ปีใหม่ คนเก่า : จะเปลี่ยนตัวเองได้ ต้องรับตัวเองที่ไม่สมบูรณ์ให้ได้ก่อน
เสียงเพลง ‘จิงเกิลเบลส์’ ตามร้านค้าและร้านอาหารบ่งบอกว่าช่วงเวลานั้นของปีกำลังกลับมาอีกครั้ง ไม่ใช่แค่ช่วงเวลาแห่งความสุขและแกะของขวัญคริสต์มาส แต่มันเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าปีนี้กำลังจะจบลงและปีใหม่กำลังย่างกรายเข้ามาหาเราแบบเงียบ ๆ ในไม่ช้านี้แล้ว
แล้วมันก็คือช่วงเวลาที่เราจะ “เริ่มต้นใหม่” หรือพูดให้ถูกคือเตรียมตัวเริ่มต้นใหม่นั่นแหละ
จะกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ออกไปวิ่งทุกเข้า น้ำหนักลด 10 กิโล อ่านหนังสือทุกวัน เขียนหนังสือสักเล่ม หรือซื้อกล่องจัดของมาเตรียมจัดบ้านให้เรียบร้อยสักที คุณพร้อมร้องตะโกนแล้วว่า “นี่คือปีของฉัน!!!”
ช่วงเวลานี้เราตื่นเต้นครับ สนุกเลยหล่ะในการเตรียมตัวกับสิ่งใหม่ ๆ พร้อมจะเป็นคนใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม แม้ยังไม่ได้ทำอะไรนะและยังไม่ได้ล้มเหลวอะไร ภาพในหัวของคุณช่างชัดเจนสวยงาม กล้ามท้องซิกแพคหกก้อนวีคัทที่สวยงามนั้นแทบจะสัมผัสได้อยู่แล้ว แต่ในหัวของคุณลึก ๆ ก็ทราบดีว่า อีกไม่กี่วันหลังจากเริ่มทำ ทุกอย่างจะกลายเป็นเพียงฝันสลายที่หายไปเท่านั้น
การเริ่มต้นใหม่ของเรานั้นมักล้มเหลวด้วยเหตุผลที่ชัดเจนหลายอย่างเลย
- เป้าหมายสูงเกินไป
- ภาระหน้าที่งานหรือบ้านไม่อำนวย
- คุณพบว่าวินัยของคุณไม่ได้เพิ่มขึ้นสิบเท่าภายในคืนเดียว (ใครจะคิดถึงเรื่องนี้ใช่ไหม 555)
โอลิเวอร์ เบอร์คีแมน (Oliver Burkerman) ผู้เขียนหนังสือ “Four Thousand Weeks” (ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์) บอกว่าที่จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนใหม่นั้นมีรากที่เป็นปัญหาอยู่อย่างหนึ่งและก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไม่การตั้งเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองนั้นเกิดขึ้นได้ยากมาก และถ้าเราอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเองจริง ๆ สิ่งที่ต้องทำในปีใหม่นี้ (หรือตอนนี้เลยก็ได้) คือการรับตัวเองในแบบที่ไม่สมบูรณ์ ยุ่งเหยิง และ เต็มไปด้วยข้อบกพร่องตอนนี้ให้ได้ก่อนนั่นเอง

แผนการสร้างตัวตนใหม่ ก็เกิดจากตัวตนเก่าที่มีปัญหาอยู่แล้ว
ปัญหาของแผนการสร้างตัวตนใหม่ของคุณ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ผอมเพรียว หรือคนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว ลูกเมีย หรือคนที่หัวหน้างาน พนักงานที่ตั้งใจทำงาน ฯลฯ ทุกอย่างเริ่มต้นจากคุณคนเก่า ซึ่งก็หนีไม่พ้นว่าเป็นคนที่มีปัญหาไม่น้อย เพราะไม่งั้นก็คงไม่อยากเปลี่ยนแปลง (ใช่ไหม?) เราจะเชื่อเจ้าคนเก่าคนนี้ได้ยังไงหล่ะ? บางทีตัวเราคนเก่าอาจกำลังใช้คำว่า “การเริ่มใหม่” เพื่อเน้นย้ำปัญหาเก่า ๆ ที่มีอยู่แล้วก็ได้
ยกตัวอย่างเช่นคุณอาจจะบอกว่า “ปีนี้จะเป็นคนใหม่ ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” ซึ่งก็อาจจะมาจากรากปัญหาเดิมที่ว่าคุณรู้สึกต้องรับทุกอย่างของคนรอบข้างเอาไว้คนเดียว ทั้ง ๆ ที่ทางที่ดีกว่าคือการเริ่มปล่อยวางและให้คนอื่นทำหน้าที่ของตัวเองโดยคุณควรบอกปฏิเสธคนอื่น ๆ อย่างสุภาพมากกว่า หรืออย่างบางทีปีนี้ “จะเป็นคนใหม่ ต้องผอมให้ได้เลย” แต่รากของปัญหาเดิมไม่ได้อยู่ที่น้ำหนัก แต่เป็นความรู้สึกที่คุณมีต่อตัวเอง ที่ไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น อยากผอมเพื่อให้คนอื่นยอมรับโดยที่คุณยังไม่ได้ยอมรับหรือรักในตัวคุณเองด้วยซ้ำ
