ทำไมชักหน้าไม่เคยถึงหลัง : ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับเรื่องเงิน เพราะเงินในอนาคตอาจไม่มีอยู่จริง
ย้อนกลับไปช่วงยุค 90’s มีแรปเปอร์สองคนชื่อ MC Hammer และ Chamillionaire
MC Hammer โด่งดังจากเพลง “U Can’t Touch This” ส่วน Chamillionaire โด่งดังจากเพลง “Ridin’ Dirty” ช่วงนั้นถือเป็นช่วงเวลากอบโกยของทั้งคู่อย่างแท้จริง สร้างรายได้มหาศาล แต่ปลายทางของทั้งสองคนไม่เหมือนกัน
MC Hammer สร้างรายได้ราว ๆ 37 ล้านเหรียญ แต่ตอนที่เขายื่นล้มละลายมีหนี้ติดตัวอยู่ 13 ล้านเหรียญ ส่วน Chamillionaire ช่วงนั้นก็หาเงินได้ระดับหลายล้านเหรียญ แต่เอาไปลงทุนจนตอนนี้มีทรัพย์สินราว ๆ 50 ล้านเหรียญ
นี่เป็นตัวอย่างของหลักแนวคิดทางจิตวิทยาการลงทุนเรียกว่า “Extrapolation Bias” หรือ “อคติของการคาดการณ์ล่วงหน้า” ที่ค่อนข้างชัดเจน คนส่วนใหญ่จะคิดว่า “สิ่งที่ได้รับมาในอดีตจะคงอยู่ต่อไปในอนาคต” (ถ้าสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านต่อได้ตรงนี้ครับ) คนที่เคยได้เท่าไหร่ ก็คิดว่าตัวเองจะได้รับเท่านั้นในอนาคตจะมาถึง
นี่คือความผิดพลาดอย่างหนึ่งที่มักเกิดขึ้นในเรื่องการวางแผนการเงินส่วนตัว ไม่ว่าจะใครก็ตาม (ผมเองก็เป็น) มันเป็นความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับเรื่องเงิน ที่ทำให้คนใช้เงินเกินตัวจากการใช้ข้อมูลในอดีต
เมื่อเราได้รับเงินเป็นประจำทุกเดือนในปริมาณที่เท่า ๆ กัน ก็จะคาดหวังว่าจะได้รับในปริมาณเท่า ๆ กันในอนาคต ซึ่งเป็นปัญหาที่ตามมาของการใช้เงินในอนาคตที่อาจจะไม่เกิดขึ้น สมมุติว่าเงินเดือนผม 15,000 บาท เดือนนี้ใช้ไปหมดแล้วเพราะมีค่าใช้จ่ายซ่อมรถที่เพิ่มเข้ามา ผมก็มองไปยังแหล่งเงินอื่น ๆ ที่มีในมือ บัตรเครดิตมีวงเงิน 10,000 บาท ขอใช้ก่อนละกัน เพราะเดี๋ยวเดือนหน้าก็ค่อยเอาเงินมาจ่ายตอนเงินเดือนออก แล้ววงจรนรกของการจ่ายหนี้อนาคตก็เริ่มขึ้น
เช่นเดียวกับ MC Hammer ผมใช้มากกว่าที่มี เพราะคิดว่าเงินของอนาคตยังไงก็มีแน่นอน
แต่ถ้ามันไม่มีหล่ะ?
