15 คำตอบเคล็ดลับสัมภาษณ์งาน : เมื่อเจอคำถามตอบยาก คำตอบเหล่านี้อาจช่วยคุณให้หลุดออกมาได้
ช่วงที่ผ่านมาถือว่าเศรฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเยอะมาก ธุรกิจหลายแห่งทั้งจ้างงานเพิ่มในอุตสาหกรรมที่กำลังฟื้นตัว ธุรกิจอีกหลายแห่งก็ปลดพนักงานเพราะช่วงที่ผ่านมามีการจ้างงานมากเกินไปและอุตสาหกรรมก็เริ่มชะลอ
ไม่ว่ายังไงสิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนว่าทุกคนต้องเผชิญเวลาหางานใหม่คือการไปสัมภาษณ์งาน และบางครั้งก็เจอคำถามที่ ‘ตอบยาก’ จะเรียกว่าเป็น ‘Trick Questions’ หรือคำถามที่ใช้วัดหลักแนวคิดหรือแสดงตัวตนของตัวเองออกมา (ไม่ใช่คำถามเชิงความรู้ที่ต้องทราบเกี่ยวกับตำแหน่งนั้น ๆ) อย่างเช่นยกตัวอย่าง ‘มีคำถามอะไรให้กับทางเราไหม?’ หรือ ‘คุณเป็นหัวหน้าแบบไหน?’ ฯลฯ พวกนี้ถือว่าเป็นคำถามเชิงเปิดให้พูดคุยเพื่อให้อีกฝั่งหนึ่งรู้จักเรามากขึ้น และเราก็รู้จักเขามากขึ้นด้วย
มีโพสต์หนึ่งบนเว็บไซต์ BuzzFeed ที่เอาคำตอบจากคนที่เคยผ่านคำถามประมาณนี้มารวบรวมเอาไว้ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์เลยทีเดียว
- เมื่อเจอถามว่า “มีคำถามอะไรให้กับทางเราไหม?” การตอบคำถามนี้ให้ดีเป็นเรื่องสำคัญมาก อย่าไปตอบว่า “อ๋อ ไม่มีครับ” เลยเพราะมันดูเหมือนว่างเปล่าเกินไป ลองตอบ “อะไรคือปัญหาที่บริษัท/ทีมกำลังเผชิญอยู่ และอะไรคือสิ่งที่ผมทำได้ถ้าเกิดต้องเริ่มงานพรุ่งนี้?” มันแสดงให้เห็นว่าคุณพร้อมจะลุยแล้ว พรุ่งนี้ก็ได้ และอีกอย่างคือคุณจะได้รู้ด้วยว่าคุณกำลังจะถูกจ้างให้ไปทำอะไรและนั่นเป็นสิ่งที่คุณโอเคกับมันรึเปล่า
- “คุณเป็นหัวหน้าแบบไหน?” ลองตอบแบบนี้ครับว่า “ยืดหยุ่น แล้วแต่คนที่ทำงานด้วยและสถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ตอนนั้น” พร้อมกับให้ตัวอย่างที่ชัดเจนถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้น คุณยืดหยุ่นยังไงและปรับตัวยังไงให้เข้ากับสถานการณ์และคนที่ทำงานด้วย
- “ลองอธิบายตัวคุณใน X คำ” อันนี้ให้คิดถึงคำสั้น ๆ ที่อธิบายตัวคุณไว้ในหัวครับ ไม่ต้องยาว เช่น “ชอบเรียนรู้” “แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี” “ยืดหยุ่น” “ขี้สงสัย” “มั่นคงทางอารมณ์” “รับผิดชอบ” ฯลฯ แล้วถ้าเขาให้ยกตัวอย่างก็ยกตัวอย่างที่ชัดเจนถึงคำ ๆ นั้นด้วย
