ตัวเราในอนาคตอาจจะไม่ใช่คนที่เราคิด : 3 คำแนะนำช่วยตัดสินใจให้ดี เมื่อเราไม่มีทางรู้ว่าตัวเองต้องการอะไรกันแน่
แชนการ์ เวดันทัม (Shankar Vedantam) เป็นนักข่าว นักเขียน และนักข่าววิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน เจ้าของรายการพอดแคสท์และผู้เขียนหนังสือ ‘Hidden Brain’ ได้เล่าถึงช่วงเวลาที่เขาตอนเป็นเด็กว่าตัวเองรักการเล่นฟุตบอลมาก อยากเป็นนักบอลอาชีพ ถึงขั้นว่าตอนอายุ 12 ปี ไปเตะบอลแล้วเกิดอุบัติเหตุกระดูกร้าว กลับบ้านไม่ยอมบอกพ่อ ทนเจ็บเพราะพรุ่งนี้พ่อจะพาไปดูหนังที่โรงเกี่ยวกับนักฟุตบอลบราซิลที่ตัวเองชื่นชอบ
วันต่อมาหลังจากกัดฟันทนความเจ็บปวดและดูหนังจนจบ เขาก็สารภาพกับพ่อว่าตัวเองเจ็บเท้า และแน่นอนก็โดนเข้าเฝือกหลังจากไปหาหมอหลังจากนั้น
แต่ผ่านมาสี่สิบปี เวดันทัมในวัย 53 ปี ไม่ได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ ยิ่งไปกว่านั้นเขาไม่ได้สนใจหรือเป็นแฟนของกีฬาชนิดนี้แล้วด้วยซ้ำ
เชื่อว่าเราทุกคนเคยมีความฝันตอนเป็นเด็ก และพอโตมามันก็หายไป เราเคยคิดอยู่ตลอดว่าโตมาจะเป็นคนยังไง ทำอาชีพอะไร แต่พอถึงเวลาจริง ๆ กลับไม่ใกล้เคียงเลย
เวดันทัมบอกว่าเขาในวัย 12 ปีคงรู้สึกว่ามันเป็นไปไม่ได้ ไม่มีทางที่เขาจะโตมาเป็นแบบนี้ ถึงขั้นอาจจะรู้สึกว่าถูกเขาในวัยผู้ใหญ่หักหลังด้วยซ้ำ
หลายคนอาจบอกว่าก็มันตั้ง 40 ปีแล้ว จะเอาอะไรกับความฝันแบบเด็ก ๆ นั้นหล่ะะ เวดันทัมบอกว่างั้นลองดูตอนที่เขาอายุ 22 ปีก็ได้ หลังจากที่เรียนจบสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยทางตอนใต้ของอินเดีย เขาไม่มีทางรู้เลยว่า 30 ปีต่อมาเขาจะมาอยู่ที่ประเทศอเมริกาและกลายเป็นนักข่าวและคนทำคอนเทนท์พอดแคสต์ ‘Hidden Brain’ ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์และวิทยาศาสตร์ทางจิตวิทยาในชีวิตประจำวันของเรา
ความย้อนแย้งคือถ้าเรามองไปข้างหลัง เราจะเห็นว่าเรามาถึงตรงนี้ได้ยัง เราเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหนแล้วจากหลายปีที่ผ่านมา (เอาง่าย ๆ แค่ช่วงโควิดระบาดสามปี หลายคนเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง)
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมบางอย่างในอนาคตเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างเช่นเทคโนโลยี AI หรือผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่มีแต่เลวร้ายลงเรื่อย ๆ แต่พอดูตัวเราเองตอนนี้กับตัวเองในอนาคตอีก 10, 20, 30, 40 ปีข้างหน้า เรากลับมองว่าตัวเราก็จะเป็นแบบนี้แหละ จะเป็นคนดีคนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่จริงเลย
