ในตอนนี้แลปท็อปของ Apple (ไม่ว่าจะเป็นตระกูล Air หรือ Pro) ถือว่าเป็นสินค้าที่บ่งบอกว่าพวกเขานั้นเป็นหนึ่งในผู้นำด้านนี้ไปแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งตัวดีไซน์ ขุมพลังด้านใน และเทคโนโลยีต่างๆที่ใส่เข้ามา ล้วนทำให้ผู้ใช้งานมากมายชื่นชอบสินค้าตัวนี้ของพวกเขา แต่ใครจะรู้บ้างว่าก่อนจะมาถึงจุดนี้ไม่ได้เป็นเรื่องง่ายเลย
วันที่ 20 กันยายน ในปี 1989, Apple ได้เปิดตัวคอมพิวเตอร์ตัวใหม่ชื่อว่า “The Macintosh Portable” มันเป็น mac เครื่องแรกที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ เป้าหมายของพวกเขาก็คือการสร้าง mac ที่สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้ มีขุมกำลังเท่ากับตัวตั้งโต๊ะ ใช้งานง่าย และคุ้นเคย
Jean-Louis Gassée (Apple Product Chief 1981-1990) กล่าวในวันที่ยืนบนเวที
มันไม่ได้เป็นสัญญาปากเปล่าที่ Apple ทำไม่ได้, ที่จริงแล้ว Mac Portable นั้นค่อนข้างดีเลยทีเดียว คิดดูว่าเมื่อสามสิบปีก่อนการเห็นฟีเจอร์หน้าจอขนาด 9.8 นิ้ว (ที่ใหญ่กว่า Mac แบบคลาสสิคตั้งโต๊ะอีก) ขาว-ดำ active-matrix LCD (อ่านเพิ่มเติม) แต่มันทำให้เป็นหน้าจอที่แสดงข้อมูลให้อ่านได้ง่ายในสมัยนั้น แม้จะไม่ได้เป็น backlit ก็ตามที แถมไม่พอยังมีแบตเตอรี่ที่อึดทน (พวกเขาใช้ lead-acid battery) ประมาณว่า 10 ชั่วโมงต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ทั้งๆที่สแตนดาร์ดในตอนนั้นอยู่ที่ราวๆ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น
พอร์ทต่างๆครบครัน คีย์บอร์ดแบบเต็มรูปแบบ สามารถใส่ trackball ได้ทั้งด้านซ้ายและด้านขวาของคีย์บอร์ด (พวกเขาคิดถึงผู้ใช้งานที่ถนัดซ้ายด้วย) และมาพร้อมกับเคสสำหรับหิ้วไปมาและสายสะพายพาดไหล่อีกด้วย
ถึงแม้ว่าชื่อของมันจะบอกว่าเป็น Mac Portable ก็จริงอยู่ แต่…มันไม่ได้ Portable เหมือนกับชื่อสักเท่าไหร่ มันอาจจะพอ “ยก” ไปไหนมาไหนได้ซะมากกว่า ด้วยน้ำหนักตัวเปล่าๆที่ 6.23 กิโลกรัม และถ้ารวมฮาร์ดไดร์ฟเข้าไปด้วยก็จะอยู่ที่ 7.14 กิโลกรัม (แบกกันหลังแอ่นเลยหล่ะครับ) และราคาก็ระยับพอสมควร $5,800 (ซึ่งถ้าเทียบเป็นมูลค่าเงินสมัยนั้นบวกอัตราเงินเฟ้อมาจนถึงตอนนี้ก็ตกอยู่ราวๆ $12,000 หรือประมาณ 384,000 บาท ของมูลค่าเงินในปัจจุบัน [https://www.saving.org/inflation/])
Mac Portable ไม่ได้รับการตอบสนองที่ดีจากเหล่าแฟนๆสักเท่าไหร่ มันสินค้าตัวหนึ่งที่พบกับความล้มเหลวภายในเวลาเพียงสองปี แต่มันกลับเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่า Apple เรียนรู้ว่าอะไรข้อผิดพลาดหลายๆอย่างที่พวกเขาได้ทำลงไป และมีอะไรบ้างที่พวกเขาควรจะหลีกเลี่ยงในอนาคต
อย่างแรกคือเรื่องของน้ำหนัก ย้อนกลับไปในช่วงปี 1989 ตอนนั้น NEC ได้เปิดตัว UltraLine ประมาณหนึ่งปีก่อนหน้า Mac Portable ซึ่งมีน้ำหนักเพียงแค่ 1.8 กิโลกรัมเท่านั้น (แต่ราคาก็สูงมากเช่นกัน) แม้แต่ John Sculley, CEO ของ Apple ในเวลานั้น, ยังบอกเลยว่า
รีวิวและบทความต่างๆที่เขียนถึง Mac Portable ต่างก็มุ่งไปในทิศทางเดียวกันเกี่ยวกับเรื่องน้ำหนักและราคา แม้หลายๆแห่งจะพยายามบิดให้มันออกมาด้านบวกอย่างของ Macworld ก็เขียนว่า “แน่นอนว่ามันไม่ได้ล้มเหลวซะทีเดียว ในทางตรงกันข้าม ถ้าเรามองในมุมของเป้าหมายดีไซน์ – สร้าง Macintosh ที่เคลื่อนที่ได้และใช้พลังงานแบตเตอรี่ – ก็เรียกว่าสำเร็จได้อย่างเต็มปาก” ทางด้าน Los Angeles Times แม้จะไม่ค่อยอยากจะเรียกว่ามันเป็นแลปท็อปสักเท่าไหร่ แต่ก็ตบท้ายว่ามัน “ใช้งานได้ดีมาก”
