ชีวิตใหม่
มีเพื่อนผมคนหนึ่งที่บ้านฐานะค่อนข้างดี ครอบครัวพร้อมทุกอย่าง แต่งงานกับผู้หญิงที่รักมาแล้วเกือบ 10 ปี ขาดอย่างเดียวคือทายาทสืบสกุล ซึ่งครั้งแรกที่เขาบอกผมว่ากำลังพยายามอยู่นั้นไม่ได้มีความกังวลใดๆแฝงอยู่ในน้ำเสียงอันหนักแน่น แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆแล้วก็ยังไม่มีท่าทีว่าเจ้าตัวน้อยจะมาซะที ต้องไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุของความแห้งแล้งของผลผลิต ผลที่ออกมาทุกอย่างกลับดูเป็นปกติ น้องๆสเปิร์มก็ปริมาณมากมาย ไข่ของผู้หญิงเองก็ไม่มีอะไรผิดปกติ เมื่อการแพทย์ไม่มีทางออก ตอนนี้ก็เริ่มหันไปเดินทางบนบานศาลกล่าววัดนู้นบ้างหลวงพ่อนี้บ้าง ล่าสุดเห็นเพิ่งบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปฮ่องกงเพื่อลูบท้องพระสังกัจจายน์กันแล้ว
ปัญหามีบุตรยากสำหรับบางคนเป็นเรื่องที่ชวนปวดหัวไม่พอยังปวดใจแถมมาด้วยอีกต่างหาก แต่ตอนนี้เทคนิคใหม่ที่สร้างมดลูกและตัวอ่อนของคนจากเซลล์ผิวหนังกำลังจะเข้ามาปฏิวัติระบบการสืบพันธ์ุและอาจจะเป็นทางออกให้กับปัญหาการมีบุตรยาก คนที่เป็นหมัน หรือแม้แต่กลุ่มคนที่เพศสภาพเป็นอุปสรรคในการมีบุตรในกลุ่ม LGBT ด้วยอีกต่างหาก
ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นอย่างไม่ตั้งใจ YUE SHAO นักวิศวกรรมชีวเวช (bioengineer) ของ MIT ไม่ได้ต้องการสร้างตัวอ่อนมนุษย์ในตอนแรก แต่เมื่อไม่กี่ปีก่อนระหว่างที่กำลังทำงานในห้องแลปของมหาวิทยาลัย University of Michigan เขาได้พบเห็นบางอย่างที่น่าเหลือเชื่อ เซลล์ที่เขากำลังทดลองอยู่ในเวลานั้นมีความคล้ายคลึงกับตัวอ่อนของมนุษย์เป็นอย่างมาก เขาบอกว่า
“ตอนนั้นเรากำลังมองหาอย่างอื่น แต่จังหวะนั้นก็เหมือนโชคเข้าข้าง”
ไอเดียของการสร้างชีวิตขึ้นมาใหม่โดยวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อ แต่งานของ Shao ก็ไม่ได้เป็นการค้นพบครั้งแรกในเรื่องนี้ หนึ่งปีก่อนที่เขาจะตีพิมพ์ผลงานในปี 2017 กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ในประเทศญี่ปุ่นได้ให้กำเนิดลูกหนูที่เกิดขึ้นมาจากไข่ที่สร้างมาจากเซลล์ผิวหนังของหนูตัวเต็มวัยได้สำเร็จแล้ว
การค้นพบใหม่
การค้นพบแบบนี้ได้นำพาเราเข้าใกล้การแก้ไขปัญการมีบุตรยากโดยธรรมชาติ ที่บางครั้งหาทางออกด้วยวิธีการแพทย์หรือยาไม่ได้ (เหมือนของเพื่อนผมคนนั้น) เพราะฉะนั้นการสร้างช่วงวินาทีเริ่มต้นของชีวิตในห้องแลปเหมือนเป็นการเปิดกล่องความรู้ใหม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในช่วงเวลาเริ่มแรก ซึ่งถ้าพ่อแม่คนไหนเคยผ่านประสบการณ์การตั้งครรภ์มาแล้วจะรู้ดีว่ามันเป็นจังหวะที่ละเอียดอ่อนและเปราะบาง ซึ่งตามสถิติจากวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาเผยว่ากว่า 80% ของการแท้ง (Miscarriage) เกิดในช่วงไตรมาสแรก โดย 50-75 เปอร์เซ็นต์แท้งในช่วงก่อนที่ประจำเดือนจะหยุดไปหรือยังไม่ทันที่จะรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ด้วยซ้ำ การเรียนรู้เกี่ยวกับการตัวอ่อนทารกในช่วงเวลาที่ต้องดูแลเป็นพิเศษจะช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้นและลดอัตราการแท้งลงได้เช่นกัน
