“ตื่นขึ้นมาจากฝันดีๆ ในตอนตีสี่
ทั้งที่ไม่ได้คิดเรื่องอะไร บอกกับตัวเอง
เวลานี้ พยายามจะหลับตา
แต่ก็ทำไม่ได้สักทีไม่รู้ทำไม
ยังทำได้เพียงแค่สงสัยเป็นอะไร
ที่ฉันเองพยายามนอนหลับตา […]”
เนื้อร้องบางส่วนจากเพลง ’04:00 ของเดอะทอย’ เป็นประสบการณ์ที่เราทุกคนนั้นเคยผ่านมาแล้วทั้งนั้น ความรู้สึกที่กำลังนอนฝันถึงเรื่องดีๆแล้วก็ต้องมีอะไรมาขัด ไม่สะดุ้งตื่นเองก็ต้องมีอะไรมาขัดจังหวะในตอนที่ปลายด้ายกำลังจะเข้าเข็ม ความรู้สึกมันคล้ายกับการดูซีรี่ย์ที่กำลังสนุกแล้วตัดจบตอน “to be continued” อาทิตย์หน้า แต่ต่างกันตรงที่ว่าความฝันที่ขาดระหว่างทางนั้นจะต่อสะพานให้จบคงเป็นเรื่องยาก ยิ่งถ้าใครเป็นพ่อเป็นแม่ที่นอนบนเตียงเดียวกับลูก (เหมือนผม) ก็จะรู้ดีว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นทุกเช้า
มันดูเป็นคำบ่นที่ไม่มีความหมายอะไรเท่าไหร่ เพราะเรามมักคิดว่าการนอนหลับแล้ว “ฝัน” เท่าที่ผ่านมานั้นไม่ได้ถูกมองข้ามมาตลอด ไม่เหมือนกับการนอนหลับลึกที่ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ แต่ตอนนี้จากผลการวิจัยและตัวอย่างที่เพิ่งถูกเปิดเผยดูเหมือนว่า “ความฝัน” นั้นจะเป็นอะไรที่มากกว่าการผจญภัยยามนิทรา การนอนหลับช่วง REM (Rapid Eye Movement Sleep) คือช่วงที่กำลังดำดิ่งสู่ความฝัน) นั้นสำคัญต่อการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ มันสามารถทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นในหลายๆด้าน เพราะฉะนั้นต้องบอกว่าความฝันนั้นจำเป็นต่อการพัฒนาศักยภาพของเรามากเลยก็ว่าได้
การนอนหลับไม่เพียงพอเรื้อรังนั้นเป็นปัญหาที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับคนที่มีลูกเล็กแค่เท่านั้น การดื่มเหล้าจนเมา การเสพยาเสพติด การใช้ยานอนหลับที่กดประสาท หรือแม้แต่การใช้นาฬิกาปลุกในตอนเช้าล้วนเป็นการขัดจังหวะช่วงพีคของความฝันทั้งนั้น ซึ่งในตอนนี้ทุกคนคงรู้ดีอยู่แล้วว่าการนอนหลับอย่างเต็มที่ถือสิ่งจำเป็นต่อสุขภาพที่ดี การนอนหลับไม่เพียงพอนอกจากจะสร้างผลกระทบต่อการตัดสินใจ อารมณ์แปรปรวนไม่มั่นคง มันยังไปปั่นป่วนระบบย่อยอาหารทำให้เป็นโรคอ้วนและเบาหวาน แถมยังมีส่วนเกี่ยวพันกับโรค Alzheimer รวมไปถึงโรคเกี่ยวกับระบบประสาทต่างๆอย่างโรคซึมเศร้าอีกด้วย
จากสิ่งที่เรารู้ตอนนี้เกี่ยวกับการนอนหลับที่ดีคือต้องนอนอย่างน้อยประมาณ 7-9 ชั่วโมงในหนึ่งคืน ปัญหาคือ…มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น จากแบบสอบถามที่ทำมามีกลุ่มมคนจำนวนเพียง 35% เท่านั้นในประเทศอเมริกาที่สามารถนอนได้แบบนั้นทุกคืน และตัวเลขนี้ก็น้อยลงเรื่อยๆเพราะคนในยุคนี้มีกิจกรรมมให้ทำก่อนนอนมากมาย ไหนจะโซเชียลไปจนกระทั่ง Netflix กว่าจะได้นอนก็ตีหนึ่งตีสอง นอนกันเยอะสุดคืนหนึ่ง 5 – 6 ชั่วโมงก็ถือว่าหรูหรามากแล้ว การนอนหลับที่ไม่เพียงพอจึงกลายเป็นโรคระบาดอันร้ายแรงของโลกยุคปัจจุบันเลยทีเดียว
แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ เรามักไม่ค่อยใส่ใจกับการนอนหลับถ้าเทียบกับเรื่องสุขภาพในด้านอื่น (เช่นการกิน การออกกำลังกาย ฯลฯ) ส่วนมากแล้วคนจะเชื่อว่านอนสัก 6 ชั่วโมงก็เหลือเฟือแล้วเพราะถ้าหลับลึก (ในช่วงแรกๆของการนอนหลับ) ก็ทำให้ตื่นมาสดชื่นได้ แต่ถ้าเราขุดลึกลงไปอีกถึงผลกระทบของการนอนหลับที่มีต่อสุขภาพของเรา แนวคิดนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเลยสักนิดเดียว เพราะในตอนนี้เราอาจจะไม่ได้แค่ “นอนไม่พอ” แต่เรากำลัง “ฝันไม่พอ” อีกด้วย ตามคำกล่าวของ Rubin Naiman ที่ทำงานที่ Arizona Center for Integrative Medicine เมือง Tucson
เริ่มต้นที่ระบบการนอนของคนทั่วไป การนอนมีรอบการของระยะการหลับอยู่ที่ประมาณ 90 นาทีต่อรอบ ในหนึ่งรอบนั้นจะมี Non-REM อยู่สามระยะที่คลื่นสมองจะสงบและขยับตัวอย่างแบบเป็นจังหวะเท่าๆกัน ซึ่งก็ค่อยๆเข้าสู่การนอนหลับลึกนั้นเอง หลังจากที่ผ่านช่วงนั้นมา คลื่นสมมองก็จะเริ่มเปลี่ยนจังหวะอีกครั้งหนึ่ง ลูกตาของเราจะกรอกไปมาใต้เปลือกตา กล้ามเนื้อส่วนใหญ่ของร่างกายจะเกร็งแข็งเพื่อไม่ให้เราขยับตัวเหมือนกับที่กำลังฝันอยู่ นี่คือ REM Sleep และระยะเวลาที่อยู่ในช่วงนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามจำนวนรอบของการนอนหลับในแต่ละคืน เพราะฉะนั้นช่วงเช้าตรู่เกือบทั้งรอบ 90 นาทีจะกลายเป็น REM Sleep และถึงแม้ว่าเราจะฝันในช่วงอื่นของการนอนหลับ แต่ก็ฝันที่น่าเบื่อไม่มีอะไรตื่นเต้น ไม่มีอารมมณ์ความรู้สึก หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นฝันที่น่าเบื่อ แถมเป็นความฝันที่เรามักจำไม่เคยได้ ส่วน REM Sleep คือช่วงเวลาที่ความฝันแปลกๆเกิดขึ้น การกระโดดขึ้นขี่คอไดโนเสาร์ต่อสู้กับหุ่นยนต์จากดาวยูเรก้าก็เกิดขึ้นในตอนนี้ การเดินจับมือกับคนที่เราแอบชอบ ฯลฯ มันเป็นช่วงที่เหตุการณ์แปลกๆเต็มไปด้วยความตื่นเต้นและความรู้สึก และถ้าช่วงเวลานี้ถูกขัดจังหวะด้วยเสียงนาฬิกาปลุก (หรืออย่างของผมก็เป็นเสียงลูกร้อง) ทุกอย่างก็หายไปหมด
ผลกระทบบางส่วนที่เกิดจากการ “ฝันไม่พอ” นั้นเกี่ยวกับการเรียนรู้ ความจำ และความคิดสร้างสรรค์ ที่มหาวิทยาลัย McGill University ในเมือง Montreal ทีมของนักวิจัยและศาสตราจารย์ Sylvain Williams ได้ทำการทดลองในหนูเพื่อพิสูจน์ถึงผลกระทบจากการขาด REM Sleep โดยเขาบอกว่า
Sylvain Williams และทีมของเขาใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Optogenetics ซึ่งเป็นเทคนิคที่สามารถควบคุมนิวรอนในจุดที่เจาะจงของสมองด้วยแสง แล้วใช้มันเพื่อควบคุมนิวรอนที่อยู่ในสมองส่วน hippocampus ที่เปรียบเสมือน GPS ของสมองและมีหน้าที่จดจำสิ่งต่างๆรอบตัว โดยในการทดลอง หนูตัวหนึ่งจะถูกฝึกให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย แล้ววางสิ่งของที่มีลักษณะและขนาดเท่าๆกันสองชิ้นวางไว้ด้วยกัน (อันหนึ่งเก่า อีกอันหนึ่งใหม่) โดยปกติแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือหนูตัวนี้จะใช้เวลากับสิ่งของใหม่ที่ไม่คุ้นเคยมากกว่าอันเก่า