ฟีดแบคที่ดี ไม่ได้ดีเสมอไป : รับมือยังไงเมื่อเจอฟีดแบคหนัก ๆ ตรง ๆ และต้องปรับตัว
ตอนที่ผมเริ่มเขียนแรก ๆ ทุกคนรอบตัวที่อ่าน 99% ล้วนเป็นเพื่อน ส่วนอีก 1% เป็นคนที่บังเอิญผ่านมาเห็นและไม่ได้สนใจอะไรมาก
ย้อนไปตอนนั้นช่วงปี 2014-2015 ไม่รู้อะไรดลใจให้เขียนจริงจัง อาจจะเป็นจังหวะชีวิตที่เบื่อ ๆ อ่านหนังสือเยอะแล้วอยากแชร์สิ่งที่หมกมุ่นอยู่ในหัว เลยกลายเป็นเริ่มเขียนลง Facebook ของตัวเอง ซึ่งตอนนั้นอย่างที่บอก 99% คือเพื่อน ก็มีกดไลค์อวยกัน ‘เนี้ย เขียนดี เป็นนักเขียนได้เลยนะเนี้ย’ ‘นี่มันบทความควรค่าแก่การเป็นหนังสือเลย’ ว่ากันไป เพื่อนกันเชียร์กันไม่ใช่เรื่องแปลก และย้อนกลับไปมันอาจจะเป็นเรื่องดีด้วยที่ทำให้มีกำลังใจเขียนต่อมาเรื่อย ๆ (หรือจะเรียกว่าบ้ายอก็คงไมผิดนัก 555)
จนวันหนึ่งผมก็คิดว่าตัวเองมีฝีมือเพียงพอหล่ะ…แล้วก็ลงส่งต้นฉบับเป็นปึก ๆ ไปตามสำนักพิมพ์ต่าง ๆ หลายที่เลย a Book, Salmon, Amarin, Se-ed ฯลฯ ทุกที่ครับปฏิเสธกลับมาหมดเลย ตอนนั้นน่าจะสักราว ๆ ปี 2015-2016
นั่นคือโลกความจริงอันโหดร้ายครั้งแรกที่ผมต้องเผชิญ ไม่มีเพื่อนมาอวยแล้ว แถมยังโดนปฏิเสธเหมือนงานเราไม่ได้เรื่อง (ซึ่งก็คงไม่ได้เรื่องจริง ๆ นั้นแหละ) ตอนนั้นโกรธน่า เสียใจ อาย ทำตัวไม่ถูก ไหนเพื่อนกูบอกว่างานควรค่าแก่การรวมเป็นเล่ม แต่ทำไมโดนปฏิเสธหล่ะ
อ่า…มารู้ว่านี่คือการตบหน้าให้ตื่นของชีวิต และนั่นคือฟีดแบคเกี่ยวกับงานเขียนแรกที่ได้รับ (แม้จะทางอ้อมก็ตาม)
เพราะก่อนจุดนี้ถูกเชียร์มาตลอด คิดว่าเขาชมก็ทำต่อไป เราเก่ง เราว้าว และคิดว่านั่นคือฟีดแบค ที่จริงไม่ใช่ นั่นคือเพื่อนอวยครับ ส่วนใหญ่เอาจริง ๆ หลายคนไม่ได้อ่านด้วยซ้ำ เห็นเราพยายามเขาก็อวยแล้ว (เราก็เป็น มันเป็นการอวยไม่ใช่การโกหก แต่เหมือนให้กำลังใจเพื่อนแหละ แต่เรามักเข้าใจผิดว่ามันคือฟีดแบค)
ผมเซ็งตัวเองไปพักใหญ่ รู้สึกว่ามาถึงทางตัน เพราะการโดนปฏิเสธจาก สนพ. เขาจะไม่ได้มานั่งอธิบายให้ฟังหรอกว่ามันไม่ดีตรงไหนยังไง เหมือนผ่าน/ไม่ผ่าน จบแค่นั้น
แต่โชคดีครับมีสนพ.หนึ่งที่ บก. ของเขา ‘เห็นบางอย่าง’ ในงานเขียนอันเวิ่นเว้อแล้วบอกผมว่า ‘โสภณจะลองปรับตามที่พี่แนะนำไหม? มันต้องแก้เยอะอยู่นะ”
ทำใจดีสู้เสือไว้ “ได้ครับพี่”
ตอนที่ได้ต้นฉบับคืน อ่านบทแรก โอ้โหว ร้องเหี้ยหนักมาก ขีดฆ่าแดงมาเต็มเลย เหลือที่ใช้เพียงแค่ไม่กี่วรรคประโยค แล้วคอมเมนท์ที่ได้คือโหดมากน้ำตาแทบไหล ส่วนใหญ่ที่คอมเมนท์ก็จะเป็นเรื่องของคำศัพท์ซ้ำ ๆ เวิ่นเว้อ เข้าประเด็นช้า ซ้ำซ้อน ไม่กระชับ ภาษาที่ใช้ การเว้นจังหวะ ความสมดุลย์ จุดพีค การเปลี่ยนแปลงของเรื่องราว การเชื่อมของเนื้อหา ฯลฯ คือเอาเป็นว่าอย่างที่พี่เขาบอกครับ ‘แก้เยอะอยู่นะ’
ถามว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้มีความสุขไหม ตอบเลยว่า ‘ไม่’! แต่ถามว่าจำเป็นไหม ตอบเลยว่า ‘มาก’!
