นี่อาจจะไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีนักสำหรับ “Social Media”, ถ้าเปรียบเป็นคนก็คงกำลังโดนมรสุมชีวิตวัยรุ่นที่กำลังพยายามค้นหาตัวเอง และคนที่อยู่รอบข้างก็เริ่มเอือมระอาไม่อยากสุงสิงด้วยอีกต่อไป
ไม่กี่อาทิตย์ก่อน Chris Hughes, หนึ่งใน co-founder ของ Facebook, ออกมาแสดงความเห็นที่เรียกได้ว่า “แข็งกร้าว” นิดหนึ่งบน New York Times (สนใจลองอ่านได้ฮะสนุกดี) ว่า Facebook ควรแตกตัวออกมา แยกการดูแลกันทั้ง Facebook, Instagram และ WhatsApp ออกจากกัน
“มาร์คอาจจะไม่ต้องมีหัวหน้า แต่ที่สิ่งที่เขาต้องการคือการตรวจสอบอำนาจที่ตัวเองมีอยู่ในมือ รัฐบาลต้องทำอยู่สองอย่าง : แยกการผูกขาดของ Facebook และ วางกฎระเบียบให้กับบริษัทให้มีความรับผิดชอบต่อชาวอเมริกันมากขึ้น”
แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ชาวอเมริกันที่ควรได้รับการดูแลที่ดีขึ้น แต่ประชากรทุกคนที่ใช้บริการของพวกเขาทั่วโลกอีกด้วย ซึ่งถ้าคำแนะนำของเขากลายเป็นจริงเราก็อาจจะได้เห็นอะไรที่ดีขึ้น อาจจะกลายเป็นยุคใหม่ของนวัตกรรมและการแข่งขันที่สร้างสรรค์ แต่…ในตอนนี้เราก็แต่คาดหวังเพียงเท่านั้น
Hughes ไม่ใช่คนแรกที่ออกมาพูดเรื่องนี้, เขาเป็นหนึ่งในหลายๆเสียงที่แสดงความกังวลหลายต่อหลายครั้งเกี่ยวกับธุรกิจที่คอยเก็บเกี่ยวข้อมูลจากลูกค้าเพื่อนำไปใช้สร้างผลประโยชน์ของตัวเอง (ซึ่งเขาเองก็คงรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างมันขึ้นมานั้นแหละ) ส่วนเรื่องของรัฐบาลเองก็ยังไม่รู้ว่าต่อไปจะออกมาหน้าไหน จะออกมาควบคุมการทำงานของ Facebook จริงๆหรือไม่ ไม่พอ…จะควบคุมได้จริงๆรึเปล่า? นั้นก็อีกเรื่องที่ไม่มีคำตอบ
Hughes พูดต่อว่า
“ตลาดที่เต็มไปด้วยความหลากหลายที่เคยผลักดันให้ Facebook และ โซเชียลมีเดียอื่นๆให้แข่งขันและสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่าเดิมตอนนี้ได้หายไปแล้ว นี่หมายถึงว่ามันมีโอกาสน้อยมากที่จะมีบริษัทสตาร์ทอัพใหม่ที่พัฒนาแพลตฟอร์มที่มีคุณภาพกว่าและไม่เอาเปรียบ และมันก็หมายความว่าภาระรับผิดชอบต่อประเด็นต่างๆอย่าง privacy ก็ลดลงไปด้วย”
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อไม่มีคู่แข่ง ก็ไม่ยากที่จะตามใจตัวเอง

Nick Srnicek, ผู้เขียนหนังสือ Platform Capitalism, กล่าวว่า
“มันเป็นการแข่งขัน – ไม่ใช่ขนาด – ที่ทำให้ต้องการข้อมูลมากขึ้น ดึงดูดความสนใจมากยิ่งขึ้น ให้คนใช้งานมากขึ้น เพื่อทำกำไรให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ความพยายามของรัฐบาลที่พยายามเพื่อการแข่งขันจริงๆอาจจะเป็นการทำให้ประเด็นนี้รุนแรงมากขึ้นไปอีก”
เพราะฉะนั้นการที่มีกฎบังคับอาจจะเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมของธุรกิจแต่ไม่ได้เปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจเลยก็ได้
เมื่ออนาคตเป็นอะไรที่ยากจะหยั่งรู้และดูมืดมน หลายคนก็เลยเริ่มถามคำถามต่อมาว่า ถ้าแบบนี้ “ไม่มี” โซเชียลมีเดียเลยจะเป็นไปได้ไหม?
