อะไรทำให้มนุษย์ต้องทำงาน และการต่อสู้ของผู้รับค่าจ้าง
หากคุณต้องการให้ใครสักคนทำอะไรสักอย่าง คุณต้องตอบสนองโดยการเสนอผลตอบแทนที่คุ้มค่า เพราะแท้จริงแล้ว มนุษย์ทำทุกอย่างตามแรงจูงใจ — นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงทำงานเหรอ?
ถ้าโลกนี้ไม่มีระเบียบการแลกเปลี่ยนหลักเป็น “ตัวเงิน” พวกคุณจะอยากทำงานไหม? มันก็ไม่แน่นะ หลายคนอาจจะอยากเป็นคนกวาดถนนเพราะ อยากให้ท้องถนนโล่ง ไม่เกะกะตาก็ได้ แต่ถ้าถามเรา เราอยากเป็นด้วงหรือไม่ก็แพนด้าแดง (เปลี่ยนสปีชีย์ไปเลย)
ทั้งหมดนี้เกิดจากการมนุษย์ทุกคนต่างต้องการใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายสูงสุดตามสัญชาตญาณ หากผลตอบแทนคงที่ไม่ว่าจะปฏิบัติอย่างไร ก็มีแนวโน้มว่ามนุษย์จะเลือกการออกแรงที่ขอไปที และหาทางที่สบายที่สุด B.F.Skinner ศึกษาซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนได้มาซึ่งทฤษฏี “การวางเงื่อนไขการกระทำ” การทดลองของเขาแสดงให้เห็นว่าการควบคุมหรือจูงใจให้สัตว์มีพฤติกรรมต่าง ๆ มีความสัมพันธ์กับความถี่และจำนวนของรางวัล (reward) แนวคิดของเขาช่วยสนับสนุนแนวคิดที่ว่า “ค่าแรงรายชิ้นเพิ่มการทำงานของนกพิราบในห้องทดลองได้” แต่อย่างไรก็ตามไม่มีใครสนุกกับการทำงาน ทุกอย่างเกิดขึ้นตราบเท่าที่ผลตอบแทนนั้นเหมาะสม
- มนุษย์ทำงานเพื่อเงินเพียงอย่างเดียว?
ในอดีตแนวคิดเรื่องชนชั้นได้กดทับ และลดทอนความสุขของมนุษย์ด้วยกัน ด้วยการเสนอกรอบที่ว่าโดยธรรมชาติแล้วคนทั่วไปทำงานเพื่อเงินเพียงอย่างเดียว และมีแต่คนชั้นสูงเท่านั้นที่ต้องการความท้าทาย และแนวคิดเช่นนี้แหละที่หล่อหลอมให้เกิด “แรงงานอันด้อยประสิทธิภาพ”
หากเราต้องการสร้างธรรมชาติที่ส่งเสริมให้มนุษย์ทำงานเราจำเป็นต้องทำให้เขาโหยหาความท้าทาย การมีส่วนร่วม ความหมาย สิทธิในการตัดสินใจ โอกาสและความพึงพอใจ ทำให้เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่เกินเอื้อม หากเราละเลยแนวคิดพื้นฐานของการเป็นมนุษย์อย่างนี้ไป ก็จะเหลือเพียงแค่นายจ้างและลูกน้อง งานดี ๆ กับ ที่มาของแหล่งรายได้
เราอาจมองหาความหมายและการมีส่วนร่วมในงานบางประเภท มองอย่างผิวเผินแล้ว “งาน” อาจหาความหมายยาก แต่ เอมี เรสเนสกี ให้ลักษณะงานไว้ 3 ประเภทหลัก ๆ
- งานที่ใจเรียกร้อง (Calling) : งานที่ตนพึ่งพอใจกับตำแหน่ง มีความเชื่อว่างานที่ทำมีคุณค่า
- เครื่องมือหาเลี้ยงชีพ (Job) : คนที่มองว่างานเป็นเครื่องมือ งานคือสิ่งจำเป็น ทำงานเพื่อผลตอบแทนและพร้อมเปลี่ยนงานหากมีที่อื่นเสนอค่าตอบแทนมากกว่า
- อาชีพ (Career) : คนที่มองว่างานเป็นอาชีพ มักจะมีอำนาจในการตัดสินใจ เป้าหมายคือการเลื่อนขั้น เงินเดือนที่สูงกว่า หรืองานที่ดี
เพราะฉะนั้นแล้ว อะไรที่ทำให้ผู้คนมีทัศนคติต่องานต่างกันไป ก็คือทัศนคติต่อการมองงานและความคิดที่พวกเขามีต่องานแบบนั้น แม้ทัศนคติจะเป็นเรื่องสำคัญแต่มันก็มีข้อจำกัดทางจิตวิทยาอยู่ บางทีเราก็ต้องหลอกตัวเองมากพอดูกับการจะเห็นว่างานของตนมีเป้าประสงค์
“รางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชีวิต มาจากประสบการณ์ที่ต้องต่อสู้”
Friedrich Nietzsche