นี่คือปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เรียกว่า ‘Illusion of Continuity’ หรือภาพลวงตาของเหตุการณ์ต่อเนื่อง เราจะเห็นตัวเองแก่ลง ผมขาวเยอะขึ้น แต่โดยพื้นฐานแล้วก็ยังเป็นคนเดิมอยู่ แนวคิดหรือหลักการณ์ของการใช้ชีวิตก็จะไม่เปลี่ยนไป เพราะการเปลี่ยนแปลงนั้นยังไม่เกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างเหมือนอย่างการมองย้อนกลับไปในอดีตนั่นเอง
เวดันทัมยกตัวอย่างเรื่องราวของสามีภรรยา จอห์น รินกา และ สเตฟานี่ รินกา ว่าทั้งคู่แต่งงานกันในปี 1971 จอห์นอายุ 22 ปีและสเตฟานี่อายุ 19 ปี ทั้งคู่ย้ายไปอยู่ที่เมืองชนบทเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง โดนจอห์นทำงานเป็นคุณครูและสเตฟานี่เป็นพยาบาล ด้วยความที่เมืองนี้เล็กมาก ๆ สเตฟานี่เลยไปเยี่ยมคนไข้ที่บ้านอยู่บ่อย ส่วนใหญ่คนไข้ที่เธอพบก็จะป่วยหนักลุกไปไหนไม่ได้ บางคนป่วยติดเตียง มะเร็งช่วงสุดท้ายของชีวิต ซึ่งแน่นอนว่าคุณภาพชีวิตไม่ดีสักเท่าไหร่
เมื่อไหร่ก็ตามที่สเตฟานี่กลับมาที่บ้านหลังจากไปพบผู้ป่วยหนัก เธอจะบอกกับสามีว่าถ้าเธอป่วยหนักมาก ๆ จนไม่สามารถไปไหนได้ อย่ายื้อชีวิตเธอให้เจ็บปวดเลยปล่อยให้เธอตายไปคือสิ่งที่เธอต้องการ เธอให้ความสำคัญกับคุณภาพของชีวิตมากกว่าชีวิตที่ยืนยาว ดราม่าหนัก ๆ บางทีก็บอกจอห์น “ถ้าฉันป่วยขนาดนั้น ยิงฉันเลยนะ ยิงเลย”
จอห์นก็มองหน้าภรรยาสุดที่รักที่ยังแข็งแรงดีอยู่บอก “โอเค สเตฟ โอเค”
เวลาผ่านมาหลายสิบปีเข้าสู่ช่วงวัยห้าสิบ สเตฟานี่เริ่มป่วย มีอาการลิ้นรัวผู้ไม่ชัดจึงไปหาหมอ ปรากฏว่าเธอป่วยเป็นโรค ALS หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินประสาทและทำให้ใช้ชีวิตลำบากมากขึ้น ยังไม่มีทางรักษาให้หายขาด ส่วนใหญ่แล้วจะเสียชีวิตภายใน 3-5 ปี เนื่องจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลว (บางคนก็อยู่ได้นานถึงสิบปีแล้วแต่การดูแลสุขภาพของแต่ละคนด้วย)
หมอบอกว่าวันหนึ่งสเตฟานี่จะไม่สามารถหายใจด้วยตัวเองได้ สเตฟานี่รับรู้และพยายามใช้เวลาที่เหลือน้อยนิดของเธอกับคนที่เธอรัก ครอบครัว ท่องเที่ยว ไปทะเล อยู่กับสามี
จนกระทั่งวันหนึ่งเธอก็เริ่มหายใจติดขัด หอบเหนื่อย จอห์นตัดสินใจพาเธอไปโรงพยาบาล พยาบาลก็ถามว่า “สเตฟานี่ คุณอยากใส่เครื่องช่วยหายใจไหม?” และสเตฟานี่ก็บอกว่า ‘YES!’
จอห์นก็งง เพราะพวกเขาคุยเรื่องนี้มาหลายสิบปี สเตฟานี่บอกเขาตลอดว่าอย่าให้เธอทรมาน เช้าวันต่อมาเขาเลยถามเธอเพื่อความแน่ใจ “สเตฟ เมื่อวานที่พยาบาลถามว่าจะใส่เครื่องช่วยหายใจ คุณต้องการใส่จริง ๆ เหรอ?”
