3 บทเรียนชีวิตที่ได้รู้ในวัยใกล้เลขสี่ที่อยากกลับไปบอกตัวเองในวัยยี่สิบ
เมื่อคุณแก่ตัวขึ้นจะรู้ว่ามันไม่มีประโยชน์ที่จะวิ่งหนีปัญหาอะไรสักอย่างหนึ่ง
เพราะไม่ใช่ปัญหาหรอกที่คอยไล่ตามหลอกหลอนคุณไปทุกที่และบางทีตัวคุณเองนั่นแหละคือปัญหาที่ควรถูกแก้ไข
ไม่มีทางเลยที่จะหลบซ่อนจากบาดแผลภายในที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา ความเจ็บปวดจะติดตัวคุณไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหันไปเผชิญหน้ากับมันอย่างแท้จริง
หลาย ๆ บทเรียนเป็นเหมือนยาขม แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเกิดขึ้นเพื่อให้ชีวิตเดินไปข้างหน้า คนที่แบกปัญหาเอาไว้สุดท้ายแล้วมันจะกลับมาทำร้ายตัวเองเสมอ การปลดตัวเองให้เป็นอิสระจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเติบโตและเดินต่อไปข้างหน้า
บทเรียนเหล่านี้เป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้ในวัยเข้าใกล้เลขสี่ ซึ่งถ้ารู้ตั้งแต่ตอนอายุยี่สิบหรือก่อนหน้านี้สักสิบปีมันคงมีประโยชน์มากกว่านี้ (แต่ตอนนี้ก็ยังไม่สายหรอก) เพราะฉะนั้นเลยอยากมาแชร์ไว้ตรงนี้เผื่อว่าจะมีประโยชน์กับคนอื่น ๆ
- อายุไม่ได้ทำให้สิ่งที่คุณคิดหรือทำถูกต้องเสมอ
โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มันเคยหมุนช้ากว่านี้ ใช้เวลาหลายร้อยปีกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนแปลงโลก แต่ตอนนี้ระยะเวลามันสั้นลงกว่านั้นมาก ลองดูอย่างอินเตอร์เน็ตหรือสมาร์ทโฟนก็ได้ ภายในเวลาแค่ไม่กี่ทศวรรษโลกได้เปลี่ยนไปไกลมากขนาดไหนแล้ว ความเชื่อ แนวคิด การเมือง การทำงาน หรือแม้แต่ความแน่นอนในชีวิต ทุกอย่างล้วนเปลี่ยนไปจากเมื่อยี่สิบสามสิบปีก่อนทั้งสิ้น
ยกตัวอย่างง่าย ๆ ความเชื่อเรื่องการทำงาน ย้อนไปแค่สองทศวรรษก่อนหรือยุคพ่อแม่เราก็ได้ การได้งานในบริษัทใหญ่อันมั่นคงและตั้งใจทำงานไปจนเกษียณอายุคือเรื่องที่นับว่าประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว การได้เรียนจบมาทำงานสายการแพทย์ถือว่าเป็นเรื่องเชิดหน้าชูตาให้กับวงศ์ตระกูล แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว ไม่ได้หมายความว่าการทำงานสายแพทย์ไม่ได้มีคุณค่านะครับ เพียงแต่ตอนนี้คนรุ่นใหม่เริ่มมองว่าทุกอาชีพล้วนมีคุณค่าด้วยกันทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นคุณค่าของคนจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับอาชีพที่ทำอีกต่อไป เด็กรุ่นใหม่ ๆ ส่วนใหญ่ทำงานที่หนึ่งไม่กี่ปี สักพักย้ายงานใหม่ กลายเป็นเรื่องปกติ
