ทำยังไงให้ลูกภูมิใจกับรูปลักษณ์และสรีระร่างกายของตัวเอง?
ตั้งแต่ตอนที่ผมยังเป็นเด็กประถมต้น ถูกล้อมาตลอดว่าอ้วน เป็นหมูแดดเดียว ซึ่งกลายเป็นเรื่องตลกโปกฮาเพื่อน ๆ ล้อกันสนุกสนาน แต่ถามว่าในสภาวะจิตใจของเด็กประถมคนนั้นมันไม่ได้ตลกเลยนะ มันเป็นกลายเป็นปม เป็นตัวตนที่เราไม่สามารถก้าวข้ามผ่านมาได้ ทำไมเราต้องอ้วน ทำไมเราถึงถูกล้อ มันเป็นเรื่องตลกขนาดนั้นเลยเหรอ สมองของเด็กไม่สามารถประมวลผลได้หรอกว่ามันสร้างความเสียหายมากขนาดไหน
แต่นั่นเป็นเรื่องเมื่อหลายสิบปีก่อน ขนาดที่ว่าตอนนั้นมันสังคมยังไม่มีการเปรียบเทียบมากขนาดนี้ ไม่มีโซเชียลมีเดียที่ทำให้เราเปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ ได้ง่าย ๆ แต่ตอนนี้เราเห็นเด็ก ๆ เริ่มสนใจและใส่เกี่ยวกับภาพลักษณ์ของตัวเองมากขึ้นเร็วขึ้น เด็ก ๆ บางคนบอกว่าตัวเองอ้วนตั้งแต่อายุสี่ขวบห้าขวบ มีงานวิจัย (https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/27352102/) ที่บอกว่าตอนนี้เด็ก ๆ ที่อยู่วัยอนุบาลและประถามเริ่มรู้สึก ‘ไม่พอใจ’ กับภาพลักษณ์และขนาดของร่างกายของตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ เด็กผู้หญิงอายุน้อย ๆ เพียงแค่สามขวบก็เริ่มบอกว่าต้องผอมถึงจะดี ถ้าอ้วนแล้วไม่ดี และมากกว่า 1/3 ของเด็กที่อายุ 5 ขวบเริ่มจำกัดการกินอาหารเพื่อให้ตัวเองนั้นผอมเหมือนอย่าง ‘คนอื่นๆ’ (https://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1002/eat.22432)
ถ้าการจำกัดอาหารยังไม่ทำให้พ่อแม่สมัยนี้เป็นกังวลมากพอ สิ่งที่ตามมาต่อจากนั้นคือเด็ก ๆ ที่รู้สึกไม่พอใจในสรีระร่างกายของตัวเองนั้นมีโอกาส ‘มากกว่า’ คนอื่น ๆ ที่จะรู้สึกซึมเศร้าและกลายมาเป็นคนที่มีภาวะการกินอาหารที่ผิดปกติ และพฤติกรรมเสี่ยงแบบอื่น ๆ ด้วย (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/23137857) แน่นอนว่าที่ผ่านมาพ่อแม่คงได้อ่านบทความเกี่ยวกับเรื่องของโรคอ้วนในเด็ก และภัยที่จะตามมาในภายหลัง อันนี้เป็นสิ่งที่พ่อแม่ยังคงต้องคอยระวังอยู่ แต่ในขณะเดียวกันตอนนี้เรื่องที่น่ากังวลก็คือว่าเด็กที่มีโรคการกินที่ผิดปกติ (Eating Disorders) นั้นมีสูงมาก ๆ ด้วยเช่นกัน
เพราะฉะนั้นด้วยประสบการณ์ของตัวเองที่เคยพบมากับตัว และสิ่งที่ลูกของตัวเอง (และเด็ก ๆ ทุกคนในตอนนี้) ต้องเผชิญหน้า ก็กลายมาเป็นคำถามที่ว่าแล้วเราในฐานะพ่อแม่ควรจะคุยกับลูกเรื่องสรีระร่างกายและแผลเป็นที่มันจะสามารถสร้างขึ้นในจิตใจให้กับคนที่ได้ยินยังไงดี? จะทำยังไงให้ลูกรักในสรีระร่างกายของตัวเอง และเคารพ ไม่ล้อเลียน คนอื่น ๆ ไม่ว่าร่างกายของพวกเขาจะอ้วน ผอม สูง ต่ำ ดำ ขาว ฯลฯ ยังไงก็แล้วแต่
