Aneekha Hontu – ร้านขนมคราฟท์ที่ส่งตรงถึงมือลูกค้า
การเริ่มต้นทำธุรกิจนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายในสภาวะตลาดที่ซบเซาแบบนี้ น้อยร้านนักที่ตัดสินใจเปิดธุรกิจในช่วงโควิด-19 เพราะความผันผวนและความเสี่ยงที่สูง แต่ไม่ใช่สำหรับกลุ่มเพื่อนสนิทสี่คนที่จับมือกันทำธุรกิจในช่วงการระบาดครั้งใหญ่ไม่พอ ด้วยรสชาติของขนมไข่ใหญ่ (madeleines) ที่ชุ่มฉ่ำและไม่เหมือนใคร ทำให้ร้าน Aneekha Hontu เติบโตและกลายเป็นร้านที่มีคนพูดถึงออนไลน์กันอย่างล้นหลาม
จุดเริ่มต้นของการการรวมตัวกันของกลุ่มเพื่อน 4 คนเพื่อสร้างร้านขนมที่หวังให้ “ทุกคนเป็นสุข”
- จีรัฐติกุล วรวิรุฬห์ธารา (คุณกู๋) ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลเรื่องแบรนดิ้งและมาร์เก็ตติ้ง
- ธันย์ณภัทร วรวิรุฬห์ธารา (คุณป๋อม) ทำหน้าที่เป็นส่วนดูแลหน้าร้านและราคา
- พีรสันต์ จรดล (คุณบั๊ม) ทำหน้าที่เป็น CPO และดูแลสินค้าทั้งหมด
- ธรรมรัตน์ หลำพรม (คุณต้น) ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลเกี่ยวกับกาแฟและเครื่องดื่มทั้งหมด
โดยทั้งสี่ท่านมารวมตัวกันเพราะว่าตอนแรก คุณกู๋และคุณต้นอยากเปิดร้านนั่งดื่มแต่คุณกู๋ไม่ดื่มเหล้า ก็เลยไปปรึกษาคุณต้นที่กำลังทำร้านกาแฟอยู่ แล้วทีนี้พอกลับมาคุณกู๋ก็ติดต่อไปหาคุณบั้ม ซึ่งเคยขายขนมออนไลน์มาก่อน สุดท้ายทุกคนก็มาคุยกันและเป็นที่มาของการมารวมทีมกันในที่สุด
“ขายดีจนเจ๊งฮะ” คุณบั้มพูดเสริม
ซึ่งร้านนี้ก็เปิดขึ้นมาในช่วงที่โควิดกำลังระบาดพอดี คุณบั้มเล่าว่าตอนนั้นคุณบั้มเองก็ขายขนมไทยอยู่ พอคุณกู๋มาชวนก็เลย เอาด้วยและก็มาช่วยกันสร้างคอนเซปต์
“ในช่วงโควิดแบบนี้ ตอนนั้นพวกเราก็คุยกันและเสนอว่าขายออนไลน์ก่อน” คุณป๋อมพูด
ซึ่งการขายในช่องทางออนไลน์นี้ก็ถือเป็นช่องทางหนึ่งที่ทีมผู้จัดตั้งร้านอะนีฆาถนัด ซึ่งตอนนั้นผลตอบรับการขายออนไลน์ก็ดีมาก ๆ จนสามารถที่จะมาเปิดร้านแบบนี้ได้
