของเรา มุมมองนี้บอกว่าจงเชื่อความรู้สึกของคุณเสมอ ซึ่งมีโอกาสทำให้คุณดำดิ่งลงไปสู่ก้นบึ้งของความคิดลบได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะความรู้สึกเสียดายจะทำให้คุณหมกมุ่น วนเวียนอยู่กับอดีตไม่ยอมไปไหน ไม่สามารถก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้ ความเสียดายจะทำให้คิดซ้ำ ๆ เดิม ๆ วนไปมา ก่อให้เกิดความเจ็บปวดที่ลุกลามไปยังเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตได้
- ความรู้สึกมีไว้เพื่อคิด – มุมมองนี้เป็นสิ่งที่หนังสือแนะนำว่าควรเป็นเหตุผลของอารมณ์ด้านลบ มันเหมือนการรับมือกับความเครียด ที่ตอนนี้เรารู้แล้วว่ามันมีอยู่จริง ๆ และเป็นปัญหา แต่เราก็รู้ด้วยว่ามันมีทางรับมือกับอารมณ์เหล่านี้ได้เพื่อให้ตัวเองออกไปจากหลุมของความรู้สึกแย่ ๆ แบบนี้ ถ้าเราคิดว่าความเสียดายคือสิ่งที่อยู่กับเราไปตลอดชีวิตก็จะบั่นทอน แต่ถ้าเรามองว่าความเสียดายคือสิ่งที่ผลักดันเราไปข้างหน้าได้ก็จะพาเราไปอีกทิศทางหนึ่ง
ตัวอย่างเช่นว่าคุณลืมวันเกิดของแฟน เราเสียดายที่ทำเรื่องผิดพลาดแบบนั้น แต่ถ้าเราเอาแต่โทษตัวเองว่างี่เง่าและไม่ใส่ใจทุกอย่างก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไร แต่ถ้าเราเสียดายที่ทำแบบนั้นแล้วคิดหาวิธีป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก เราก็จะหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคตแบบเดิม ๆ ได้
เขาเลยบอกว่าอารมณ์ด้านลบต่าง ๆ (โดยเฉพาะความเสียดาย) มีไว้เพื่อให้เราได้คิด คิดแล้วจึงลงมือทำเพื่อแก้ไข ไม่ใช่เพื่อแค่ให้ได้รู้สึกหรือเมินเฉยเพียงเท่านั้น
เป็นหนังสือที่อ่านสนุกดีครับโดยเฉพาะสำหรับคนที่คิดว่าตัวเองไม่เคยเสียดายอะไรเลยในชีวิต (อย่างผมเป็นต้น) เพราะรู้สึกว่ามนุษย์ต้องมองไปข้างหน้าสิ อย่าไปมัวแต่จมจ่ออยู่กับอดีต แต่เขาก็แย้งว่าการคิดถึงอดีตไม่ใช่เรื่องผิด แต่สิ่งที่ผิดคือการไม่เอาอดีตมาทำให้ปัจจุบันและอนาคตดีขึ้นต่างหาก จุดนี้ก็ได้กลับมาคิดทบทวนว่า ‘เออ…เสียดายก็ไม่ได้ผิดอะไรนี้หว่า’
ช่วงหลัง ๆ ของหนังสือก็จะแบ่งความเสียดายออกเป็นประเภทต่าง ๆ ด้วย เดี๋ยวถ้ายังไงสนใจเอามาเล่าให้ฟังกันต่อครับ