น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
สิ่งที่เราน่าจะพอรู้ตอนนี้ก็คือว่าหลายๆคนเริ่มปิดบัญชี Facebook ของตัวเองไปบ้างแล้วหลังจากข่าวฉาวต่างๆที่ผ่านมา หลายคนก็ถามว่าแล้วพวกเขาไปไหน? คำตอบก็คือ “ไม่มีที่ไป” แต่คำตอบนี้ก็แปลความได้หลายอย่าง ไม่ใช่แค่เพราะไม่มี Facebook ก็ไม่มีที่อื่นแล้ว คำตอบนี้แปลได้อีกอย่างหนึ่งว่า พวกเขาอาจจะเลือกไม่ต้องการใช้โซเชียลมีเดียแล้วอีกต่อไปก็ได้
มันอาจจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่ย้อนกลับมาถามตัวเองว่าโซเชียลมีเดียจำเป็นกับชีวิตของเราจริงๆใช่ไหม? แน่นอนสำหรับหลายๆคนมันอาจจะเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อใช้ในการทำงานหรือเพื่อเชื่อมโยงพวกเขากับคนรักที่อยู่ห่างไกลกัน
แต่…สำหรับอีกหลายต่อหลายคนมันก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น
เราไม่ได้ใช้โชเชียลมีเดียเพื่อหาเพื่อนหรือสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เราไม่จำเป็นต้องใช้มันเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง ไม่ได้จำเป็นสำหรับการออกไปหาสิ่งใหม่ๆทำในพื้นที่ๆเราอยู่ เราไม่จำเป็นต้องใช้มันเพื่อหาอีเวนท์เข้าร่วม เรียกรถแท็กซี่ หาตัั๋วเครื่องบิน ไม่จำเป็นสำหรับการหาเพลงใหม่ๆฟัง ไม่จำเป็นสำหรับการหาหนังสือดีๆสักเล่มอ่าน ไม่จำเป็นสำหรับการออกไปช้อปปิ้งซื้อของ ไม่จำเป็นสำหรับการใช้มันเพื่อนวางแผนชีวิต ไม่จำเป็นสำหรับการเข้าใจชีวิตและโลกใบนี้
เอาหล่ะ…อย่าเพิ่งไปปิดบัญชี Facebook แล้วออกไปอยู่ในป่า, นั้นไม่ใช่เป้าหมายของการเขียนบทความชิ้นนี้
มันไม่จำเป็น, มีก็ดี…เพียงแต่ว่ามันควรจะมีทางเลือกที่ดีกว่านี้
เราไม่จำเป็นต้องไปช่วยบริษัทเหล่านี้ให้สอดส่องชีวิตส่วนตัวเราง่ายขึ้น เราไม่ต้องการโซเชียลมีเดียที่ทำให้การเข้าถึงตัวบุคคลเป็นเรื่อง่ายและติดตามใครก็ได้ง่ายๆจนบางครั้งก็น่ากลัว (ลองดูซีรี่ย์ You บน Netflix) เราไม่จำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่งของการแพร่กระจายข่าวปลอมที่สร้างความแยกแยกและโหดร้าย และเราไม่จำเป็นต้องให้โซเชียลมีเดียป้อนโฆษณาไม่รู้จบ (ที่เหมือนจะรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับเรา) ใส่หน้าตลอดเวลา
ในเวลานี้คนที่ยังใช้อยู่ก็คือคนที่สร้างมันขึ้นมา ได้ประโยชน์จากมัน (เงิน, ชื่อเสียง, เป้าหมายทางสังคมอื่นๆ) ส่วนคนอื่นๆก็พยายามใช้ให้น้อยลงและห่างออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
โซเชียลมีเดียยังเป็นปัญหาที่ยังต้องได้รับการแก้ไข เพียงแค่แตก Facebook ออกมาให้เป็นบริษัทย่อยๆอาจจะไม่ได้ช่วยอะไรมาก หรือบางทีอาจจะสร้างปัญหาที่ใหญ่กว่าเดิม (ซึ่งก็ไม่มีใครรู้) เพียงแค่นี่เป็นโอกาสอันดีที่เราสามารถถามตัวเองว่าผลเสียที่มันมีต่อชีิวิตเรานั้นมากกว่าผลดีรึเปล่า?