“ตอนแรกก็ตกใจที่ผลตอบรับดีแบบนี้ เพราะว่าตอนแรกครัวซองต์ยังบูมอยู่ ยังไม่มีใครคิดถึงแมนดารีน ตอนนั้นผมก็คิดว่าถ้าเกิดจะส่งสินค้าที่มีคุณภาพดีและสดใหม่ไปถึงลูกค้าได้ มันควรจะมีอะไรบ้าง ผมก็ลิสต์มาเลยขนมฝรั่งเศสประมาณ 200 กว่าอย่าง แต่อย่างแรกที่ผมคิดว่าน่าสนใจคือขนมไข่ ซึ่งผมก็บอกคุณกู๋กับคุณป๋อมว่า ‘เราจะเริ่มเดินทางจากตรงนี้’ ”
“วัตถุดิบที่ร้านเราใช้มันมีช่วงหนึ่งที่วิกฤตมากครับ ตอนนั้นไทยไม่มีเนยเลย พอเราขายดีมากๆ ก็มีเรือขวางคลองอีก วัตถุดิบก็มาช้าอีก — เนยที่ผมใช้จะเป็นเนยที่ค่อนข้างหายากครับ มันต้องประมูลเอาเพราะว่ามันผลิตจากพื้นที่เล็ก ๆ นิดเดียวในฝรั่งเศส ซึ่งบริษัทที่เราใช้ก็ได้ส่วนหนึ่งไป และกำลังการผลิตก็ไม่สูง มีช่วงหนึ่งที่ขาดมากๆ ผมก็เดินไปหาคุณป๋อมแล้วก็บอกว่าผมต้องใช้เนย ตอนนั้นเราก็ให้ดีลเลอร์ไปคุย แล้วก็เหมาเนยทั้งฝรั่งเศสมา”
คุณบั้มเล่าว่าทุกวันนี้ก็ยังใช้เนยชนิดนี้อยู่ แม้จะหายากแค่ไหน แต่เชื่อว่าเพื่อให้ได้ขนมที่อร่อยที่สุดให้กับลูกค้าจริง ๆ เป็นเรื่องที่จำเป็น
คุณต้นเล่าว่าตอนที่มาร่วมงานกันแรก ๆ ต่างคนต่างไม่รู้จักกัน อย่างคุณต้นเองก็ไม่รู้จักคุณบั้ม เพียงแต่รู้ว่าแต่ละคนก็ทำธุรกิจของตัวเองอย่างจริงจังมาอยู่แล้ว
“ผมก็ทำกาแฟของตัวเอง เป็นสไตล์ญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ดั้งเดิมรุ่นต่อรุ่นมาเกือบร้อยปี จนคุณกู๋และคุณป๋อมเข้ามาหา บอกว่าอยากทำแบรนด์ของที่เป็นคราฟต์แต่ส่งไปถึงบ้านคนได้ง่ายๆ ปกติงานคราฟต์เนี่ยการจะแพคเป็นมาตราฐานมันยาก เพราะมันมีเงื่อนไขเยอะมาก ตอนนั้นผมก็คิดว่ามันน่าสนุกดี ตอนนั้นก็มาฟังคุณบั้ม คุณบั้มก็บอกว่าเขาจะใช้เนยที่ดีที่สุดในการทำขนม ผมก็เลยมองว่าผมจะทำคราฟต์สายกาแฟด้วย ตอนเริ่มต้นก็เลยเกิดจากความสนุกของทั้งสี่คนเลย”
คุณต้นเล่าว่าเวลาเราทำงานก็ต้องคุยกัน 4 คนตลอด แต่ละคนก็จะมีสไตล์การทำงานที่แตกต่างกัน อย่างวันนี้มาสัมภาษณ์กัน ทั้งสี่คนก็จะหัวเราะตลอดเพราะไม่รู้เลยว่าคำถามมาแล้ว ทั้งสี่คนจะตอบอะไรกันบ้าง เพราะแต่ละคนก็มีความแตกต่างในการทำงาน แต่ร้านอะนีฆาเนี่ยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือทำงานคราฟต์ที่สามารถส่งถึงบ้านได้
