CEO Mark Zuckerberg มีการวางแผนกลยุทธ์ที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างของ WhatsApp, Instagram (ส่วนของ direct messages) และ Facebook Messenger เพื่อที่จะให้เมสเสสสามารถส่งผ่านหากันได้หมดทุกแพลตฟอร์ม สำนักข่าว The New York Times ได้เปิดเผยเรื่องนี้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาโดยบอกว่าพี่มาร์คนั้นต้องการเริ่มใช่เทคโนโลยีที่เรียกว่า “end-to-end encryption” ซึ่งแค่การเปลี่ยนแปลงตรงนี้ก็ถือว่าเป็นงานขนาดยักษ์ที่ต้องใช้ขุมกำลังขนาดมหาศาลแล้ว เพิ่มการออกแบบระบบที่สามารถใช้ได้ทั้งสามแอพพลิเคชันพร้อมกับ end-to-end encryption (ที่ผู้ใช้งานจะใช้ได้แบบไม่งงงวย) ถือเป็นขั้นตอนที่ท้าทายที่สุดเลยก็ว่าได้
ขอแทรกเรื่อง “end-to-end encryption” นิดหนึ่งว่ามันเป็นระบบการสื่อสารที่ผู้อ่านข้อความได้คือคนรับ-คนส่งเท่านั้น โดยแม้แต่ตัวกลางอย่างบริษัทที่ให้บริการก็ไม่สามารถอ่านได้ เพิ่มความปลอดภัยของการหลุดรอดของข้อมูลระหว่างทาง (ถ้าสนใจลองหาข้อมูลอ่านต่อครับสนุกดี)

โดยตอนนี้ WhatsApp ใช้ end-to-end อยู่แล้วซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ Facebook Messenger จะเปิดใช้ระบบนี้ก็ต่อเมื่อผู้ใช้งานเลือกเปิด “Secret Conversations” เท่านั้น ส่วน Instagram ไม่ต้องพูดถึงเพราะไม่มีให้เลยสำหรับส่วนของโปรแกรมแชท WhatsApp ได้เริ่มใช้เทคโนโลยีนี้ตั้งแต่ปี 2016 และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน
Facebook ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการวางแผนเบื้องต้นในการรวมเอาแพลตฟอร์มต่างๆไว้ด้วยกัน ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกและเพิ่มระบบความปลอดภัยในการแชทให้กับผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น แต่คำถามใหญ่ที่พวกเขาต้องตอบให้ได้ก่อนลงมือทำคือ “เมื่อ end-to-end encryption นั้นรับประกันว่าข้อมูลสามารถมองเห็นได้แค่สองที่คือผู้รับและผู้ส่ง แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเอาแชทเหล่านี้มารวมกัน ต้นทางเป็น end-to-end ก็จริง แต่ปลายทางเป็นแชทที่เปิดปิดระบบได้ หรืออาจจะไม่มีเลย อะไรจะเกิดขึ้น?” การรวมตัวครั้งนี้ Facebook จะต้องหาหนทางที่ช่วยผู้ใช้งานให้เข้าใจถึงการควบคุม end-to-end encryption เพราะไม่งั้นระบบที่ปลอดภัยอันนี้ก็มีช่องโหว่ที่น่ากลัวอยู่ดี
Matthew Green นักวิทยาการเข้ารหัสลับที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins กล่าวว่า
“ปัญหาใหญ่ที่ผมเห็นคือ WhatsApp มี end-to-end encryption เพียงคนเดียว แล้วถ้าเป้าหมายคือการส่งข้อความข้ามไปมาระหว่างแอพพลิเคชั่นได้ แล้วถ้าเกิดว่ามันได้ถูกเข้ารหัสระหว่างที่ข้อความส่งมาจะเกิดอะไรขึ้น? มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นหลายอย่างเลยทีเดียว”