สเตฟานี่ตอบว่า “ใช่แล้ว”
สเตฟานี่ในวัยที่แข็งแรง ไม่มีทางรู้ว่าสเตฟานี่ที่ป่วยและกำลังจะตายต้องการอะไร เธอตอนนี้มองย้อนกับไปยังตัวเองในวัย 20 ก็คือคนแปลกหน้าคนหนึ่งที่อาจจะลืมไปแล้วก็ได้ ส่วนเธอในวัย 20 ก็อาจจะมองเธอในตอนนี้ว่าเป็นคนขี้ขลาดและจะไม่ทำแบบนั้นเด็ดขาดถ้าเวลาของตัวเองมาถึง
มีคำถามเชิงปรัชญาที่ยังถกเถียงกันอยู่จนถึงตอนนี้ชื่อ ‘เรือของธีเซียส’
คำถามคือ ‘ธีเซียสนักรบผู้ยิ่งใหญ่เดินทางกลับมาจากการไปล่าสมบัติ เรือของเขาถูกผูกไว้ที่ท่าเรือเพื่อเป็นอนุสรณ์ ต่อมาหลายสิบปีเรือเริ่มผุ คนก็เริ่มแกะและซ่อมแซมไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งทุกส่วนของเรือของธีเซียสนั้นเป็นของใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวเรือ ไม้ผ้า เสากระโดงเรือ ผ้าใบ หรือแม้แต่ตะปู แล้วถ้าทุกอย่างของเรือของธีเซียสนั้นเป็นของใหม่ทั้งหมด มันยังถือว่าเป็นเรือของธีเซียสอยู่รึเปล่า? และถ้าเอาของเก่าทุกส่วนของเรือไปซ่อมแซมแล้วนำมาสร้างใหม่อันไหนกันแน่คือเรือของธีเซียส”
เวดันทัมแสดงความเห็นว่าเราทุกคนเป็นเรื่อของธีเซียส เซลล์ในร่างกายของเราเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปีต่อจากนี้เราจะไม่มีเซลล์ที่มีในวันนี้อีกต่อไป ทางเชิงชีววิทยาแล้วเราคือคนใหม่ ไม่ใช่คนเดิมเมื่อสิบปีก่อน หลายคนอาจจะเถียงว่าไม่จริงหรอก เรายังเป็นเรานี่แหละ มันอยู่ที่ตัวเราไม่ใช่อยู่ที่เซลล์ แต่มันมีอะไรมากกว่านั้นในเชิงจิตวิทยา เราไม่ได้สร้างใหม่เพียงเท่านั้น แต่เราถูกสร้างทับของเดิมเป็นเลเยอร์ที่แตกต่างเติมขึ้นไป ความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดจากการทับถมของประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป หลักแนวคิดเรื่อง ‘Brain Plasticity’ ความยืดหยุ่นของสมองที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่ว่าเราจะอายุเท่าไหร่เป็นหลักฐานยืนยันว่าเรากลายเป็นคนใหม่เรื่อย ๆ
เราเมื่ออายุ 12 ปีอยากเป็นนักฟุตบอล เมื่ออายุ 52 ปีเป็นนักเขียน อายุ 82 ปีอาจจะแค่อยากตื่นมามองทะเลทุกวันก็ได้ เราไม่มีทางรู้หรอกว่าอะไรจะเกิดขึ้น
ยกตัวอย่างกฎหมายบางอย่างเช่นการแบ่งแยกสีผิวในอเมริกาที่เคยถูกใช้จริง ๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง หรือกฎหมายทาสทำที่ให้มนุษย์คนหนึ่งเป็นเพียงสิ่งของตีเป็นมูลค่า ฯลฯ เรื่องเหล่านี้เมื่อช่วงจังหวะหนึ่งของประวัติศาสตร์อันเลวร้ายเคยเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ทางสังคม
มนุษย์เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่ใช่แค่ในระดับปัจเจกแต่ในระดับสังคม ประเทศ และโลกด้วย
บางอย่างที่เคยถูกมองว่าดี วันหนึ่งมันอาจจะกลายเป็นเรื่องเลวร้ายและเหลวไหลก็ได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็เกิดจากการที่เราในวันนี้มองว่าอนาคตจะเหมือนเดิมไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนไปนั่นแหละ
เวดันทัมให้คำแนะนำสามข้อซึ่งจะช่วยทำให้เรารับมือกับปัญหานี้ได้ง่ายขึ้น เพราะเชื่อว่าทุกคนอยากให้ตัวเองในอนาคตมีความสุขด้วยกันทั้งนั้น แต่ถ้าตัวเราในอนาคตอาจจะไม่ใช่คนที่เราคิดหล่ะจะทำยังไง จะรู้ได้ยังไงว่าอีก 30 ปีมองย้อนกลับมาแล้วจะไม่ด่าตัวเองในวันนี้?
