‘พลังของความเสียดาย’ : เล่มนี้จะ ‘เสียดาย’ ถ้าไม่ได้อ่าน
คำนี้เชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็น เคยได้ยิน หลายคนถึงขั้นยึดเป็นคติประจำใจ หลักการชีวิต (ผมเคยเป็นหนึ่งในนั้น) ให้มุ่งมองไปข้างหน้าโดยอย่าไปสนใจอดีตที่ผ่านมา
แต่ถ้าจะบอกว่าแนวทางชีวิตหรือการมองโลกแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องซะทีดีเดียวหล่ะ?
นั่นเนื้อหาในหนังสือ ‘The Power of Regret’ (พลังแห่งความเสียดาย) ที่พยายามจะบอกเราครับ และหลังจากที่ผมอ่านจบก็พบว่าตัวเองมอง ‘ความเสียดาย’ ในชีวิตในอีกมุมหนึ่งเลย
[ด้านล่างมี spoil]
ความผิดหวังไม่ใช่เรื่องที่ผิด ตราบเท่าที่มีมนุษย์บนโลกใบนี้มันเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นธรรมชาติ และถ้าเราปรับวิทีการที่เรามองมันอย่างถูกต้อง รู้จักวิธีใช้มันให้เป็นประโยชน์ มันก็สามารถขับเคลื่อนเราไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ทั้งในเรื่องชีวิตส่วนตัว การทำงาน และการบรรลุเป้าหมายในอนาคต
เช้าวันหนึ่งในปี 1888 อัลเฟรด โนเบล ตื่นขึ้นมาพร้อมข่าวร้ายเกี่ยวกับตัวเขาเอง
หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสได้ลงข่าวหน้าหนึ่งเป็นภาพขาวดำบอกว่าอัลเฟรดเสียชีวิตแล้ว ซึ่งก็ไม่มีทางเป็นความจริงได้เพราะเขาก็ยืนอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ตอนนี้ เรื่องที่เกิดขึ้นคือนักข่าวเขียนข่าวพลาด สลับกันระหว่างพี่ชายของอัลเฟรดที่ชื่อลูดวิกต่างหากหล่ะที่เสียชีวิต แต่ข่าวก็ตีพิมพ์ออกมาแล้ว
สำหรับอัลเฟรดแล้วการยังมีชีวิตอยู่เป็นเรื่องน่ายินดี แต่หลังจากอ่านพาดหัวข่าววันนั้นก็เพิ่งเข้าใจว่าคนอื่นคิดกับเขาในทางที่ไม่ดีสักเท่าไหร่
หนังสือพิมพ์พาดหัวว่า ‘พ่อค้าความตายถึงแก่ความตายแล้ว’
พาดหัวข่าวมรณกรรมได้ประณามอัลเฟรดในการประดิษฐ์ไดนาไมต์และวัตถุระเบิดอื่น ๆ ที่ฆ่าคนมากมาย และธุรกิจนี้ก็ทำให้เขาร่ำรวยมหาศาล คนอื่นมองเขาว่าเป็นคนหิวเงิน ผิดศีลธรรม สะสมทรัพย์สมบัติบนความทรมานของคนอื่น
อัลเฟรดไม่ชอบสิ่งที่เขาเห็นเลย เขารู้สึก “เสียดาย” ที่ใช้ชีวิตมาแบบนี้ แต่เขาไม่จมจ่อกับความรู้สึกแย่ ๆ นานนัก (อย่างที่เราหลายๆ คนทำ) อัลเฟรดใช้ความเสียดายเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไป
