หนึ่งทักษะที่พาไปสู่ความสำเร็จ : บทเรียนจากพ่อแม่ 70 คนที่ปลูกฝังสิ่งนี้ให้กับลูกตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
ตอนผมอายุประมาณ 6-7 ขวบ เตี่ยซื้อเครื่องซุปเปอร์แฟมิคอมสีแดงขาวให้เป็นของขวัญวันเกิดพร้อมกับเกมหนึ่งตลับชื่อว่า “Super Mario Bros”
ถ้าเรียกว่านั่นเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชีวิตก็คงไม่ผิดนัก เพราะหลังจากนั้นทุกครั้งที่ผมมีเวลาว่างจะเสียบปลั๊กหยิบจอยขึ้นมาบังคับลุงหนวดพุงโต (โตได้ยังไงก็ไม่รู้ทั้ง ๆ ที่วิ่งเยอะขนาดนี้) ไปกระโดดโหม่งก้อนอิฐและช่วยเจ้าหญิงอยู่เป็นประจำ
มันทั้งสนุก ตื่นเต้น และมีอะไรน่าสนใจเต็มไปหมดเลย
คำถามนั้นเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ผมสนใจวิดีโอเกม ที่พาไปสู่ความสนใจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี นำไปสู่การดิ้นรนไปเรียนต่างประเทศเพื่อเรียนสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ จนได้เข้าทำงานที่ไมโครซอฟท์ในช่วงเวลาต่อมา
เมื่อมองย้อนกลับไปทุกอย่างเริ่มต้นจากความอยากรู้อยากเห็นของเด็กน้อย ๆ คนนั้นแค่นั้นเลย และทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตผมส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นเพราะนิสัยขี้สงสัยแบบเดียวกันนี้ทั้งสิ้น
ในหนังสือ “Raising an Entrepreneur” ของ มาร์โก มาชอล บิสโนว์ (Margot Machol Bisnow) เธอได้สอบถามพ่อแม่กว่า 70 คนที่เลี้ยงลูกจนเติบโตมาจนประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างมากว่า ‘ทักษะอะไรที่สอนเด็ก ๆ ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก?’ จนทำให้มาถึงจุดนี้ได้ ทักษะอย่างหนึ่งที่ทุกคนเห็นตรงกันก็คือ “Curiosity” หรือ “ความอยากรู้อยากเห็น” นั่นเอง
ซึ่งเจ้าความอยากรู้อยากเห็นมันไม่ใช่แค่อยากรู้อย่างเดียว มันนำพาไปสู่การอยากลองทำ อยากลองสร้าง ซ่อม อะไรต่าง ๆ นานา บางอย่างไม่เสียก็จะแกะเพราะอยากรู้ว่าทำงานยังไง (เครื่องคอมพิวเตอร์สมัยผมเป็นเด็กนี่คงร้องไห้ โดนถอดประกอบตลอด) มันต้องเป็นแบบนี้ไหม ทำแบบอื่นได้รึเปล่า? ความเร็วเพิ่มขึ้นได้ไหม? อะไรกันที่ทำเสียงกึ๊ก ๆๆๆ (อ๋อออ…ฮาร์ดไดรฟ์ เสียไปแล้วไม่รู้กี่ลูก)
พอโตมามันก็ติดเป็นนิสัยครับ ความอยากรู้อยากเห็น อยากเรียน อยากพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ เพราะคิดว่าตัวเองยังอ่อนหัดในหลายเรื่อง ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ (ช่วงนี้กำลังสนใจเรื่องการเงินเป็นพิเศษ)
ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาชีพต่างลงความเห็นว่านี่เป็นทักษะที่จำเป็นและหายากมากในยุคปัจจุบัน และนักวิจัยจาก Harvard Business School ก็บอกว่านี่เป็นทักษะที่บริษัทมากมายต้องการในพนักงานยุคดิจิตัล
ความอยากรู้อยากเห็นทำให้เราคิดให้ลึกซึ้งลงไปมากกว่าที่เห็น สังเกตโดยไม่ตัดสินว่ามันต้องผิดหรือถูกเลยทันที เรียนรู้ในสิ่งที่สนใจและหาทางออกเชิงสร้างสรรค์ได้มากกว่าด้วยเพราะพร้อมจะลองทำอะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ
บิสโนว์ก็ถามต่อครับว่าแล้วปลูกฝังยังไงหล่ะ? เจ้าความอยากรู้อยากเห็นมันสร้างกันได้ด้วยเหรอ? มันทำได้ครับ (ตอนนี้ก็ยังทัน) และถ้าเริ่มตั้งแต่เด็ก ๆ มาเลยจะยิ่งดีมาก ๆ
1. พ่อแม่จะสนับสนุนให้ลูก ๆ “ซ่อม” ของต่าง ๆ
ตอนเป็นเด็กผมจะชอบมากเวลาพวกอุปกรณ์ไฟฟ้าที่บ้านเสีย เพราะผมจะได้โอกาสในการแกะครับ เพราะอยากรู้เหลือเกินว่าข้างในวิทยุมันมีอะไร มันทำงานยังไง มอเตอร์พัดลมคืออะไร จอทีวีมีภาพได้ยังไง ฯลฯ คือแกะมาส่วนใหญ่ก็จะหยิบไปถามผู้ใหญ่ว่า “อันนี้คืออะไรครับ?” “มันทำอะไรครับ?” จนบางครั้งผู้ใหญ่รำคาญ (และไม่รู้คำตอบ) ก็พาผมไปร้านซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า ให้ถามเต็มที่เลย
ตอนอายุ 24 ปี โรเบิร์ต สตีเฟนส์ (Robert Stephens) ผู้ก่อตั้งบริษัท “Geek Squad” บริษัทซ่อมแซมเทคโนโลยีที่ถูกซื้อไปด้วยเงิน 3 ล้านเหรียญโดย Best Buy เขาเล่าว่าตอนเป็นเด็กจะเอาไขควงไปขันพวกลูกบิดประตูที่บ้านเพราะอยากรู้ว่ามันทำงานยังไง พ่อแม่ก็ไม่ได้โกรธแค่บอกว่า “หวังลูกจะใส่มันคืนได้นะ” แค่นั้นแหละ
หลังจากนั้นสตีเฟนส์ก็กลายเป็นคนที่ซ่อมของต่าง ๆ ในบ้านทั้งหมดเลย ซึ่งก็ทำให้เขารู้สึกภูมิใจและมีความมั่นใจมากขึ้นด้วย
การซ่อมของต่าง ๆ จะช่วยทำให้เด็กพัฒนากระบวนการตัดสินใจและวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญมาก ๆ เลย ถ้ามีอะไรที่เสียหรือใช้งานไม่ได้แล้ว อย่างไฟฉาย วิทยุเก่า ๆ ท่อน้ำหลวม นาฬิกาไม่เดิน ฯลฯ ใช้มันเป็นโอกาสเพื่อสอนเด็ก ๆ สร้างความอยากรู้อยากเห็นให้พวกเขาด้วย สำหรับผู้ใหญ่ก็ทำได้ครับ อยากเรียนรู้อะไรตอนนี้ข้อมูลออนไลน์เยอะมาก แค่ขอให้มั่นใจว่าหาแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องก็โอเค
2. ปลูกฝังความมั่นใจให้ลูกได้ลองแก้ปัญหาใหญ่ ๆ
เจสสิก้า แจ็คลีย์ (Jessica Jackley) ผู้ก่อตั้งบริษัท Kiva แพลตฟอร์มกู้ยืมเงินแบบบุคคล-ต่อ-บุคคล (Peer-to-Peer) ที่มีการกู้ยืมกันไปแล้วกว่า 1 พันล้านเหรียญสำหรับธุรกิจขนาดเล็กต่าง ๆ