“แน่นอนว่าการทำงานกับคนเก่งทุกคนจะมีของ และของแต่ละคนก็จะเหมือนดาบที่มาปะทะกันแต่ประเด็นก็คือเราปะทะกันในเรื่องของตัวเนื้องาน ว่าอะไรเวิร์คอะไรไม่เวิร์คแล้วก็จบ เราไม่ได้ทะเลาะกันเรื่องผลประโยชน์ แต่เป็นการทะเลาะกันในเรื่องของผลงานเพื่อให้มันออกมาดีที่สุด — ต่างมุมมองแต่จูนกันได้” คุณบั้มกล่าว
“คุณป๋อมกับพี่กู๋เนี่ย เวลาเขามองธุรกิจ เขาจะมองแบบนักธุรกิจว่าจะขายเมนูนี้ต้องต้นทุนเท่านี้ เท่านั้น แต่ตัวผมเอง ผมทำกาแฟที่คนเขาก็จะบอกว่าอินดี้ ทำคราฟต์ งานมือหมดเลย ส่วนคุณบั้มก็มาในระบบของคนทำขนม สัดส่วนอะไรจะต้องเป๊ะ ตอนแรกก็ใส่กันยับ ผมอาจจะมองว่าไม่ต้องขนาดนั้นก็ได้ป่ะ คุณบั้มก็จะบอกพี่ไม่ได้มันต้องเป๊ะงี้ พอทำงานไปสักช่วงหนึ่งผมเคยคุยกับพี่กู๋ว่าทำไมมันไม่มีที่นั่ง เพราะผมทำร้านกาแฟมาผมจะรู้ว่าคนต้องการที่นั่ง ตอนนั้นพี่กู๋ก็บอกว่า อยากจะขายขนมและกาแฟที่คนกินที่ไหนก็อร่อย ตอนแรกผมก็ไม่พอใจ พี่กู๋ก็ค่อย ๆ อธิบายว่า ‘ถ้าเราขายขนม ขนมต้องดีก่อน ไม่ใช่บรรยากาศ กาแฟต้องดีก่อนแล้วเดี๋ยวเราค่อยขยาย’ ช่วงนั้นผมฟังพี่กู๋พูด ผมก็เลยเข้าใจและปรับจูนตัวเองใหม่ ว่าเราไม่ได้เล่นสนามเดิมละ” คุณต้นขยายต่อ
“มันมีครั้งหนึ่งนะที่คุณบั้มจะเอากาแฟดำของผมไปใส่นม ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมจะด่าละ แต่ผมก็ยอมให้เขาใส่ ละพอใส่ปุ๊บ เห้ย กาแฟเราอร่อยขึ้น มันก็เลยพาผมไปอีกจุดหนึ่งเลยครับ ผมก็เลยรู้สึกว่า การที่เรามาทำงานด้วยกันแบบนี้อีโก้ทุกคนมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราต้องรู้ว่าจะปรับตัวยังไงเมื่อเราเล่นในสนามนั้น”
คุณบั้มอธิบายต่อว่า “ส่วนของผม ผมว่าตรงนี้ไม่ใช่อีโก้นะ แค่ว่าเราผ่านแบรคกราวที่ต่างกัน อย่างเช่นพี่ต้นเขาก็เคยทำ stand alone อย่างผมก็เคยคิดว่าตัวเองเก่งที่สุดในโลกและพอมาเจอโลกจริง ก็พบว่าตัวเองตัวเล็กมากและไม่รู้อะไรเลย ทุกวันนี้ผมก็ยังรู้สึกว่าต้องเรียนรู้อะไรอีกหลายอย่าง จุดตรงนี้ก็คือ เรื่องที่เราต้องก้าวผ่านและปรับเฉยๆ ซึ่งจุดนั้นเราก็ผ่านมาแล้ว”
ทำไมถึงเอา Madeleine (มาเดอลีน) เป็นตัวหลักของร้าน?
