ความน่ากลัวของความเจ็บปวดที่คุ้นเคย : ทำไมแม้อยากลาออกมากแค่ไหน แต่ก็ยังไม่มีแรงมากพอที่จะก้าวออกมาอยู่ดี
บทสนทนาระหว่างเพื่อนกับผมเมื่อวันก่อน
“ทำงานที่นี่ต่อไปกูต้องตายแน่ ๆ เลย” เพื่อนคนหนึ่งทักไลน์มาเมื่อวันก่อน
“อืมมม…งานหนักเหรอ” ผมตอบไป
“ก็นั่นแหละเบื่อหัวหน้า เบื่องาน อะไรก็ไม่รู้เยอะแยะตลอดเวลา แทบไม่มีเวลาพัก” เพื่อนเริ่มบ่นต่อ
“ลองย้ายแผนกไหม น่าจะโอเคมั้งมึง”
“ก็ไม่รู้จะย้ายไปไหนเหมือนกัน แผนกอื่นก็ดูไม่ค่อยดีเลย”
“งั้นก็อยู่ไปก่อนเดี๋ยวก็ดีขึ้นแหละ”
“แต่ก็เหนื่อยมากไง อยากเทแล้ว”
“งั้นก็จัดไป เทเลยมึง”
“แต่ตอนนี้ออกก็ไม่ได้ไง งานเพียบเลย”
“โอ๊ยยยย ไหนบอกว่าอยู่ก็ตายแน่ ๆ ยังไงหล่ะ….”
[…]
เชื่อว่าหลายคนคงเคยอยู่ในบทสนทนาแบบนี้ไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง ถ้าไม่ใช่ฝั่งบ่น ก็จะเป็นฝั่งรับฟัง เราเห็นเพื่อนบ่น ก็รู้สึกว่าทำไมถึงยังอยู่ แต่พอถึงตาตัวเองก็ไม่ต่างกันสักเท่าไหร่ เหนื่อย เบื่อ ท้อ แต่ก็ไม่ไปไหน เหมือนโลกจะแตกแต่ก็ไม่มีแรงที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่
การจะเลิกบางอย่างต้องใช้แรงขนาดนั้นเลยเหรอ? บางทีเราอาจสงสัย
![](https://sopons.com/wp-content/uploads/2022/09/Sopons-Blog-Featured-Image-1-3-1024x576.png)
ไม่ใช่ว่าอยากหยุดก็พอ ตัดสินใจเลิกไม่ทำแล้วไม่ใช่เหรอ? อยากทิ้งที่ทำงานที่เป็นเหมือนนรกตรงนี้ไปให้พ้น ๆ แต่ก็ไม่ยอมทำสักที บ่นให้เพื่อนฟัง ตอนแรก ๆ ก็ปลอบโอ๋กันไป นานเข้าก็เริ่มรู้สึกรำคาญว่าทำไมไม่ออก ๆ ไปซะให้มันจบ ๆ
แต่อยากให้ลองนึกภาพว่ามีคนคนหนึ่งตื่นขึ้นมาถูกตบหัวที่เดิมมาตลอดหลายปี ทุกวันก็จะเป็นแบบนี้ โดนตบหัว โดนตบหัว ไม่รู้ด้วยว่าทำไมถึงโดนตบ แต่โดนตบไปทุกวันนั่นแหละ ตอนแรกตกใจ โกรธ ไม่พอใจ แต่ทำอะไรไม่ได้ อีกวันหนึ่งมาโดนอีกละ แต่นานเข้า ๆ จากความเจ็บปวดที่ถูกตีทุกวันที่เดิม ๆ มันเริ่มชินครับ ชินกับความเจ็บปวด ฟังดูเศร้าใช่ไหมครับ แต่นี่คือเรื่องจริง เราชินกับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ แบบคาดเดาได้ ก็รู้แหละไม่พอใจ แต่ก็เดาได้ว่ามันก็เจ็บประมาณนี้แหละ ไม่ได้มากกว่านี้
นี่คือสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเจ็บปวดที่คุ้นเคย’ ซึ่งมันอันตรายมากเลยหล่ะครับ ยอมจำนนต่อชีวิตทางจิตวิทยาเรียกลักษณะอาการเช่นนี้ว่า “Learned Helplessness”
ในปี 1960 มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้ทำการทดลองเพื่อศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ (ซึ่งในตอนนี้น่าจะทำไม่ได้แล้วเพราะเรื่องกฎหมาย) แบ่งหมาออกเป็นสามกลุ่ม
- หมากลุ่มแรกถูกจับใส่ปลอกคอไว้เฉยๆ เมื่อเวลาผ่านไปชั่วขณะหนึ่ง ผู้วิจัยจะถอดปลอกคอออกแล้วปล่อยพวกมันให้เป็นอิสระอีกครั้ง
- หมากลุ่มที่สองแม้ว่าจะถูกจับใส่ปลอกคอเหมือนกัน แต่พวกมันจะถูกช็อตด้วยไฟฟ้า หนทางเดียวที่จะหยุดไฟฟ้าไม่ให้ช็อตต่อไปคือต้องเอาเท้าไปกดคาน