แจ็คลีย์เล่าว่าแม่ของเธอนั้นคอยสนับสนุนให้เธอมั่นใจอยู่เสมอ บอกว่าเธอมีความสามารถมากพอที่จะทำสิ่งที่เธอต้องการได้ แม้ว่ามันจะดูไกลเกินเอื้อมหรือทะเยอทะยานแค่ไหนก็ตาม
นอกจากนั้นแล้วแม่ยังคงเป็นเหมือนเพื่อนที่คอยเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ด้วยกันตลอด เล่นเกมสนุก ๆ สำรวจสิ่งที่สนใจและออกไปผจญภัยทำสิ่งใหม่ ๆ ด้วยกันเสมอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนสำคัญในการสร้างกรอบแนวคิดในตัวแจ็คลีย์ให้มีความกล้าลงมือทำ มองเห็นโอกาสต่าง ๆ ในโลกของเราได้ (ลองดู Ted Talk ของแจ็คลีย์ก็ได้ครับสนุกมาก)
3. ถามคำถามที่ส่งเสริมการคิดต่อ
เอลเลน กุสตาฟสัน (Ellen Gustafson) ผู้ร่วมก่อตั้ง FEED Projects ในปี 2007 ที่ขายกระเป๋าและสินค้าต่าง ๆ เพื่อแบ่งเงินไปซื้ออาหารให้เด็กที่โรงเรียนยากไร้ทั่วโลก ตอนนี้กุสตาฟสันถูกยกว่าเป็นผู้นำแนวคิดนวัตกรรมทางสังคมคนหนึ่งของโลก (https://feedprojects.com/)
คุณแม่ของกุสตาฟสันบอกว่าความสำเร็จของลูกมาจากกฏข้อเดียวของเธอในการเลี้ยงลูกซึ่งก็คือการ “พยายามห้ามตัดสินใจแทนลูก” แทนที่จะบอกลูกว่าต้องทำอะไร แม่จะสนับสนุนให้ลูกนั้นลองตัดสินใจด้วยตัวเองอย่างเป็นอิสระ คุณแม่บอกว่า “ทางที่ดีที่สุดคือการถามคำถาม”
เธอยกตัวอย่างเช่นถ้าเกิดมีพายุฝนตกฟ้าร้องข้างนอกแล้วลูกเดินออกไปเล่น คุณแม่ก็จะถามว่า
- “ลูกกำลังพาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงนะ คิดว่ายังไงเหรอ?”
- “อะไรทำให้ลูกตัดสินใจทำในสิ่งที่ทำลงไป?”
- “มีอะไรที่ลูกเรียนรู้จากสถานการณ์นี้ที่จะทำให้ลูกประเมินความเสี่ยงต่างออกไปในครั้งหน้า?”
คำถามที่เปิดกว้าง ไม่ใช่คำสั่งแบบนี้ทำให้เห็นว่าพ่อแม่เคารพการตัดสินใจของลูก ๆ ซึ่งสร้างความมั่นใจให้กับพวกเขา มันยังสอนเรื่องการจัดการความเสี่ยงและการตัดสินใจในชีวิตให้ชั่งน้ำหนักได้ดีมากขึ้นด้วยในสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป
ส่วนตัวผมเชื่อว่าความอยากรู้อยากเห็นเป็นทักษะที่ปลูกฝังกันได้ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่เอง มันเป็นการตั้งคำถามกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ ผลิตภัณฑ์ บริการ แนวคิด หรือแม้แต่หนังสือที่อ่าน นั่นคือสิ่งที่ผมชอบทำเสมอ คอยถามตัวเองว่า “ทำไม…ถึงเป็นแบบนี้นะ?” “ทำไม…ต้องเป็นแบบนี้เหรอ? หรือเปลี่ยนแปลงได้ไหม?” ซึ่งเจ้าคำถามพวกนี้แหละครับที่มักจะทำให้ฟันเฟืองสมองเริ่มหมุน และถ้าเป็นสิ่งที่สนใจจริง ๆ จะเริ่มหมกมุ่นจนกลายเป็นเรื่องที่เราอยากพัฒนาต่อเลยก็ได้
=========
อ้างอิง : CNBC