“อย่างที่พี่ต้นเล่า ว่ากู๋กับป๋อมเคยทำธุรกิจมาแล้ว แล้วเราก็เคยผ่านจุดที่เหมือนกับโดนโกง และทำและไม่สำเร็จมาก่อน คราวนี้เราก็มี mindset ในหัวแล้วว่าจะไม่ล้มอีก ตอนนั้นเราก็มองว่าคนอยากซื้ออะไร ตอนน้ันคนอยากซื้อครัวซองต์มาก กู๋ก็มาคุยกับผมว่า ‘พี่ขายครัวซองต์กันเถอะ’ ผมก็ตอบไปเลยว่า ‘นั่นจะเป็นอย่างสุดท้ายที่ผมจะขายกู๋’ หน้าเขาเฟลนะตอนนั้น ผมก็บอกว่าจะทำทำไม? คนทำเยอะแยะ ผมก็เลยคิดว่าจะทำอะไร ก็เลยเป็นสาเหตุที่ผมทำขนมไข่ให้เขาชิม ตอนนั้นคุณกู๋บอกอร่อย ผมก็ตบไหล่เขาแล้วก็บอกว่าเอาเลย ขายเลย ต่อมาก็แตกไลน์เป็นฟินองซีเย คาเนลเล่ คุกกี้ ที่เราคิดว่าจะเป็นเซตที่ตามมา”
“ตอนแรกมีรสชาติเดียวคือซิกเนเจอร์ คลาสสิค ต่อมาก็ทำรสส้มออกมาเพราะผมชอบส้ม มันก็เลยออกมาเป็นมาเดอรีนสามรสแรก”
ชื่ออะนีฆา (Aneekha Hontu) มาจากไหนกัน?
ผู้ก่อตั้งแบ่งปันเรื่องราวของชื่อร้านให้ต่ายฟังว่า มันเริ่มจากการที่พวกเขาทำธุรกิจกัน คนละอย่างสองอย่าง แล้วทุกคนก็โดนโกงกันไปสิบกว่าล้าน ตอนนั้นทุกคนก็ต้องเริ่มทำอะไรใหม่ ๆ ต้องเริ่มเปลี่ยนการทำธุรกิจแบบเดิม มาเป็นออนไลน์
เริ่มที่ คุณกู๋ หาสินค้ามาขายและตั้งชื่อแบรนด์ คุณกู๋ก็สนใจที่จะหาชื่อที่มันดูเป็นทั้งไทยและอินเตอร์ได้ ในชื่อเดียวกัน ช่วงนั้นคุณกู๋เล่าว่า
“บ้าสวดมนต์ แผ่เมตตาให้คนที่โกงเราไป แล้วก็สะดุดตรงที่ อะนีฆาโหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด ผมก็เอ๊ะ ชื่อมันสวย ผมก็เลยเอาอันนี้มาเขียนเป็นภาษาอังกฤษ แล้วมันก็สวยนะ มันอ่านเป็นอะนีฆา โฮนโตะ ญี่ปุ่นก็ได้ เราก็เลยเอาชื่อนั้นมา”
ความมูของร้านอะนีฆายังไม่หยุดเพียงแค่นั้น พวกเขายังใช้ศาสตร์ตัวเลข มาค้นหาความหมายของชื่อว่ามันลงเลขมงคลไหม คุณกู๋เล่าว่าตัวคุณกู๋ก็บวกไปบวกมา จนชื่อมงคลทุกอย่างมงคล ก็เลยเสนอและทุกคนก็โอเค เลยเลือกเอาชื่อนี้แหละ
“โลโก้ของเรา จริงๆแล้วก็มูนะครับ”
จากการศึกษาด้านโหราศาสตร์ คุณกู๋เล่าว่าระหว่างที่เรียนอยู่ เขาก็อยากได้หยกชิ้นหนึ่ง
