“ถ้ามีคนอื่นกระโดดลงจากหน้าผา คุณต้องโดดด้วยไหม?”
นี่คือคำถามที่ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินผ่านหูมาไม่มากก็น้อย ผมจำได้ว่าเตี่ยเคยพูดอะไรแบบนี้ตอนที่ยังเป็นวัยรุ่นช่วงติดเพื่อน มันทำให้ผมฉุกคิดว่าพฤติกรรมของเราไม่ควรเอาไปยึดติดกับคนอื่นๆ ถึงแม้ว่าเราจะรู้สึกว่าสิ่งที่พวกเขาทำในเวลานั้นดู “มีเหตุผล” อะไรบางอย่างก็ตามที
เมื่อเราเห็นความสำเร็จของของเหล่าคนที่ประสบความสำเร็จที่เห็นกันตามสื่อทั่วไป เราก็มักรู้สึกว่านี่อาจจะเป็น ‘กุญแจ’ ไขไปสู่ความร่ำรวยล้นฟ้าเหมือนอย่างพวกเขาก็ได้ แต่ที่จริงแล้วคนเหล่านี้ก็ยังเป็นมนุษย์เหมือนเราทุกคนนั้นแหละ ความคิดของพวกเขามีผิดบ้างถูกบ้างแตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่า Bill Gates ทำแบบนี้ ฉันต้องทำเหมือนกันด้วยอย่างอัตโนมัติ เพราะพฤติกรรมบางอย่างที่เราเห็นก็ควรเป็นแค่ตัวอย่างที่เอาไว้ดูว่าไม่ควรเอาไปเลียนแบบ
Elon Musk : ตารางเวลาสล็อตละ 5 นาที
เจ้าของ Tesla, Neuralink และ SpaceX บุคคลที่ร่ำรวยและทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งแห่งยุคสมัยเราเลยก็ว่าได้ เขาเป็นไอดอลของคนรุ่นใหม่ที่กล้าทำในสิ่งที่ดูเป็นไปไม่ได้ ทุกโปรเจ็คที่เขาจับมักเป็นเรื่องที่ฮือฮาเสมอ แต่ใครจะรู้บ้างว่าในแต่ละวันของเขาตั้งแต่ตื่นนอนเจ็ดโมงเช้า เขาแบ่งเวลาออกเป็นบล็อคแล้วลงตารางว่าจะทำอะไรทุกๆ 5 นาที ([https://www.businessinsider.com/elon-musk-daily-schedule-2017-6])
ฟังดูแล้วรู้สึกว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เราควรเอามาทำตามเลย เพราะถึงแม้ว่าเราเชี่ยวชาญหรือชำนาญในเรื่องนั้นๆมากแค่ไหน มันก็ไม่ได้หมายความว่าเวลาที่เราจัดเตรียมเอาไว้นั้นจะเหมาะสมกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ (เรียกว่า The Planning Fallacy [https://en.wikipedia.org/wiki/Planning_fallacy]) ซึ่งถึงแม้ว่า Musk จะแบ่งย่อยงานออกเป็นบล็อคเวลาเล็กๆแบบนี้ เขาก็ยังต้องทำงานมากกว่า 80-120 ชั่วโมงต่ออาทิตย์อยู่ดี ซึ่งการทำงานหนักแบบนี้ไม่ได้เป็นเครื่องหมายของการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอย่างที่หลายๆคนเข้าใจกันเลย ที่จริงแล้วมันออกจากตรงกันข้ามด้วยซ้ำเพราะมันแสดงให้เห็นว่าทุกอย่างเขาต้องเป็นคนจัดการเองหมดและดูไม่โฟกัสที่ตรงไหนแบบจริงจังสักอย่าง
ในบทความจาก Business Insider บอกว่าช่วงวันเสาร์ที่อยู่กับครอบครัวเขาต้องตอบอีเมลไปด้วย โดยบอกว่าเขา “สามารถที่จะอยู่กับครอบครัวของเขาได้และทำงานไปด้วยในเวลาเดียวกัน”
เราเห็นตัวอย่างกี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้วที่พ่อแม่ทำงานอย่างหนักโดยที่ไม่ได้ใช้เวลากับครอบครัวจนสุดท้ายก็ต้องมาเสียใจทีหลังเพราะมัวแต่กังวลกับสิ่งที่เรียกว่างานนั้นแหละ ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่ควรเอามาเป็นแบบอย่าง เป็นการใช้ชีวิตที่ขาดสมดุลย์และรังแต่จะทำให้เกิดการ burn out ก่อนจะสร้างผลงานอะไรดีๆออกมาได้
สิ่งที่ควรทำก็คือแยกให้ออกว่าอันไหนคือสิ่งที่สำคัญ ที่เราควรต้องทำ งานไหนที่จะผลักเราให้ไปสู่เป้าหมายที่เราวางเอาไว้ได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่งานของเราสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ มีอะไรบ้างที่เราสามารถทำได้น้อยลงและปล่อยวางมากขึ้น ใช้เวลากับคนที่เรารักและสิ่งที่เรารักมากยิ่งขึ้น
