ความสร้างสรรค์เกิดจากการตั้งคำถาม : บางอย่างที่น่าเบื่อ ก็สามารถดลใจให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ ได้
ทีน่า ซีลิก (Tina seelig) อาจารย์ผู้สอนวิชาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่สถาบันออกแบบแฮสโซแพลตเนอร์ หรือที่เรียกกันอย่างคุ้นเคยว่า d.school ที่มหาลัยสแตนฟอร์ด มักมีโจทย์ที่สร้างสรรค์มาให้นักเรียนแก้เสมอ
ครั้งหนึ่งในวันเปิดเรียน เธอสร้างโจทย์ให้กับนักเรียน โดยบอกให้พวกเขาออกแบบป้ายชื่อใหม่ เธอบอกว่าไม่ชอบป้ายชื่อที่มีอยู่เลย ตัวหนังสือบนป้ายเล็กจนอ่านไม่ออก ข้อมูลที่อยากรู้ก็มีไม่ครบ แถมยังห้อยต่องแต่งดูขัดหูขัดตา (ลองคิดถึงป้ายชื่อห้อยคอครับ)
นักเรียนก็หัวเราะชอบใจ เพราะหลายคนก็หงุดหงิดกับปัญหานี้เหมือนกัน
ประมาณ 15 นาทีต่อมาครับทั้งชั้นก็ได้ป้ายชื่อแบบใหม่มาหลายแบบเลย บางคนบรรจงเขียนชื่อตัวบรรจงลงกระดาษที่ตกแต่งสวยงาม บางคนก็ใช้เข็มกลัดติดป้ายชื่อเข้ากับเสื้ออย่างเรียบร้อย ทุกคนก็ดูพอใจกับการแก้ปัญหา แล้วก็พร้อมที่ทำโจทย์ต่อไป
แต่มันไม่ง่ายอย่างนั้นครับ
ซีลิกเก็บป้ายชื่อแบบใหม่ที่ทุกคนเพิ่งทำเสร็จแล้วก็ทิ้งไปหมดเลย นักศึกษาก็อึ้งครับ
แล้วเธอก็ถามว่า “ทำไมเราต้องมีป้ายชื่อ?”
ตอนแรกนักศึกษาก็งงตาแตกเลย มันเป็นคำถามที่ช่างไร้สาระ คำตอบก็ชัดเจนอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ ป้ายชื่อก็มีเอาไว้ให้คนเห็นชื่อเราน่ะสิ
แต่สักพักหนึ่ง หลายคนก็เริ่มรู้ตัวครับว่า พวกเขาเองก็ไม่เคยคิดถึงคำถามนี้อย่างจริงจังมาก่อนเลย
“ทำไมเราต้องมีป้ายชื่อ?”
หลังจากถกเถียงกันอยู่ซักครู่นึง พวกเขาก็เริ่มเข้าใจหน้าที่ของเจ้าป้ายชื่อใบเล็กๆนี้แล้วว่าคือ สิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการสนทนาในหมู่คนที่ไม่รู้จักกัน ช่วยให้ไม่ต้องรู้สึกเขินอายเวลาลืมชื่อของอีกฝ่าย และช่วยให้รู้ข้อมูลของคนที่กำลังคุยด้วยอย่างรวดเร็วนั่นเอง
ซึ่งพอเห็นคุณค่าและบทบาทของป้ายชื่อปุ๊บ ความคิดใหม่ ๆ ก็เริ่มเกิดขึ้นครับ
นักศึกษาเหล่านี้ก็เริ่มถามกันว่าอยากจะเข้าหาเพื่อนใหม่ยังไง แล้วอยากให้คนอื่นเค้าหาตัวเองแบบไหน การพูดคุยเหล่านี้เริ่มจุดประเด็นให้พวกเขาเกิดความเข้าใจที่นำไปสู่ทางออกที่แปลกใหม่ และทำลายข้อจำกัดของป้ายชื่อที่เราคุ้นเคยแบบเดิมๆ น่าเบื่อไปจนหมดเลย
ทีมหนึ่งทำลายข้อจำกัดเรื่องขนาดของป้ายชื่อขนาดจิ๋ว นำเสนอไอเดียทำเสื้อยืดให้เป็นป้ายชื่อ บนเสื้อมีลวดลายที่เป็นข้อมูลของผู้สวมใส่เอาไว้ ข้อความ รูปภาพเมืองที่อยู่ กีฬาที่เล่นดนตรีที่ชอบ สมาชิกในครอบครัวต่างๆนานา ขยายขอบเขตของแนวคิดของคำว่าป้ายชื่อไปด้วย
อีกทีมมีแนวคิดที่ล้ำสมัย นำเสนอไอเดียของหูฟังที่คอยกระซิบบอกข้อมูลของคนที่เราคุยด้วยเพื่อลดความกระอักกระอ่วน ทำให้การพูดคุยลื่นไหล นอกจากนี้ก็จะคอยให้ข้อมูลที่มีประโยชน์เกี่ยวกับคนที่สนทนาด้วย เช่นวิธีออกเสียงชื่อของคนคนนั้น สถานที่ทำงาน หรือชื่อเพื่อนที่ทั้งคู่รู้จัก (อารมณ์เหมือนพรายกระซิบยังไงก็ไม่รู้แฮะ :))
ส่วนอีกทีมหนึ่งเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนจะมีความหมายก็ต้องเข้าใจว่าอีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกยังไง พวกเขาจึงคิดค้นสัญลักษณ์เพื่อแสดงออกถึงอารมณ์ที่ตัวเองกำลังรู้สึกอยู่ เช่นสีเขียวหมายถึงสดใสร่าเริง สีน้ำเงินแทนความเศร้า สีแดงแทนคุณเครียด สีม่วงบอกว่ารู้สึกเหมือนกำลังมีโชค แล้วใช้ริบบิ้นที่เป็นสี่สี่ผูกติดกับข้อมือ พอไปคุยกับอีกฝั่งก็จะได้รับรู้ว่าตอนนี้เขารู้สึกยังไง ทำให้การสนทนาในกลุ่มมีความหมายลึกซึ้งมากขึ้น
กลายเป็นว่าโจทย์ในการออกแบบป้ายชื่อใหม่กลายเป็นสิ่งงานที่สร้างสรรค์ไปอย่างไม่รู้ตัวสำหรับนักเรียน ทำลายกรอบความคิดของคำว่า ‘ป้ายชื่อ’ ออกไปแล้วนิยามมันขึ้นมาใหม่ ตั้งคำถามถึงเหตุผลของการมีอยู่ของมัน เป็นแบบฝึกหัดนี้ถูกออกแบบมาเพื่อแสดงให้เห็นว่า โอกาสในการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์นั้นมีอยู่ทุกที่ที่คุณตั้งคำถามให้ถูกต้อง ไอเดียใหม่สามารถเกิดขึ้นได้เสมอแม้กระทั่งป้ายชื่อธรรมดา เพราะฉะนั้นลองมองไปที่รอบๆ ตัวดูก็ได้ครับ อาจจะมีอะไรที่คุณรู้สึกว่ามันน่าเบื่อแล้วลองตั้งคำถามกับมันดู ‘ทำไมเราต้องมี…” อาจจะเกิดไอเดียเจ๋ง ๆ ก็ได้ครับ
.
.
[เนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ ‘วิชาความคิดที่คุ้มค่าหน่วยกิตที่สุดในโลก’]