“ผมต้องการหยกชิ้นนี้ทรงประมาณนี้ แต่ว่าหาทั้งร้าน หายังไงก็ไม่มี เขาก็เลยพาผมเข้าไปนั่งในร้านแล้วเดินเข้าไปในตู้เซฟ แล้วหยิบหยกที่อยู่ในตู้เซฟที่เขาไม่ได้วางขายออกมา แล้วก็บอกว่าอันนี้ใช่หรือเปล่า ผมเห็นผมก็บอกว่า ใช่ เขาก็เลยบอกผมว่าหยกน่ะ จริงๆแล้ว มันเลือกเจ้าของ และทุกครั้งที่ผมใส่หยกผมจะรู้สึกว่า Lucky มันเลยกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวผม และจากศาสตร์ที่ผมเรียนมา อันนี้มันเป็นความบาลานซ์ มีหยินหยาง มีความสมบูรณ์ในความไม่สมบูรณ์ และสีแดงเนี่ยก็เป็นสีที่มงคลอีก ตรงนี้ก็เลยกลายเป็นเรื่องของมูเตลู หยกนั้นก็เลยเป็นต้นแบบของโลโก้เราและก็มาทำสัดส่วนที่สวยที่สุด และก็ Perfect ที่สุดในเชิงฮวงจุ้ย”
อะนีฆาโหนตุ ไม่ได้อยู่ ๆ ก็มาตั้งร้านเลย
“ตอนแรกเราทำออนไลน์ก่อน ทำมาได้ประมาณครึ่งปีแล้ว ยังไม่มีหน้าร้านลูกค้าในเชียงใหม่ก็ยังต้องมารับที่บ้านอยู่ แต่พอเปิดมาสักพักความนิยมเพิ่มขึ้น เราก็ต้องมีร้านแล้ว” (คุณกู๋)
ในการหาที่ทางตั้งร้านขนมไข่ใหญ่นี้คุณป้อมเล่าว่า
“กว่าจะได้ร้านนี้ก็ขับรถหาหลายที่ ที่ตรงนี้ก็เป็นที่หนึ่งที่ผ่านมาเห็น คุณป้อมก็ถ่ายรูปส่งให้โดยที่ไม่คิดอะไรเพราะว่าแถวนี้ค่าเช่าสูง แต่บังเอิญว่าคุณบั้มเห็นราคาเช่าในรูป ซึ่งเป็นราคาที่เรารับได้ เราก็เลยนัดเจ้าของตึกมาดู ตอนนั้นมีสองเจ้าที่มาดูด้วย เราก็เลยรีบตัดสินใจและเราก็เลยเอาก่อนเลย เพราะตรงนี้เป็นซอยที่คนพลุกพลาน”
“เราทำคาเฟ่ที่ไม่เหมือนคาเฟ่ อย่างแรกคือที่จอดรถมีจำกัด และพื้นที่มีแค่นี้ ตอนนั้นผมก็คิดว่าจะทำยังไงให้ได้รายได้มากที่ที่สุดจากร้านนี้ แล้วค่อยไปทำร้านสวย ๆ แต่ร้านแรกอาจจะไม่ได้สวย ไม่เหมาะให้คนมาถ่ายรูป ตอนนั้นเรามองว่าเราทำธุรกิจเพื่อที่เราจะไปต่อได้ ก็เลยทำออกมาเป็นแบบนี้ ให้เป็นร้านขนมที่อร่อยที่สุด เราอยากให้ร้านนี้มีบรรยากาศที่เข้ามาแล้วคิดว่าอยากจะมาอีก มีขนมที่อร่อยไม่ใช่ว่าเข้ามาครั้งเดียวและไม่มาอีก” (คุณบั้ม)