ผ่านมา 40 ปีหลังจากการกำเนิดเด็กหลอดแก้วคนแรกของโลก ศักยภาพของการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ที่ให้กำเนิดเด็กด้วยเทคนิคใหม่นี้จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงวัฏจักรของชีวิตทั้งหมด มันจะทำให้เรากลับมาตั้งคำถามอีกครั้งถึงความหมายของการสืบพันธ์ุและการให้กำเนิดชีวิต เพราะแน่นอนว่ามันมีหลายอย่างที่ต้องใคร่ครวญ ลองคิดดูว่าการสร้างเด็กขึ้นมาด้วยเซลล์ผิวหนังของใครสักคนหนึ่ง เต็มใจหรือไม่เต็มใจ การสร้างชีวิตมนุษย์ขึ้นมาอย่างง่ายดายแบบนี้เราต้องตัดสินใจกันให้ดีว่าต้องการทำมันจริงๆรึเปล่า?
นับเป็นจำนวนเด็กหลอดแก้วกว่า 7 ล้านคนทั่วโลกที่ถือกำเนิดบนโลกนี้ โดยในพื้นที่ยุโรป อเมริกาและออสเตรเลียคิดเป็นตัวเลขกว่า 1.5% ซึ่งเทรนด์ของการใช้เทคโนโลยีเด็กหลอดแก้วก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากภาวะมีบุตรยากที่มีอยู่ตามธรรมชาติแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นในชีวิตปัจจุบันที่ทำให้คนยุคนี้เลือกที่จะมีบุตรช้า ทั้งหน้าที่การงานและวิถีการดำเนินชีวิต เพราะฉะนั้นการให้กำเนิดเด็กด้วยไข่และสเปิร์มนอกร่างกายไม่ใช่เรื่องที่แปลกประหลาดอีกต่อไป แต่ปัญหาคือมันคาดเดาผลไม่ได้มากเท่าที่ต้องการ มีเรื่องที่เราไม่รู้มากมายเช่นทำไมตัวอ่อนบางตัวไม่ฝังตัวหลังจากการนำกลับไปไว้ในมดลูก เหตุผลที่ทำให้ตัวอ่อนบางตัวเติบโตและบางตัวตายไป และแน่นอนว่าสิ่งที่ขาดไม่ได้คือสเปิร์มและไข่ที่มีคุณภาพจากพ่อและแม่
ความท้าทาย
การทดลองที่ท้าทายและใกล้เคียงของ SHAO มากที่สุดน่าจะเป็นการสร้างสเปิร์มและไข่จากเซลล์ของร่างกาย โดยทีมวิจัยของ Mitinori Saitou จากมหาวิทยาลัย Kyoto University ในญี่ปุ่นได้ทดลองนำเซลล์ผิวหนังของหนูโตเต็มวัยแล้วมาเข้ากระบวนการที่เรียกว่า “reprogramming” หรือการทำให้เซลล์กลับมาอยู่ในสถานะที่ยังไม่มีหน้าที่เฉพาะ (dedifferentiation) อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเจ้าเซลล์ตัวนี้ก็สามารถเติบโตและพัฒนากลายเป็นเซลล์ชนิดไหนก็ได้ โดยในปี 2016 ทีมของพวกเขารายงานว่าได้ทดลองผสมพันธ์ุไข่ที่สร้างด้วยเซลล์ผิวหนังกับสเปิร์มจากหนูธรรมดา หลังจากนั้นก็นำตัวอ่อนนั้นใส่ไปยังหนูตัวเมียอีกตัวหนึ่ง ผลที่ได้คือลูกหนูที่ดูสุขภาพแข็งแรงออกมาแปดตัว หลังจากนั้นอีกหนึ่งปี พวกเขาร่วมมือกับทีมนักทดลองจาก Crick Institute ในลอนดอน พวกเขาทำแบบเดียวกันแต่ใช้สเปิร์มที่ทำขึ้นในห้องแลปแทน การทดลองนี้มีโอกาสที่จะทำให้ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้วนั้นไม่ยุ่งยากเหมือนแต่ก่อนและเป็นข่าวดีสำหรับผู้หญิงที่กำลังป่วยและไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้ ความเป็นไปได้ของการใข้เทคโนโลยีนี้มากมายนับไม่ถ้วน
