ลองนึกภาพในหัวว่าอยากจะสร้างบริการจองตั๋วคอนเสิร์ทขึ้นมาออนไลน์ ก่อนที่จะมี Cloud เราอาจจะซื้อเซิร์ฟเวอร์มาตัวหนึ่งแล้ววางทุกอย่างใส่ในนั้นไว้ (host) เมื่อไหร่ก็ตามที่มีลูกค้าอยากจะจองตั๋ว เขาก็ส่งคำขอมาจากคอมพิวเตอร์ผ่านอินเตอร์เน็ตมาหาเซิร์ฟเวอร์ของเรา เซิร์ฟเวอร์ก็ประมวลผลแล้วก็ส่งข้อมูลกับไปยังคอมพิวเตอร์ของลูกค้า อารมณ์ก็จะประมาณนี้
ลูกค้า : อยากได้ตั๋วที่นั่งสำหรับคอนเสิร์ต “Jason Mraz”
เซิร์ฟเวอร์ : มีที่นั่งเหลือ A1, A2, B5, B7
ลูกค้า : เอา A1, A2
เซิร์ฟเวอร์ : โอเค จองไว้แล้ว, รอการโอนเงิน
ลูกค้า : ใช้บัตรหมายเลข xxxxxxxxxxxxx
เซิร์ฟเวอร์ : โอเค เรียบร้อย ส่งอีเมลคอนเฟิร์มเรียบร้อย
โดยที่คอมพิวเตอร์ลูกค้าและเซิร์ฟเวอร์ของเราติดต่อสื่อการกันด้วยการส่งข้อมูลเป็นก้อนๆไปมา เซิร์ฟเวอร์ของเราก็อาจจะตอบรับและดูแลออเดอร์ได้รวดเร็วกว่ามนุษย์ อาจจะหลายพันครั้งในการรับส่งข้อมูลพวกนี้ไปมาในแต่ละวินาที แต่สุดท้ายแล้วมันก็จะถึงลิมิต เมื่อก่อนเราก็ซื้อเซิร์ฟเวอร์มาเพิ่ม แต่แล้วก็ต้องซื้อมาอีกเรื่อยๆอาจจะมีสักสิบเครื่อง แต่ว่าเซิร์ฟเวอร์ทั้งหมดก็ไม่ได้ทำงานเต็มกำลังตลอดเวลา แต่เราก็ยังต้องจ่ายค่าไฟฟ้า แถมไม่พอเราไม่รู้เลยว่าถ้ามีการรับส่งข้อมูลพีคขึ้นมาอีกจะเป็นยังไง เพราะฉะนั้นการมีเซิร์ฟเวอร์รองรับอยู่ตลอดเวลาเพื่อการตอบสนองที่รวดเร็วและไม่ติดขัดจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยเฉพาะกับบริษัทในปัจจุบันที่ต้องพึ่งพาอินเตอร์เน็ตแทบตลอดเวลา การมีเซิร์ฟเวอร์เองถ้าเจอปัญหาเรื่องไฟดับและค่าใช้จ่ายก็ทำให้ลูกค้าหัวเสียเปลี่ยนไปใช้บริการที่อื่นเลยก็มี มันไม่ใช่ทางออกของการทำธุรกิจที่ดี Cloud Technology เลยถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้
Cloud Technology จะทำให้ผู้ใช้งานนำ Computer Resources ที่เป็นส่วนกลาง (servers, storage, applications และ อื่นๆ) มาใช้งานได้ตามต้องการ เมื่อเราต้องการอะไรก็ส่งคำขอไป ระบบก็จะจัดให้ตามที่เรียกไป ถ้าเมื่อไหร่ไม่ได้ใช้ก็ปล่อยคืน จ่ายเท่าที่ใช้และบริษัทผู้ให้บริการก็จะเป็นคนดูแลเรื่องการจัดการรักษาทั้งหมด โดยที่ Cloud Technology นั้นจะอาศัยอยู่ที่ Data Centers ที่ไหนสักแห่ง ผู้ให้บริการหลายรายก็มี Data Centers หลายแห่งเพื่อเป็นการสำรองข้อมูลเผื่อความเสียหาย
ทุกวันนี้เราเทคโนโลยี Cloud Computing นั้นแทบจะแฝงอยู่กับทุกธุรกิจที่อยู่บนออนไลน์เลยก็ว่าได้ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon, Google, IBM หรือในบ้านเราก็มี CAT ที่เป็นผู้ให้บริการ Cloud Technology ในตลาด (เรียกว่า Cloud Provider) บางแห่งก็ให้ลองใช้กันฟรีๆ เพื่อทำให้เราเลือกใช้ในภายหลังในโปรเจ็คพัฒนาต่อไปในอนาคต ทั้งในรูปแบบ IaaS, PaaS และ SaaS
IaaS (Infrastructure-as-a-service)