วันก่อนระหว่างที่นอนหยุดอยู่บ้าน ลูกสาววัยสามขวบนอนอยู่ข้างๆ มีเสียงเตือนของมือถือดังขึ้นมาเป็น notification จาก instagram, ผมหยิบขึ้นมาดูเป็นภาพจากบัญชีหนึ่งที่ผมตามอยู่ เป็นภาพที่ใช้โมเดลฟิกเกอร์ตัวเล็กๆมาทำเป็นเรื่องราว แต่ละภาพที่ถ่ายออกมานั้นล้วนสวยงามและน่าสนใจ ผมกดหัวใจไปแล้วเลื่อนลงไปดูเรื่อยๆ หาภาพที่สวยกว่า ลูกสาวเขยิบมาใกล้ๆ เอาหัวมาซุกที่คอดูด้วยว่าพ่อของตัวเองกำลังทำอะไร และตอนนั้นเองที่คิดไดว่า “นี่เรากำลังทำอะไร?” ทั้งๆที่รู้ว่ามันไม่ดีต่อลูกสาวแต่ก็ยังทำอยู่ ผมรีบปิดแล้วชวนลูกไปเล่นข้างนอกและทิ้งมือถือไว้บนเตียง
เรารู้ว่า “เรามีทางเลือก”, แต่มันก็เหมือนไม่ได้เป็นแบบนั้นซะทีเดียว เมื่อหันหน้าไปทางไหนก็เจอแต่โซเชียลมีเดียที่คอยเก็บข้อมูลของเรา ดึงดูดความสนใจ ออกแบบมาเพื่อให้เราใช้เวลาบนแพลตฟอร์มมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (Facebook ไม่ใช่เจ้าเดียวอย่างแน่นอน เพียงแต่เป็นเจ้าใหญ่ที่มีอิทธิพลมากมาย) จะเป็นเรื่องที่ดีแค่ไหนถ้าวันหนึ่งเรามีโซเชียลมีเดียที่แตกต่างจากตอนนี้และไม่เอาเปรียบผู้บริโภค, ซึ่งก็อาจจะเป็นไปไม่ได้
ความจริงก็คือ โซเชียลมีเดียนั้นไม่ได้จำเป็นต่อชีวิตเรา การที่เราจะคาดหวังว่าบริษัทเหล่านี้จะทำตัวดีขึ้น เห็นลูกค้ามากกว่าแค่เป็นขุมน้ำมันข้อมูล และกฎหมายจะบังคับดูแลได้ทุกอย่าง มันเป็นเหมือนคำอธิษฐานต่อดวงดาว, ความหวังที่มันจะเกิดขึ้นช่างริบหรี่ – เข้าขั้นเพ้อฝัน
ในเวลานี้ไม่ได้หมายความว่าต้องปิดไปเลยทั้งหมดทันที เพียงว่าในโลกที่ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า มันเป็นโอกาสที่เราจะย้อนถามตัวเองเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียอีกครั้ง ใช้ยังไง จำเป็นแค่ไหน ทางเลือกของเรามีอะไรบ้าง ให้การตัดสินใจกลับมาอยู่ในมือเราอีกครั้ง ความจริงอีกอย่างคือโลกจะไม่แตก…ไม่ว่าเราจะใช้หรือไม่ก็ตาม แต่โลกของเราจะเปลี่ยนไปจากการตัดสินใจครั้งนี้