แรงบันดาลใจ หรือเบื้องหลังความสำเร็จ อันนำมาซึ่งเป้าประสงค์สูงสุดหรือแม้กระทั่งความหมายของชีวิต มักเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ที่สุด เพราะในวินาทีนั้นเราต่างค้นหาช่วงที่จะได้เรียนรู้ สร้างโอกาสและความเป็นไปได้ และนั่นจึงเป็นคำตอบที่ว่า
มนุษย์ทำงานเพื่อเงินเพียงอย่างเดียวหรือไม่ — “ไม่ใช่เลย”
- แต่มนุษย์ก็ต้องใช้เงิน
ความจนคืออะไร? ความจนคือการขาดแคลน การเข้าไม่ถึงโอกาส หรืออาจพูดได้ว่ามันคือการมองไม่เห็นอนาคต แม้ว่าเราจะทำงานอย่างมีความสุขและพบคุณค่าของมัน แต่ถ้างานเหล่านั้นไม่มอบผลตอบแทนที่เพียงพอ
มนุษย์ทำงานเพื่อเงินเพียงอย่างเดียวหรือไม่ — คำตอบก็คือ “ใช่”
Positive Mindset เป็นการตอบสนองต่อสัญญาณทางสังคม เพื่อให้ผู้คนรับมือกับแรงกดดันจากความไม่มั่นคงทางการเงินและการอยู่ชายขอบ เป็น setting ที่เราจะกำหนดวิธีคิดโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ดูเหมือนจะมีปัญหา และหลงลืมที่จะไตร่ตรองให้ดีก่อนว่าทำไมเราถึงต้องปรับตัวให้เข้ากับทัศนะนั้นตั้งแต่แรก
การหันหลังให้กับสิ่งที่ทำให้อารมณ์เสีย และหมกมุ่นอยู่กับการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ การชั่งน้ำหนักมิตรภาพลงไปในแง่ของกำไรขาดทุน ทำให้เราถูกผูกมัดในรูปแบบของอัตวิสัยนี้ และปรับตัวเองให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด และความคาดหวังของผู้อื่น นี่เป็นอีกวิธีคิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนที่ขาดแคลน (ตัวเงิน ความมั่นคงฯ) แนวคิดนี้ทำให้คนยากจนถูกตำหนิสำหรับความโชคร้ายของพวกเขา จนนำมาซึ่งการแบ่งฝ่ายต่อต้านนายทุน และแทรกแซงเพื่อลดทอนแรงสนับสนุนสถานะของแรงงาน
การดิ้นรนต่อสู้ของแรงงานก็ยังเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ควบคู่กับการกดขี่และอำนาจที่ไม่ชอบธรรม ประวัติศาสตร์การต่อสู้ไม่เพียงสะท้อนออกมาในรูปแบบเรื่องราวข้อเท็จจริง มีความพยายามสนับสนุนให้ผู้คนสร้างชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับตนเองโดยมุ่งเน้นไปที่ การศึกษา และความรู้ทางการเงิน ดังนั้นผู้ที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต่ำกว่า จึงถูกสั่งสอนวิธีตัดสินใจ แต่ไม่มีใครพูดเรื่องนี้กับกลุ่มคนที่เพียบพร้อมหรอกนะ
บริบทต่างๆ กำหนดวิธีที่เราคิด สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นความคิดที่ล่องลอยได้อย่างอิสระ แท้จริงแล้วเป็นผลพวงของพลังทางสังคมที่ทำงานในรูปแบบที่ละเอียดอ่อน
- เมื่อไม่ได้รับความยุติธรรมก็ต้องต่อต้าน
การต่อต้านเกิดขึ้นทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกทางภาษา หรือการลอบบ่อนทำลายโดยผู้ต่อต้านลูกจ้างมักถูกมองข้าม หรือถูกสบประมาทว่าการต่อต้านของพวกเขาไม่ใช่การกระทำทางการเมือง เพราะไม่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอำนาจได้ และการต่อต้านถูกวัดความสำเร็จด้วยการดู “ผลทางการเมือง” เช่น สามารถปฏิวัติโค่นล้มอำนาจเดิมได้โดยทันที เพราะ การต่อสู้ที่ปะทุออกมาอย่างเปิดเผยย่อมมีพื้นฐาน (infrapolitcs) มาจากการดิ้นรนขัดขืนเล็กๆน้อยๆแทบทั้งสิ้น