- เมื่อเรารู้ว่าเราจะเปลี่ยนแปลงเป็นอีกคนหนึ่งใน 10,20,30,40 ปีข้างหน้า เราก็ควรวางโครงสร้าง วางแพลนให้ตัวเองในอนาคตว่าควรออกมาประมาณไหน เป็น ‘curator’ หรือ ผู้ดูแล ทำอาชีพเป็นนักปั้นมือทอง ใช้เวลากับสิ่งที่เราไม่รู้บ้าง ขยายขอบเขตสิ่งที่เราสนใจ (อย่ามุ่งแต่อย่างเดียว) เพราะคุณจะเป็นคนใหม่ เพราะฉะนั้นคุณในตอนนี้ก็เตรียมการเอาไว้เลย พยายามลองทำอะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ
- อย่ามั่นใจอะไรมากเกินไปและอย่าลืมเรื่องมนุษยธรรม โอ้วววว…เราเห็นมานักต่อนัก ไม่ว่าจะเป็นความเห็นเรื่องการเมือง เรื่องความเชื่อ เรื่องความโกรธ เกลียด ต่าง ๆ นานา เราแสดงความคิดเห็นได้ครับ แต่อย่าลืมอดีตมักกลับมาทำร้ายปัจจุบันและอนาคตได้เสมอ ตอนนี้ไม่ใช่ตลอดไป
- จงกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง จริงอยู่ยิ่งเราโตขึ้น แก่ตัวขึ้น ร่างกายหรือสุขภาพของเราก็อ่อนแอลงเป็นเรื่องของธรรมชาติ แต่ก็อย่าลืมว่าระหว่างทางเราก็ได้สะสมประสบการณ์ความรู้และกรอบแนวคิดหลาย ๆ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในช่วง 10 หรือ 20 ปีก่อนเช่นกัน นั่นแสดงให้เห็นว่าบางทีเราให้เครดิตตัวเองน้อยไป เมื่อเจอโอกาสหรือความท้าทายใหม่ ๆ เข้ามาก็บอกตัวเองว่า ‘ทำไม่ได้หรอก ฉันทำไม่ได้’ ซึ่งก็อาจจะเป็นความจริงที่ตอนนี้ ‘ยัง’ ทำไม่ได้ แต่ตัวเราในวันพรุ่งนี้หรืออีก 10 ปีต่อจากนี้อาจจะทำได้ก็ได้
แม้เราไม่มีทางรู้ว่าอนาคตของเราจะเป็นยังไง เราอาจจะไม่ใช่ตัวเราที่คิดในตอนนี้ แต่อย่างน้อย ๆ ถ้าลองทำตามคำแนะนำสามข้อของเวดันทัมผ่านไปสัก 20-30 ปีมองย้อนกลับมา ตัวเราในอนาคตมีโอกาสที่จะบอก ‘ขอบคุณ’ ตัวเราตอนนี้มากที่ทำให้มาถึงจุดนี้ มากกว่ารู้สึกว่าถูกหักหลัง ไม่ทำให้ดีกว่านี้
Shankar Vedantam: You don’t actually know what your future self wants | TED Talk