ลงมือทำทั้ง ๆ ที่รู้ว่ากลัว : สิ่งที่น่ากลัวไม่ใช่การไม่รู้ แต่เป็นการไม่รู้เพราะเราไม่กล้าลอง
มีช่วงหนึ่งของหนังสือ “The Power of Regret” ที่พูดถึงเรื่อง ‘ความรู้สึกเสียดายในการไม่ลงมือทำ’ นั้นจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออายุมากขึ้น เริ่มมาตั้งแต่อายุราว ๆ 20 กว่า ที่ราว ๆ 40% พออายุประมาณ 50 ปี สูงถึงเกือบ 70% เลย
นั่นหมายความว่ายิ่งเราแก่ตัวมากขึ้นเท่าไหร่ สิ่งที่เราไม่ทำ หรือไม่กล้าลงมือทำจะยิ่งทำให้เรารู้สึกเสียดายมากขึ้น และส่วนใหญ่ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะไม่มีโอกาสกลับไปทำได้อีกแล้วด้วย (ซึ่งถ้าดูกราฟความรู้สึกเสียดายจากการลงมือทำจะสวนทางกันเลย)
การเริ่มต้นเป็นสิ่งที่น่ากลัวเสมอ ไม่ว่าเราจะอยู่ช่วงไหนของชีวิต เด็ก หนุ่ม หรือ แก่เฒ่า
ส่วนตัวผ่านมาหลายครั้ง ตั้งแต่ตัดสินใจไปเรียนต่อต่างประเทศโดยไม่มีคนที่รู้จักเลยตั้งแต่อายุ 18 หรือไปเดินไปเคาะประตูสมัครงานที่ร้านอาหารหลายสิบแห่งเพื่อหางานทำ หรือแม้แต่การออกมาทำธุรกิจของตัวเองและเริ่มเขียนหนังสือทั้ง ๆ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์หรือเคยเขียนหนังสือมาก่อนเลย และเชื่อว่ายังต้องเจออีกหลายครั้ง ต้องเสี่ยงอีกหลายหนจนกว่าวันสุดท้ายของชีวิต
การเริ่มต้นเป็นสิ่งที่น่ากลัวเสมอ ทุกครั้งผมก็จะคิดว่าตัวเองจะทำแล้วล้มเหลวไหม จะรอดรึเปล่า ทุกการตัดสินใจมีความเสี่ยงทั้งสิ้น แต่ถ้าไม่เสี่ยงก็คงไม่ได้ก้าวออกไปเรียนรู้สิ่งที่อยากลองสักที
นั่นคือสิ่งที่ผมกลัวครับ กลัวไม่ได้รู้เพราะไม่กล้าลอง, ผมก็เลยต้องลองทั้ง ๆ ที่กลัวนั่นแหละ โอบรับเอาความกลัวเข้ามา บอกตัวเองว่า ‘โอเค…กลัวได้ แต่ถ้าไม่ลอง เราจะไม่รู้เลยว่าอีกฝั่งหนึ่งมีอะไรบ้าง”
เปลี่ยนกรอบความคิดใหม่ว่า “เราไม่อยากเสียดายโอกาสครั้งนี้ใช่ไหม?”