แปดปีต่อมา เมื่ออัลเฟรดเสียชีวิตจริงๆ อัลเฟรดถูกจดจำในฐานะผู้ใจบุญที่ช่วยพัฒนามนุษยชาติให้ดีขึ้น
เขาได้มอบมรดกทรัพย์สมบัติเพื่อสร้างชุดรางวัลเพื่อมอบให้กับผู้ที่สร้าง “ผลประโยชน์สูงสุดสำหรับมนุษยชาติ” ในแต่ละปี ซึ่งก็คือ “รางวัลโนเบล” นั่นเอง
ข่าวมรณกรรมที่สร้างความ ‘เสียดาย’ ทำให้เขาคิดทบทวนและเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่เหลือ เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในการสร้างการเปลี่ยนแปลง เป็นแรงผลักดันให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยจุดประสงค์ที่ยิ่งใหญ่มากกว่าเดิม
แน่นอนว่าอัลเฟรดไม่ใช่คนเดียวที่เคยเผชิญกับความรู้สึก ‘เสียดาย’ ที่จริงแล้วมันเป็นหนึ่งในอารมณ์ที่พบบ่อยที่สุด
(เชื่อว่าถ้าทำแบบสำรวจทั่วโลกก็คงไม่ต่างกันนัก)
มีเพียง 1% จากคนที่ตอบแบบสอบถามเท่านั้นที่บอกว่าพวกเขาไม่เคยมองย้อนกลับไปและหวังว่าจะทำอะไรที่ต่างออกไปในชีวิตที่ผ่านมา พูดอีกอย่างคือมีเพียง 1 ใน 100 ที่บอกว่าไม่เคยเสียดายและไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไรในอดีตเลย (ความอยากไม่ได้หมายถึงไม่พอใจในปัจจุบันนะ แต่อยากแก้ไข อยากทำให้มันดีขึ้น เสียดายที่ทำอะไรลงไป)
มนุษย์มีความสามารถอย่างหนึ่งที่พิเศษ นั่นคือเราเป็น ‘นักเล่าเรื่องที่เดินทางข้ามเวลา’ ครับ
สมองเราสามารถย้อนเวลาไปในอดีตและสร้างเรื่องราวทางเลือกใหม่ขึ้นมาได้ เป็นเส้นทางสมมติที่ไม่มีทางเกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “การคิดสวนทางกับความเป็นจริง” ครับ
ยกตัวอย่าง เอ็มม่า โจแฮนสัน นักกีฬาปั่นจักรยานโอลิมปิกที่ได้เหรียญเงินในปี 2016 ที่ริโอเดจาเนโร หลังจากเข้าเส้นชัยแล้ว เธอก็เดินไปกอดสามีและขึ้นรับเหรียญด้วยสีหน้าที่ไม่ค่อยพึงพอใจสักเท่าไหร่ ทั้ง ๆ ที่มันเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มาก เหรียญเงินโอลิมปิกเลยนะ แต่ด้วยปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เรียกว่าการคิดสวนทางกับความเป็นจริงนี่แหละครับที่ทำให้เธอเป็นแบบนั้น
อันที่จริงคนที่ได้เหรียญเงินหรืออันดับสองจะรู้สึกแย่กว่าอันดับสามด้วย (ตามสถิติ)