Warren Buffett : หลงใหลกับผลิตภัณฑ์ของตัวเองจนเกินพอดี
อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับปู่ Warren Buffett ที่หลายคนอาจจะพอรู้กันอยู่บ้างแล้ว เป็นพฤติกรรมการทานผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่ตัวเองลงทุนอยู่อย่างเกินพอดี คำว่าเกินพอดีในที่นี้คือ เชอรี่โค้ก 5 กระป๋องที่เต็มไปด้วยน้ำตาล และอาหารฟาสต์ฟู้ดที่อุดมไปด้วยโซเดียมของ McDonald’s อย่างน้อยๆสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ซึ่งทั้งสองบริษัทนี้เขาเป็นผู้ถือหุ้นอยู่นั้นแหละ ถึงแม้ว่าตอนนี้เขายังคงทำงานอยู่ทุกๆวันในวัย 88 ปี แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นสิ่งที่ดี เรารู้อยู่แล้วว่าการรับประทานน้ำตาลหรือโซเดียมในระดับที่เกินพอดีนั้นไม่ได้เป็นผลดีต่อร่างกายเรา ข้อยกเว้นอีกอย่างหนึ่งของ Warren Buffett ก็คือว่าเขามีสินทรัพย์และเงินทองมากมายที่สามารถเข้าถึงการแพทย์ระดับที่ดีที่สุดในโลกได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงเลยสำหรับคนทั่วไป
Warren เชื่ออย่างสุดใจในบริษัทที่เขาลงทุนอยู่ แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทเหล่านี้สร้างแต่ผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคทั้งหมด 100% แล้วการที่ Warren ยังสุขภาพโอเคในเวลานี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าสำหรับคนอื่นๆจะได้รับประสบการณ์แบบเดียวกัน ซึ่งเรามักได้ยินคำกล่าวประมาณว่า “don’t get high on your own products” ซึ่งก็เป็นคำกล่าวน่าจะเหมาะกับ Warren Buffett เป็นอย่างมาก
Bill Gates : ทะเลาะกับ cofounder
ภาพของ Bill Gates ที่เรามักเห็นกันตามหน้าข่าวหรือสื่อต่างๆนั้นเป็นภาพของคุณลุงผู้ชายใจดียิ้มแย้มอบอุ่น เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อปรับปรุงการบริหารสุขภาพและลดความยากจนทั่วโลก แต่ช่วงที่ก่อตั้งบริษัท Microsoft นั้นเขามีบุคลิคอีกอย่างหนึ่งเลยที่หลายๆคนอาจจะคิดไม่ถึง
Paul Allen เป็น co-founder ของ Microsoft ที่หลายคนมักลืมคิดถึง เขาได้กล่าวถึงช่วงเวลาที่ทำงานกับ Bill Gates ในอัตชีวประวัติของเขาว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ไม่ได้สวยหรูตลอดเวลา มีหลายครั้งที่ Bill Gates จะต่อว่าเขาต่อหน้าพนักงานของบริษัทเป็นประจำ แย่กว่านั้นเขาได้ยินมาว่า Bill Gates เคยบ่นว่าให้เขาลับหลังว่าไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ทั้งๆที่ตอนนั้นเองเขาก็กำลังต่อสู้กับมะเร็งอยู่ด้วย นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ Paul Allen ตัดสินใจลาออกจากบริษัทในปี 1983 และบอกกับ Bill Gates ว่า “บางวันที่ทำงานกับนายมันเหมือนอยู่ในนรกเลย”
ทั้งคู่นั้นเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก แถม Paul Allen ก็ยังเป็นคนโน้มน้าว Bill Gates ให้ลาออกจากมหาวิทยาลัยมาก่อตั้งบริษัทด้วยกันด้วย เพราะฉะนั้นการทะเลาะเบาะแว้งนั้นเป็นเรื่องที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่าเหตุผลที่ 65% ของบริษัทสตาร์ทอัพล้มเหลวนั้นมาจากการแตกแยกกันของผู้ร่วมก่อตั้ง โชคดีที่บริษัท Microsoft ไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่นั้นอาจจะเป็นเพราะความยอดเยี่ยมของผลิตภัณฑ์พวกเขาด้วยมากกว่า ไม่ใช่สตาร์ทอัพทุกแห่งจะโชคดีแบบนั้น