มันเป็นฟีดแบคที่จริงใจ จริงจัง และไม่ได้บ่อนทำลาย ตรงนี้สำคัญมาก ฟีดแบคไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือทำร้ายฝั่งตรงข้าม แต่ต้องเป็นเหมือนพิมพ์เขียวของโครงสร้างอาคารเพื่อให้เขากลับไปตรวจสอบสิ่งที่จะสร้างใหม่อีกครั้งหนึ่ง มันเป็นฟีดแบคทางลบที่เหมือนโดนชกตรงลิ้นปี่จุกพูดไม่ออก แต่เป็นฟีดแบคที่ทำให้ผมโตขึ้นถ้าพร้อมที่ยอมรับและแก้ไขมันตรงนั้น
และหลังจากนั้นผมก็ได้ฟีดแบคในเชิง ‘Constructive’ หรือ ‘ติเพื่อก่อ’ อีกหลายครั้ง จากหลายคน เราต้องดูเจตนาของคนที่ฟีดแบคเราให้ดีว่าคืออะไร อย่างถ้ามีคนบอกผมว่า “งานห่วยมาก” ตอนแรกอาจจะอึ้ง ๆ แป๊บหนึ่งก็จะดึงสติกลับมาแล้วก็จะถามว่า “มีตรงไหนที่คิดว่าควรแก้ไขดีครับ?” ถ้าอีกฝั่งบอกว่า “ไม่รู้ ไปเขียนมาใหม่ละกัน” หรือ “ก็มันห่วยอะ” ผมก็จะไม่ฟังละถือว่าเขาก็ไม่ได้อยากช่วยให้ผมดีขึ้น แต่ถ้ามีคนบอกว่า “งานห่วยมาก” แล้วอธิบายต่อว่าตรงไหน เพราะอะไร ทำแบบไหนน่าจะดีขึ้น ผมก็จะฟังเพื่อเอาไปปรับใช้แล้วขอบคุณเขา (แม้ในใจจะร้อนรุ่มแค่ไหนก็ตาม 555)
เทคนิคที่ผมใช้ในการรับมือกับฟีดแบคหนัก ๆ คือ
- ต้องเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติที่เราจะรู้สึกแย่และเหมือนโดนโจมตี บางทีอาจไม่อยากฟังด้วยซ้ำ รู้สึกอยู่ไม่สุข ใจมันร้อน ๆ เต้นแรง อยากจะซัดกลับไปแรง ๆ หรือบางทีก็อยากหนีออกมาจากจุดนั้น แต่คุณไม่จำเป็นต้องทำตามในสิ่งที่รู้สึก มองความรู้สึกตรงนั้นแล้วก็เข้าใจว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์แล้วก็พยายามสงบตัวเองเอาไว้ก่อน
- ฟีดแบคหนัก ๆ บางทีเชิงลบเป็นสิ่งที่ดีต่อตัวเราเอง อย่างที่บอกครับดูเจตนารมณ์ของคนที่ให้ฟีดแบคด้วย ทำให้เราเห็นความสามารถของตัวเอง เป็นกระจกสะท้อนที่ชัดเจนขึ้นหลังจากโดนอวยจนกระจกเป็นฝ้าไปหมดมาก่อนหน้านี้ เป็นสัญญาณที่ดีว่า…เรายังพัฒนาได้อีก
- วางแผนวิธีที่จะเปลี่ยนแปลงครับ อะไรคือสิ่งที่จะทำเป็นอย่างแรกหลังจากที่รับฟีดแบคไป? เราจะใช้มันทำให้เราแกร่งและเก่งขึ้นได้ยังไง? หรือบางทีถ้าให้ดีอาจจะนัดกับคนที่ให้ฟีดแบคอีกครั้งว่า “อีก (ระยะเวลาที่เราคิดว่าจะกลับไปแก้ไข) เจอกันอีกครั้งได้ไหม อยากได้ฟีดแบคอีกรอบ” และที่สำคัญเลยคือ…หาฟีดแบคจากคนอื่น ๆ ด้วย อย่าไปคิดว่าความเห็นของคนคนเดียวคือโลกทั้งใบ พร้อมที่จะปรับเปลี่ยน และฟังจากหลาย ๆ คน