ใบปริญญาไม่ได้การันตีความสำเร็จในชีวิตอีกต่อไป งานที่ทำไม่จำเป็นต้องตรงสายที่จบมา อาชีพการงานไม่มีคำว่าแน่นอน เพราะฉะนั้นความเชื่อจากเมื่อก่อนจะเปลี่ยนไวขึ้น อย่ายึดติดกับความคิดเดิม ๆ สิ่งที่เคยคิดว่าถูกอาจจะไม่จริงแล้วก็ได้ บทเรียนหนึ่งที่ถ้าบอกตัวเองเมื่อสิบปีก่อนได้ก็จะบอกว่าให้ทำตามสัญชาติญาณให้มากขึ้น เพราะเมื่อเวลาผ่านไปเราจะรู้ว่าคำแนะนำจากอดีตนั้นอาจจะใช้ไม่ได้แล้วในตอนนี้
- เมื่อรู้สึกว่าฉลาดและรู้ทุกอย่างแล้ว ต้องรีบออกมาจากจุดนั้นให้เร็วที่สุด
อย่างที่บอกว่าโลกในปัจจุบันหมุนและเปลี่ยนแปลงเร็วมาก มีอะไรให้เรียนรู้ได้ทุกวัน ข่าวสารมากมายเต็มไปหมด และถ้าเราอยากประสบความสำเร็จ อยากก้าวหน้าในสิ่งที่ทำก็ต้องพยายามพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกว่าตัวเองฉลาดกว่าคนอื่น ๆ นั่นคือสัญญาณอันตรายแล้วหล่ะครับ แสดงว่าคุณกำลังเดินหน้าเข้าสู่โหมด ‘หลงตัวเอง’ ที่ไม่อยากพัฒนาอีกต่อไป ปิดหูปิดตาและได้แต่พ่นสิ่งที่คุณเชื่อหรือรู้ออกไปให้คนอื่น ๆ
ถ้ากลับไปสอนตัวเองได้จะบอกให้ ‘ถ่อมตัว’ อยู่เสมอ ไม่ได้หมายถึงการด่าว่าตัวเองโง่หรือไม่ได้เรื่องนะครับ แต่หมายถึงการ ‘เปิดใจ’ เสมอ เปิดใจว่าสิ่งที่คุณเชื่อนั้นอาจจะไม่ถูกต้องก็ได้ เปิดใจว่าสิ่งที่คุณคิดว่ารู้ อาจมีอะไรใหม่ ๆ ที่คุณยังไม่รู้ก็ได้ อย่ายึดติดกับชุดความคิดเดิม ยิ่งคุณเป็นผู้รู้หรือยิ่งประสบการณ์เยอะ มักจะมีแนวโน้มไม่อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ พร้อมที่จะเชื่อแบบปิดตาข้างหนึ่งแล้วหา Confirmation Bias หรือ Design Ability Bias จนเกิดอาการต่อต้านการค้นหาความจริง
Adam Grant ผู้เขียนหนังสือ Think Again กล่าวเอาไว้ว่า
- ชีวิตไม่เคยเรียบง่าย และนั่นคือทางที่จะทำให้คุณเติบโต
Ryan Holidays นักเขียนที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งเคยกล่าวว่า
สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้เมื่อแก่ตัวขึ้นคือ เราเติบโตจากความยากลำบาก จากการเผชิญหน้ากับปัญหาแล้วเอาชนะก้าวผ่านมันมาได้ เราไม่เคยเติบโตจากการอยู่เฉย ๆ ทำไมยังทำงานที่เดิมหล่ะ? เพราะมันท้าทาย ทำให้เราได้เติบโต หรือแค่เพราะมันง่ายดี?
เราอาจจะมีคู่แข่งในใจ (เขาอาจจะไม่จำเป็นต้องรู้) ที่เรารู้สึกว่าอยากเก่งให้ได้แบบนั้นบ้าง บางคนอาจจะเรียกว่าไอดอลหรือเป้าหมายอะไรก็ตาม เราอยากทำงานให้ออกมาให้ได้อย่างเขา ตั้งเป้าเอาไว้แล้วคอยพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อย ๆ
ถ้าย้อนกลับไปบอกตัวเองได้จะบอกว่า มันเป็นเรื่องปกติที่จะเจอปัญหาแล้วท้อ มัน ‘โอเค’ ด้วยถ้าจะเหนื่อย แต่อย่ายอมแพ้ เพราะอุปสรรคคือหนทางเดียวที่จะทำให้เติบโต