ความสัมพันธ์ของ co-founders นั้นไม่ควรมีคนใดคนหนึ่งที่เป็นผู้นำและตัดสินใจทุกอย่าง แต่ควรเป็นการแบ่งแยกหน้าที่ให้ชัดเจนตามความชำนาญและดูแลในส่วนที่รับผิดชอบดีกว่า
Steve Jobs : พฤติกรรมการทานอาหารที่เคร่งเกินไป
ทุกคนอยากเป็น Steve Jobs หลายคนยกย่องเขาปานศาสดา หลายคนมักพูดถึงเขาว่าเป็นอัจฉริยะแห่งยุคสมัยใหม่ แต่ว่าคาแรคเตอร์หนึ่งของ Steve Jobs ที่มีการพูดถึงอย่างมากก็คือเรื่องการรับประทานอาหารที่ค่อนข้างเคร่งครัด บางครั้งเขาทานแค่แครอทอย่างเดียวเป็นเวลาหลายอาทิตย์ ถึงแม้ว่าแพทย์จะแนะนำให้เขาทานอาหารให้หลากหลายขึ้นเขาก็ยังยึดติดกับความเชื่อที่อ่านจากหนังสืออายุเป็นร้อยปีระหว่างอยู่มหาวิทยาลัยแล้ว ([https://www.businessinsider.com/steve-jobs-diet-food-extreme-fasting-habits-2019-7])
Steve Jobs เชื่อว่าแนวทางการทานอาหารแบบนี้จะทำให้เขาเข้าสู่ภาวะลื่นไหล (flow state) ได้ง่ายขึ้น แต่อย่างที่เรารู้กันดี คุณหมอหรือพ่อแม่ทุกคนเคยบอกอยู่ตลอดว่าการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่นั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นในการมีสุขภาพที่แข็งแรง เพราะฉะนั้นให้ระวังความเชื่อเรื่องการทานอาหาร รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รักษาสุขภาพตัวเอง ทานอาหารให้ครบและหาเวลาออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจะดีกว่า
Jeff Bezos : แซะพนักงาน
“นายแค่ขี้เกียจหรือแค่ไม่ได้เรื่อง?”
“โทษทีนะ เช้านี้ทานยาที่ทำให้ตัวเองโง่มาเหรอ?”
“ถ้าฉันได้ยินไอเดียนี้อีกครั้ง ฉันจะต้องฆ่าตัวตายอย่างแน่นอน”
ในหนังสือ ”The Everything Store” ของ Brad Stone ที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับ Amazon และวัฒนธรรมการทำงานที่นั้น ประโยคด้านบนที่แขวะรุนแรงจนเลือดอาบนั้นมาจากปากของใครไม่ได้เลยนอกจาก Jeff Bezos ที่เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาอารมณ์เสียก็เหวี่ยงอย่างไม่สนใจใครหน้าไหนเลย แม้ว่าพนักงานของ Amazon หลายคนพยามแก้ต่างให้ว่าที่เขาเป็นแบบนี้เพราะเขาต้องการทำให้ลูกค้าพึงพอใจอย่างยิ่งยวด แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องดูถูกพนักงานเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายตรงนั้น ลูกค้าเป็นพระเจ้า Jeff Bezos เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก แต่มันต้องแลกมาด้วยอะไรกัน?
มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์ ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่ไร้ชชีวิตจิตใจ วัฒนธรรมการทำงานที่ควบคุมด้วยความกลัวนั้นส่งผลเสียในระยะยาว เห็นได้จากอัตราการเปลี่ยนพนักงานของ Amazon นั้นสูงเป็นอันดับสองในกลุ่ม Fortune 500 เลยทีเดียว มันแสดงให้เห็นว่านี่ไม่ใช่วิธีการบริหารพนักงานที่ดีเลย รายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่ควรแลกมาด้วยมนุษยธรรมที่ลดลง
ไม่ใช่ทุกอย่างที่เขาทำเราต้องหันไปทำตามเพียงเพราะเห็นว่าเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จ พวกเขาก็ยังคงเป็นมนุษย์ มีทั้งเรื่องที่ถูกและผิดปะปนกันไป สิ่งสำคัญคือเราควรต้องหาทางของเราเองและเรียนรู้ว่าสิ่งไหนควรทำตามหรือสิ่งไหนควรหลีกเลี่ยง เรามีข้อมูลมากมายอยู่ที่ปลายนิ้ว การหลับหูหลับตาทำตามคนอื่นนั้นเป็นเรื่องที่ดูไร้เหตุผลเกินไปสักหน่อย ถ้าเศรษฐีพันล้านจะโดดหน้าผาก็ไม่จำเป็นต้องกระโดดตาม