แต่ความสำเร็จในหนูทดลองก็เป็นเพียงก้าวเล็กๆของถนนที่ยังยาวไกล เพราะมนุษย์มีความซับซ้อนมากกว่า แถมมีประเด็นเรื่องศีลธรรมความถูกต้องรวมถึงความปลอดภัยต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย สิ่งที่ยังเป็นคำถามที่เหล่านักวิจัยยังตอบไม่ได้คือ “ขั้นตอน” หรือ “สูตร” ในการสร้างสเปิร์มหรือไข่จากเซลล์เริ่มต้นว่ามันต้องทำยังไงบ้าง ถ้าให้ลองนึกภาพง่ายๆว่าเซลล์หนึ่งสามารถที่จะพัฒนาเป็นอะไรก็ได้โดยผ่านขบวนการทางเคมี แบ่งแยก เติบโต และจำเพาะเจาะจงเมื่อชีวิตหนึ่งถือกำเนิดขึ้น (เป็นหัวใจ สมอง มือ แขน ฯลฯ) นักชีววิทยาจึงต้องทำความเข้าใจทุกขั้นตอนและคิดค้นสูตรในการที่เซลล์หนึ่งจะพัฒนาเป็นสเปิร์มและไข่ที่สมบูรณ์แบบ และหลังจากนั้นก็ทำการทดลองซ้ำๆในห้องแล็บเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง โดยในตอนนี้หลายฝ่ายเชื่อว่าอีก 15-20 ปีเราจะสามารถไปถึงจุดนั้นได้
มีสัญญาณแห่งความก้าวหน้าอันหนึ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา Evelyn Telfer และทีมของเธอที่มหาวิทยาลัย University of Edinburgh ได้ทำการเพาะเลี้ยงไข่ของมนุษย์ในห้องแลปจากสเต็มเซลล์หลายประเภทจากรังไข่ Telfer คาดหวังว่าจะใช้เทคนิคนี้เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงที่เป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพราะขั้นตอนการรักษานั้นมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงที่ทำให้ไม่สามารถมีบุตรได้ ซึ่งไอเดียของ Telfer คือการตัดชิ้นส่วนของรังไข่ออกมาก่อนขั้นตอนการรักษาเนื้อร้าย แล้วหลังจากนั้นก็เก็บไว้เพื่อสร้างไข่ของผู้หญิงคนนั้นในภายหลังเมื่อถึงเวลาจำเป็น เทคนิคนี้อาจจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการสร้างเด็กหลอดแก้วยุคต่อไป โดยในอนาคตผู้หญิงคนหนึ่งเข้าผ่าตัดเพียงครั้งเดียวเพื่อเก็บชิ้นเนื้อของรังไข่ แทนที่จะรอเก็บไข่ในช่วงเวลานั้นของเดือนโดยไม่รู้ว่าต้องทำกี่ครั้งถึงจะสำเร็จ
แต่อีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจคือ เราอาจจะไม่ต้องใช้ทั้งไข่หรือสเปิร์มเลยก็ได้ เมื่อปีก่อนทีมนักวิจัยที่นำโดย Magdalena Zernicka-Goetz ที่มหาวิทยาลัย University of Cambridge สามารถทำให้สเต็มเซลล์ของหนูสองชนิดให้มีรูปร่างและพฤติกรรมที่คล้ายกับตัวอ่อนของหนูระยะเริ่มแรกหลังจากผ่านไป 3-4 วัน จากการสังเกตุคร่าวๆมันมีความคล้ายคลึงกันอย่างน่าเหลือเชื่อ หลังจากนั้นอีก 5 เดือน กลุ่มของ Shao ก็ตีพิมพ์ผลงานของพวกเขาในการสร้าง “embryoids” ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับตัวอ่อนของมนุษย์ที่สร้างเริ่มต้นด้วยสเต็มเซลล์เพียงอย่างเดียว