เมสเสสทางการตลาดของ Apple เองก็เน้นชูประเด็นว่า Mac Portable เป็นเครื่อง Mac มากกว่าที่มันจะเป็นแล็ปทอปสำหรับพกพาไปไหนมาไหนได้ ถ้าลองดูโฆษณาของ Apple ที่พยายามโฟกัสไปที่การใช้งานที่สะดวกสำหรับคนทั่วไป มากกว่า PCs ที่ตอนนั้นใช้ระบบ DOS โดยให้ผู้ชายชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งที่กำลังงุ่นง่ายไม่เข้าใจว่า PCs ของเขาทำงานยังไง เดินไปขอความช่วยเหลือจากผู้หญิงอีกคนที่กำลังใช้ Mac Portrable (แต่เธอเอามันวางบนโต๊ะนะไม่ได้วางบนตัก วางบนตักเข่าอาจจะทรุดได้) โดยทั้งคู่ก็ยอมรับแหละว่าไม่ได้เก่งเรื่องคอมพิวเตอร์ (เฮ้ย….มัน 30 ปีมาแล้วเข้าใจได้หน่า) สิ่งที่โฆษณานั้นอยากจะสื่อก็คือว่าคุณควรเลือก Mac Portable มากกว่าสำหรับมือใหม่ที่ไม่รู้อะไรเลย
แต่เพียงปีต่อมา (1990) ก็เริ่มมีสัญญาณบ่งบอกแล้วว่าสิ่งต่างๆไม่ได้เดินไปตามแผนที่ Apple วางเอาไว้ อย่างแรกเลยก็คือการตัดราคาลดลงจาก 5,800 เหลือ $5,499 และต่อมาก็เป็นโฆษณาที่เริ่มเบนเข็มให้ Mac Portable กลายเป็นอุปกรณ์ที่นำกลับจากออฟฟิศมาทำงานต่อที่บ้านในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์หรือว่าหิ้วไปหิ้วมาในออฟฟิศ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่ได้ดึงดูดอะไรมากนักสำหรับลูกค้าที่อยากจะนำ Mac ของพวกเขาเดินทางไปไหนต่อไหนด้วย
สำนักข่าว San Francisco Chronicle รายงานว่าหนึ่งในร้านที่ขายสินค้าของ Apple บอกกับพวกเขาว่า “เราอยากจะได้ Mac ที่สามารถใช้เมื่อไปไหนมาไหนได้ แต่เครื่องนี้มันหนักเกินไป ขายได้ไม่เยอะเท่าไหร่ และก็ไม่มีใครถามถึงมันเลย” จากข้อมูลของบริษัทวิเคราะห์ข้อมูล Dataquest บอกว่า Apple ขายตัว Mac Portable ได้ประมาณ 8000 – 10000 เครื่องในช่วงไตรมาสแรก และหลังจากนั้นก็ขายได้เดือนละประมาณ 1000 เครื่องเท่านั้น
ช่วงต้นปี 1991, มีการอัพเกรดขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง ให้มี backlit screen ที่สามารถอ่านได้ในที่แสงน้อย และตัดราคาลงไปอีก มันต่อชีวิตไปได้อีกนิดหน่อยแต่สุดท้ายในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน Apple ก็ตัดสินใจถอดปลั๊ก Mac Portable ออกจากตลาด
แต่แทนที่พวกเขาจะหยุดแค่นั้น…Apple กลับประกาศแล็ปทอปสามตัวใหม่ของ Mac ชื่อว่า PowerBook 100, 400 และ 170 ซึ่งไม่ได้เจริญรอยตามรุ่นพี่ที่ต้องทำงานได้เต็มประสิทธิภาพเหมือน Mac แบบตั้งโต๊ะแล้ว เจ้า PowerBooks ทั้งสามตัวนั้นไม่ได้สมบูรณ์แบบแต่ว่ามันจะทำให้ผู้ใช้งานหิ้วไปใช้งานที่ไหนก็ได้แบบจริงๆเสียที รีวิวใน MacWorld บอกว่า
และราคาเริ่มต้นประมาณ $2500 (ยังแพงอยู่แต่ก็ถือว่าเอื้อมถึงได้มากกว่า)
แน่นอนว่ามันได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี หลังจากนั้น Apple ก็พยายามอัพเดท PowerBook ของตัวเองด้วยอัพเดทใหม่ๆ ปรับโมเดล เพิ่มเทคโนโลยีต่าง จนสามารถครองใจผู้ใช้งานได้เป็นจำนวนมาก PowerBook ถือเป็นความสำเร็จที่ช่วยปรับพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งานจากแบบตั้งโต๊ะมาเป็นแล็ปทอปได้อย่างมากในช่วงปลายยุค 90’s ถึงต้นยุค 00’s (พวกเขาเปลี่ยนชื่อ PowerBook ไปเป็น MacBook ในช่วงปี 2006)
Apple ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าถนนเส้นนี้จะไม่ได้ราบเรียบและสะดุดขาตัวเองล้มตั้งแต่ก้าวแรกตอนที่เปิดตัว Mac Portable แต่ความพอมองจากจุดนี้กลับไปทำให้เห็นเลยว่าความผิดพลาดครั้งนั้นไม่ได้สำคัญอะไรมากเลย เรื่องราวของ Mac Portable นั้นเป็นอะไรที่น่าสนใจ เพราะว่ามันเป็นสินค้าที่ถูกสร้างและออกแบบมาได้ตรงกับเป้าหมายของผู้สร้างอย่างแท้จริง เพียงแต่ว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ตลาดต้องการ
บทเรียนสำคัญที่ Apple เรียนรู้ก็คือ ไม่ว่าสินค้าจะดีขนาดไหน ถ้าลูกค้าไม่ซื้อเพราะเขาต้องการอย่างอื่น สุดท้ายมันก็จบอยู่ดี