ทั้งที่ ‘ดีแล้ว’ แต่ยังไม่ ‘ดีพอ’ : ทำไมถึงมีความรู้สึกข้างในตัวเอง ที่รู้สึกว่ายังไม่ได้เรื่อง
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสลงไปงานมหกรรมหนังสือที่กรุงเทพฯ ซึ่งงานนี้ก็ได้เจอทั้งเพื่อนทำงานสื่อด้วยกัน (ปกติเจอกันแต่ออนไลน์) เพื่อนจากสมัยเด็กที่แยกย้ายกันไปเติบโต และเพื่อนใหม่ ๆ ที่มาเจอกันตอนที่แจกลายเซ็นหนังสือเล่มใหม่ “งานนี้สอนให้รู้ว่า” ซึ่งก็ต้องขอบคุณทุกคนมาก ๆ เลยที่มาเจอกันวันนั้นครับ
มีน้องคนหนึ่งที่ทำงานเป็นพนักงานประจำร้านสะดวกซื้อเดินมาขอลายเซ็น ผมก็ชวนพูดคุยตามปกติครับว่าเป็นไปเป็นมายังไง ตอนนี้มีความสุขดีไหม งานเป็นยังไงบ้าง ฯลฯ น้องก็เล่าให้ฟังว่าตอนนี้เรียนบัญชีอยู่กำลังจะจบแล้ว ทำงานเสริมเป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อเพื่อหาเงินเป็นรายได้เสริม จบมาก็คงทำงานเป็นพนักงานบัญชีตามที่เรียนมานั่นแหละ ไหน ๆ ก็จบมาแล้ว จังหวะนั้นน้องก็หยุดชะงักไปแป๊บหนึ่ง
ผมก็ถามต่อว่าเป็นอะไร น้องก็อ้ำอึ้งนิดหนึ่งก่อนจะพูดว่า “พี่ว่าถ้าหนูจะเขียนหนังสือจะมีคนอ่านไหมคะ?” ผมก็ชะงักไปแป๊บหนึ่งเหมือนกัน แล้วก็ตอบว่า “พี่ก็มีคำถามนี้เหมือนกันนะตอนเริ่มเขียนหนังสือแรก ๆ ตอนนี้เขียนมาหกเล่มแล้ว…ในบางจังหวะก็ยังรู้สึกแบบนี้อยู่เลย” ผมหัวเราะเว้นจังหวะ “พี่ว่ามันต้องมีคนอ่านแหละ มากน้อยไม่รู้เหมือนกันนะ จะตอบได้ก็ตอนน้องเขียนออกมาแล้วนั่นแหละ” น้องยิ้มแล้วก็ยกมือไหว้แล้วเดินจากไป
มายา อันเกอลู (Maya Angelou) นักเขียน, กวีชื่อดังและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองชาวอเมริกันเคยเขียนเอาไว้ว่า
“ฉันเขียนหนังสือมาแล้ว 11 เล่ม แต่ทุกครั้งฉันก็จะคิดว่า ‘โอ้ พวกเขาจะต้องรู้แน่เลย ฉันหลอกทุกคนมาตลอดแล้วตอนนี้พวกเขาก็จะจับไต๋ได้แล้ว’”
มายาไม่ใช่คนที่ประสบความสำเร็จคนเดียวที่รู้สึกแบบนี้ ที่จริงแล้วมีคนที่ประสบความสำเร็จอีกมากมายที่รู้สึกว่าตัวเองยัง ‘ไม่ดีพอ’ หรือ ‘ไม่ได้เก่ง’ เหมือนอย่างที่คนอื่นคิดแล้วตอนนี้แหละเขากำลังจะล้มเหลวในไม่ช้า ไม่ว่าจะอาชีพไหน นักเขียน นักธุรกิจ นักดนตรี หรือแม้แต่ศัลยแพทย์สมอง
เฮนรี มาร์ช (Henry Marsh) ศัลยแพทย์ทางด้านระบบประสาทผู้เขียนหนังสือ “Do No Harm” พูดเอาไว้ว่า
“ส่วนหนึ่งของคุณรู้ว่าตัวเองไม่ได้เก่งเหมือนอย่างที่แสร้งเป็น แต่คุณต้องแสดงเหมือนว่ามีความสามารถและมั่นใจ”
ฟรานเซส ฮาร์ดิง (Frances Hardinge) ผู้เขียนหนังสือสำหรับเด็กที่ได้รับรางวัล Costa Book of the Year Award ปี 2015 บอกว่าทุกครั้งที่ทำโปรเจ็กต์ใหม่ มันจะมี
“ส่วนของสมองที่บอกฉันว่าหนังสือเล่มนี้แหละที่จะทำให้ทุกคนผิดหวัง และคนก็จะเห็นว่าฉันมันจอมปลอมแค่ไหน”
อแมนด้า พาล์มเมอร์ (Amanda Palmer) นักร้องที่มีชื่อเสียงบอกว่ามันเป็นความรู้สึกกลัวว่า
“จะมีใครมาเคาะประตู ฉันเรียกคนในจินตนาการเหล่านี้ว่า ตำรวจจับคนจอมปลอม และพวกเขาก็จะบอกคุณว่า ‘เรารู้ทุกอย่างแล้วและตอนนี้จะเอาทุกอย่างคืนทั้งหมด’”

นี่คืออาการของสิ่งที่เรียกว่า “Imposter Syndrome” หรืออาการที่คิดว่าตัวเองไม่เก่งนั่นเอง
โดยคำอธิบายของมันจากเว็บไซต์ Harvard Business Review คือ : “กลุ่มก้อนของความรู้สึกของการไม่ดีเพียงพอที่ยังมีอยู่แม้จะประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด”
ที่สำคัญคือเราต้องทราบก่อนว่าการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำและการขาดความมั่นใจไม่จำเป็นต้องเท่ากับกลุ่มอาการหลอกลวง คุณอาจจะทำงานบางอย่างออกมาได้ดีมาก ๆ คนอื่น ๆ มาชื่นชม แต่ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองยังทำได้ไม่ดีพออยู่ดี
แล้วเราจะก้าวผ่านความรู้สึกแบบนี้ได้ยังไง?
