เราจะเลิกทำความดีแค่เพราะว่าเราไม่ได้เงินเหรอ? : เปิดใจ “แอดมินปากร้าย ที่แสนใจดี” แอดมินหมีแห่งกรุ๊ปขายอาหารที่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่

สำหรับใครที่อยู่เชียงใหม่แล้วไม่รู้ว่าวันนี้อยากทานอะไรดี เชื่อไหมครับว่าสำหรับหลายคนแล้วจะไม่ได้เปิดพวกแอพฯส่งอาหารอย่างที่หลายๆคนคิดกัน เพราะคนกลุ่มนี้จะเข้า Facebook แล้วค้นหากลุ่ม “ร้านอาหาร เครื่องดื่ม กาแฟและเบเกอรี่เชียงใหม่ (แอดมินหมี)” เพื่อที่จะไปดูว่าตอนนี้มีอะไรที่น่าสนใจให้อุดหนุนบ้าง หลายคนบอกว่าเข้ามาที่กลุ่มนี้เพราะรู้สึกว่าสินค้าหลากหลายดี หลายร้านไม่ได้อยู่บนแอพส่งอาหารเพราะพ่อค้าแม่ค้าเขาทำกันเอง ส่งกันเอง ทั้งหมด การได้เข้ามาซื้อของในนี้ก็ได้อุดหนุนพวกเขาไปด้วย
ในส่วนของ พ่อค้า แม่ค้า ขายอาหาร ขนม และเครื่องดื่มต่างๆ (ตามชื่อเลยแฮะ) ก็มารวมตัวกันที่นี่เพราะรู้สึกว่าสามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้จากการขายสินค้าให้กับลูกค้าในกลุ่มนี้ บางคนทำกันเป็นล่ำเป็นสัน บางคนทำเป็นงานอดิเรกหารายได้เสริม บางคนทำเพราะช่วงนี้ตกงานและกำลังหาช่องทางเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ที่ตอนนี้สมาชิกมีอยู่ราวๆ 3 แสนคนแล้ว (คือถ้านับแค่ประชากรในตัวเมืองเชียงใหม่นี้มีแค่ 2 แสนคนเองนะ) “ขายที่ไหนไม่ได้ก็ไปขายในกลุ่มแอดมินหมีสิ” เป็นประโยคหนึ่งที่ต่ายจะได้ยินบ่อยๆจากเหล่าพ่อค้าแม่ขายในเชียงใหม่ ซึ่งจากตรงนี้ก็ทำให้ต่ายอดสงสัยไม่ได้ว่า “คุณแอดมินหมี” เนี่ยคือใคร เขาทำอะไรแล้วทำไมเขาถึงมาดูแลกลุ่มอย่างนี้ แล้วเป็นผู้ดูแลกลุ่มแบบนี้แต่ละวันเขาต้องทำอะไรบ้างกันแน่
ต่ายมีโอกาสได้รู้จักแอดมินหมีจากเพื่อนต่ายคนหนึ่งที่ทำร้านอาหาร โดยก่อนหน้านั้นได้ยินเสียงร่ำลือกันว่า “แอดมินหมีสวกเน้อ” “แอดมินหมีปากเจ็บหนา” กันเยอะมาก จนใจหนึ่งก็กลัวว่าถ้าเจอกันแล้วเขาเป็นคนแรงๆจนเข้าถึงได้ยากมันจะเป็นยังไง แต่ผิดคาดครับ ตอนที่เจอกันครั้งแรก เขาเดินยิ้มมานั่งที่โต๊ะ ต่ายยกมือไหว้สวัสดี เขาก็สวัสดีกลับเป็นปกติ พูดคุยกันออกรสออกชาติ หลังจากนั้นเราก็นั่งคุยกันยาวเป็นเรื่องเป็นราวจนมีโอกาสได้นัดสัมภาษณ์กันคุยกันอีกครั้งในวันนี้