- หมากลุ่มที่สามน่าเห็นใจที่สุด เพราะมันถูกจับใส่ปลอกคอและโดนไฟฟ้าช็อตตลอดเวลา ที่สำคัญคือไม่มีทางที่จะหยุดกระแสไฟฟ้าได้ ไม่ว่าจะพยายามดิ้น สะบัดตัว หรือกระโดด ก็ไม่มีประโยชน์ พวกมันยังคงโดนช็อตต่อไป
เมื่อการทดลองขั้นแรกจบ ผู้วิจัยสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในหมากลุ่มที่สาม พวกมันดูเซื่องซึมลงอย่างเห็นได้ชัด ผิดกับหมาสองกลุ่มแรกที่ยังดูปกติตามเดิม
![](https://sopons.com/wp-content/uploads/2022/09/Sopons-Blog-Featured-Image-4-1024x576.png)
ผู้วิจัยนำหมาทั้งหมดกลับมาทดลองอีกครั้ง หมาแต่ละตัวจะถูกจับใส่กล่องที่แบ่งพื้นที่เป็นสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งปล่อยกระแสไฟฟ้าให้ช็อตได้ อีกฝั่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยตรงกลางมีที่กั้นเตี้ยมากที่จะให้หมาทุกตัวกระโดดข้ามไปได้
จากนั้นจะเปิดหลอดไฟกะพริบแสงเพื่อส่งสัญญาณให้หมารู้ล่วงหน้าก่อนปล่อยไฟฟ้าลงบนพื้นของฝั่งที่มีหมาอยู่ เปิดไฟกะพริบ ปล่อยไฟฟ้าช็อต วนไป ต้องการวางเงื่อนไขให้หมาเข้าใจว่ามันจะมีแสงปุ๊บ ไฟช็อต ทำแบบนี้เพื่อสังเกตดูพฤติกรรมและการตอบสนองของหมาแต่ละกลุ่มจากการทดลองในขั้นแรก
ผลปรากฏว่า หมากลุ่มแรกและกลุ่มสองพอไฟช็อตก็รีบกระโดดไปอีกฝั่ง แต่หมากลุ่มที่สาม แม้ว่ากระแสไฟฟ้าจะทำให้รู้สึกเจ็บปวด พวกมันกลับด้านชาไม่กระตือรือร้นที่จะกระโดดข้ามไปอีกฝั่งเลย นอนแน่นิ่งให้ไฟช็อตต่อไปเรื่อยๆ ไร้ซึ่งความหวังที่จะพาตัวเองให้รอดพ้นจากสถานการณ์อันเลวร้าย เพราะประสบการณ์จากการเป็นฝ่ายถูกกระทำทำให้มันเรียนรู้ว่าชีวิตคงอับจนปัญญาและไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว จึงเลือกที่จะไม่ทำอะไรเลยแม้กำลังเจ็บปวดอยู่
นี่คือความน่ากลัวของความเจ็บปวดที่คุ้นเคย ชาชินกับความเจ็บปวดที่เจอทุกวี่วัน ไร้ซึ่งความหวังหรือเรี่ยวแรงที่จะพาตัวเองออกจากสถานการณ์อันเลวร้าย เรามองจากข้างนอกเห็นที่กั้นเตี้ย ๆ เพียงแค่ยื่นใบลาออกทุกอย่างก็จบแล้ว แต่ทำไมคนที่อยู่ตรงนั้นไม่ทำ ทีนี้เราเริ่มเข้าใจแล้วว่าไม่ใช่เพราะไม่อยากทำ เพียงแต่การถูกกระทำจนชินชาทำให้หมดความหวังกับทางเลือกใหม่ต่างหาก คิดว่า ดิ้นไปก็เท่านั้น เจ็บเท่านี้พอทนได้ก็ทนไปเถอะ นอนให้ถูกช็อตต่อไปเรื่อย ๆ
ถึงตอนนี้ใครกำลังทนกับอะไรอยู่ขอให้หายใจลึก ๆ แล้วรวบรวมแรงฮึดสักครั้ง สิ่งที่กั้นขวางระหว่างความเจ็บปวดที่คุณต้องเผชิญทุกวัน กับพื้นที่ปลอดภัยอาจเป็นเพียงที่กั้นต่ำ ๆ ที่คุณไม่กล้าข้ามมาตลอดก็ได้ อย่าปล่อยให้ความเจ็บปวดที่คุ้นเคยกลืนกินชีวิตจนมันไร้ความหมายอีกเลย
(เดี๋ยวครั้งหน้าจะเขียนเกี่ยวกับ Learned Optimism ที่เป็นแนวคิดขั้วตรงข้ามและเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology))
======
https://www.medicalnewstoday.com/articles/325355
https://ppc.sas.upenn.edu/sites/default/files/learnedhelplessness.pdf