ในทั้งสองกรณี แรงขับในการทำการทดลองคือต้องการสร้างความเข้าใจถึงช่วงเวลาเริ่มต้นของตัวอ่อนมนุษย์ เหตุผลแรกคือมันเป็นเรื่องที่ยากและอันตรายในการทำการทดลองในร่างกายของมนุษย์โดยตรง โดยเฉพาะหลังจากที่ตัวอ่อนฝังตัวกับมดลูกและเริ่มต้นจัดเรียงเซลล์เป็นชั้นๆ โดย Shao เองคาดหวังว่า embryoids ของเขาจะถูกนำมาใช้เป็นมาตรฐานในการคัดกรองยาและสารพิษในสิ่งแวดล้อมว่าสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวอ่อนในครรภ์รึเปล่า โดยทั้งสองทีมไม่ได้พยายามสร้างตัวอ่อนของเด็กที่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้
แถมไม่พอ หลังจาก 4-5 วันผ่านไป เจ้าสิ่งที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายตัวอ่อนมนุษย์นั้นมันเหมือนกับตัวอ่อนมนุษย์ที่มีอายุประมาณ 2 อาทิตย์แล้ว ซึ่งหมายความว่าเจ้าสิ่งที่คล้ายตัวอ่อนนี้ได้ข้ามช่วงเวลาแรกๆของการพัฒนาตัวอ่อนมาแล้ว และได้ผ่านช่วงเวลาที่การฝังตัวจะเกิดขึ้นได้เรียบร้อย
เพราะฉะนั้นโอกาสเดียวในการมีชีวิตต่อของ embryoids ที่ถูกสร้างในห้องแลปนั้นต้องอยู่ข้างนอกมดลูก จนถึงเมื่อไม่นานมานี้ความเป็นไปได้นั้นแทบเป็น 0 เพราะไม่มีใครที่ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนมนุษย์ในจานทดลองผ่านช่วงเวลาก่อนการฝังตัวได้สำเร็จมาก่อน แต่เมื่อสองปีก่อนมีทีมนักทดลองอีกทีมนำโดย Zernicka-Goetz กับ Ali Brivanlou นักวิทยาศาสตร์เพาะเลี้ยงตัวอ่อนที่มหาวิทยาลัย Rockefeller University ที่นิวยอร์กได้อธิบายถึงหนทางที่จะทำให้ตัวอ่อนของมนุษย์นั้นมีชีวิตอยู่ได้ถึงสองอาทิตย์หลังจากปฏิสนธิแล้ว และพวกเขาอาจจะทำได้นานกว่านั้นถ้าไม่ใช่เพราะ {“กฎ 14-วัน”} (fn) ที่เป็นกฎหมายบังคับที่เป็นที่ยอมรับกันในหลายประเทศที่มีการวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับตัวอ่อนของมนุษย์
ข้อจำกัดทางกฎหมาย
เหตุผลที่ตัวเลขจำนวนวันถูกวางไว้แบบนั้นเพราะว่ามันเป็นช่วงเวลาที่มีการพัฒนาของเซลล์ที่จะกลายมาเป็นกระดูกสันหลังและเส้นประสาท (primitive streak) และมันเป็นช่วงที่ตัวอ่อนไม่สามารถแยกออกมาเป็นฝาแฝดได้อีกแล้ว มันจึงกลายเป็นจุดตัดที่ยึดถือโดยส่วนใหญ่ว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ชีวิตได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
และด้วยกฎหมายข้อบังคับและรายละเอียดเหล่านั้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนตอนนี้ต้องถกเถียงกันว่าควรใช้มันยังไงในเคสของ Shao และการทดลองวิจัยในลักษณะแบบนี้ และกฎหมายที่มีอยู่มันครอบคลุมและควรบังคับใช้ในกรณีแบบนี้จริงๆเหรอ?
