มีพี่คนหนึ่งที่ผมรู้จักเขาเพิ่งแต่งงาน ครั้งหนึ่งเคยถามว่าพี่เขาเจอผู้หญิงคนนี้ยังไง? เพื่อนแนะนำมาเหรอ? เขาบอกไม่ใช่เลย เขาเป็นเพื่อนของเพื่อนที่ไม่เคยรู้จักกัน แต่ได้คุยกันเพราะเห็นรูปโปรไฟล์กันแล้วก็รู้สึกถูกชะตา เขาเลยทักทายไป ผ่านมาแล้วหลายปีหลังจากการเซย์เฮลโล่ในวันนั้น ตอนนี้พวกเขาทั้งคู่กลายเป็นสามีภรรยากันเรียบร้อย ความรักยังคงเป็นหัวใจของความสัมพันธ์สำหรับทั้งสองคน แต่เรื่องแบบนี้ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกที่คนตั้งคำถามอีกต่อไป ความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นบนสายไฟเบอร์กลายเป็นธรรมดามากขึ้นทุกๆวันสำหรับคนในยุคนี้ และมันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆอย่างแน่นอน
ในวันที่ 19 กรกฎาคม 1695 มีโฆษณาชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจปรากฏตัวขึ้นบนวารสารของเมือง London ชื่อ “Collection for the Improvement of Husbandry and Trade” ที่บอกว่า
“เขาเป็นสุภาพบุรุษที่อายุราวๆ 30 ปีและมีทรัพย์สินที่ดินมากมาย” และกำลังมองหา “สุภาพสตรีสาวๆที่มีทรัพย์สมบัติราวๆ 3 พันปอนด์”

โฆษณาแบบส่วนตัวชิ้นนั้นกลายเป็นรากฐานอันสำคัญของธุรกิจหนังสือพิมพ์ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ตอนนี้เมื่อทุกอย่างธุรกิจนั้นได้ถูกถ่ายเทไปไว้บนอินเตอร์เน็ต ทั้งเนื้อหาและโฆษณา หัวใจที่ว้าเหว่เปลี่ยวเหลาทั้งหลายนั้นก็เริ่มมีโอกาสได้เจอคู่ครองของตัวเองมากขึ้น แม้ว่าโฆษณาแบบด้านบนนั้นจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นการจดทะเบียนสมรสมากมายอะไรนัก (แค่ประมาณ 1% ของคู่สมรสในอเมริกา) แต่วันนี้เว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นหาคู่ออนไลน์เป็นเส้นทางที่คนพบรักกันครั้งแรกถึง 1 ใน 6 คู่ที่สุดท้ายที่แต่งงานกัน
ตั้งแต่ปี 2010 อินเตอร์เน็ตได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ระดับชุมชน บ้านพักที่อยู่อาศัย ห้องเรียนตั้งแต่เด็กอนุบาลจนมหาวิทยาลัย สถานที่ทำงาน ในออฟฟิศและนอกออฟฟิศ แม้แต่สถานที่ทางศาสนาอย่างวัดวาอาราม โบสถ์ เหล่านี้ล้วนได้รับอิทธิพลไม่มากก็น้อย ไม่ใช่เพียงแค่ในด้านของการใช้ชีวิตประจำวันเท่านั้นแต่ในส่วนที่สำคัญอีกด้านหนึ่งอย่างการพบเจอคู่ครองของชีวิตอีกด้วย สถานที่ฮอตฮิตในการพบเจอคนรักอย่างร้านอาหารและคลับบาร์กำลังได้รับความนิยมน้อยลง และสำหรับกลุ่มเพศทางเลือก ความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ยิ่งเด่นชัดมากขึ้นไปอีก อินเตอร์เน็ตคือพื้นที่พบปะแฮงค์อันสำคัญ ทั้งอำนวยความสะดวกและนำเสนอทางเลือกที่ไม่ต้องถูกใครตัดสินในสิ่งที่พวกเขาเป็น ไม่ว่าจะเพื่อช่วยคลายเหงาหรือเป็นความสัมพันธ์ระยะยาว กลุ่มเพศทางเลือกนั้นพบเจออีกฝ่ายหนึ่งกว่า 70% ออนไลน์
ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่ผ่านมา ทางเลือกในการหาคู่ครองนั้นมักถูกจำกัดอยู่ในกลุ่มของสังคมที่ตนเองอยู่ สถานที่ กลุ่มเพื่อนของพ่อแม่ มาถึงช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 ข้อจำกัดเหล่านั้นก็ค่อยๆถูกลดทอนลง โดยเฉพาะทางฝั่งประเทศทางตะวันตก การจากถิ่นฐานบ้านเกิดและออกจากบ้านเพื่อไปทำงานในเมืองอื่นๆทำให้สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนไป สังคมเมืองและผู้คนที่อยู่ในนั้นก็มีส่วนเกี่ยวข้องเช่นเดียวกัน แต่ในขณะเดียวกันที่ทางเลือกเพิ่มมากขึ้นก็นำมาซึ่งความลำบากที่คาดไม่ถึง : เราจะรู้ได้ยังไงว่าใครที่สนใจหรือไม่สนใจเรา และเขาจะรู้ไหมว่าเราสนใจเขาอยู่?
ในปี 1995 ประมาณหนึ่งปีหลังจากที่ Netscape เปิดตัว (ยังจำกันได้ไหมครับ?) มันเป็นเว็บเบราเซอร์ยุคแรกๆที่ถูกใช้งานอย่างกว้างขวาง เว็บไซต์ชื่อ match.com ได้พยายามหาคำตอบด้านบนมาให้กับผู้ใช้งาน บริษัทเทคโนโลยีที่เริ่มต้นในเมือง San Francisco ได้รับการยอมรับโดยกลุ่มเพศทางเลือกและเหล่าเนิร์ดทั้งหลาย แต่แล้วมันก็เริ่มได้รับความนิยมและแผ่กระจายออกไปเรื่อยๆ พิสูจน์ตัวเองว่ามันช่วยสามารถช่วยคนที่กำลังมองหาความสัมพันธ์ที่มีความหมาย บางคนอาจจะจบความสัมพันธ์ที่ยาวนานอันหนึ่งมา บางคนรู้สึกประหม่าในการเจอคนอื่นข้างนอกและไม่กล้าทักทาย ออนไลน์เดทติ้งกลายเป็นเรื่องใหม่ที่คนเริ่มพูดถึงกันในเวลานั้น แต่ผู้คนส่วนมากแล้วยังมองด้วยตาข้างเดียว คิดว่ามันเป็นการหลอกลวงและไม่มีทางยั่งยืนได้
แต่บริการเหล่านี้กลับได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงปี 2010 เราเริ่มเห็นบริการเหล่านี้ขยับขยายจากแลปท็อปมาอยู่บนสมาร์ทโฟน ในปี 2013 สตาร์ทอัพอย่าง Tinder ได้ดีไซน์แอพพลิเคชั่นหาคู่ออนไลน์ด้วยไอเดียง่ายๆแต่ได้ผลอย่างน่าทึ่ง พวกเขาจะหาคนที่คุณน่าจะสนใจส่งมาให้เมื่อเปิดแอพพลิเคชั่น แล้วสิ่งที่คุณต้องทำมีแค่สองอย่าง เลื่อนซ้ายถ้า “ไม่สน” เลื่อนขวาถ้า “สนใจ” เพียงเท่านั้น เมื่อทั้งสองฝ่ายเลื่อนขวาแล้วก็สามารถสื่อสารกันได้เลย มันกลายเป็นแอพพลิเคชั่นสุดฮิตแทบในทันที