อย่างแรกเลยคือ “อย่า…(ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็ตาม) คอมเมนท์เกี่ยวกับน้ำหนักของลูก แม้จะคิดว่าตัวเองพยายามช่วยเหลือเขาอยู่ก็ตามที” Clay Jones กุมารแพทย์จากแมสซาชูเซตส์กล่าวว่า “ไม่เคยมีประโยชน์เลย ประการหนึ่ง การเน้นน้ำหนักของเด็กเป็นการตอกย้ำแนวคิดที่ว่าความผอมเป็นอุดมคติที่สำคัญ ซึ่งเป็นข้อความที่พวกเขาได้รับจากทีวี หนังสือ ภาพยนตร์ ครู และเพื่อนๆ แล้ว การกดดันให้ผอมสามารถทำให้เด็ก (ที่แม้จะผอมอยู่แล้ว) รู้สึกประหม่า, ไม่นับถือตนเอง, และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นภาวะซึมเศร้าด้วย (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/pmid/26690639/)” ในปี 2016 นักวิจัยวิเคราะห์ผลลัพธ์จากการศึกษา 42 ชิ้นและสรุปว่าการสนับสนุนให้เด็กและวัยรุ่นลดน้ำหนักหรือวิพากษ์วิจารณ์เรื่องน้ำหนักตัวกระตุ้นให้เกิดความคิดเกี่ยวกับตัวเองในแง่ลบและสร้างโอกาสที่จะเป็นโรคการกินที่ผิดปกติ
แล้วจะทำยังไงหล่ะ? คือเราก็อยากให้ลูกนั้นแข็งแรงมีสุขภาพดี…แต่น้ำหนักหรือความอ้วนไม่ใช่สิ่งที่ควรเอามาเป็นเรื่องที่ต้องชี้นิ้วบอกว่า “ลูกอ้วนไปแล้วนะ” มันเป็นอะไรที่ไม่ส่งผลดีเลย Jennifer Harriger นักจิตวิทยาด้านพัฒนาการที่ศึกษาเรื่องภาพลักษณ์ที่ Pepperdine University บอกว่าเราไม่ควรโทษลูกเรื่องน้ำหนักตัว ถ้าห่วงเรื่องของสุขภาพของลูกจริง ๆ ก็ต้องเปลี่ยนทั้งครอบครัว สร้างเป็นเป้าหมายของครอบครัวไปเลยว่า ‘ออกไปเดินเล่นด้วยกันตอนเย็นนะ’ หรือ ‘ไปออกกำลังกายกันเถอะที่สวนสาธารณะแถวบ้าน’ หรือถ้าอยากให้ลูกทานอาหารที่มีประโยชน์ (ทุกคนรู้ว่ามันคืออะไร) ก็กินทั้งครอบครัว ทำด้วยกัน ไม่ใช่ว่าตัวเองซัดไก่ทอด KFC แล้วบอกให้ลูกนั่งกินผัดผักบุ้ง มันไม่ใช่แบบนั้น นี่จะทำให้การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพเป็นสิ่งที่ทำกันทั้งครอบครัว เป็นเป้าหมายสนุก ๆ ไม่ใช่ ‘การลงโทษ’ เพราะเขาอ้วน (หรือผอม)
คำพูดติดปากของผู้ใหญ่เวลาเจอเด็ก ๆ คือ “วันนี้แต่งตัวน่ารักจังเลย” “วันนี้ทำผมสวยจังเลยนะเนี้ย” “วันนี้ชุดหล่อจัง” ฯลฯ ช่วยไม่ได้แหละเพราะแน่นอนว่าผู้ใหญ่เห็นเด็ก ๆ ตัวเล็ก ๆ แต่งตัวมันน่ารักอยู่แล้ว แต่ยังไงก็ตามคำพูดเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำว่า “คุณค่าของพวกเขา” อยู่ที่ “ภาพลักษณ์ภายนอก” เท่าที่ตาเห็นเท่านั้น ซึ่งที่จริงแล้วการทักทายเด็ก ๆ นั่นเป็นโอกาสในการสอนเรื่องพูดคุยกับคนอื่น ๆ ที่ดีเลย อย่างเช่นว่า “ที่โรงเรียนตอนนี้คุณครูสอนเรื่องอะไรสนุก ๆ ไหมครับ?” “ได้ข่าวว่าเพิ่งไปเที่ยวทะเลมา สนุกไหม เห็นปลาเยอะรึเปล่าจ๊ะ?” “วันนี้ที่โรงเรียนทำกิจกรรมอะไรสนุก ๆ ไหมเอ่ย?” “วันนั้นเห็นหนูเล่นวิ่งแข่ง หนูพยายามดีมาก ๆ เลยนะเนี้ย” ฯลฯ มีอะไรมากมายที่เราสามารถพูดกับเด็ก ๆ ได้ (ไม่ว่าจะเด็กผู้หญิงหรือผู้ชาย) สอนให้เด็ก ๆ เห็นว่าสิ่งที่สำคัญคือสิ่งที่พวกเขาทำ สิ่งที่พวกเขาเป็น โดยไม่ต้องชมเพียงแต่สิ่งที่เราเห็นภายนอกแค่เท่านั้น (อย่างเช่นเวลาผมคุยกับลูกเรื่องเจ้าหญิงดิสนีย์ก็จะคุยกับเขาว่าแต่ละคนมีสิ่งที่น่าชื่นชมยังไงเช่นราพันเซลเป็นคนกล้าหาญ หรืออย่างเช่น เบลล์ ก็เป็นคนที่มีจิตใจเมตตาและเข้มแข็ง เป็นต้น)
แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถ/ไม่ควรพูดถึงร่างกายเด็ก ๆ นะ ที่จริงแล้วพ่อแม่ควรที่การพูดคุยเรื่องนี้กับเด็ก ๆ ทุกคนที่บ้านว่าการเติบโตของร่างกาย สิ่งที่สำคัญ การเคารพในร่างกายของตัวเอง อย่าให้ใครมาจับในพื้นที่ส่วนตัว หรือแม้แต่กอดหอมอะไรก็ตาม…ไม่ว่าจะเป็นครู อาจารย์ คนข้างบ้าน หรือลุงป้าน้าอาที่รู้จัก ถ้าลูกรู้สึกไม่โอเค หนูต้องพูดเลยว่า ‘ไม่’ เลย เพราะมันคือร่างกายของลูก
พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกด้วยที่บ้าน ไม่ว่าเราจะรู้สึกยังไงกับร่างกายของตัวเองก็ตาม การ Body-Shaming ตัวเองหรือคนในบ้าน (พ่อบอกแม่อ้วน แม่บอกพ่อหมูแบบนี้) ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีเช่นเดียวกัน เรารู้ว่าเด็ก ๆ เรียนรู้จากคนรอบข้าง และสิ่งที่เขาเห็นหรือได้ยินก็จะเป็นสิ่งที่เขานำไปใช้กับคนอื่น ๆ นอกบ้านและตัวเองด้วย ถ้าจะพูดเกี่ยวกับร่างกายของตัวเองก็อาจจะต้องควบคู่ไปด้วยว่าเราสามารถทำอะไรกับมันได้ ไม่ใช่ว่ามันทำให้เรารู้สึกแย่ขนาดไหน (เช่นช่วงนี้กินเยอะจัง เดี๋ยวไปวิ่งออกกำลังกายดีกว่า ไม่ใช่ ช่วงนี้กินเยอะจัง อ้วนเป็นหมู น่าเกลียดสุด ๆ เลย)
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดเลยก็คือการนั่งคุยกับลูกเลยว่าการคอมเมนท์หรือพูดเกี่ยวกับสรีระร่างกายของคนอื่น (หรือของตัวเองนั้น) สามารถส่งผลลัพธ์ที่ไม่ดีได้ขนาดไหน ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้พวกเขาตระหนักว่าคำพูดหรือสิ่งที่พวกเขาคอมเมนท์คนอื่น ๆ นั้นสามารถสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีกับคนอื่นได้ ต้องเห็นว่ามันสามารถสร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับคนอื่นได้ และถ้าเกิดว่ามีเพื่อนคนไหนที่ทำ ลูกก็จะต้องคอยบอกเขาด้วยเช่นกัน
ประเด็นที่จะต้องคุยคือ “สรีระและภาพลักษณ์ของร่างกายของทุกคนนั้นแตกต่างกัน และนั่นเป็นสิ่งที่ดี”
และถ้าลูกเป็นเด็กที่โตพอจะเข้าใจบ้างแล้วก็อธิบายเหตุผลไปต่อว่าวัฒนธรรมสมัยใหม่ยกย่องส่งเสริมและให้คุณค่ากับร่างกาย ‘ผอมบาง’ และทำให้คนที่มีร่างกายท้วมอ้วนกว่าสิ่งที่สื่อต่าง ๆ พยายามนำเสนอนั้นจะถูกปฏิบัติด้วยไม่ดีสักเท่าไหร่ บางทีโดนพูดเหยียดเสียหายด้วย