“ร้านอาหาร เครื่องดื่ม กาแฟและเบเกอรี่เชียงใหม่ (แอดมินหมี)” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ Active และใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ (และของประเทศไทยด้วย) แอดมินหมีผู้กว้างขวางและเป็นที่รู้จักในวงการร้านอาหารและเครื่องดื่มในเชียงใหม่ ทุกคนก็จะรู้จักแอดมินหมีทั้งผ่านทางเพจรีวิว “แอดมินหมี พาชิม” ในฐานะนักรีวิว และ แอดมินหมี ในกลุ่มร้านอาหาร เครื่องดื่ม กาแฟและเบเกอรี่เชียงใหม่ ผู้เป็นดั่งศูนย์รวมจิตใจและศูนย์บรรเทาทุกข์ให้กับเหล่าพ่อค้าแม่ค้าและผู้บริการทุกอย่างในเชียงใหม่
มาฟังเรื่องราวของแอดมินหมีกันดีกว่าครับ
แอดมินหมี หรือต่ายเรียกว่า “พี่เอ๋” (วรกูล วุฒิสรรพ์) จุดเริ่มต้นก่อนที่จะมาเป็นแอดมินหมีของพี่เอ๋ เริ่มชีวิตในวงการอาหารในเชียงใหม่ด้วยการที่ครั้งหนึ่งเขาเป็น “พ่อครัวและเปิดร้านอาหารตามสั่งครับ” แต่ก่อนใครผ่านไปผ่านมาสารภีก็คงจะเคยได้ยินชื่อร้าน “บ้านสารภี คอฟฟี่ แอนด์ ควิซีน” ซึ่งเป็นร้านอาหารที่ขึ้นชื่อเรื่อง “หมูกรอบผัดแกงฮังเล” ซึ่งเป็นเมนูที่เมื่อย้อนไปช่วง 10 กว่าปีที่แล้วเป็นเมนูที่ ว้าวมาก ใครไปใครมาก็ต้องอยากกินและเป็นเมนูขึ้นชื่อของที่ร้านที่หมดเร็วทุกวัน
“ก็คือว่าตอนนั้นเรียนจบ MBA มา ละก็ได้ทุนไปดูงานต่างประเทศออสเตรีย เยอรมัน ฮังการี เขาให้เราไปดูเพื่อที่จะมาเลือกว่าจะไปเรียนที่ไหน ซึ่งตอนนั้นไปแต่ละเมืองก็รู้สึกว่าสาขาในยุโรปตอนนั้นไม่ใช่ตัวเราเท่าไหร่ เราก็เลยไม่เรียนต่อแล้วมาเปิดร้านอาหาร ด้วยความที่ว่าตอนนั้นแม่อ้ายใกล้เกษียณด้วยเราก็เลยมาทำร้านอาหารตามสั่งรอแม่”
“ตอนนั้นโดนคนดูถูกสารพัดเลย เขาว่าทำนองว่าความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดอะไรงี้ แต่ตอนนั้นอ้ายก็ไม่ได้สนใจเพราะเราก็ไม่ได้ทำผิดอะไร เราก็ทำต่อไป วันแรกที่เปิดขายมีแค่ “ข้าวผัด กับ หมูกระเทียม” คนที่อำเภอเขาก็เดินผ่านมาและซื้อไปกิน วันต่อมาเขาก็พาเพื่อนมาซื้อจากวันนั้นก็มีลูกค้าแวะเวียนเข้ามาเรื่อยๆจากมีแค่ 2 เมนูก็เพิ่มไป 70 เมนูในเวลาไม่กี่เดือน มันเป็นแบบปากต่อปากอย่างแท้จริงเลย”