แม้ว่าไปถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ (ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือ ต้องผอมให้ได้) มันก็เป็นแค่การเน้นย้ำปัญหาที่อยู่ฝังลึกลงไปข้างในมากกว่า
เจมส์ ฮอลลิส (James Hollis) นักจิตวิทยาผู้เขียนหนังสือ “Finding Meaning in the Second Half of Life” บอกว่า
“ไม่มีใครตื่นขึ้นมาในตอนเช้า มองในกระจกแล้วพูดว่า ‘ฉันคิดว่าจะทำพลาดเหมือนเดิมอีกครั้งวันนี้’ หรือ ‘ฉันคาดว่าวันนี้จะทำเรื่องงี่เง่า ซ้ำ ๆ ถอยลงคลอง และตรงข้ามกับสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง’ แต่บ่อยครั้งประวัตศาสตร์ที่ซ้ำรอยคือสิ่งที่เราทำจริง ๆ”
ผลที่ตามมา (นอกจากจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองแล้ว) ยังรู้สึกแย่ลงไปกว่าเดิมอีก การโฟกัสถึง ‘ตัวคุณที่สมบูรณ์แบบในอนาคต’ ทำให้ตัวคุณในตอนนี้ ‘ด้อยค่า’ ลงไปในทันที คำแนะนำก็คือว่าแทนที่จะมองไปในอนาคต ให้มองว่าปีนี้ที่ผ่านมานี่แหละ ‘เราได้พัฒนาตรงไหนขึ้นมาบ้างแล้ว’ ซึ่งแม้หลาย ๆ คนอาจจะบอกว่ามันเป็นเรื่องยาก แต่เชื่อเถอะครับว่าเราน่าจะทำบางอย่างที่สำเร็จได้ เล็กใหญ่ไม่สำคัญ
แทนที่จะ ‘สร้างตัวต้นใหม่’ ขึ้นมา ขอให้เปิดใจยอมรับ ‘ตัวตนเก่า’ ของตัวเองก่อน อาจจะฟังน้ำเน่าหรือรู้สึกว่าเหมือนคนที่ปลงชีวิตยังไงยังงั้น แต่ คาร์ล โรเจอร์ส (Carl Rogers) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันชื่อดังบอกว่ามันคือเรื่องตรงกันข้ามเลย “ความย้อนแย้งที่น่าสนใจคือว่าเมื่อเรายอมรับตัวเองในแบบที่เราเป็น เราถึงจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้” เมื่อเราไม่จินตนาการว่า “ต้อง” เปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่เพื่อเป้าหมายของการมีอยู่ของคุณบนโลกใบนี้ คุณจะเริ่มปลดปล่อยให้ตัวเองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้ ความเสี่ยงน้อยลง และคุณค่าของตัวคุณไม่ได้ถูกเอามาเปรียบเทียบอีกต่อไป
การยกโทษให้ตัวเอง ความผิดพลาด สิ่งที่ไม่ดี และอะไรที่ทำได้ไม่สำเร็จมันมีพลังมหาศาลเลย เมื่อเรายอมรับตัวเองแล้วบอกกับตัวเองว่าเราก็มนุษย์คนหนึ่ง เราจะมีพลังเดินไปข้างหน้าต่อได้ จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เราจะอยู่ในจุดที่มองเห็นว่าควรพัฒนาตรงไหนต่อ ไม่ใช่แค่ต้องเปลี่ยนตรงไหนเท่านั้น
ลองคิดถึงนิสัยหรือพฤติกรรมแย่ ๆ ที่คุณมีและอยากเปลี่ยนดูครับ แล้วต่อจากนั้นก็คิดว่า “จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเรามีนิสัยแย่ ๆ แบบนี้ไปตลอดกาล” อย่างเช่นเป็นคนผัดวันประกันพรุ่งไปตลอดกาล หรือเป็นคนขี้โมโหไปตลอดกาล ตอนที่ผมทำก็รู้สึกเลยว่ามันคงแย่มาก ๆ แต่นั่นแหละครับคือสิ่งที่ดี เพราะเมื่อเราได้คิดแล้วก็กลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงว่า ‘เออ…เรายังมีโอกาสทำให้ดีขึ้นได้นะ ยังไม่สายไป และตอนนี้เราก็รู้แล้วว่าอยากพัฒนาตรงไหน’
ความพ่ายแพ้ที่ต้องยอมรับคือการยอมรับว่าตัวเองไม่สมบูรณ์แบบ มันไม่มีทางกลับไปในอดีตได้ คุณไม่สามารถเอาเวลาที่เสียไปกลับคืนได้ คุณไม่สามารถ ‘ไม่ทำ’ ในสิ่งที่ทำลงไปแล้วได้ ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ดีเพราะคุณไม่ต้องพยายามที่จะหลีกเลี่ยงความยุ่งเหยิงในชีวิตอีกต่อไป
Shunryu Suzuki เป็นพระภิกษุสงฆ์นิกายเซนเคยกล่าวเอากับนักเรียนของเขาไว้ว่า
“ทุกคนในที่นี้สมบูรณ์ในแบบของตัวเอง และทุกคนก็ยังพัฒนาต่อไปได้อีก”
มันช่างย้อนแย้ง, และเราก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ
ขอให้ปีที่กำลังจะมาถึงเป็นปีที่คุณได้ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นและพัฒนาในสิ่งที่คุณต้องการจริง ๆ ครับ
อ้างอิง : The Guardian