- “อะไรคือสิ่งที่คุณมักมีปัญหาในที่ทำงาน?” เมื่อเจอคำถามเชิงนี้ให้พยายามใส่ความ positive หรือเรื่องบวกเข้าไปด้วย มนุษย์ไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่สิ่งที่เขาอยากเห็นคือวิธีแก้ไขปัญหามากกว่า ยกตัวอย่างเช่น “บางทีผมรับงานมาเยอะเกินไปแล้วก็กลายเป็นหงุดหงิดกับตัวเองและเพื่อนร่วมงานด้วย ทางแก้ตรงนี้ผมก็พยายามโฟกัสไปที่การจัดการเรื่องเวลาให้ดีมากขึ้นและมีส่วนร่วมกับเพื่อนร่วมงานให้ดีมากขึ้น”
- คำถามที่คุณควรลองถามทุกครั้งก่อนจบสัมภาษณ์งานคือ “ถ้าทางบริษัทไม่เลือกที่จะจ้างผมวันนี้กับตำแหน่งนี้ เหตุผลคืออะไรเหรอครับ?” คำถามนี้จะทำให้คนที่มาสัมภาษณ์งานตกใจนิดหน่อย แต่คุณจะได้เรียนรู้ถึงเหตุผลที่คุณไม่ได้งาน ซึ่งจะช่วยทำให้การสัมภาษณ์ครั้งต่อไปดีขึ้นได้
- บางครั้งความซื่อสัตย์เป็นสิ่งที่บริษัทกำลังตามหา อาจจะตอบแบบตรง ๆ ไปเลยเมื่อถูกถามว่า “ทำไมถึงอยากได้งานนี้?” ก็บอกไปเลยว่า “ผมเพิ่งจบใหม่/ตกงาน/บริษัทปิดตัวเพราะธุรกิจไปไม่รอด ผมเป็นคนตั้งใจทำงานและทำงานได้ดี ตรงเวลาไม่เคยสายและรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองได้เสมอ” ไม่มีอะไรแฟนซีครับ แต่เปิดอกบอกไปเลย บางทีมันก็ใช้ได้เหมือนกัน
- “มีคำถามเกี่ยวกับตำแหน่งนี้ไหม?” คำถามนี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับเราเลยครับ ลองถามว่า “คนที่ทำงานตำแหน่งนี้ตอนนี้และในอดีตบอกว่าความท้าทายและสิ่งที่ได้รับจากงานตรงนี้มีอะไรบ้างครับ?” ซึ่งเราจะได้เห็นว่าจุดอ่อนจุดแข็งของงานมันอยู่ตรงไหน บางทีเราอาจจะเลือกไม่ทำงานนี้ก็ได้
- “จุดอ่อนของคุณคืออะไร?” อย่าเพิ่งรีบตอบว่า “จุดอ่อนของผมคือ…” ให้พลิกประโยคนิดหน่อย “ผมกำลังพยายามพัฒนาด้าน…” หรือ “สิ่งที่ผมต้องเรียนรู้เพิ่มคือ…” จะทำให้เห็นว่าคุณพร้อมจะพัฒนาต่อไปจากนี้
- ก่อนจะจบการสัมภาษณ์ให้ลองถาม “เป้าหมายของทางบริษัทกับตำแหน่งนี้ในอีก 30/60/90 วันข้างหน้าคืออะไร?” ซึ่งจะช่วยให้เราเตรียมตัวรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ดีมากขึ้น
- “เห็นตัวเองตรงไหนในอีก 5 ปีข้างหน้า?” ตอบเลยครับว่า “ทำงานตรงนี้ให้ดีที่สุด” แม้จะไม่จริงก็ตาม ตอบไปเถอะถ้าอยากได้งาน คือบริษัทก็ไม่อยากลงทุนกับคนที่บอกว่า “อ๋อ เดี๋ยวปีหน้าคิดว่าจะย้ายไปอยู่ต่างประเทศเพื่อหาโอกาสในการทำงานที่ดีขึ้น” หรอกครับ แม้ว่ามันจะซื่อสัตย์ก็ตาม