“ต่อมาก็มีเพื่อนที่รู้จักกับคุณหมึกแดง เขาก็พาคุณหมึกแดงมากินที่ร้านแล้วเขาก็มาถูกใจเมนู หมูกรอบผัดแกงฮังเล เขาก็เอาไปลงเดลินิวส์ และตอนนั้นร้านเราก็เอาละ มีคนมาเต็มไปหมดจากที่แต่ก่อนเป็นคนแถวนี้ปากต่อปากกัน ก็กลายเป็นว่ามีคนเยอะแยะเลยที่เขามาจากรีวิว แต่ด้วยความที่ร้านเราเป็นร้านบ้านๆ เราก็อาจจะต้อนรับขับสู้คนที่มาได้ไม่ค่อยตรงสไตล์เขาเท่าไหร่ เขาก็ไปพูดกันว่าร้านนี้รอนานมากอย่างนั้นอย่างนี้ ลูกค้าเก่าที่เคยมาทานเขาก็ไม่มาเพราะตอนนั้นคนเยอะ”
“รีวิวมาคนก็มา รีวิวหยุดเขาก็หยุด ประกอบกับหลังจากนั้นไม่นานก็มีวิกฤตเศรษฐกิจเข้ามาอีก เราก็เลยทำเฟซบุ๊คกลุ่มขึ้นมาในช่วงปี 2012 ซึ่งตอนนั้นคนยังเล่นเฟซบุ๊คไม่เยอะเท่าไหร่อ้ายก็พึ่งหัดเล่น โดยกลุ่มนี้สร้างขึ้นมาตอนแรกเพื่อจะให้ผู้ประกอบการเขามาแลกเปลี่ยนกัน เริ่มต้นมีสมาชิก 400 กว่าคนเองมั้ง เพื่อนคนนั้นคนนี้ชวนกันมา แล้วหลังจากนั้นเราพอกลุ่มโตขึ้นเราก็รวบรวมคนจัดมีตติ้งพูดคุยกันได้ประมาณ 20 คนละก็ไปกินข้าวกันตอนแรกไม่ได้มีการเก็บรายหัว ก็คือใครอยากกินอะไรก็ซื้อเอง พอมีครั้งแรกคนก็อยากให้มีครั้งที่สอง เราก็เอาอีกแต่ครั้งนี้เราเปลี่ยนเป็นการเวียนไปร้านอาหารต่างๆแล้วก็กำหนดงบต่อหัว ให้ร้านค้าจัดอาหารให้เหมือนกับให้เขาเป็น Host ในแต่ละครั้งไป”
“ด้วยความที่เราก็เป็นสายวิชาการมา เราก็เลยมีการจัดกิจกรรมแบบว่าสอนถ่ายภาพ สอนบัญชีอะไรอย่างนี้ แต่มีคนพูดบางครั้งก็ไม่มีคนฟังนะครับ เพราะตอนนั้นเขามาหลายๆคนเขาก็มาหาคอนเน็คชั่นกัน”
“ต่อมากลุ่มโตขึ้นเรื่อยๆก็มีคนเริ่มเอาของมาโพสต์ขาย กลายเป็นขายได้ แล้วหลังจากนั้นก็มีคนมาขายอีก ก็ขายได้อีก แล้วตอนนั้นเราก็ต้องเริ่มเป็นแอดมินละ เพราะถึงแม้ว่าตอนนั้นเราจะอนุญาตให้ทุกคนขายฟรีไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไร แต่พอคนเขามาซื้อขายแล้วเจอปัญหาเขาก็จะมาบอกเรา เช่น โดนโกง โดนตัดหน้า ตอนนั้นเราก็เลยต้องเปลี่ยนบทบาทตัวเองให้เป็น Speaker ประจำกลุ่มโดยการสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้น“

จากตรงนี้ก็เลยเป็นที่มาของสไตล์การสื่อสารแบบแอดมินหมีที่อาจจะดูเหมือนปากเจ็บพูดตรง ไม่อ้อมค้อม ก็เพื่อให้คำพูดที่ออกไปนั้นชัดเจนไม่มีการตีความหมายผิดๆ
“คนในกลุ่มเราก็จะมีคนหลายรูปแบบ ซึ่งเราก็พยายามจะพูดแบบตรงไปตรงมาเพื่อความเข้าใจที่ง่ายและเพื่อรักษาความเป็นระเบียบด้วย”
จากการที่ฟังหน้าที่ของแอดมินหมีมาแล้วกับบทบาทที่ต้องเป็นตัวกลางและผู้ไกล่เกลี่ยเรื่องของคนในกลุ่มที่มีสมาชิกกว่าสามแสนคน แอดมินหมีได้อะไร?