บริการบนโทรศัพท์มือถือแบบนี้นำมาซึ่งความรวดเร็ว เข้าถึงตัวง่าย และกลายเป็นเรื่องปกติมากกว่ายุคก่อนๆที่ต้องนั่งพิมพ์ตอบอยู่หลังคีย์บอร์ด การหาคู่ไม่จำเป็นต้องวางแผนเพื่อพบเจอกันในอีกสองสามสัปดาห์ข้างหน้า โต้ตอบแชทคุยกันไปมาเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป มันรวดเร็วเพราะทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ตอนนี้ เวลานี้ เข้าถึงตัวตนของบุคคลเหล่านั้นได้ไม่ยาก กล้องถ่ายรูปที่ติดกับมือถือก็สามารถรับส่งรูปของทั้งสองฝ่ายไปมาได้อย่างรวดเร็ว แถมยังกลายเป็นเรื่องปกติไปซะแล้วในการเลื่อนซ้ายเลื่อนขวาในพื้นที่สาธารณะ แคปหน้าจอส่งให้เพื่อนๆดูถึงคนที่แอพพลิเคชั่นแนะนำมาให้คุณ จากสิ่งที่เคยถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ควรทำเมื่ออยู่คนเดียวเมื่ออยู่ที่บ้าน กลายเป็นทุกที่ทุกเวลาไปซะแล้ว

It’s just the power to charm
แต่ก็อย่าเพิ่งไปเหมารวมว่าทุกประเทศและทุกกลุ่มสังคมจะปรับตัวเข้ากับการหาคู่ออนไลน์ได้เหมือนกัน แน่นอนว่ากลุ่มคนทางตะวันตกที่มีวัฒนธรรมแตกต่างจากทางทวีปเอเชียนั้นนำหน้าเราไปไกลโข โดยเฉพาะชาวอเมริกันที่พุ่งเข้าใส่อย่างไม่รีรอ แต่ชาติอื่นก็ค่อยๆตามมาไม่ไกลเท่าไหร่นัก อย่างอินเดียที่มีชื่อเสียงมาตลอดในเรื่องวัฒนธรรมของการคลุมถุงชนหาคู่ครองให้ลูกหลานก็เริ่มทยอยเห็นการใช้งานบริการเหล่านี้มากขึ้น ปีที่แล้ว matrimony.com เดินหน้าเข้าสู่ตลาดหุ้นของอินเดียเรียบร้อย ได้รับเงินลงทุนเพิ่มอีก 70 ล้านเหรียญเลยทีเดียว แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักแต่อินเดียก็มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบ้างแล้ว ในประเทศไทยเองมีสถิติบ่งบอกว่า 4 ใน 10 คนเคยใช้บริการหาคู่ออนไลน์ และในกลุ่มนี้ยังบอกอีกว่าถ้าเลือกได้อยากพบคู่ครองของตนเองออนไลน์มากกว่าออฟไลน์
ในประเทศที่การแต่งงานและหาคู่ครองยังอยู่ในมือของพ่อแม่แทบ 100% อย่างประเทศจีน ในวันนี้มีแอพพลิเคชั่นสำหรับการ “casual dating” หรือการเดทแบบไม่จริงจัง แค่ต้องการหาเพื่อนเดทแต่ไม่ได้ต้องการคู่ครองที่จะกลายเป็นทองแผ่นเดียวกัน ซึ่งสิ่งนี้ไม่เคยมีมาก่อนในวัฒนธรรมของประเทศจีน Yu Wang CEO ของแอพพลิเคชั่น Tantan (สร้างขึ้นในปี 2015) ที่ตอนนี้เป็นแอพหาคู่ขนาดใหญ่ที่สุดในจีนบอกว่าเมื่อก่อนมันเคยมีอยู่เลย “ถ้าคุณเดินเข้าไปหาใครสักคนและเริ่มพูดจาในเชิงเกี้ยวพาราสี คุณจะถูกมองว่าเป็นคนเลวทันที” แต่บน Tantan “คุณไม่ต้องเปิดเผยตัวเอง ไม่ต้องกลัวว่าจะเสียหน้าและไม่รู้สึกแย่ถ้าถูกปฏิเสธ” จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Tantan มีผู้ใช้งานประมาณ 20 ล้านคน และสร้างคู่รักแล้วกว่า 10 ล้านคู่ Mr.Wang กล่าวปิดท้ายว่า “นั้นเป็นผลกระทบอันยิ่งใหญ่ต่อสังคมเลยทีเดียว”
แต่น่าเสียดายที่ระดับของความสำคัญและความหมายของออนไลน์เดทติ้งนั้นยังยากที่จะวิเคราะห์หรือบอกจำนวนได้อย่างแน่นอน เพราะข้อมูลที่บ่งบอกรายละเอียดเหล่านี้ยังถูกเก็บเอาไว้โดยบริษัทผู้เป็นเจ้าของ ธุรกิจนี้ถูกประเมินมูลค่าไว้ที่ 4.6 พันล้านเหรียญทั่วโลก (ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท) เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง องค์กร Match Group (ที่ให้ดูแล Tinder) ในปีที่แล้วมีรายได้ประมาณ 1.3 พันล้านเหรียญในปี 2017 เทียบเท่ากับยอดขายถุงยางอนามัยทั้งประเทศอเมริกา Tinder มีผู้ใช้งานที่เสียค่าสมาชิกกว่า 3.8 ล้านคน (มีพนักงานเก่าและผู้ร่วมก่อตั้งหลายคนที่กำลังฟ้องร้อง Match Group ว่าตั้งใจลดมูลค่าบริษัทเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินก้อนใหญ่แก่พนักงานเหล่านั้น)
แม้ว่า Tinder ยังเป็นกระต่ายที่วิ่งนำคนอื่นๆในการแข่งขันครั้งนี้อยู่ แต่ก็มีเต่าที่พยายามวิ่งตามอยู่หลายคนอย่างเช่น Bumble ที่ถูกก่อตั้งโดยผู้ร่วมก่อตั้ง Tinder ที่ลาออกไปและผู้เล่นคนอื่นๆที่ผุดขึ้นเรื่อยๆตามมุมต่างๆของโลก แม้แต่ Facebook เองก็ร่วมวงราตรีสโมสรกับเขาเช่นเดียวกัน ผู้ใช้งานหลายคนในบริการหาคู่ออนไลน์นั้นเชื่อมโยงบัญชีกับ Facebook ของพวกเขาอยู่แล้วเพื่อยืนยันตัวตน แอพพลิเคชั่นเหล่านี้รู้ดีว่าถ้า Facebook เลือกใช้ข้อมูลเหล่านี้อย่างฉลาด ยักษ์ใหญ่ของโซเชียลมีเดียจะถือไพ่ที่ได้เปรียบในหลายๆด้าน (ถ้าลูกค้าไม่รู้สึกกังวลกับข่าวที่ข้อมูลรั่วไหลในช่วงที่ผ่านมา) และอาจจะทำให้ธุรกิจนี้คึกคักขึ้นมามากกว่าเดิมด้วย
จากข้อมูลที่มี (ส่วนมาจากแบบสอบถาม) นักสังคมวิทยาอย่าง Thomas Reuben และ Michael Rosenfeld จากมหาวิทยาลัย Stanford พบว่าการพบเจอคู่ครองออนไลน์นั้นทำให้คนที่มาพบเจอกันนั้นเข้ากันได้ดีกว่าแบบเก่า ซึ่งก็อาจจะเป็นสาเหตุมาจากการที่ตัวเลือกเยอะขึ้นด้วยเช่นกัน ประโยชน์ที่ชัดเจนที่สุดน่าจะเป็นสำหรับคนที่มีความต้องการแบบเฉพาะเจาะจง