จากการนั่งคุยกับ 4 ผู้ก่อตั้งอะนีฆา ทั้งร้านนี้มีเรื่องราวทั้งหมดเลยนะครับ อย่างเฟอร์นิเจอร์ของร้านก็ตั้งใจทำออกมาให้เป็นคอลเล็กชั่นของร้านอะนีฆาโหนตุ คอนเซ็ปต์ร้านนี้คือเชียงใหม่อาร์ทติส เขาให้ This is a Chair ออกแบบ
“เราให้เขาถ่ายทอดศิลปะของเขาออกมาเป็นเฟอร์นิเจอร์พวกนี้ แม้กระทั่งทางเข้าร้านเราก็มีเรื่องราว ที่เฉียงๆอย่างนี้ก็เพราะตามหลักฮวงจุ้ย” (คุณกู๋)
แล้วทำไมต้องเป็น ขนมไข่ใหญ่ (madeleines)
“ผมลิสต์ขนมฝรั่งเศสมาหลายหน้ากระดาษ และก็คิดว่าขนมไข่มีแฟคเตอร์ที่คนไทยพอจะรู้จักอยู่แล้ว ผมภูมิใจทุกชิ้นที่ผมทำอยู่แล้ว และผมดีใจที่ลูกค้าชอบ นั่นแปลว่าเมสเสจที่ผมส่งไปถึงลูกค้าแล้ว อีกเรื่องที่ผมภูมิใจคือผมไม่ทำให้ Co-Founder ท่านอื่นผิดหวังในตัวเรา” (คุณบั้ม)
“แมคดารีนไม่ตัดขอบ ก็มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ” (คุณป๋อมและคุณต้นช่วยพูดเสริม)
“ผมไปซื้อพิมพ์มาลอง แล้วผมชอบอันนี้ผมอยากทำให้มันอันใหญ่ที่สุดให้คนซื้อแล้วรู้สึกว่าคุ้มที่สุด และมีเนื้อที่หาทานที่ไหนไม่ได้ สิ่งที่ผมต้องการมากกว่าขนาดก็คือรายละเอียดของวัตถุดิบ” (คุณบั้ม)
“ตัวขอบขนมมีคนถามหาด้วยนะครับ และก็มีคนถามหา ตอนนี้เรามีขายแล้วนะครับ ตอนนี้มีคนจองน่าจะข้ามสองเดือนแล้วนะครับ” (คุณบั้ม)
“ขนมที่ดีมาพร้อมกับต้นทุนที่สูง เบื้องต้นเลยคือคุณบั้มเขาจะทำอะไรออกมาแบบไม่ธรรมดาและจัดเต็มทุกอย่าง เมนูอะไรที่ร้าน ถ้าไม่สุด เขาจะไม่ทำกัน เราก็ทำออกมาก่อนไม่ได้คำนวณต้นทุน พอต้นทุนมาปุ๊บ มันก็เลยทำให้ราคาขายตามมาสูง แต่ถ้าลูกค้าได้มากิน เขาก็จะรู้ว่านี่มาพร้อมกับวัตถุดิบที่ดี และอร่อยจริงๆ” (คุณป๋อม)
“มันจะไม่มีวันที่ลูกค้า มาซื้อขนมไป 80 บาท แต่เป็นเนยกะโหลกกะลาอะไรก็ไม่รู้ ผมคิดว่า 80 เนี่ยคุ้มนะ เพราะเราซื้อเนยทีก็เยอะ และก็มีตัว factor อะไรอีกหลายอย่างที่ละเอียดอ่อน และ turn over ของเรา ในราคา 80 ก็เป็นราคาขายที่พวกเราก็ ยอมรับว่าเหนื่อยกันอยู่นะ ไม่ได้สบายตัวอะไรมาก เพราะเราก็มีจุดอื่นที่ใช้ต้นทุนเยอะ แต่พวกเราสี่คนคุยกันและบอกว่าเราจะต้องรอด” (คุณบั้มเสริม)
ถ้าคุณชอบไวน์แพริ่ง มาลองคอฟฟี่แพร์ริ่งที่อะนีฆาดูไหม?