ในสมองของเอ็มม่าจินตนาการไปต่าง ๆ นานาเลย ‘ถ้าตอนนั้น’ ฉันอึดกว่านี้อีกสักหน่อย ถ้าเช้านี้พักผ่อนมากขึ้นอีก 30 นาที ถ้าก่อนหน้านี้ออกกำลังเพิ่มวันละ 1 ชั่วโมง ฯลฯ ฉันต้องได้เหรียญทองอย่างแน่นอน
ส่วนในสมองของคนที่ได้ที่สามจะคิดว่า ‘อย่างน้อย’ ก็ได้เหรียญนะ น่าพอใจแล้ว ยิ้มแย้มสดใส
เอมม่าจะได้เหรียญทองรึเปล่าถ้าทำในสิ่งที่เธอคิด? ไม่มีใครรู้หรอกครับ นี่คือเหตุผลที่มนุษย์รู้สึก ‘เสียดาย’ เพราะเราติดอยู่กับความคิดที่ว่า ‘ถ้าตอนนั้น’ แทนที่จะมองสิ่งที่คุณมีอยู่ในตอนนี้นั่นเอง
การหมกมุ่นอยู่กับคำว่า ‘ถ้าตอนนั้น’ ไม่เคยทำให้อะไรดีขึ้น (ลองคิดดูถ้าอัลเฟรดหมกมุ่นแล้วไม่เปลี่ยนแปลงก็คงไม่มีรางวัลโนเบล)
เพราะฉะนั้นเราสามารถรู้สึกเสียดายได้ครับ แต่จงใช้มันให้เกิดประโยชน์ในทางบวกที่ดีขึ้น มันสามารถก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีบางอย่างได้ มีความสำคัญต่อการเติบโตของเราด้วย เพราะมนุษย์มีอารมณ์ที่หลากหลาย ดีใจ โศกเศร้า กลัว ยินดี กังวล เสียดาย ฯลฯ
แน่นอนว่าโดยรวมแล้วอารมณ์เชิงบวกควรมีมากกว่าอารมณ์เชิงลบ แต่อารมณ์เชิงลบก็มีประโยชน์เช่นความกลัวก็ทำให้เราปลอดภัย หรือความขยะแขยงก็ทำให้เราไม่ทานอะไรแปลก ๆ และแน่นอนความเสียดายก็ช่วยให้เราเรียนรู้และเติบโตได้เช่นกัน
แล้วเราจะทำให้ ‘ความเสียดาย’ กลับมามีผลดีต่อชีวิตเราได้ยังไงหล่ะ?
- แก้ไขความเสียดาย : ยกตัวอย่างเช่นคุณพูดไม่ดีกับเพื่อน ตวาดใส่ลูก หรือ ไม่ได้คุยกับคนในครอบครัวมานานแล้วเพราะผิดใจกันบางอย่าง คุณรู้สึกเสียดายกับความสัมพันธ์ที่ครั้งหนึ่งเคยดี คุณแก้ไขความเสียดายนี้ได้ครับ มันยังไม่สายเกินไป
- มองว่า ‘อย่างน้อย’ : ที่จริงแล้วมันช่วยปลอบประโลมใจเราได้มากเลย บางคนเสียดายที่ใช้เวลาไปเรียนตั้งสี่ปีแต่ไม่ได้ใช้วิชาที่เรียนมาทำงานเลย แต่ ‘อย่างน้อย’ ตอนนั้นคุณก็ได้พบกับแฟนที่แต่งงานแล้วมีลูกด้วยกันจนเป็นครอบครัวที่อบอุ่น ชีวิตไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น ถ้าคุณเลือกมองด้านที่ดีของมัน
- วิเคราะและวางแผน : นี่คือขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของความเสียดายครับ คุณต้องถามตัวเองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะเรียนรู้อะไรจากมันได้บ้าง และคุณจะทำยังไงต่อไปจากนี้?
