4 อย่างในชีวิตที่เสียเวลาที่สุด : นอกจากจะเสียเวลาแล้ว ยังเสียพลังชีวิตไปด้วยอีกต่างหาก
เราทุกคนล้วนทราบดีว่า ‘เวลา’ เป็นสิ่งที่มีค่าและหาซื้อไม่เติมไม่ได้ จึงไม่แปลกใจที่เรามีหนังสือหรือบทความมากมายเกี่ยวกับเคล็ดลับการทำงานและใช้ชีวิตเพื่อให้ใช้เวลาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุด
แต่ก็มีหลายครั้งที่ผมมองย้อนกลับไปในชีวิตตัวเองแล้วรู้สึกว่าชีวิตบางช่วงก็ ‘เสียเวลา’ ไปกับบางอย่างที่ไม่ควรเสียเวลา เราไม่ได้พูดถึงการไถทวีตเตอร์ หรือนั่งดูเน็ตฟลิกซ์นะครับ พวกนั้นบางครั้งก็เสียเวลาจริง แต่มันมาจากนิสัยแย่ ๆ ที่ต้องแก้ไขมากกว่า
‘การเสียเวลา’ ที่จะพูดถึงเป็นเรื่องของการตัดสินใจและระบบความคิดมากกว่า ที่ทำให้มองย้อนกลับไปแล้วรู้สึกว่าไม่น่าไปเสียเวลาตรงนั้นเลย
1. ไม่ขอคำแนะนำหรือความช่วยเหลือเมื่อไม่รู้
ตอนที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยปีหนึ่ง ด้วยความที่เป็นเด็กนักเรียนต่างชาติและสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษยังไม่ค่อยเก่งสักเท่าไหร่ จึงค่อนข้างประหม่าเวลาต้องคุยกับคนอื่น ๆ โดยเฉพาะกับอาจารย์ กลัวถูกมองว่า ‘โง่’ ประมาณนั้น
ครั้งหนึ่งในคาบวิชาฟิสิกส์ อาจารย์ให้การบ้านมาซึ่งมันเป็นบทที่ผมสับสนมากบทหนึ่งเลย ครูให้ไปเขียนรายงานอะไรสักอย่าง จำได้เลยว่าหลังจากเดินออกห้องเรียนมาก็หน้าเสียเพราะไม่เข้าใจทั้งบทเรียน ทั้งงานที่ต้องทำส่ง แต่ก็เงียบไม่ยอมบอกใคร
กลับบ้านไปก็พยายามอ่าน พยายามค้นข้อมูลนะ แต่ก็ทำไม่ได้ เหมือนมันเหวอไปแล้ว ทำตัวไม่ถูก วันต่อมาพอครูเรียกให้เอาใบงานมาส่งที่หน้าชั้น (ครูให้เดินมาวางกันเอง ซึ่งผมก็ไม่ได้เดิน) แล้วครูก็เริ่มสอนบทต่อไป ตอนนี้ก็ยิ่งงงเพิ่มเข้าไปอีก คิดจะดรอปเรียนแล้วด้วยซ้ำเพราะรู้สึกว่าไม่ทันเพื่อน
พอจบคาบเรียนระหว่างที่กำลังเก็บของเดินออกจากห้องอาจารย์ก็เดินมาถามว่าทำไมผมไม่ส่งงานหล่ะ เพราะเช็คชื่อจากกองงานแล้วไม่เจอ ผมก็อ้ำ ๆ อึ้ง ๆ สักพักแล้วก็บอกว่า ‘ผมไม่ค่อยเข้าใจบทที่ผ่านมาเลยครับ เลยทำไม่ได้’
คำหนึ่งของอาจารย์ที่ผมจำติดหัวเลยคือ
โอ้โหว มันเจ็บ แต่จริงมาก ๆ เลยหล่ะครับ
หลังจากนั้นครูก็เดินพาผมไปเจอติวเตอร์ฟิสิกส์ที่เป็นเด็กต่างชาติเหมือนกันคนหนึ่งแล้วบอกว่ามีอะไรให้ถามคนนี้เขาเรียนคลาสนี้มาก่อนและน่าจะสอนได้ดี หลังจากนั้นทุกเย็นผมก็ไปเรียนเสริม กล้าถามมากขึ้น เวลาไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้แล้วก็หาคนที่รู้มาสอน ไม่ค่อยกลัวหน้าเสียอีกต่อไป เพราะไม่อยากรู้สึกโง่ไปกว่าเดิมเพราะไม่ได้ถาม