โดยเมื่อปีที่แล้วทีมของ John Aach และ George Church นักพันธุศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแพทย์ Harvard ได้ให้ชื่อเรียกแก่ตัวอ่อนเหล่านี้ว่า “synthetic human entities with embryo-like features” หรือ “SHEEFs” และเรียกร้องให้มีการประชุมระหว่างประเทศเกี่ยวกับคำถามด้านจริยธรรม/ศีลธรรมสำหรับสิ่งที่พวกเขากำลังสร้างขึ้นมา
นักชีวจริยธรรม Sarah Chan จากมหาวิทยาลัย University of Edinburgh ชี้ว่าตัวอ่อนสังเคราะห์ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยสเต็มเซลล์นั้นไม่ได้มีเส้นขีดที่ชัดเจนว่าเริ่มต้นวันแรกเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้นกฎหมาย “14-วัน” ก็ไม่มีความหมายในกรณีแบบนี้ อีกอย่างหนึ่งคือ SHEEFs นั้นไม่ได้พัฒนาตัวเองเหมือนกับตัวอ่อนในธรรมชาติ ในที่นี้หมายถึงว่ามันไม่ได้เติบโตในระดับเดียวกันทุกขั้นตอน มันจึงสมควรได้รับการพิจรณาเกี่ยวกับเรื่องศีลธรรมในแบบของมันเองไม่เหมือนกับในตัวอ่อนมนุษย์ตามธรรมชาติ
แม้ว่ากฎหมายข้อบังคับยังเป็นสิ่งที่คลุมเครือไม่ชัดเจนเกี่ยวกับระยะเวลาที่สามารถเลี้ยง embryoids ในห้องแลปได้ นักวิจัยอีกด้านหนึ่งก็ยังต้องต่อสู้กับอีกปัญหาที่ท้าทายไม่แพ้กันในเส้นทางของวงจรการเจริญพันธุ์ ทำยังไงถึงจะเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของเด็กที่คลอดก่อนกำหนดได้มากขึ้น มันเป็นเรื่องที่ท้าทายและค่อนข้างลำบากเพราะเทคโนโลยีไม่สามารถช่วยเหลือชีวิตเด็กที่คลอดมาก่อน 22 สัปดาห์ได้ แต่ในปีที่แล้ว Alan Flake ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดทารกในครรภ์และทีมของเขาได้อธิบายถึงสิ่งประดิษฐ์ที่คล้ายกับ “มดลูกเทียม” ที่มีรูปร่างคล้ายกับถุงที่มีของเหลวอยู่ด้านในเรียกว่า “Biobag” ที่สามารถรักษาชีวิตของลูกแกะที่เกิดมามีขนาดของปอดเทียบเท่ากับเด็กอายุ 23-24 สัปดาห์ได้สำเร็จ ซึ่งเทคโนโลยีแบบเดียวกันนี้จะเป็นตัวช่วยให้เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนดให้สามารถมีชีวิตอยู่ต่อได้จนกระทั่งโตพอสามารถใช้เครื่องช่วยหายได้ในเวลาต่อมา ซึ่งลูกแกะที่เติบโตในมดลูเทียมนั้นก็มีการพัฒนาตามปกติ ขนาดของปอดก็เติบโตขึ้นและสมองของมันก็มีขนาดปกติดี ซึ่งการทดลองในมนุษย์นั้นยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีและเป็นกรณีที่ทางเลือกอื่นไม่มีจริงๆและเด็กทารกคนนั้นมีโอกาสรอดน้อยกว่า 20%
ระบบคล้ายกับมดลูกเทียมนี้จะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญสำหรับชีวิตของตัวอ่อนของเด็กที่ถูกสร้างขึ้นมาในห้องแลป เพราะหลังจากที่เคยต้องอาศัยการฝังตัวกับในมดลูก ตัวอ่อนเหล่านี้ก็สามารถเติบโตได้โดยตั้งแต่ต้นจนจบนอกร่างกายของผู้เป็นแม่ได้ ซึ่งเทคโนโลยีเล็กๆเหล่านี้เมื่อเอามารวมกันจะกลายเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์การให้กำเนิดมนุษย์ในยุคต่อไป มันอาจจะกลายเป็นหนทางหลักที่เด็กถือกำเนิดขึ้นมาในอีกร้อยปีข้างหน้าก็เป็นไปได้
ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้ยังเป็นสิ่งที่ใหม่และคนไม่ค่อยเห็นด้วย มันอาจจะกลายเป็นปัญหาและสร้างผลกระทบในสังคมอย่างคาดไม่ถึง มีการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ไปในทางที่ไม่ถูกต้องอย่างเช่นการสร้างเด็กทารกจากเซลล์ของใครสักคนหนึ่ง โดยคนคนนั้นไม่ได้รู้เห็นหรือยินยอมตั้งแต่แรก อาจจะเป็นคนดังเซเลปดาราที่มีคนชื่นชอบ ซึ่งตรงนี้อาจจะนำไปสู่การซื้อขายสเต็มเซลล์ในตลาดมืดได้ด้วยเช่นเดียวกัน
แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อปี 1978 ที่เด็กหลอดแก้วคนแรกถือกำเนิดขึ้นบนโลกใบนี้ มีเสียงต่อต้านมากมายว่ามันผิดต่อกฎของธรรมชาติ อันตราย และแน่นอนว่าผิดศีลธรรมที่ยอมรับไม่ได้ ผ่านมาถึงตรงนี้ตัวเลขเด็กที่เกิดด้วยวิธีการเดียวกันมีประมาณ 7 ล้านคนทั่วโลก มันกลายเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทุกวันแม้ว่าจะยังมีการถกเถียงกันในกลุ่มของผู้นับถือศาสนาบางกลุ่ม และการยอมรับแบบเดียวกันนี้อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กที่ปฎิสนธิและเติบโตในห้องแลปในอนาคตก็เป็นได้
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราควรคิดที่จะทำให้การให้กำเนิดเด็กที่เริ่มจาก 0 จนโตในห้องแลปให้สำเร็จคือเป็นแผนป้องกันสำหรับอนาคต เผื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่างการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันของสิ่งแวดล้อมที่อยู่จนทำให้การสืบพันธ์ุแบบดั้งเดิมนั้นไม่มีประสิทธิภาพ (ถ้าใครเคยดู Children of Men หรือ The Handmaid’s Tale จะพอนึกภาพตรงนี้ออก) ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจริงๆการมีทางเลือกในการสร้างเด็กในห้องแลปจากเซลล์ผิวหนังถือว่าเป็นทางออกที่เราน่าจะยินดีใช้ด้วยซ้ำ
เทคโนโลยีนี้จะเป็นผลดีกับกลุ่มคนที่มีบุตรยาก มีโรคร้ายแรงที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมและแน่นอนกลุ่มเพศทางเลือกทุกคนอีกด้วย มีหลายฝ่ายออกมาทั้งต่อต้านและสนับสนุน มีการถกเถียงกันต่างๆนานา ซึ่งไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม การทดลองและวิจัยเพื่อพัฒนาให้ไปถึงจุดนั้นก็กำลังดำเนินต่อไปเรื่อยๆอย่างไม่หยุดยั้ง สุดท้ายแล้วเราจะเห็นเด็กที่เกิดในห้องแลปโดยไม่ใช้ไข่และสเปิร์มรึเปล่า? ถ้าให้เดาผมว่ามีโอกาสสูง แต่ด้วยเหตุผลอะไรนั้นคงต้องรอดูเมื่อเวลานั้นมาถึงแล้วจริงๆ