“ในส่วนของเครื่องดื่มหลายคนเขาจะบอกว่ากาแฟญี่ปุ่นเป็นกาแฟ light คนกินแล้วจะรู้สึกว่ามันไม่ดีด — การทำร้านนี้เนี่ยจะมีคนตั้งโจทย์และมีคนทำซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องมาลิ้งค์กัน พี่กู๋มาบอกผมว่าอยากได้กาแฟที่มันกินง่าย ๆ เหมือนเอสไทยเย็น ผมก็เข้าไปคุยกับคุณบั้มว่าเนยจะเป็นยังไง หน้าตามันจะเป็นยังไง ไม่งั้นกาแฟมันจะไม่เข้ากับนมกับเนย เพราะนมที่คุณบั้มใช้เนี่ยก็ไม่ใช่นมธรรมดา” (คุณต้น)
คนมักจะคิดว่ากาแฟญี่ปุ่นจะมีรสจืด ๆ แต่คุณต้นอธิบายให้ต่ายฟังว่าถ้าไปกินแบบดั้งเดิม กาแฟญี่ปุ่นจะมีคาแรคเตอร์ชัดมากเลย เขาจะทำให้กาแฟกินง่ายแต่บอดี้และความเข้มข้นจะสูงมาก ถ้าเราตั้งใจให้ขนมเป็นตัวเอกของร้าน กาแฟจะต้องเป็นตัวแพร์ริ่ง คอนเซ็ปต์ที่คุณต้นคิดจึงเป็นกาแฟที่ต้องกินคู่กับขนมแล้วอร่อย ถึงขั้นต้องกินขนมคำกาแฟคำจะได้เข้ากัน
กาแฟอะนีฆาไม่ได้ผ่านเครื่อง คุณต้นเล่าว่า เขาได้ดีไซต์กาแฟให้เป็นกาแฟสกัดเย็นแบบญี่ปุ่น และเพิ่มความหนักหน่วงลงไปโดยการคั่วและเลือกเมล็ด ให้กาแฟที่ทำออกมาเมื่อเจอนมที่ทางร้านใช้ มันก็จะเหมือนกับเรากินเอสไทยเย็นที่เหมือน Kopiko กาแฟของอะนีฆาจึงมีความพิเศษที่ไม่ควรมองข้ามเลย
“ตัวกาแฟดำของเราผมดีไซต์มาให้มันบางมาก เพื่อที่จะได้กินแล้วรู้สึกเหมือนกินชาดำ เพราะชาดำเวลากินกับขนมเนี่ยมันจะตัดความเลี่ยน ความมัน และไม่ทำลายตัวเนยตัวนมที่บั้มเขาทำมา ปกติเราจะเจอ paring wine กับ เนื้อ อันนี้จะเป็นกาแฟกับขนม กาแฟอะนีฆาจะไม่กลบความเป็นเนยของขนม” (คุณต้น)
อะนีฆาโหนตุในอนาคต
คุณบั้มเล่าว่า จากการพูดคุยกัน ทั้งสี่คนมองกันไว้ว่าถ้ามีโอกาสพวกเขาอยากจะขยาย เพราะฐานลูกค้าเยอะ แต่ในตอนนี้ทางร้านต้องการความแน่นอนทั้งโรคระบาด และมาตราการ เป้าหมายของอะนีฆา คือการอยากอยู่ในไลฟ์สไตล์ของลูกค้า เช่น สามารถถือไปเป็นเซต ไปทำงานได้ และก็มี Frozen สำหรับแม่บ้านหรือลูกค้าที่อยากเอาไว้อุ่นทาน และยังมองไปถึง B2B ด้วย
เรื่องที่หนักที่สุดที่อะนีฆา โหนตุต้องเจอ
“เราคิดว่าเป็นความคาดหวังของลูกค้า ที่มาพร้อมกับราคาสินค้าที่ค่อนข้างสูง จะก็จะบางส่วนที่ลูกค้าคอมเม้นต์มา เช่น ขอบขนม ที่ลูกค้าบางส่วนไม่ชอบ ขนมไม่สวย ซึ่งทางเรามองว่ามันเป็นคอนเซปต์ที่ขนมร้านเราอาจจะไม่มีความสวยงามเลย
จะมีแค่ความเป็นศิลปะของเชฟ เพราะทุกชิ้นจะไม่เหมือนกันเลยสักชิ้น อย่างคุกกี้บางชิ้นก็จะแบน บางชิ้นก็จะเป็นก้อนกลม หรือชูครีมที่เป็นก้อนใหญ่มาก ถ้าเทียบกับร้านทั่วไป ร้านของเราก็จะมีขนมที่เป็นเอกลักษณ์ ถ้าถามหาความสวยงามจากขนม ร้านก็อาจจะไม่มี ก็จะมีลูกค้าบางส่วนที่ไม่ชอบตรงนี้” (คุณป๋อม)