ประสบการณ์การเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์
ช่วงที่เป็นนักเขียนแรก ๆ ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะหาเงินจากมันได้จริง ผมเขียนเพราะรู้สึกสนุกและอยากทำ จนกระทั่งวันหนึ่งมันกลายเป็นรายได้หลักให้กับชีวิตของตัวเองได้ ซึ่งก็ใช้เวลาอยู่หลายปีกว่าจะถึงจุดนั้น
พอถึงจุดหนึ่งที่เราสามารถสร้างรายได้ เราก็จะเริ่มชินกับเงินที่เข้ามาในบัญชีในแต่ละเดือน มีความสุขแน่นอนครับเวลาที่เงินเข้า แต่การที่เราเป็นนักเขียนนอก (นักเขียนฟรีแลนซ์ที่ไม่สังกัดสื่อรับเขียนให้ทุกที่) แบบนี้ เงินที่ทางสื่อต่าง ๆ ให้มานั้นเป็นก้อนที่สื่อจะต้องบริหารจัดการ เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงหรือการรัดเข็มขัดเกิดขึ้นในองค์กร เงินก้อนนักเขียนนอกจะถูกตัดออกเป็นสิ่งแรก ๆ เพราะความเสียหายเกิดน้อยที่สุด ไม่มีสัญญา ไม่มีการชดเชย
เงินที่เคยได้วันหนึ่งจู่ ๆ ก็จะหายไป จะบอกว่าเหมือนคนตกงานก็คงไม่ผิดนัก
ยกตัวอย่างช่วงโควิดก็ได้ที่สื่อต่าง ๆ รัดเข็มขัดจนตัดงานนักเขียนนอกออก ใช่ครับ เหมือนคนตกงานคนหนึ่งนั่นแหละ สุดท้ายก็ต้องกลับมาถามตัวเองว่ายังจะเขียนต่อไหมหรือพอแค่นี้แล้ว
โชคยังดีที่ผมไม่ได้ใช้เงินอนาคตมากนัก ยังพอมีแบ่งเก็บเอาไว้ยามฉุกเฉินบ้าง รอดช่วงปีแรกของโควิดมาได้แบบทุลักทุเล แล้วก็ได้เรียนรู้ว่าเงินที่เคยได้ในอดีต ไม่ได้การันตีว่าจะมีต่อไปในอนาคต
ชีวิตไม่เคยเรียบง่ายและมีความยุ่งเหยิงเสมอ
เชื่อว่าคนที่ใช้ชีวิตมาถึงจุดหนึ่งจะทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี ลองดูอย่างสภาวะเศรษฐกิจก็ได้ ตอนนี้มันยุ่งเหยิงไปหมด เมื่อก่อนมีอุปสงค์/อุปทาน แต่ตอนนี้มีเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ เรื่องการเมือง เรื่องภาษี เรื่องสงครามในต่างประเทศ เรื่องการขนส่ง เรื่องของความโปร่งใสและธรรมาภิบาลของบริษัทและผู้บริหาร เรื่องสภาพแวดล้อม เรื่องโรคระบาด เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำประเทศ ฯลฯ
คำว่า “Butterfly Effect” หรือผีเสื้อขยับปีกสะเทือนถึงดวงดาวคงไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เพราะทุกอย่างในโลกล้วนสัมพันธ์กันหมดในตอนนี้ ลองมีการเปลี่ยนรัฐบาล การเลือกตั้ง ภาวะเงินฝืด เงินเฟ้อ ภาษี หนี้ ค่าเงินบาท เงินเหรียญสหรัฐ หรือเงินเยนขยับ ทุกอย่างล้วนเชื่อมถึงกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
สิ่งเหล่านี้ดูล้วนไกลตัวนะครับ แต่มันกระทบถึงเราจริง ๆ เอาง่าย ๆ เรื่องราคาน้ำมันที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามรัสเซียยูเครน ส่งผลต่อราคาข้าวของที่ต้องขึ้นราคา กลายเป็นภาวะเงินเฟ้อที่ของแพงเงินที่เคยได้มูลค่าเล็กลงไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย กลายเป็นปัญหาที่เราต้องไปหาเงินใหม่ หรือหางานเพิ่ม ซึ่งกระทบกับครอบครัว ซึ่งภาวะเงินเฟ้อก็จะกลายเป็นตัวเร่งให้รัฐบาลออกมาประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย (แม้จะไม่ได้สูงเหมือนอย่างในประเทศอื่น ๆ) ที่กลายมาเป็นภาระของรายจ่ายที่จะเพิ่มขึ้นเพราะหนี้ที่มีไว้อยู่แล้ว
แล้วไหนจะเรื่องตลาดคริปโตอีก…(อย่าไปพูดถึงมันเลย)
เตรียมตัวและเรียนรู้เรื่องการลงทุน
การลงทุนคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต จะบอกว่ามันเป็น safety net ไว้คอยป้องกันเวลาเราล้มก็คงไม่ผิดนัก เราเห็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จมากมายส่วนใหญ่เพราะพวกเขารู้จักการลงทุนและวางเงินไว้ถูกที่สำหรับสิ่งที่เหมาะสม Chamillionaire ไม่ได้มีทรัพย์สิน 50 ล้านเหรียญเพราะเก็บเงินเก่ง แต่เขาลงทุนเพราะรู้ว่าชีวิตนักดนตรีมีช่วงพีคของตัวเอง เมื่อไหร่ก็ตามที่ยังกอบโกยได้เก็บนำไปลงทุนในสิ่งที่จะสร้างผลตอบแทนในอนาคต
ลงทุนและสะสมเมื่ออยู่ในช่วงเวลาที่ดี เพื่อคุณจะได้มีชีวิตรอดในช่วงเวลาที่โหดร้าย
ทุกอย่างล้วนชั่วคราว
ช่วงดี ๆ ไม่เคยอยู่ได้นาน ช่วงร้าย ๆ ก็เช่นเดียวกัน
…และนั่นก็คือชีวิต