เราคือมนุษย์คนหนึ่งที่กลัวสิ่งที่ไม่รู้ มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เราต้องการความแน่นอน ต้องการความมั่นคง มั่นใจว่าทุกอย่างจะโอเค
ชีวิตมีสองทางเลือกเมื่ออยากทำอะไรสักอย่างครับ
อยากทำ -> ลงมือทำ
อยากทำ -> แต่กลัว -> ลงมือทำทั้งที่กลัวนั่นแหละ
(ผมชอบทวีตนี้มากจาก Janis https://twitter.com/ozolinsjanis/status/1537748263683739651)
เทคนิคในการลงมือทำสิ่งที่อยากทำแต่กลัวไม่ใช่การวิ่งหนีความรู้สึกกลัว แต่เป็นการลงมือทำทั้งที่กลัวต่างหาก อย่างที่ Tony Robbins (หนึ่งในนักพูดและโค้ชของบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกไม่ว่าจะเป็น Bill Clinton, Oprah Winfrey, Serena Williams ฯลฯ) เคยพูดเอาไว้ว่า
เพราะถ้าคุณไม่กลัวแสดงว่าโอกาสที่อยู่ตรงหน้าก็คงไม่ได้สำคัญอะไรเท่าไหร่นัก
ความมั่นคงที่ผ่านมาไม่ได้บ่งบอกว่าอนาคตจะมั่นคงตลอดไป ครั้งหนึ่งผมเคยทำงานในฐานะโปรแกรมเมอร์ในบริษัทระดับโลกประมาณห้าปี สำหรับคนที่มองจากภายนอกจะรู้สึกว่ามันเป็นบริษัทที่มีความมั่นคงสูงและผมได้ขึ้นเรือลำใหญ่ที่สามารถพาผมไปสู่การเกษียณที่สุขสบายแล้ว ตอนแรกผมก็คิดแบบนั้น จนกระทั้งวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เกิดขึ้นในช่วงปี 2008 ตอนนั้นเพิ่งดาวน์รถยนต์และเพิ่งเริ่มผ่อนบ้านมาได้ประมาณหนึ่งปี มีข่าวลือเรื่องการปลดพนักงานออกจากบริษัทหนาหูมาก
ทุกครั้งที่ได้รับอีเมลจากบริษัทหรือหัวหน้า หัวใจผมจะเต้นแรงมากที่เปิดอ่าน มันเป็นช่วงเวลาที่โหดร้าย มีเพื่อนหลายคนของผมที่รู้จักและโดนปลดไป แต่ผมโชคยังดีที่ผ่านตรงนั้นมาได้ แต่ก็เข้าใจแล้วว่าความมั่นคงที่เราคิด มันไม่มีเคยมีอยู่จริง ไม่ว่าเรือจะลำใหญ่แค่ไหนก็ตาม
มนุษย์เสพติดความสบาย (ผมก็คนหนึ่ง) จริงอยู่ว่าความมั่นคงคือสิ่งที่จำเป็น แต่เราไม่มีทางรู้หรอกว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อไหร่ ความมั่นคงในอดีตทำให้เราหลงลืมไปว่ามันไม่ได้หมายถึงความมั่นคงในอนาคต
บางทีเราเลี่ยงที่จะทำบางอย่างในชีวิตเพราะกลัว แต่สุดท้ายเมื่อถึงวันหนึ่งเราจะเริ่มเสียดายโอกาสที่ผ่านมาแล้วผ่านไปเพราะความไม่รู้นี่แหละ และถ้าคุณล้มเหลวหล่ะ? อาจจะพูดเหมือนกำปั้นทุบดิน แต่คุณก็ต้องเริ่มใหม่ครับ ผมเริ่มใหม่มาหลายครั้งในชีวิต จากที่เคยเป็นโปรแกรมเมอร์ก็จบ จากที่เคยเป็นนักธุรกิจก็จบ ตอนนี้เป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ ใครจะไปรู้วันหนึ่งอาจไม่มีคนจ้างให้ผมเขียนงานอีกเลยก็ได้ ถึงวันหนึ่งถ้าโอกาสใหม่เข้ามาแล้วมันท้าทาย มันกระตุ้นให้หัวใจเต้นว่า “นายอยากรู้ไหมว่าอะไรอยู่หลังประตูบานนั้น ลองทำสิ แม้จะกลัว ลองทำดู”
ทุกอย่างล้วนชั่วคราว ชีวิตไม่ได้ยาวขนาดนั้น ถ้าโอกาสที่อยู่ตรงหน้าทำให้คุณอยากลอง ตอนนี้อาจจะเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดแล้วครับ สิ่งที่น่ากลัวไม่ใช่การไม่รู้ แต่เป็นการไม่ได้รู้เพราะเราไม่กล้าลองมากกว่า