แล้วถ้าลูกของคุณคิดว่าตัวเองอ้วนหล่ะ? ต้องพยายามที่จะไม่บอกว่า “ไม่จริงงงงง ลูกไม่อ้วนหรอก” เพราะเอาจริง ๆ เขารู้ครับ เขาเห็นอยู่ว่าตัวเองแตกต่างจากคนอื่น แต่สิ่งที่เราในฐานะพ่อแม่ทำได้คือต้องชี้ให้เห็นว่าอ้วนบ้างเล็กน้อยก็น่ารักดี กอดแล้วอุ่น อะไรก็ว่าไป แต่ที่สำคัญเลยคือต้องย้ำให้เขาแน่ใจด้วยว่าภาพลักษณ์หรือสรีระของเขานั้นไม่ได้กำหนดสิ่งที่เขาเป็นและเราก็รักเขาไม่ว่าจะอ้วนหรือผอมยังไงก็ตาม อีกเรื่องคือการอธิบายว่าร่างกายของเรานั้นยังต้องเติบโตและใช้เวลาอีกสักพักกว่ามันจะคงที่
แล้วถ้าลูกโดนเพื่อนล้อหล่ะ? บอกเลยครับว่ามันอาจจะเกิดขึ้น เรื่องนี้พ่อแม่ต้องรับมือให้ดี พยายามเอาใจลูกมาใส่ใจเรา “พ่อ/แม่เข้าใจว่าคำพูดเหล่านั้นทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีมาก ๆ เลยใช่ไหม” แต่อย่าเพิ่งไปสรุปว่า ‘อย่าไปสนใจคนอื่นเลยลูกเป็นมากกว่านั้น’ แบบนั้นจะทำให้ลูกรู้สึกว่าเราไม่เข้าใจความรู้สึกของเขาที่เพิ่งถูกล้อมา แค่พยายามเข้าใจความรู้สึกของเขาแล้วก็ทำให้เห็นภาพใหญ่ว่าทำไมสิ่งเหล่านี้ถึงเกิดขึ้น วัฒนธรรมของเราเป็นแบบนั้นและมันก็ไม่แฟร์เท่าไหร่ แต่ความแตกต่างของเราก็ทำให้เราไม่เหมือนใครด้วย และที่สำคัญถ้ามันเป็นเรื่องที่เกิดที่โรงเรียน แน่นอนครับแจ้งคุณครู เพราะเราต้องทำให้ลูกเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม และเราไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
แล้วถ้าลูกไปล้อคนอื่นหล่ะ? อย่างแรก…ใจเย็น ๆ นะครับ อย่าเพิ่งไปตีลูกหรือดุลูกกันตรงนั้น เพราะมันจะยิ่งตอกย้ำว่าความอ้วนหรือร่างกายที่แตกต่างนั้นเป็นสิ่งที่ ‘แย่’ แต่พยายามดึงลูกมาคุยครับว่าทำไมเขาถึงพูดแบบนั้น สร้างบทสนทนาขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องนั้น “ใช่ลูก เด็กคนนั้นอาจจะตัวโตกว่า และคนอื่น ๆ อาจจะตัวเล็กกว่า แต่จำได้ไหมว่าเด็ก ๆ ทุกคนมีร่างกายที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องดีนะลูก”
หลายคนอาจจะบอกว่าความอ้วนเป็นเรื่องที่เป็นอันตราย เมื่ออ้วนก็ตามมาด้วยโรค ในที่นี้แน่นอนว่าความอ้วนที่มากเกินพอดีนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ดี เรารู้กันอยู่ แต่การที่เรามีน้ำหนักที่พอดี ไม่อ้วนเกินไป ไม่จำเป็นต้องผอมตามอุดมคติของสังคม แต่ก็ยังสุขภาพดีได้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะให้เด็ก ๆ ภูมิใจกับรูปลักษณ์และสรีระร่างกายของตัวเองคือทำให้เขาเข้าใจว่าทุกคนนั้นมีร่างกายที่แตกต่างกัน สิ่งสำคัญคือเราต้องเคารพคนอื่นไม่ว่าร่างกายของพวกเขาจะเป็นยังไงก็ตาม
เพราะฉะนั้นเลิกทักเด็ก ๆ นะครับว่า “น้องอ้วนขึ้นอีกแล้วเหรอคะ?” บอกเลยครับจากประสบการณ์ส่วนตัว มันทำร้ายจิตใจและรู้สึกว่าตัวเองมีปมด้อยมาก ๆ เลยหล่ะครับ
==========
อ้างอิง