การพบคนแบบที่ตนเองต้องการเลยในโลกออฟไลน์เป็นกิจกรรมคล้ายงมเข็มในกองฟาง อาจจะด้วยสภาวะทางจิตใจหรือสภาพร่างกายที่ไม่เอื้อต่อการออกไปไหนมาไหน การหาคู่ครองสำหรับกลุ่มเพศทางเลือกที่ปกติแล้วมีทางเลือกน้อยกว่า แถมในบางประเทศยังผิดกฏหมายและไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมรอบข้าง ก็ได้รับผลประโยชน์จากบริการเหล่านี้ที่ปลอดภัยและสะดวกมากกว่าการพบเจอคนรักข้างนอกแบบสมัยก่อน
ยังมีกลุ่มที่ชื่นชอบเซ็กซ์แบบที่พิเศษ เฉพาะเจาะจงกันลงไปในอีกระดับ ซึ่งก็มีเว็บไซต์ที่เอาไว้สำหรับคนเหล่านี้โดยเฉพาะ อาจจะหาคู่ทีละหลายๆคนในเวลาเดียวกัน เว็บไซต์ที่หาพ่อของลูกโดยไม่ต้องการให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต (คือแค่อยากได้ลูก…ไม่ใช่สามี) กลุ่มคนที่นับถือศาสนาเดียวกัน กลุ่มคนยิว คริสเตียน มุสลิม กลุ่มคนสนับสนุนโดนัล ทรัมป์ คนที่เป็นวีแกน คนที่ชอบขับมอเตอร์ไซค์เป็นชีวิตจิตใจ คนที่เป็นเกษตกร คนที่ถูกมองว่ารูปร่างหน้าตาไม่สวยงาม ฯลฯ
แม้ว่าตัวเลขหรือสถิติที่แสดงค่าของความสุขในการเกิดขึ้นของความรักออนไลน์เหล่านี้ยังไม่มีใครรู้ว่ามากหรือน้อยแค่ไหน แต่มีค่าสถิติหนึ่งจากการวิจัยในปี 2013 ของมหาวิทยาลัย Harvard และมหาวิทยาลัย Chicago ที่แสดงให้เห็นว่าคู่ครองที่แต่งงานกันจากการพบรักกันออนไลน์นั้นมีโอกาสในการเลิกรากันน้อยกว่าและมีความพึงพอใจมากกว่าคู่ที่พบกันออฟไลน์ ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ก็สอดคล้องกับข้อมูลของ Mr.Thomas และ Mr.Rosenfeld ที่รวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถาม “How Couples Meet and Stay Together” จากสถาบันวิจัย GfK ที่ทำแบบสอบถามทุก 2-3 ปี ที่บอกว่าคุณภาพของความสัมพันธ์ของคู่รักที่เจอกันออนไลน์นั้นดีกว่าและไม่ค่อยเลิกกันหลังจากแต่งงานกันไปแล้วหนึ่งปี อีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือความสัมพันธ์ของชายหญิงที่พบกันออนไลน์นั้นไปถึงจุดที่แต่งงานสร้างครอบครัวด้วยกันเร็วกว่าที่เจอกันออฟไลน์
เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าคนที่เจอกันออฟไลน์นั้นมีการดำเนินชีวิตที่คล้ายๆกัน มีเพื่อนกลุ่มเดียวกัน ทำงานที่เดียวกัน อยู่ในสังคมหรือชุมชนที่เหมือนๆกัน แต่ออนไลน์พวกเขาอาจจะเจอคนที่ไม่เหมือนกันเลย แต่มีความชอบที่คล้ายคลึงกัน เราอาจจะเจอคนที่ต่างไปเลยแต่กลับรู้สึกดึงดูดและมีอะไรที่เราสนใจมากกว่า