- ถ้าเจอคำถามเชิง “จุดอ่อน” ของคุณคืออะไร ให้ลองค้นหาสิ่งที่เราทำแล้วงานออกมาดี แม้จะต้องใช้เวลามากหน่อยก็ตาม อย่างเช่น “ผมมักหาข้อมูลเยอะมาก ๆ เช่นมีงานหนึ่งที่ผมอ่านหนังสือ 6 เล่มแล้วก็ติดต่อนักเขียนเพื่อหาข้อมูลเพิ่มด้วย” หรือ “ผมเป็นคนที่มีความรับผิดชอบบางทีก็เกินไป บางทีเห็นเพื่อนร่วมงานเหนื่อย ๆ ก็จะพยายามไปช่วยอยู่เสมอ”
- “ต้องการได้เงินเดือนเท่าไหร่?” ที่จริงคำถามนี้ตอบยากเหมือนกัน อาจจะหยั่งเชิงกลับไปว่า “ผมยังไม่แน่ใจเรื่องของความรับผิดชอบทั้งหมดของงาน ทางบริษัทตั้งงบไว้เท่าไหร่ครับ?” หลังจากนั้นก็ค่อยต่อรองถ้าอยู่ในขอบเขตที่เรารับได้และเป็นงานที่อยากทำ
- “ช่องว่างในเรซูเม่ตอนปี… ถึงปี… เกิดอะไรขึ้น?” ซึ่งตรงนี้ถ้าคุณไม่อยากตอบเพราะเป็นเรื่องส่วนตัว เช่นคุณเครียดจนต้องหยุดงาน มีเรื่องครอบครัว ความสัมพันธ์ที่แตกร้าว ภาวะซึมเศร้า หรืออะไรก็ตามที่ไม่อยากตอบ ก็บอกว่า “ต้องหยุดงานไปดูแลคนในครอบครัวที่ป่วย” ก็ได้ครับ ซึ่งจะไม่มีคำถามต่อจากนั้นและช่วยบ่ายเบี่ยงที่จะต้องตอบเรื่องที่เราไม่อยากตอบด้วย
- ลองถามคนที่สัมภาษณ์เราครับว่า “สิ่งที่คุณชอบมากที่สุดในการทำงานที่บริษัทนี้คืออะไร?” จะทำให้เห็นภาพเลยว่าคุณอยากจะเข้ามาทำงานรึเปล่า ถ้าคนที่ถามยังตอบไม่ได้ อ้ำ ๆ อึ้ง ๆ ก็เป็นสัญญาณเตือนที่ดี
- เมื่อการสัมภาษณ์จบลงอย่าลืมขอบคุณสำหรับโอกาสและการได้รู้จักกัน และแน่นอนพอกลับถึงบ้าน เขียนอีเมลขอบคุณอีกครั้ง อาจจะเน้นย้ำเรื่องในการสัมภาษณ์ว่ารู้สึกสนุกกับการได้คุยกัน งานนี้เหมาะกับคุณยังไง หรือรู้สึกว่าตำแหน่งนี้จะช่วยให้คุณพัฒนาไปทางด้านไหนต่อไปได้ ฯลฯ แม้สุดท้ายจะได้หรือไม่ได้งาน แต่เป็นการจบที่สวยงามและทำให้เห็นว่าคุณไม่ได้มองว่าบริษัทที่สัมภาษณ์งานเป็นแค่ตัวเลขเงินในบัญชีเท่านั้น
ลองเอาไปปรับใช้กันดูครับเผื่อมีประโยชน์ ซึ่งสำหรับผมแล้วก็เคยใช้มาบ้างบางอัน เคยอยู่ทั้งฝั่งสัมภาษณ์และฝั่งคนสมัครงาน เชื่อว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความจริงใจ ความพร้อมที่จะเรียนรู้ในหน้าที่การงานและความรับผิดชอบ สำหรับคนที่กำลังหางานอยู่ก็ขอให้ทุกคนโชคดีและได้งานที่ตั้งใจไว้ครับ