2. พยายามแก้ไขความสัมพันธ์อันย่ำแย่
ความสัมพันธ์ทุกความสัมพันธ์ต้องใช้ความพยายาม ความอดทน และความเข้าใจ นี่คือเรื่องจริง ไม่ว่าความสัมพันธ์นั้นจะดีแค่ไหนก็ตาม แต่มันมีความแตกต่างอยู่ครับระหว่างความสัมพันธ์ที่ดี กับ ความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ และการพยายามแก้ไขหรือบังคับให้ความสัมพันธ์แย่ ๆ ให้กลายเป็นดีได้นั้น…เสียเวลามากจริง ๆ
ยกตัวอย่างง่าย ๆ ความสัมพันธ์ของผมกับแฟนช่วงชีวิตมหาวิทยาลัย เราคบกันสี่ปี ทุกอย่างค่อนข้างราบเรียบไม่ได้มีอะไร เพราะต่างคนก็ต่างเรียนเพื่อจะจบไปหางานทำ แต่เรื่องมาเกิดตอนหลังจากเรียนจบ เพราะเธอต้องกลับบ้านที่ญี่ปุ่นเพราะอยากทำงานที่นั่น ส่วนผมอยากหางานทำที่อเมริกา ก็ตกลงกันว่าจะคบกันแบบ long distance หรือความสัมพันธ์แบบระยะยาว พอผมได้กรีนการ์ดเธอก็ค่อยย้ายกลับมา ประมาณนั้น
ช่วงหนึ่งปีต่อมาถือว่าชีวิตผมค่อนข้างมืดมนพอสมควร เนื่องจากอยู่ห่างกันคนละช่วงเวลา กลางวันของผม คือกลางคืนของเขา การติดต่อพูดคุยกันก็ติด ๆ ขัด ๆ เธอได้งานที่บริษัทแห่งหนึ่งซึ่งวัฒนธรรมญี่ปุ่นก็จะมีการไปดื่ม ไปกินเหล้ากันหลังจากทำงานเสร็จเป็นประจำ ส่วนผมก็จะต้องตื่นเช้ามาโทรหาคอยตามว่าเธอถึงบ้านรึยัง ตอนแรก ๆ ก็รับสาย หลัง ๆ มาเริ่มรับบ้างไม่รับบ้าง จู่ ๆ เธอก็บอกว่าเธอไปมีอะไรกับผู้ชายอีกคน และเธอก็บอกว่าเราควรจบกันแค่นี้ เธอก็บอกว่าเธอไม่รู้จะรักษาสัญญาได้ไหมว่าจะไม่มีคนใหม่ ซึ่งผมก็พยายามยื้อครับ (อ่าาา….ช่วงวัยเยาว์อันแสนเขลาของตัวเอง)
สุดท้ายก็ยื้อไปได้เดือนสองเดือน…สัมพันธ์อันย่ำแย่มันก็จบอยู่ดี
3. จมจ่ออยู่กับความผิดพลาดและความล้มเหลว
ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไปแล้วในบทความที่พูดถึงหนังสือ ‘The Power of Regret’ บอกว่าการเรียนรู้จากความผิดพลาดเป็นเรื่องที่ดีและควรทำ แต่การจมจ่ออยู่กับมันนั้นเป็นอะไรที่เสียเวลาและพลังชีวิตอย่างมากเลย
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่บ่งบอกว่ายิ่งเราจมจ่ออยู่กับอดีตมากเท่าไหร่ เรายิ่งมีโอกาสที่ทำผิดพลาดแบบเดิมซ้ำอีกรอบ
ซึ่งมันก็มีเหตุผล ลองคิดดูว่าการจมอยู่กับอดีตนั้นทำให้รู้สึกว่าเราล้มเหลว พอล้มเหลว ก็ไม่รู้จะพยายามไปทำไม เมื่อพยายามไปก็ล้มเหลวอยู่ดี (อย่างในกรณีคนที่เป็นหนี้แล้วมีหนี้พอกพูนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก่อหนี้มากขึ้นเพราะรู้สึกว่ายังไงก็หลุดจากตรงนี้ไม่ได้)
แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมองข้ามความผิดพลาดและความล้มเหลวที่เกิดขึ้นนะครับ แต่เป็นการยอมรับว่าพลาด บอกตัวเองว่า ‘ [เติมชื่อตัวเองในนี้] มึงก็มนุษย์คนหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น และมันไม่เป็นไรเว้ย นายจะโอเค ไม่มีใครโทษนายนะ’ แล้วก็ค่อย ๆ ขุดตัวเองออกมาครับ
ความล้มเหลวและผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นมนุษย์ สิ่งสำคัญคือลองทำดู อย่าเสียเวลาไปกับความรู้สึกกลัวว่าจะล้มเหลวด้วย เพราะสุดท้ายแล้วคุณจะเสียดายในสิ่งที่ไม่ได้ลงมือทำมากกว่าสิ่งที่ทำลงไปแล้ว
4. กังวลกับเรื่องของคนอื่นมากเกินไป
มันง่ายมากเลยนะที่จะหลุดไปในวงจรอุบาทถ์ของการติดกับดักความคิด ‘คนอื่นจะคิดยังไงนะ’ ‘ทำไมคนนั้นมีอันนี้’ ‘ทำไมคนนั้นถึงประสบความสำเร็จจัง’ ‘ทำไมคนนั้นชอบนินทาเรา’ ‘ทำไมเราถึงทำไม่ได้เหมือนคนอื่นนะ’ ฯลฯ
อารมณ์เหล่านี้จะไม่ว่าจะเปรียบเทียบ อิจฉา หรือ สนใจคนอื่น ๆ มากเกินไป เป็นเรื่องที่พอกลับมาดูเป็นการเสียเวลาสุด ๆ เลย ความรู้สึกที่ว่าเราทำไมมีไม่เท่าเขา ไม่เก่งเท่าคนอื่น รูปร่างไม่ดีเหมือนคนใน IG หรือไม่รวยเท่าเด็กอายุ 20 ที่ขายของได้วันละล้านสองล้าน ขับรถหรู มีบ้านเป็นห้าหกหลัง คนตามบนโซเชียลเป็นแสนเป็นล้าน ฯลฯ
คือเราเปรียบเทียบได้หมดแหละ และก็ไม่เคยดีพอดีด้วย อารมณ์พวกนี้มันเป็นตัวมารดูดเวลาและทำให้ตัวเองเสียอารมณ์ความรู้สึกมาก ๆ เลย คำแนะนำก็คือการแยกความรู้สึกเหล่านั้นออกมาครับ ลองใช้เทคนิคการถาม ‘ทำไม’ 5 ครั้งก็ได้
เช่น “อยากรวยเหมือนคนนั้นจังเลย”
“ทำไมเราถึงอยากรวย?” “ครอบครัวจะได้อยู่สบาย”
“ทำไมถึงอยากให้ครอบครัวอยู่สบาย?” “จะได้พาลูกเมียไปเที่ยวต่างประเทศได้”
“ทำไมถึงอยากพาลูกเมียไปเที่ยวต่างประเทศ?” “อยากสร้างความทรงจำที่ดี ๆ ด้วยกัน”
“ทำไมถึงอยากสร้างความทรงจำที่ดี ๆ ด้วยกัน?” “เพราะตอนนี้ทำงานหนักไม่ค่อยมีเวลา”
“ทำไมถึงไม่ลองผ่อนงานลงแล้วใช้เวลากับครอบครัวหล่ะ?” “…เออ…”
แน่นอนครับ แต่ละคนก็มีเรื่องหรือมีเหตุผลที่ต่างออกไป ซึ่งสุดท้ายแล้วมันอยู่ที่เราครับเมื่อแตกย่อยออกมาแล้วเราจัดการกับมันยังไง มีอะไรที่เราทำได้บ้างตอนนี้ไหม มีเป้าหมายอะไรที่พอจะทำได้รึเปล่า คือวิธีนี้ไม่ว่ายังไงก็ดีกว่าไปเสียเวลาคิดถึงคนอื่นนั่นแหละ
สุดท้ายครับเรื่องพวกนี้บางทีในขณะที่เราอยู่ในช่วงเวลานั้นเราจะไม่รู้สึกว่ามันเสียเวลาหรอก แต่พอหลุดออกมาได้มองย้อนกลับไปก็จะเห็นครับว่าช่างเป็นช่วงเวลาที่ไม่ค่อยมีประโยชน์กับชีวิตเลย ยิ่งมองเห็นมันเร็ว ก็ยิ่งแก้ได้เร็วครับ ยิ่งมีเวลาไปทำในสิ่งที่มีประโยชน์กับชีวิตและคนที่เรารักมากขึ้นด้วย