5 บทเรียนจากการเป็นนักเขียนฟูลไทม์ตลอด 5 ปี : เรื่องที่ต้องเข้าใจสำหรับใครที่อยากเขียนเป็นอาชีพ
เมื่อเช้ามีโอกาสคุยกับน้องคนหนึ่งพูดถึงงานที่ผมทำอยู่กับการเป็นนักเขียน/คอลัมนิสต์ให้กับสื่อต่าง ๆ น้องบอกว่า ‘นี่เป็นอาชัพหนึ่งที่เขาอยากทำ’ ประโยคนั้นดึงผมกลับไปเมื่อหลายปีก่อนตอนเริ่มเขียนใหม่ ๆ ความทรงจำหลายต่อหลายอย่างหวนกลับมาอีกครั้ง
แม้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาผมจะทำธุรกิจสตาร์ทอัพมาบ้างต่าง ๆ นานา แต่ผมมักพูดเสมอครับว่างานหลักของผมคือการเป็นนักเขียน ผมเขียนงานเพื่อหาเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัวมาได้สักพักหนึ่งแล้ว และระหว่างทางก็พบเจอประสบการณ์หลายอย่างที่อยากมาแชร์ให้หลาย ๆ คนได้รู้ เพราะที่จริงอาชีพที่หลายคนมองว่าเป็นอิสระ ทำงานที่ไหนก็ได้ ดูเป็นอาชีพในฝันของใครหลาย ๆ คน มันจริงแท้แค่ไหนกันนะ?
- อิสระที่ไม่ใช่อิสระ
ถ้าบอกว่างานเขียนคืออาชีพอิสระ ในมุมหนึ่งก็ใช่ แต่ในมุมหนึ่งก็ไม่ใช่ ที่ใช่ก็เพราะว่าถ้าอยากเขียนแบบอิสระที่หมายถึงว่าอยากเขียนอะไรก็เขียน มันก็อิสระจริงแหละครับ แต่ถ้าเขียนเพื่อเป็นอาชีพ มันไม่ได้อิสระขนาดนั้น จริงอยู่ที่เราสามารถเขียนในหัวข้อที่เราสนใจหรือหลงใหลได้
อย่างผมชื่นชอบในเทคโนโลยี AI ได้แต่ถามว่ามันเป็นที่ต้องการของตลาดหรือมีกลุ่มคนอ่านที่เยอะพอไหม ก็ไม่ขนาดนั้น เพราะฉะนั้นคำว่าอิสระก็ไม่ใช่อิสระซะทีเดียว เพราะคุณต้องเรียนรู้ว่าคนที่อ่านบทความคือใคร กลุ่มไหน เวลาเตรียมบทความหรือหาข้อมูลก็ต้องคุยกับบก.อีกทีว่าประเด็นนี้เป็นไง น่าสนใจไหม สุดท้ายเรื่องที่อยากเขียนบางทีไม่ได้เขียน บางทีได้เขียนแต่ไม่ปัง บางทีเรื่องที่ไม่อยากเขียนดันปังซะงั้น เออ..ชีวิต
- ความมั่นคงไม่มี
ก็เหมือนกับทุกอาชีพครับ เวลาเราทำงานให้สื่อหรือบริษัทต่าง ๆ สุดท้ายแล้วเราก็คือตัวฟันเฟืองตัวหนึ่ง ซึ่งถ้าเขาเกิดตัดงบนักเขียนนอก (ฟรีแลนซ์) ขึ้นมา เราก็ถูกตัดออก เพราะฉะนั้นอย่าไปถามหาความมั่นคง ไม่มีครับ…ซึ่งวิธีแก้คือข้อต่อไป
- ต้องขายตัวเองตลอด
เชื่อเถอะไม่มีงานไหนที่จะวิ่งเข้ามาหาเราแบบใส่พานถวาย ‘เชิญเลยเพคะ’ มาให้หรอก คือถ้ามีก็มาจากบุญเก่า (เดี๋ยวไปว่าข้อต่อไป) ส่วนใหญ่งานที่ได้เราจะต้องไปไขว่คว้ามาเองทั้งนั้น พอเห็นสื่อหรือช่องไหนเปิดรับและเราเห็นหัวข้อที่เขารับคนที่ตรงกับสิ่งที่เราต้องการ (หรือถ้าไม่ต้องการแต่ทำได้) ก็สมัครครับ ส่งเมล ส่งเมสเสส ส่งข้อความ ทุกอย่างครับ เมื่อไหร่ที่มีงาน ต้องรีบคว้า ถ้าเป็นกรณีของหนังสือเล่มก็ต้องเสนอหัวข้อและส่วนใหญ่จะไม่ผ่าน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ จงกอดคอกับความผิดหวังให้ชินครับ
- ต้องเก็บความสัมพันธ์ดี ๆ ไว้
ข้อนี้สำคัญมากนะครับ เพราะว่าความสัมพันธ์ดี ๆ กับทีมบรรณาธิการหรือบุคคลที่เราทำงานด้วยจะส่งผลกับเราในภายหลังได้อย่างไม่น่าเชื่อ บางทีสื่อเปลี่ยน แต่ทีมเก่าเราโชคดีได้ไปทำงานด้วยแบบไม่น่าเชื่อ บางทีบางสื่อถูกตัดงบหรือจบโปรเจ็กต์ไปแล้ว แต่ภายหลังทีมที่เคยทำงานด้วยกันและมีความสัมพันธ์ที่ดี เราจะกลับมาเจอกันอีกอย่างแน่นอน
- วินัยคือสิ่งที่นำมาซึ่งผลลัพธ์
ทุกครั้งที่ผมได้ยินคนพูดว่า “เป็นนักเขียนทำงานที่ไหนก็ได้นี่ดีจังเลย” จะรู้สึกปวดจี๊ดตรงหัวใจขึ้นมาทันที (5555) คือด้วยความอยู่ที่ไหนทำงานก็ได้นี่แหละ ยิ่งทำให้วินัยเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่งั้นเราจะดินพอกหางหมูแล้วทิ้งงานไว้จนวินาทีสุดท้าย ไม่ยอมทำ หรือทำเสร็จแบบลวก ๆ ทำให้งานออกมาไม่ดีด้วย เพราะฉะนั้นเวลาทำงาน ไม่ว่าจะทำที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ยังไงก็ตาม มีวินัย ส่งงานตรงเวลา และที่สำคัญต้องรู้จักลิมิตของตัวเองครับ อย่ารับงานเกินตัวเพราะงานอื่นจะล้ม
แถม : สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผมในการเป็นนักเขียนคือ ‘ความทุ่มเท’ ครับ เมื่อได้โอกาสจงใช้มันให้เต็มที่ อย่าไปคิดว่างานนี้ได้เงินแค่นิดเดียวหรือไม่ได้เลย (โอ้ววว…อยากจะบอกว่าผมเขียนฟรีมาไม่รู้กี่ปีนะครับ เดี๋ยววันหลังมาเล่าให้ฟัง) ก็ทำแบบส่ง ๆ ไป อย่าคิดแบบนั้นเด็ดขาด เพราะเราไม่รู้หรอกว่างานนั้นจะไปอยู่ในมือใคร จะผ่านตาใครบ้าง และผมจะบอกว่างานฟรี ๆ ที่ผมเขียนก็ผ่านตาใครหลายคนที่นำเอางานอื่น ๆ มาให้เยอะมาก ๆ ‘เมื่อได้รับโอกาส อย่าทำแค่เพียงผ่าน’