“สิ่งที่มีค่ามากกว่าเงินคือเพื่อนนะ เราอยากช่วยเหลือคน อาจจะเป็นการสร้างลู่ทางให้เขา การที่เราเป็นคู่แข่งจะไม่มีใครบอกเราถ้าเราทำอะไรผิด แต่ถ้าเราเป็นเพื่อนเขา เขาก็จะบอก ถ้ามีใครสักคนยอมพูดกับเราแม้ว่ามันอาจจะเป็นเรื่องที่เราไม่อยากได้ยิน แต่พอเรารู้เราก็จะได้ปรับ”
“แต่ว่าตอนหลังเรื่องในกลุ่มอะไรๆก็ต้องผ่านเรา เราก็เลยรู้สึกว่าเก็บเงินไปเลย แต่พอเอาเข้าจริงๆเราก็ไม่ได้เก็บเขานะ แปะเลขบัญชีไว้ถ้าเขาเห็นว่าเราเป็นแอดมินที่ทำหน้าที่ดีอยากให้เรา เขาก็ให้ซึ่งเราก็ถือว่าเป็นกำลังใจจากสมาชิกไป”

พูดถึงเรื่องนี้แอดมินหมีก็เล่าประสบการณ์หนึ่งให้ต่ายฟัง
“มันมีช่วงหนึ่งที่คนมาขายกันเยอะแล้วเขาใช้เฟซบุ๊คไม่เป็นเลย เขาก็มาถามเราว่าอยากขาย ขายยังไง ทางนี้ก็เลยตอบไปว่า ‘โพสต์เลยครับ’ ละก็เหมือนเขาเข้าใจอะไรสักอย่างผิดไป ก็คือว่าเขาน่าจะไปเห็นว่าตอนนั้นเรารับรีวิวร้านอาหาร ร้านละ 5000 บาท อยู่ดีๆเขาก็โอนเงินมาเลย แล้วก็มาบอกเรา ตอนนั้นอ้ายก็โทรไปหาเขาเลย ก็คือคุยไปคุยมาเขาพึ่งเกษียณและกำลังจะทำร้านอาหาร ซึ่งเงินที่โอนมาก็เป็นเงินที่ยืมมาด้วย อ้ายก่อเลย ขอเลขบัญชีเขามาแล้วก็โอนคืนไปจากนั้นก็พูดกับเขาให้คำปรึกษาให้คำแนะนำ”
พี่เอ๋พูดถึงตรงนี้พร้อมน้ําตารื้นขอบตา
“เขาก็บอกว่าไม่มีใครเคยคุยกับเขาแบบนี้เลย ก็ร้องไห้กับอ้าย ซึ่งเรื่องวันนั้นมันก็ทำให้ดีใจมากเพราะรู้สึกว่าที่อ้ายกำลังทำอยู่มันช่วยเหลือคนที่กำลังลำบากได้จริงๆ”
จากนั้นก็มีกลุ่มอาหารต่างๆเยอะแยะเลย ก็มีมาทุกรูปแบบทั้งตั้งกลุ่มรีวิว กลุ่มชมและก็มีกลุ่มประนาม ซึ่งตรงนี้ต่ายก็ได้คุยกับแอดมิน แอดมินก็บอกว่าค่อนข้างเป็นห่วงกับกลุ่มประเภทนี้
“สมัยนี้โซเชียลมันแรง ถ้าร้านบังเอิญผิดพลาดอย่างวันหนึ่งเราไปเจอเศษแม็กในอาหาร เราก็ควรจะทักไปหาร้าน ไปบอกเขาก่อนว่าเขาจะทำอะไรได้บ้าง เขาก็จะได้ปรับปรุงขอโทษ เปลี่ยนอะไรให้เรา ไม่ใช่ว่าไปประจานเขาด่าเขา อ้ายไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวทางนี้เท่าไหร่”
“และก็เรื่องนี้ไม่พูดถึงไม่ได้เลยร้านไดโซะ ก่อนหน้านี้ร้านไดโซะเขาก็เคยมาฝากร้านในกลุ่มอ้ายนะ ตอนนั้นเขาทำร้านโดยเปิดแบบรับวันละ 7 โต๊ะต่อวัน โดยที่คิดราคา 200 กว่าบาท อ้ายก็เห็นนะว่าเขาขายดี แต่ด้วยความที่เป็นบุฟเฟต์และเป็นอะไรอย่างนี้อ้ายเห็นอ้ายก็เป็นห่วงนะว่าจะไหวไหม แล้ววันหนึ่ง น้องไดร์ (นิรุทธิ์ แก้วคำฟู) เจ้าของร้านก็มาเชิญให้แอดมินไปรีวิว อ้ายก็ไป วันนั้นไปรอเกือบชั่วโมง…” พี่เอ๋เล่าไปพร้อมเสียงหัวเราะและรอยยิ้มบนใบหน้า