ลองมาดูตัวอย่างในหนังสือที่น่าสนใจ
ย้อนกลับไปปี 1988 และบรูซวัย 22 ปี หนุ่มชาวอเมริกันนั่งบนรถไฟที่กำลังมุ่งหน้าไปยังสตอกโฮล์มหลังจากไปใช้ชีวิตในต่างประเทศเป็นเวลาหนึ่งปี
ประตูรถไฟเปิดออกที่ป้ายระหว่างทาง หญิงสาวชาวเบลเยียมชื่อแซนดร้าก้าวขึ้นมาบนรถและนั่งถัดจากเขา หลังจากนั้นทั้งคู่ก็เริ่มคุยกัน เธอเป็นออแพร์ที่ทำงานในปารีสและกำลังกลับบ้านเพื่อพักผ่อนช่วงสั้นๆ
ทั้งคู่พูดคุยกันอย่างถูกคอ หัวเราะ เล่นเกมแฮงค์แมน และไขปริศนาอักษรไขว้ ราวกับว่ารู้จักกันมาทั้งชีวิต ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ใจเขาเต้นเร็วแรงตลอด แต่แล้วขณะที่รถไฟแล่นผ่านเบลเยียม แซนดร้าก็ยืนขึ้นและพูดว่า “ฉันต้องไปแล้ว”
บรูซต้องเผชิญกับการตัดสินใจครั้งสำคัญ : จะอยู่บนรถไฟต่อและพลาดโอกาสความรักครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตของเขา หรือลงจากรถแล้วลองดูว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาจะไปทางไหนต่อดีหล่ะ
สุดท้ายเขาตัดสินใจเลือกอยู่บนรถไฟ บรูซและแซนดร้าจูบลาช่วงเวลาแห่งความรักอันแสนสั้น ประตูรถไฟเปิดและปิดลง และแซนดราออกจากชีวิตของบรูซไปตลอดกาล
บรูซรู้สึกเสียดายกับการตัดสินใจของเขาตั้งแต่นั้นมา 40 ปีต่อมา เขายังคงบอกว่าการไม่ลงจากรถไฟคือความเสียดายครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขา “ผมไม่เคยพบเธออีกเลย และผมก็หวังอยู่เสมอว่าผมได้ก้าวลงจากรถไฟขบวนนั้น”
หลังจากเหตุการณ์นั้นบรูซอาจจะเลือกหมกมุ่นอยู่กับอดีต หรือเลือกที่จะวิเคราะและวางแผนต่อไปก็ได้ ถ้าเลือกทางแรกเขาก็จะติดอยู่กับอดีตไม่ไปไหน แต่ถ้าเลือกทางที่สองเขาก็สามารถเรียนรู้ได้แล้วว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ต้องตัดสินใจแบบนี้อีกครั้ง เขาควรก้าวไปข้างหน้า กล้าที่จะเสี่ยงมากขึ้น ทำตาที่หัวใจบอกอย่างไม่ลังเล
(ในหนังสือมีตัวอย่างอีกเยอะมากแต่ละอันก็น่าสนใจทั้งนั้น อันนี้แนะนำอ่านเพิ่มกันได้ครับ)
การตระหนักว่าเราเคยทำผิดพลาด เสียดายทางเลือกที่ไม่ดีเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเติบโต เพราะหากสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นอีกในอนาคตเราจะไม่ทำผิดพลาดเหมือนเดิมอีก (ถ้าเราได้คิดและวิเคราะห์แล้วนะครับ)
ดังนั้นครั้งต่อไปที่คุณรู้สึกเสียดายกับอะไรบางอย่าง ถ้ามีคำที่บอกว่า ‘ถ้าตอนนั้น’ เกิดขึ้นในหัว หยุดและถามตัวเองว่า คุณได้เรียนรู้อะไรจากความเสียดายที่เกิดขึ้นบ้าง ใช้มันเป็นตัวเร่งให้ชีวิตดำเนินไปในทางที่ดีขึ้น จำไว้ว่าความเสียดายในตัวมันเองไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แถมยังมีโอกาสที่จะเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกได้ด้วย ดังนั้นอย่าเพิ่งด่วนตัดสินว่าชีวิตไม่ควร ‘เสียดาย’ เพราะมันเปลี่ยนชีวิตเราได้จริง ๆ ครับ
เราไม่จำเป็นต้องลืมอดีต หรือพยายามซ่อนความเสียดายเหมือนมันเป็นตราบาปในชีวิต เพราะยังไงเราก็ไม่มีทางลืมความเสียดายนั้นได้ แต่เราเลือกได้ว่าจะเรียนรู้อะไรจากความเสียดายครั้งนั้น แล้วทำให้ชีวิตของเราตอนนี้ดีขึ้นได้ยังไงมากกว่า
ถ้าไม่เชื่อ ลองอ่านหนังสือ ‘พลังของแห่งความเสียดาย’ ดูก็ได้ครับ แล้วจะ ‘เสียดายที่ไม่ได้อ่านให้ไวกว่านี้’