ในหนังสือ “Snow Ball” ที่เป็นเรื่องราวอัตชีวประวัติของนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งแห่งยุคอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ได้กล่าวถึงคอนเซ็ปต์ที่เรียกว่า “Inner Scorecard” หรือ “สิ่งชี้วัดภายใน” เป็นสิ่งที่อธิบายเนื้อแท้ของเรา ว่าเราเป็นใคร มีความเชื่ออะไร ต้องการอะไรกันแน่ จุดสำคัญคือแทนที่จะโฟกัสว่าคนอื่นจะคิดกับเราอย่างไร เราจะยึดมั่นในการทำสิ่งที่ถูกต้อง และเน้นการช่วยเหลือผู้อื่นมากกว่า บัฟเฟตต์บอกว่าให้ถามตัวเองว่า
“ถ้าโลกไม่เห็นผลลัพธ์ของสิ่งคุณทำ คุณอยากจะถูกมองว่าเป็น ‘นักลงทุน’ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก แต่ในความเป็นจริงมีสถิติที่แย่ที่สุดในโลกหรือเปล่า? หรือถูกมองว่าเป็นนักลงทุนที่แย่ที่สุดในโลกทั้งที่คุณเป็นคนที่เก่งที่สุด?”
คำว่า ‘นักลงทุน’ เปลี่ยนเป็นอะไรก็ได้ ‘นักเขียน’ ‘นักดนตรี’ ‘นักธุรกิจ’ ฯลฯ
บัฟเฟตต์เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่แค่สำหรับคนอื่นเท่านั้น แต่สำหรับสิ่งชี้วัดภายในตัวเขาเองด้วย มีนักลงทุนหลายคนที่ลงทุนในกองทุน Berkshire ที่บัฟเฟตต์ดูแลอยู่บ่นว่ากองทุนจะทำกำไรได้มากกว่านี้มาก ถ้าบัฟเฟตต์ย้ายภูมิลำเนาภาษีไปยังเบอร์มิวดาเหมือนที่บริษัทอื่นทำ แต่บัฟเฟตต์ไม่ต้องการตั้งบริษัทของเขาในเบอร์มิวดา แม้ว่ามันจะถูกกฎหมายและจะช่วยประหยัดภาษีได้ปีละหลายพันล้านเหรียญก็ตาม
ถ้าเราคำนึงถึงความคิดเห็นของคนอื่นมากไปแทนที่จะเป็นสิ่งชี้วัดภายในของเราเอง นั่นคือตอนที่อาการที่คิดว่าตัวเองไม่เก่ง (Imposter Syndrome) เริ่มเข้ามาทำร้ายเรานั่นเอง ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร จักรพรรดิมาร์กุส เอาเรลิอุส (Marcus Aurelius) อดีตจักรพรรดิโรมัน นักปรัชญาสโตอิกเคยกล่าวเอาไว้ว่า
“สิ่งที่ทำให้ผมหยุดแปลกใจไม่ได้เลยคือ เราทุกคนรักตัวเองมากกว่าคนอื่น ๆ แต่สนใจความคิดเห็นของพวกเขามากกว่าของเราเอง”
Marcus Aurelius
สิ่งที่เราคิดเกี่ยวกับตัวเองนั้น ‘สำคัญ’ มากกว่าสิ่งที่คนอื่นคิดเกี่ยวกับเรา มันเป็นเรื่องของการทำสิ่งที่ ‘มีความหมาย’ กับตัวเอง โดยให้น้ำหนักกับสิ่งชี้วัดภายในของเราเองมากกว่าความคิดของคนอื่น
เพราะฉะนั้นถ้าย้อนกลับไปยังคำถามของน้องที่ผมเจอที่งานหนังสือ
“พี่ว่าถ้าหนูจะเขียนหนังสือจะมีคนอ่านไหมคะ?”
อาจจะเป็นคำถามที่มองจากข้างนอกเข้าไป คนอื่นจะสนใจไหม หรือ คนอื่นจะคิดยังไงกับหนังสือเล่มนี้? แต่ผมอยากชวนถามจากข้างในออกไปบ้าง
“หนังสือเล่มนี้มีความหมายกับเราแค่ไหนและทำไมเราถึงอยากเขียนมันออกมา?”
เชื่อว่าคำตอบจะทำให้เส้นทางข้างหน้าชัดเจนขึ้นครับ
========
อ้างอิง
https://www.stylist.co.uk/entertainment/celebrity/imposter-syndrome-quotes-celebrities/307473