“อ้ายโทรไปบอกว่าจะกลับละเน้อ น้องเขาก็รีบมาหาก็จัดการมาเสิร์ฟอาหารให้ วันนั้นที่ร้านก็ดูวุ่นๆ ก็ได้คุยกัน น้องเขาก็มาขอคำปรึกษาอ้ายก็แนะนำไปว่าให้เพิ่มรอบ ให้เพิ่มโต๊ะไหม แล้วจากวันนั้นอ้ายก็ให้คำปรึกษาให้คำแนะนำเขามาเรื่อยๆ ก็เห็นไดร์เป็นน้องคนหนึ่งเลย จนวันหนึ่งผมเคยโพสต์เฟซบุ๊คเล่นๆว่าอยากไปต่างประเทศจัง ไดร์ก็มาคอมเม้นท์ ถ้าผมรวยผมจะพาพี่ไป ซึ่งตอนนั้นอ้ายก็ไม่อะไรหรอก แต่หลังจากนั้นหนึ่งปีพอดี ไดร์ก็ทักมาหาผมบอกไปเที่ยวญี่ปุ่นกันพี่ น้องเป็นคนที่พูดคำไหนคำนั้นและรักษาสัญญากับสิ่งที่ตัวเองพูดออกไปมาก”
ระหว่างที่ต่ายและทีมงานนั่งคุยกับแอดมินหมี ก็มีโทรศัพท์เข้ามาหาตลอด บางทีก็เรื่องโพสต์ที่ตั้งขาย ขายไม่ได้ ทำยังไงดี บางทีอยากหาที่ปรึกษาเรื่องการทำธุรกิจ บางทีเรื่องการถ่ายรูปลงเฟสบุ๊ค นู้นนี่นั้นอยู่ตลอดเวลา แต่เชื่อไหมครับว่า พี่เอ๋ไม่ว่าจะยุ่งขนาดไหน ก็ไม่ปฏิเสธที่จะรับสายหรือถ้าติดจริงๆก็จะบอกว่าเดี๋ยวจะติดต่อกลับไปนะครับ
“อ้ายเหมือนศูนย์บริการประชาชนไหม?” พี่เอ๋พูดพร้อมหัวเราะเสียงดัง

พูดถึงเรื่องสุขภาพกันบ้าง เพราะเมื่อธันวาปีที่แล้วใครจำกันได้ช่วงนั้นเป็นที่แอดมินหมีป่วยจนสลบและถูกหามเข้าโรงรักษาตัวที่โรงพยาบาล ต่ายมีโอกาสได้ไปเยี่ยมพี่เอ๋ช่วงหนึ่ง อาการโดยรวมแล้วคือเป็นเบาหวาน โดยที่ไม่เคยรู้ตัวมาก่อน แถมยังมีโรคแทรกซ้อนเป็นแบคทีเรียกินเนื้อที่ขาซ้าย (ภาษาทั่วไปเรียกว่าโรคเนื้อเน่า) มีหนองในขา ต้องผ่าตัดตั้งแต่โคนขาถึงตาตุ่มเพื่อเอาเนื้อตายออก ต้องเปิดแผลแล้วต้องทำความสะอาดทุกวัน เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก ต่ายเลยอยากรู้เกี่ยวกับโรคนี้เพิ่มเติมและสิ่งที่เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองที่น่าจะเรียกได้ว่าเปลี่ยนชีวิตเลยก็ว่าได้
“การป่วยตอนนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เรารู้ว่าเรามีคนรัก มีคนอยากช่วยเหลือเราเยอะ วันนั้นที่อ้ายป่วยอ้ายก็ไม่รู้ตัวอะไรเลยแต่อ้ายรู้ได้ว่ามือถือของเราสั่น ซึ่งในตอนตี 2 ที่อ้ายพอจะมีสติ อ้ายก็เห็นว่ามีคนโอนเงินเข้ามาประมาณสองหมื่นกว่าได้ อ้ายก็รีบไปบอกเขาว่าไม่ต้องโอน อ้ายใช้ประกันสังคมจ่าย แต่ด้วยอาการของเราตอนนั้นอ้ายก็ไม่รู้นะว่าจริงๆแล้วเราจะเบิกได้อะไรยัง แต่อ้ายไม่อยากรับเงินเขามา”