คนที่ใช้ WhatsApp ก็คิดว่าเมสเสสของเขานั้นปลอดภัย เพราะใช้ end-to-end ถูกไหมครับ? แต่ถ้าเกิดว่าระบบที่รวมกันแล้วทาง Instagram ไม่มีระบบนี้หล่ะ? หรืออาจจะเปิดปิดได้? ถ้าผู้รับไม่ได้กดเปิดจะทำยังไง? หรือ default จะเป็นแบบไหน? แล้ว Facebook เองจะบอกไหมว่าข้อความของคุณได้รับการใส่รหัสรึเปล่า?
สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ (แต่ไม่ควรเกิดขึ้น) อย่างเช่นว่า Facebook มองเห็นข้อความของเราที่คุยกับเพื่อน อาจจะเกี่ยวกับแผนการเดินทางไปญี่ปุ่นเดือนหน้า เมื่อระบบเห็นคำว่า “เดินทาง” “ญี่ปุ่น” ปุ๊บก็รีบยิงโฆษณาบริษัทนำเที่ยวมาเพื่อให้เราคลิ๊กทันที บอทเหล่านี้คอยดักฟังระหว่างทางจะทำให้เราเป็นเป้าหมายในการโฆษณามากยิ่งขึ้นและบริษัทเองตอนนี้ก็ทำเงินไม่ได้มากจากสมาชิก 1.5 พันล้านคนของ WhatsApp เพราะฉะนั้น…นี่อาจจะเกิดขึ้น
Facebook ออกมาประกาศว่า
“เราต้องการสร้างประสบการณ์การแชทที่ดีที่สุดเท่าที่เราสามารถทำได้ ทุกคนต้องการระบบที่รวดเร็ว ง่าย มั่นคงและเป็นส่วนตัว เรากำลังสร้างผลิตภัณฑ์ของเราให้เป็น end-to-end และทำให้ทุกอย่างนั้นเป็นเรื่องง่ายในการติดต่อเพื่อนและครอบครัวที่อยู่ในเครือข่าย แต่ก็อย่างที่คุณคิดนั้นแหละว่ามีเรื่องที่ต้องคุยกันต่อและปรึกษากันมากมายในระหว่างที่เรากำลังลงรายละเอียดว่ามันต้องทำยังไง”
Facebook เน้นย้ำว่าขั้นตอนที่ค่อยเป็นค่อยไปแบบนี้จะทำให้สามารถเก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆระหว่างทางได้ดีกว่าก่อนที่จะเปิดสวิทช์แล้วเปลี่ยนระบบแชททั้งหมด แต่ต้องบอกว่า encryption ไม่ใช่ปัญหาเดียวที่พวกเขาต้องคำนึงถึง ยังมีเรื่องความเป็นส่วนตัวสำหรับบุคคลเดียวที่มีบัญชีของทั้งสามอัน จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเมสเสสมาแล้วทั้งสามบัญชีรับข้อความ? แม้ว่ามันจะสะดวกเมื่อมีช่องทางรับข้อความหลายทาง แต่เรื่องมันจะซับซ้อนมากเลยทีเดียว
ในปี 2016, WhatsApp เริ่มแชร์เบอร์โทรศัพท์และข้อมูลด้านอื่นๆให้กับ Facebook กลายเป็นจุดที่ทำให้เส้นแบ่งของทั้งสองบริการนี้เลือนหายไป WhatsApp ยังอนุญาตให้ผู้ใช้งานสมัครเปิดบัญชีด้วยหมายเลขโทรศัพท์อยู่ตอนนี้ อีกด้านหนี่งอย่าง Facebook ต้องใช้ชื่อที่ถูกต้องตามกฎหมายตามระเบียบ “real name” policy ซึ่งพวกเขายังคงใช้กฎนี้เพื่อป้องกันการปลอมแปลงตัวและความปลอดภัย แต่มันก็สร้างปัญหาที่ตามมาสำหรับผู้ใช้งานที่ไม่อยากเปิดเผยตัวตนและมีเหตุผลส่วนตัวที่ไม่อาจจะบอกได้ (เช่นคนที่แปลงเพศมาแล้วไม่อยากใช้ชื่อตามใบสูติบัตร)
ในด้านหนึ่งของข่าวที่ Zuckerberg เขียนบอกว่า
“แน่นอนว่าเราเก็บข้อมูลบางส่วนสำหรับโฆษณาแต่ข้อมูลเหล่านั้นโดยทั่วไปแล้วก็สำคัญสำหรับความปลอดภัยและการปฏิบัติงานของบริการของเราเช่นกัน”
การรวมข้อมูลของทุกบริการเข้าไว้ด้วยกันก็มีข้อดีที่สามารถป้องกันการปลอมแปลงตัว แต่มันก็เป็นขุมทองการขุดข้อมูลให้กับ Facebook นำไปใช้เพื่อยิงโฆษณาได้เช่นเดียวกัน

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องคิดคือบางคนใช้ username ที่แตกต่างกันในแต่ละบริการด้วยสาเหตุหลายๆอย่าง การเอามารวมกันทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะมีความสุขกับการรวมตัวกันแบบนี้ซะเมื่อไหร่ บางคนใช้ Facebook แต่ไม่ใช้ Instagram หรือ WhatsApp การรวมกันของบริการเหล่านี้จะเป็นการผลักจำนวนผู้ใช้บริการของแต่ละที่มากยิ่งขึ้น (เหมือนเป็นการบังคับไปในตัว)
ถ้าใครยังจำได้ถึงเหตุการณ์เมื่อปีก่อน Jan Koum และ Brian Acton ผู้ก่อตั้งบริษัท WhatsApp นั้นได้ลาออกไปโดยไม่ได้แจ้งเหตุผลที่ชัดเจนอะไร สิ่งหนึ่งที่ข่าวนำมาเล่าคือว่าต้นเหตุน่าจะมาจากสาเหตุนี้แหละ ความเห็นที่ไม่ลงรอยกันและสุดท้ายก็ต้องบอกลาบริษัทที่ตนเองสร้างมากับมือ
อีกอย่างหนึ่งที่เราน่าจะไม่ได้เห็นแน่ๆเลยคือการให้ทุกบริการเป็น end-to-end ทั้งหมด เพราะมันจะหมายความว่า Facebook จะไม่ได้รับข้อมูลของการแชทอะไรเลยทั้งสิ้น
ตอนนี้เราได้แต่ตั้งคำถามว่า Facebook จะทำยังไงต่อ จะรวมทั้งสามโปรแกรมแชทไว้ด้วยกันยังไง? ไม่ใช่แค่ทางเทคนิคเท่านั้น แต่จะทำยังไงให้ผลลัพท์ที่ออกมาไม่สับสนแก่คนใช้งานและผลักให้พวกเขาไปใช้โปรแกรมแชทอันอื่นแทน