สิ่งที่ควบคุม (ไม่) ได้ : ทางเลือกและสงครามที่ไม่มีวันชนะ
“ภารกิจหลักในชีวิตคือ : การระบุและแยกแยะเรื่องต่างๆ เพื่อให้ผมสามารถพูดกับตัวเองได้อย่างชัดเจนว่าสิ่งภายนอกใดที่ได้ไม่อยู่ภายใต้การควบคุม และสิ่งใดคือตัวเลือกที่ผมควบคุมจริงๆ ผมจะมองหาความดีและความชั่วได้ที่ไหนกันหล่ะ? แน่นอนไม่ใช่กับสิ่งภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ แต่ภายในตัวเองกับตัวเลือกที่เป็นของตัวผมเอง …”
– อิปิคเตตัส (Epictetus)
แนวคิดหลักอย่างหนึ่งของปรัชญาสโตอิกคือการแยกระหว่าง ‘สิ่งที่เราเปลี่ยนแปลงได้’ กับ ‘สิ่งที่เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้’ ระหว่างสิ่งที่เรามีอิทธิพลเพียงพอจะทำให้ผลลัพธ์ออกมาแตกต่างออกไป และอะไรก็ตามที่ไม่ว่าเราจะทำยังไงก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
ยกตัวอย่างง่าย ๆ เมื่ออาทิตย์ก่อนระหว่างที่อยู่ต่างจังหวัด คนที่บ้านถ่ายรูปยางรถที่เพิ่งเปลี่ยนมาใหม่มาให้ดูว่าโดนตะปูเมื่อไหร่ไม่ทราบ แต่ตอนนี้ยางแบนจนติดพื้นแล้ว
ตอนที่ได้รับข่าว ผมก็เริ่มหัวเสีย เพราะยางเพิ่งเปลี่ยนมาแท้ ๆ แต่ก็คิดได้ว่าถึงจะโกรธยังไง อารมณ์เสียแค่ไหน จะอ้อนวอนให้พระเจ้าช่วยยังไง มันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงผลลัพธ์อะไร สุดท้ายก็กลับไปใช้เวลากับครอบครัวต่อ เดี๋ยวเที่ยวกลับมาค่อยไปเปลี่ยนยางแค่นั้น

เหมือนกับหลาย ๆ อย่างในชีวิต เราอยากเกิดมาสูงกว่านี้ อยากให้คนนั้นชอบ อยากให้ฝนหยุดตกเพราะเครื่องบินดีเลย์มาสองชั่วโมงแล้ว ฯลฯ เวลาที่เราสูญเสียไปกับความคิดถึงเรื่องเหล่านี้ล้วนไม่ได้ช่วยทำให้อะไรเปลี่ยนแปลงหรือดีขึ้น
มีคำอธิษฐานหนึ่งของกลุ่มผู้เข้ารับบำบัดยาเสพติดที่บอกว่า
“ข้าแต่พระเจ้า, ขอทรงมอบความสงบให้ฉันได้ยอมรับในสิ่งที่ฉันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ความกล้าหาญในการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ฉันทำได้ และปัญญาที่จะรู้ถึงความแตกต่างนั้น”
ผู้เข้ารับการบำบัดไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอดีตได้ การตัดสินใจ หรือความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับตัวพวกเขาเองหรือคนรอบข้างที่เขาได้ก่อ ล้วนเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้วทั้งสิ้น แต่พวกเขาสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ได้ โดยเริ่มจากตรงนี้
อิปิคเตตัส นักปราชญ์สโตอิกชาวกรีก เขาเกิดมาเป็นทาสในเมือง Hierapolis (ประเทศตุรกีในปัจจุบัน) เป็นคนพิการที่ต้องใช้ไม่เท้าช่วยในการเดิน (ประวัติบางแห่งก็บอกว่าเขาพิการเพราะถูกเจ้านายใจร้ายทำร้ายเอา บางแห่งก็บอกว่าว่าเขามีร่างกายพิการมาตั้งแต่กำเนิด) เขาเชื่อว่าเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ต้องยอมรับ ส่วนเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้จงลงมือทำตอนนี้
นี่คือความจริงในปัจจุบันด้วยเช่นกัน ถ้าเราสามารถแยกออกได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรานั้นคืออะไร เราควบคุมได้ไหม หรือมันเป็นสิ่งที่ไม่ว่าจะทำยังไงก็ไม่เกิดอะไรขึ้น ถ้าเราแยกแยะได้ไม่เพียงแต่จะช่วยทำให้ช่วงเวลาขุ่นมัวสั้นลงและมีความสุขขึ้นเท่านั้น แต่เรายังสามารถหลีกเลี่ยงการไปสู้รบในสงครามที่ไม่มีวันชนะอีกด้วย
===========
หลังจากอ่านหนังสือ “สโตอิก ปรัชญาเสริมแกร่งเพื่อชีวิตไม่สั่นคลอน” (The Little Book of Stoicism) จบก็รู้สึกว่ามันเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่มีประโยชน์กับการใช้ชีวิตในปัจจุบันอย่างมาก ถือว่าเป็นปรัชญาที่เข้าถึงง่าย หลักการมีเหตุมีผล ชวนตั้งคำถาม และแม้ว่าสโตอิกจะเป็นปรัชญากรีกโบราณ แต่กับโลกยุคใหม่อันสับสนวุ่นวายนี้ก็ยังใช้ได้เป็นอย่างดี
ปรัชญาสโตอิกเป็นที่สนใจของชาวตะวันตกมาสักพักหนึ่งแล้ว จนตอนนี้ก็ค่อย ๆ แพร่ขยายมายังตะวันออกรวมถึงบ้านเราด้วย เป็นปรัชญาที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากชาวกรีกทุกชนชั้น เพราะมันไม่ใช่ปรัชญาสำหรับการปกครองเมืองให้สงบสุขเท่านั้น แต่เป็นวิถีการใช้ชีวิตของคนทั่วไป เป็นปรัชญาที่สร้างขึ้นมาเพื่อพยายามเติมเต็มความสุขให้กับชีวิต
เลยเกิดไอเดียบางอย่างว่าจะลองเขียนเกี่ยวกับหลักปรัชญาสโตอิกให้คนอื่น ๆ ได้อ่านด้วยเพราะเชื่อว่าน่าจะมีประโยชน์ อาจจะมาในรูปแบบงานเขียนสั้น ๆ แบบนี้อาทิตย์ละครั้งสองครั้ง ชอบไม่ชอบยังไง สามารถคอมเมนต์บอกกันมาได้นะครับผม