ซึ่งเป็นการแสดงถึงการจดจำและเรียนรู้สิ่งแวดล้อมที่ตัวเองอยู่ พอเจ้าหนูตัวนี้หลับอยู่ในช่วง REM Sleep ทีมนักวิจัยก็ใช้แสงควบคุมนิวรอนที่ทำงานเกี่ยวกับความจำเพื่อดูว่ามันเกี่ยวข้องกับการสร้างความทรงจำระยะยาวรึเปล่า วันต่อมาเมื่อเจ้าหนูตัวนี้ถูกวางกลับสู่ที่เดิม ดูเหมือนว่ามันจำสิ่งของเมื่อวานไม่ได้เลย เหมือนความทรงจำนั้นจะถูกลบไปหรืออย่างน้อยๆก็ไม่สมบูรณ์เหมือนหนูในกลุ่มควบคุม แต่ถ้าเกิดว่าพวกเขาทำการทดลองระหว่างที่หนูนั้นตื่นอยู่หรือในช่วงที่เป็น non-REM Sleep หนูตัวนั้นกลับจำได้และไม่มีผลกระทบอะไรเลยกับความจำระยะยาว เพราะฉะนั้นคงไม่ใช่เหตุบังเอิญที่ธรรมชาติสร้าง REM Sleep ขึ้นมา
ประโยชน์ข้อต่อไปของ REM Sleep และความฝันคือมันยังช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ที่อยู่ในตัวเราให้ตื่นขึ้นมาด้วย Sara Mednick นักวิจัยที่มหาวิทยาลัย University of California, Irvine ได้ทำการทดลองโดยแยกคนเป็นสองกลุ่มให้นอนพักโดยกลุ่มหนึ่งให้หลับลึกแล้วไม่เข้าสู่ช่วง REM Sleep ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งปล่อยให้นอนโดยมี REM Sleep เมื่ออาสาสมัครตื่นขึ้นมาก็ต้องหาคำที่เชื่อมต่อระหว่างคำอื่นๆสามคำ ยกตัวอย่างเช่นคำว่า “กรุงเทพฯ” “ต้มยำกุ้ง” และ “วัดพระแก้ว” ก็จะมีคำว่า “ประเทศไทย” เป็นคำเชื่อมระหว่างสามคำนี้ ผลที่ได้คือคนที่นอนแบบมี REM Sleep นั้นตอบได้ดีกว่าอีกกลุ่มหนึ่งอย่างชัดเจน
ซึ่งถ้าลองคิดดูให้ดีมันก็เหตุผลอีกเช่นกัน เพราะเวลาเราฝันมักจับเรื่องโน้นมาผสมกับเรื่องนี้ เชื่อมโยงกันได้แบบแปลกๆ อย่างบางครั้งผมฝันว่าไปวิ่งอยู่บนดวงจันทร์กับน้องหมาที่บ้านที่พูดภาษาต่างดาว…ครับ…ฝันของผมก็จะประหลาดเหมือนทุกคนนั้นแหละ นี่อาจจะเป็นเพราะว่า REM Sleep นั้นบังคับให้เราเข้าสู่โหมดความคิดสร้างสรรค์โดยไม่รู้ตัว
นี่เป็นการเปิดประตูสู่หน้าที่ของความฝันเลยก็ว่าได้ สำหรับหลายคนที่มีความเชื่อว่าความฝันเป็นเรื่องต้องห้าม (ตามหลักความเชื่อมากมาย) มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน เพราะทางวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่หนักแน่นมากพอว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร
Robert Stickgold นักวิจัยที่ Harvard Medical School นั้นบอกว่าความฝันนั้นเป็นอะไรที่มากกว่านั้น
โดยสมมุติว่าวันนหนึ่งคุณมีเรื่องให้ต้องคิดหนัก การนอนหลับฝันแล้วสมองของเราได้เห็นถึงปฏิกิริยาที่เรามีต่อสถานการณ์นั้น (เหมือนเป็นการจำลองเหตุการณ์) แล้ววันต่อมาการตัดสินใจต่างๆก็ดูเหมือนจะง่ายขึ้น ซึ่งหลายคนมักได้ยินคนพูดว่า “ไปนอนคิดดูก่อน” (Sleep on it) ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ พูดอีกอย่างคือมันเป็นระบบของธรรมชาติที่ช่วยเยียวยาและทำให้เรารับมือกับเรื่องลำบากที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
มีหลักฐานหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนนไอเดียนี้ ดอกเตอร์ Rosalind Cartwright ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเคยเขียนรายงานเกี่ยวกับความฝันของผู้หญิงที่มีภาวะซึมเศร้าหลังการหย่าร้างว่าผู้หญิงที่ฝันร้ายเกี่ยวกับคนรักเก่าบ่อยครั้งจะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ภายในเวลาหนึ่งปีเมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิงอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นเหมือนเป็นระบบปรับสภาวะทางอารมณ์ของธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากข้างใน มันเป็นการโอบรับและค่อยๆซึมซับความรู้สึกแย่ๆเอาไว้นั้นเอง
ตอนนี้ที่เราเห็นถึงประโยชน์ของของความฝัน แต่สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือมีพฤติกรรมหลายอย่างเหลือเกินที่ทำให้มันน้อยเกินไปในชีวิต นอกจากการนอนดึกตื่นเช้าเพราะงานและลักษณะการใช้ชีวิตของคนสมัยใหม่แล้ว (โดยมีสถิติบอกว่าคนมากกว่า 60% ใช้นาฬิกาปลุกเพื่อการตื่นนอน) การดื่มแอลกอฮอล์ถือว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราฝันไม่เพียงพอ การดื่มเหล้าจนเมาหมดสติ หรือแม้แต่ดื่มจนเมาเล็กน้อย จังหวะการนอนของคุณจะเปลี่ยนไปทันที รอบของจังหวะการนอน 90 นาทีแรกของ REM Sleep จะถูกเลื่อนออกไปและกระทบกับรอบถัดไปด้วย หลายคนใช้แอลกอฮอล์เพื่อช่วยให้หลับง่ายขึ้นแต่ก็ไม่เคยคิดถึงผลข้างเคียงที่ตามมาภายหลัง เพราะมันคือการพยายามทำให้ตัวเองนอนหลับให้ลึกและกดช่วง REM Sleep ให้น้อยที่สุด
ยาเสพติดชนิดต่างๆหรือยานอนหลับชนิดกดประสาทก็ไม่ต่างกัน การเมายาแล้วหลับไปแน่นอนว่าความต้องกระทบกับวงจรการนอนหลับและความฝัน ตัวยาเหล่านี้ทำให้หลับลึกก่อให้เกิดผลค้างเขียงที่คล้ายกัน ถึงแม้ในบางกรณีก็เป็นเรื่องจำเป็นโดยเฉพาะโรคซึมเศร้าที่สามารถก่อให้เกิด REM Sleep ที่มากจนเกินไป
ความรู้ใหม่เกี่ยวกับ REM Sleep ช่วยทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของความฝันในช่วงเวลาหลับตามมากยิ่งขึ้น การใช้ชีวิตปัจจุบันนั้นมีเรื่องให้ทำมากมายและแน่นอนว่ามันไปเบียดเบียนเวลาของความฝันที่เคยมี ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานอ้างอิงมากมายแต่ก็ยังมีหลายคนที่ไม่เชื่อและต่อต้านไอเดียของความสำคัญของ REM Sleep เพราะหลักฐานในห้องแลปนั้นไม่ได้แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่ชัดเจน ไม่เหมือนกับการไม่ได้นอนหลับลึกที่วันต่อมาเราจะรู้สึกง่วงมากกว่าปกติ การสูญเสียช่วง REM Sleep นั้นส่งผลกระทบที่มองเห็นยาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรละเลยและไม่เห็นคุณค่าของมันเลย
ย้อนกลับไปที่บนเพลง 04:00 ของเดอะทอยอีกครั้ง ถ้าอ้างอิงตามหลักฐานเกี่ยวกับประโยชน์ของ REM Sleep แล้วหล่ะก็ อีกไม่นานเกินปีคนที่บนเพลงพูดถึงนั้นสภาพจิตใจจะฟื้นตัวกลับมาแข็งแรงอีกครั้งอย่างแน่นอน