“คนที่โพสต์ให้อ้ายวันนั้นคือ น้องเต๋อ (คุณเต๋อจากร้าน เต๋อ ตำ ยำ ระเบิด) เขาไปโพสต์ให้ว่าอ้ายป่วย พออ้ายไม่รับเงินก็มีคนที่เข้ามาเยี่ยมเราเยอะก็เอาขนม นม เนยมาฝาก บางอย่างอ้ายก็กินไม่ได้อ้ายก็เลยแจกจ่ายให้คุณหมอและพยาบาล ตอนนี้อ้ายก็เลยกลายเป็นขวัญใจพยาบาลด้วยเลย นับว่าเป็นโชคดีของอ้ายนะที่อ้ายไปอยู่ที่ไหนก็จะมีเพื่อน”
ตอนนี้ทีมแอดมินหมีเนี่ย มีประมาณ 10 คนแล้วโดยรวมพี่เอ๋ด้วย
“อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องใช้พลังงานเยอะคือเรื่องของการสอนคนที่อยากขายของ อาจเพราะด้วยความรู้พื้นฐานของเรามันไม่เท่ากัน แต่ด้วยความที่อ้ายอยากให้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เป็นที่พึ่งพาให้กับใครหลายๆคน ถ้าเขาค้าขายได้ลูกค้าสัก 1-10% ของกลุ่มก็ยังดี สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับเขา”
“เคยมีคนพูดกับอ้ายด้วยนะว่าอ้ายไม่มีทางรวยจากกลุ่มหรอก ซึ่งทุกวันนี้มันก็จริงแต่สิ่งที่เราได้กลับมาคือสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ การที่กลุ่มประสบความสำเร็จขนาดนี้เทียบกับสิ่งที่แอดมินหมีทำ สำหรับอ้ายเองมันมีคุณค่ามากๆเลย”
จริงๆแล้วแอดมินหมีเป็นคนที่ใจดีมากนะครับ การที่ได้มาคุยและฟังเรื่องราวของแอดมินหมีมันทำให้ต่ายได้ย้อนกลับมาคิดหลายอย่างเลย อย่างประโยคหนึ่งที่แอดมินหมีพูดกับต่ายว่า “เมื่อมีคนรักก็ต้องมีเกลียด อีกอย่างเราก็ไม่รู้หรอกว่าการช่วยคนไปวันนี้วันพรุ่งนี้เราจะได้อะไรกลับมา แต่เราจะเลิกทำความดีแค่เพราะว่าเราไม่ได้เงินหรือ?”
นั้นคือคำถามที่ต่ายอยากทิ้่งเอาไว้ให้เราได้ขบคิดกันต่อ
วันนี้พี่เอ๋ยังคงพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ยังไม่สามารถขับรถหรือเดินเหินได้สะดวก เวลาเดินจะต้องใช้ไม้เท้าไปด้วย หมอบอกว่าอาจจะกลับมาได้ประมาณ 80%-90% แต่พี่เอ๋ก็ยังคงมองบวกบอกว่า “อย่างน้อยขาอ้ายก็ยังอยู่ แค่นี้อ้ายว่าก็ดีแล้ว”
ต่ายและทีมงานโบกมือลาพี่เอ๋ที่ออกมายืนส่งถึงหน้าบ้าน ทั้งๆที่เดินไม่สะดวก พร้อมเรื่องราวที่อบอุ่นหัวใจ “แอดมินปากร้าย ที่แสนใจดี” ต่ายว่าคำนี้น่าจะเหมาะกับพี่เอ๋ที่สุดแล้ว