สิ่งหนึ่งที่ผู้ใช้งานออนไลน์นั้นค้นหาและอยากให้มีเหมือนกันคือความเชื่อทางศาสนา (ยอมรับเถอะว่านี่เป็นเรื่องที่ยังละเอียดอ่อนแม้ในยุคนี้) ระดับการศึกษาและอายุก็เป็นเรื่องที่คนให้ความสำคัญตามลงมา จากสถิติที่เก็บมาจากแอพพลิเคชั่นหนึ่ง ผู้ชายนั้นมักอยากส่งขอความหาผู้หญิงที่มีอายุ 18 ปีสูงที่สุดและลดต่ำลงมาเรื่อยๆตามอายุ แต่ในทางกลับกันผู้หญิงมักอยากคุยกับคนที่มีอายุมากกว่า เริ่มจาก 18 ปีและไต่ระดับไปเรื่อยๆจนถึงอายุ 50 ปีแล้วค่อยๆลดต่ำลงมา ผู้ชายที่มีจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมักจะได้รับความสนใจมากกว่า แต่กลับกันผู้หญิงที่มีใบปริญญากลับไม่ค่อยได้รับความสนใจ หรืออย่างผิวสีและเชื้อชาติก็มีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน ผู้หญิงเอเชียนั้นได้รับการตอบสนองที่ดี แต่ผู้ชายเอเชียนั้นไม่ค่อยได้รับความสนใจ แตกต่างกันกับผู้ชายผิวสีที่ส่วนใหญ่แล้วมีคนสนใจ แต่ผู้หญิงผิวสีกลับไม่เป็นอย่างนั้น

I never wave bye bye
ผู้ใช้งานหลายคนแม้จะชื่นชอบกับทางเลือกที่เพิ่มมากขึ้นบนโลกออนไลน์ ตอนนี้ก็เริ่มได้รับผลกระทบในด้านลบของสิ่งเหล่านี้เช่นเดียวกัน ทางเลือกที่ไม่รู้จบสุดท้ายกลายเป็นภาระที่ต้องแบกรับเอาไว้ด้วย อย่างผู้ใช้งานชื่อ Blessing Mark ที่มีอาชีพเป็นพนักงานนวดจากไนจีเรียบอกว่าเธอใช้ Tinder ด้วยเหตุผลสองอย่าง หนึ่งคือการหาลูกค้าและสองคือหาคู่รัก สำหรับการทำการตลาดนั้น Tinder ถือว่าจำเป็นมาก แต่อีกด้านหนึ่งของการใช้งานกลับเริ่มไม่สวยงามเท่าไหร่ เธอบอกว่า “ฉันรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเองเหมือนที่เคยเป็นอีกต่อไป ฉันไปทานข้าวเสร็จแล้วก็มีอะไร…แค่นั้น” โบกมือบ๊ายบาย
มีอีกหลายคนที่บอกว่าเหนื่อยล้ากับการต้องถูกลากกลับเข้าไปในลูปที่ไม่รู้จบ เจอคนที่น่าสนใจ ไปพบเจอกันแล้วก็ไม่ใช่ อาจจะคบกันไปได้สักพัก อกหักวนกลับมาที่เดิมใหม่และเริ่มกระบวนการเดิมอยู่เรื่อยๆ ความเหงาเองก็มีส่วนที่ทำให้การหาคู่ครองออนไลน์นั้นมีผลในทางลบ เพราะมันทำให้คนที่ขี้อายนั้นยิ่งคลุกตัวอยู่แต่ในที่ของตัวเอง ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อนที่ต้องพยายามผลักตัวเองออกมาทำกิจกรรมในสังคม อย่างการไปโบสถ์ ไปวัด ไปแฮงเอาท์กับกลุ่มเพื่อนๆ
อีกปัญหาหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือการไม่ถูกเลือก Mr.Wang ของ Tantan บอกว่า 5% ของผู้ชายที่ใช้งานจะไม่เจอคู่ที่ตัวเองถูกใจ ไม่ว่าจะเลื่อนขวากี่ครั้งก็ตามที เพราะจากสถิติแล้วผู้ชายชอบ 60% ของโปรไฟล์ผู้หญิงที่พวกเขาเห็น แต่อีกฝั่งหนึ่งกลับเลื่อนขวาเพียงแค่ 6% ของผู้ชายที่อยู่ในนั้น แม้ผู้หญิงที่ไม่ดึงดูดที่สุดก็ได้รับความสนใจที่ไม่ต่างกันจากฝั่งชาย แต่ด้านผู้ชายที่อยู่ด้านล่างๆกลับไม่ได้รับความสนใจเลย และเขายังกล่าวอีกว่ายังตอนนี้เขาไม่คิดว่ากลุ่มผู้ชายใน 5% นั้นจะมีอะไรมาช่วยได้เลย แต่ก็ยังต้องพยายามต่อไป โดยใช้ข้อมูลจากรูปถ่าย ข้อมูลจากโปรไฟล์ และการเลือกคู่ของผู้ชายเหล่านี้เพื่อฝึกระบบของพวกเขาให้ค้นหาคู่แบบแอคทีฟ พูดอีกอย่างหนึ่งคือไม่ต้องรอให้อีกฝ่ายหนึ่งเลื่อนขวาเพื่อตอบรับความสนใจ แต่เป็นการหาคู่ที่น่าจะ “ไปกันได้” สิ่งที่เขาต้องการทำคือการใช้ข้อมูลทุกอย่างที่มีเพื่อหาแนะนำคนที่ใช่สำหรับทุกๆคนที่เป็นสมาชิก
และถ้ามันทำงานได้ดี Tantan จะได้รับประโยชน์จากตรงนี้อย่างมาก เพราะถึงแม้ว่าจำนวนผู้ใช้งานจะทำให้มีโอกาสในการพบเจออีกฝ่ายหนึ่งมากกว่า (อย่าง Facebook ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเจอคนที่ใช่ ผู้ใช้งานหลายคนไม่ได้เฉพาะเจาะจงที่จะใช้แอพพลิเคชั่นเพียงอันเดียว ถ้าเข้าไปอยู่ตรงไหนแล้วเจอคนที่น่าสนใจอยู่เสมอ ก็อาจจะเลิกใช้อันอื่นๆไปเลยก็ได้ (แถมยังบอกเพื่อนๆด้วย)
การจับเอาสิ่งที่เข้าใจยากและเป็นส่วนที่สำคัญของชีวิตคนๆหนึ่งอย่าง “ความรัก” มายัดใส่คอมพิวเตอร์ให้คำนวณด้วยตัวเลขและข้อมูลต่างๆอาจจะเป็นเรื่องที่งี่เง่า แน่นอนว่ามันก็มีข้อจำกัดของตัวเอง แต่หลายๆครั้งสิ่งที่ดูยุ่งเหยิงในสายตาของมนุษย์ก็ถูกจัดการได้ด้วยคอมพิวเตอร์และข้อมูล ขั้นตอนคือหาข้อมูลและวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นให้ออกมาเป็นผลลัพธ์ที่ลูกค้าพอใจ ซึ่งเป็นส่วนที่บริการเหล่านี้ต้องพัฒนาให้เป็นสูตรลับเฉพาะของตัวเอง อาจจะเป็นลิสต์หนังที่ชอบใน Netflix เพลงที่ฟังบน Spotify อาจจะเป็นกีฬาที่ชอบ กิจกรรมที่ทำ บ้านเกิด ฯลฯ
ไม่ว่าข้อมูลที่จะนำไปสู่ปลายทางนั้นจะเป็นอะไร สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “ความรัก” ที่เกิดขึ้นระหว่างคนสองคนนั้นยังคงดำเนินต่อไป การพบกันยังคงเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้นและหนทางของพวกเขานั้นยังคงอีกยาวไกลเต็มไปด้วยความท้าทายอีกมากมาย แต่การที่อินเตอร์เน็ตทำให้หนทางที่ทั้งสองคนมาเจอกันนั้นง่ายขึ้นอีกนิด ก็คงไม่ได้เป็นเรื่องที่เลวร้ายอะไร