ทำไมยังไม่มีความสุข? ปรากฏการณ์ Mimetic ที่เราลอกเลียนแบบความต้องการของคนอื่น
วันก่อนมีโอกาสได้นั่งคุยกับน้องคนหนึ่งประเด็นเกี่ยวกับเรื่องของสิ่งที่เรียกว่า ‘ความสุข’
น้องเล่าให้ฟังว่าตอนนี้อาชีพการงานก็โอเค งานไม่แย่ เจ้านายก็ดี ครอบครัวก็ไม่ได้เดือดร้อน เงินเก็บก็พอมีบ้าง แฟนก็ดีเข้าใจกัน มีเวลาว่างก็ไปเที่ยวนู้นี้ตามประสา แล้วเขาก็บอกว่า
เขาบอกต่อว่าทุกครั้งที่ชีวิตเขาดูเหมือนจะเข้าที่เข้าทาง เขาก็รู้สึกว่าคนรอบข้างกลับกำลังดูเหมือนจะประสบความสำเร็จมากกว่า แล้วทุกครั้งพอเขาทำให้ดีขึ้น วงจรนรกนี้ก็กลับมาทำร้ายเขาครั้งแล้วครั้งเล่า
ผมเล่าว่าผมเองก็เป็นแบบนั้น – อย่างน้อยก็เคยเป็นแบบนั้น – แต่ก็พยายามทำให้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ตัวผมเองเคยรู้สึกว่าไม่ว่าจะมีพร้อมมากขนาดไหนก็ยังไม่มีความสุข ผมอยากประสบความสำเร็จในทุกด้าน ทุกเรื่อง เหมือนอย่างคนที่ผมชื่นชม แต่มันกลับเหนื่อยมากและบ้าบอเหลือเกินที่จะทำให้ได้ทุกอย่าง จนผมต้องกลับมาถามตัวเองว่า
ความต้องการเป็นบ่อเกิดของความทุกข์ แล้วยิ่งต้องการมากเท่าไหร่ ยิ่งทุกข์มากขึ้นเท่านั้น
ปรากฏการณ์นี้มีชื่อเรียกว่า “Mimetic Theory” หรือการลอกเลียนแบบความต้องการของคนอื่น ซึ่งคำนี้ถูกนำมาใช้โดยนักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อว่า Rene’ Girard โดยอธิบายว่าคนส่วนใหญ่จะลอกเลียนแบบโมเดลหรือไอดอลที่ตัวเองชื่นชอบ ไม่ใช่แค่แนวคิดหรือสิ่งที่คนคนนั้นทำเท่านั้น แต่ความต้องการของคนต้นแบบเหล่านั้นด้วย เขาบอกว่า
เรื่องจริงที่น่าหดหู่ก็คือว่าเราเห็นมันเกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช่แค่ในอดีตเท่านั้น แต่มันก็ยังเกิดขึ้นในตอนนี้ แถมเทคโนโลยียิ่งทำให้ปรากฏการณ์นี้รุนแรงมากขึ้นกว่าเดิมด้วย เพราะเราไม่ได้เห็นแค่คนที่อยู่รอบข้างเราเท่านั้น แต่ไอดอลที่อยู่บนโลกออนไลน์เต็มไปหมด
ซึ่งพอมาคิดดูแล้วมันช่างบ้าบอดีไม่น้อยที่เราให้ความสำคัญหรือเป็นทุกข์เพราะคนเหล่านั้นแหละที่เราอาจจะไม่รู้จักด้วยซ้ำ คนที่เป็นไอดอล คนที่เป็นโมเดล คนที่เป็น influencers หลายแสนหลายล้านคนบนโลกออนไลน์ที่ดูมีชีวิตที่สดใส ยืนถือผลิตภัณฑ์บางอย่าง หรือใช้ชีวิตหรูหราว่ายน้ำที่ชายทะเลบนเกาะที่สวยงามราวกับสวรรค์ มีรูปร่างที่สวยสมบูรณ์แบบ ซิ๊กแพคเรียงสวย อาหารดินเนอร์สุดหรูหรา รถยนต์เฟอรารี่ที่จอดเรียงกันในโรงรถ ฯลฯ
แน่นอนว่าคนเหล่านี้ต้องทำงานหนักเท่าไหร่หรือต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ได้สิ่งเหล่านี้มา เราไม่มีทางรู้ได้ เขาอาจจะลำบาก สร้างทุกอย่างมาด้วยสองมือ แต่มันก็เป็นเพียงด้านหนึ่งที่เขาเลือกจะโชว์ให้โลกเห็น? โชว์ให้คุณเห็น แล้วเราก็หลงใหลไปกับมันเพราะมันช่างหอมหวลเหลือเกิน
เราอยากมีบ้านหรูๆเหมือนอย่างคนอื่น อยากมีรูปร่างแน่นเปรี๊ยะเหมือนอย่างเขาบ้าง สิ่งที่ทำร้ายเรามากที่สุดจากการไล่ตามความต้องการเหล่านี้ (ซึ่งที่จริงแล้วมันอาจจะไม่ใช่ของเราเองด้วยซ้ำ) ก็คือว่าเราจะไม่มีความสุขเลยจนกว่าเราจะได้สิ่งเหล่านั้นมา และเมื่อได้มาแล้วก็จะมีความสุขแค่เพียงสั้นๆ เราอาจจะไม่ได้อยากได้กระเป๋าถือใบนั้นเลย โทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ หรือรถยนต์คันหรูนั้นตั้งแต่แรก
เราแค่อยากเป็นเหมือนใครคนนั้นที่อยู่ใน Facebook, YouTube หรือ Instagram เท่านั้น สิ่งที่แย่กว่านั้นก็คือว่าเมื่อเราไม่ได้สิ่งเหล่านั้น เราก็โทษส่ิงรอบข้าง โทษสถานการณ์ คนรอบตัว ฯลฯ
มันเป็นประสบการณ์ที่ห่วยแตก ที่บางทีผมเองก็รู้สึกว่าตัวเองยังวนเวียนอยู่ตรงนั้นอยู่บ้างในหลายๆครั้ง แต่โชคยังดีที่หลังๆมาพอรู้ตัวว่าตัวเองกำลังต้องการบางอย่างที่อาจจะไม่ได้มาจากความต้องการของตัวเองจริงๆ ก็จะถามตัวเองแล้วว่า “นี่คือความสุขของเราจริงๆเหรอ? หรือของคนอื่น? เรามีเหตุผลที่อยากได้สิ่งเหล่านี้จริงๆเหรอ? มันจะทำให้ผมมีความสุขจริงๆใช่ไหม?”
ถ้าคำตอบไม่ได้เคลียร์หรือชัดเจน, บางทีผมอาจจะไม่ได้ต้องการมันจริงๆก็ได้
อย่าพยายามหาข้ออ้าง แต่ใช้เหตุผลกับตัวเองให้มาก การใช้วิธี “Selective Ignorance” หรือการเลือกที่จะไม่รับข้อมูลบางอย่างอย่างจงใจ อาจจะเป็นวิธีการป้องกันที่ดีไม่ให้เกิดแรงจูงใจผิดๆตั้งแต่แรก การที่ไปตามคนนั้นคนนี้โดยที่พวกเขาไม่ได้สร้างคุณค่าอะไรให้กับชีวิตของคุณเลย การกด “unfollow” ก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น
โลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลและความต้องการที่ไม่รู้จบ, อย่างน้อยถ้าเรากำลังตามหาความสุข ก็ขอให้เป็นความสุขของเราจริงๆ ไม่ใช่ของคนอื่น