เป็นบริการสำหรับคนที่รู้แล้วว่าต้องการอะไรบ้าง ยกตัวอย่างการสร้างบ้านเราก็จะได้พวกอุปกรณ์ เหล็ก ปูน ฝาบ้าน ไม้แบบ ฯลฯ หลังจากนั้นก็มาประกอบบ้านเอง ข้อดีของมันก็คือมันยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของเรา จะเหมาะกับผู้พัฒนาระบบที่มีความชำนาญอยู่แล้วในการออกแบบและดัดแปลงทุกด้าน IaaS จะเหมาะกับระบบที่วางไว้เผื่อการขยับขยายไปข้างหน้าที่ลูกค้าอาจจะเติบโตมากๆ แต่ถ้าคนที่ทำไม่มีความรู้ลึกจริงๆก็อาจจะนำมาซึ่งปัญหาในภายหลังได้
PaaS (Platform-as-a-service)
เปรียบแล้วก็เหมือนบ้านจัดสรรค์ที่สร้างมาเรียบร้อยแล้ว เพียงต้องมาตบแต่งเฟอร์นิเจอนิดๆหน่อยๆ ก็จะมีแอพพลิเคชั่นบางอย่างเท่านั้นที่สามารถทำงานบนแพลตฟอร์มที่เซ็ตไว้แล้วได้ ผู้ให้บริการก็จะเป็นคนดูแลเรื่องบริหารเซิร์ฟเวอร์สำหรับการใช้งานของเรา มีฐานข้อมูลให้ อาจจะมีบริการอย่าง User Authentication (ระบบตรวจสอบผู้ใช้งาน) หรือแอพพลิเคชั่นบางอย่างสำหรับลูกค้าเพื่อใช้งาน วิธีการนี้เป็นเรื่องง่ายในการเซ็ตและใช้เวลาไม่นานก็เริ่มทำงานกันได้แล้ว ตอบโจทย์ความต้องการในส่วนใหญ่ แต่ต้องคิดให้ดีด้วยว่าจะเพียงพอสำหรับการเติบโตไปข้างหน้ารึเปล่า
SaaS (Software as a Service)
อันนี้ไม่มีอะไรยุ่งยาก ถ้าเป็นบ้านก็พร้อมอยู่ แค่จ่ายค่าเช่าก็ใช้งานได้เลย เช่นพวก Gmail, Yahoo ต่างๆ
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็น IaaS, PaaS หรือแม้แต่ SaaS ถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานทั้งนั้น เราสามารถเรียกใช้เซิร์ฟเวอร์เพิ่มเพียงกดปุ่มตามการใช้งานจริง การสเกลก็เป็นได้ทั้งแบบที่บังคับเองหรือปรับแต่งให้โดยอัตโนมัติ (จะดีเมื่อการเพิ่มลดของข้อมูลมีความเหวี่ยงมาก) สิ่งสำคัญก็คือเลือกผู้ให้บริการให้ดีด้วย ต้องดูทั้งความยืดหยุ่นของการใช้งาน อัตราค่าบริการ ความยากง่ายในการเข้าถึงการใช้งาน และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือเรื่องฝ่ายบริการลูกค้าเมื่อเกิดปัญหา การเลือกผู้ให้บริการนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากกับการทำธุรกิจโดยเฉพาะช่วงเริ่มต้น ต้องเลือกว่าอันไหนถึงจะเหมาะกับโปรเจ็คที่อยู่ในมือ เพราะถ้าเริ่มผิดมันจะกลายเป็นเคสติดกระดุมพลาดตั้งแต่เม็ดแรก จะแก้หรือโยกย้ายทีก็ต้องใช้ทั้งเวลาและพลังงาน
สำหรับองค์กรเราก็เริ่มเห็นเทคโนโลยี AWS Cloud Direct Connect (จาก Amazon) เป็นโซลูชันบริการระบบคลาวด์ที่ช่วยให้สามารถสร้างการเชื่อมต่อเครือข่ายเฉพาะจากสถานที่ของคุณไปยัง AWS ที่ใกล้ที่สุดด้วยความเร็วสูงผ่านทาง Dedicated Network ที่ให้บริการโดย Partner ของ AWS โดยมีให้เลือกทั้งแบบ 1G และ 10G ต่างจากการเชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ตแบบเดิม ซึ่งช่วยลด Latency และเพิ่มความปลอดภัยไปในตัว สามารถลดต้นทุนเครือข่าย เพิ่มอัตราการส่งข้อมูลแบนด์วิธ และมอบประสบการณ์เครือข่ายที่สอดคล้องมากกว่าการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องเลือกสักอันหนึ่งที่ตรงกับที่เราต้องการให้ได้ เพราะมันจะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นตั้งแต่แรก ไม่ใช่ว่าทำไปแล้วครึ่งปีถึงมาดูว่าจะเอาแอพพลิเคชั่นของตัวไปไว้ที่ไหนดี ถึงตอนนั้นก็อาจจะต้องมานั่งคุยกันอีกว่าระบบที่ทำมามันรองรับรึเปล่ากลายเป็นปัญหาทับซ้อนขึ้นมาอีก