“ถ้าสายผมนะครับ ร้านเราจะเป็นสไตล์ญี่ปุ่น มันคือความเป็นเนื้อแท้เวลาเราจะทำอะไร มันก็จะเป็นดั้งเดิม เมื่อไปสู่ลูกค้าเป็นยังไงก็จะเป็นอย่างนั้น ถ้าอยู่ญี่ปุ่นร้านเราจะปกติมาก” (คุณต้นเสริม)
“แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราไม่สนใจคอมเพลนจากลูกค้านะคะ เราก็จะมีการปรับปรุงตลอด แต่บางอย่างก็ปรับปรุงไม่ได้เช่นขอบขนมที่เราตั้งใจให้มีอยู่แล้ว” (คุณป๋อม)
รับมือกับคอมเม้นต์จากลูกค้ายังไง
“จงเป็นดอกไม้ ในหนึ่งกอที่แตกหนอ มันสวยนะ แต่มันจะไม่เหมือนกัน จงเป็นแบบนั้นเวลาทำงาน คนญี่ปุ่นจะสอนให้ทำงานแบบนั้น ผมเลยชอบที่จะทำ ชอบที่จะมาดูเชฟทำ แล้วก็ขำว่าขนมมึงหน้าตาไม่เคยเหมือนกันเลยนะ หน้าตาประหลาดมาก แต่อย่างหนึ่งก็คือมันเป็นดอกไม้ในแบบของเขา กาแฟของผมก็เป็นกาแฟในแบบของผม มันก็เป็นอย่างนั้น เราก็ต้องมีที่ทางในแบบของเรา ผมเลยเชื่อว่าอะนีฆาเป็นดอกไม้แบบที่คนญี่ปุ่นสอน” คุณต้น
“No Rain No Flower นะครับ ผมชอบฟังคำแนะนำติชมของลูกค้าเสมอ” คุณบั้ม
ความคาดหวังสูงสุดของอะนีฆา
“รู้สึกว่ายังอยู่ในจุดเริ่มต้นนะคะ ยังไม่ถึงที่สุด แต่ว่าก็ยังมองภาพไม่เห็นว่าที่สุดจะอยู่จุดไหนแต่ก็จะพยายามไปให้ได้ค่ะ” (คุณป๋อม)
“ความสำเร็จแรก ผมมองว่ามันคือการที่ลูกค้าชอบและรักในอะนีฆา ไม่ว่าจะเป็นชอบสินค้าหรือบริการของเรา แต่ภาพเป้าหมายสุดท้าย ผมก็ไม่รู้นะ เรามีเป้าหมายนะเหมือนเด็กสร้างบ้านทั่วไป เราอยากมีร้านที่สวย มีครัวเปิด แต่เรายังอยู่กับความเป็นจริง เราก็ต้องปรับตัวตลอดเวลา ผมว่าร้านนี้ไปได้อีกไกล เราจะเป็น Food Business เราจะไม่หยุดแค่คาเฟ่นะครับ เราพร้อมจะพัฒนาตัวเองไปกับมัน ถึงตรงนี้ผมก็พอใจที่คนรักอะนีฆาและตอนนี้สำหรับผมก็เกินคาด เพราะผมไม่ได้คาดหวังเลยว่ามันจะไปได้เร็วขนาดนี้ แต่ผมก็พร้อมที่จะปรับตัวต่อไปเพื่อให้มันไปได้ไกลที่สุด” (คุณบั้ม)
กว่าจะมาถึงตรงนี้คิดว่าโชคดีหรือความสามารถของเราเองที่ทำให้มันเกิดขึ้น?
“ผมคิดว่ามันมีหลายแฟคเตอร์เนาะ ผมคิดว่าโชคดีเป็นของคนที่ตั้งใจทำดีเสมอนะ ผมคิดว่ามันเป็นบาลานซ์ที่เรารักษาสิ่งนี้ได้ดีพอสมควร ทำให้จักรยานตัวนี้ไม่ล้มและไปได้เรื่อย ๆ เราจะไม่หยุด เราจะปั่นไปเรื่อย ๆ” (คุณบั้ม)
“สำหรับผมเอง ผมมองว่ามันคือประสบการณ์ของแต่ละคนที่ทำงานกันมาอย่างหนักก่อนหน้านี้ และเอามารวมกันถึงจุดที่มันพร้อมจะกลั่นออกมา ถ้าแต่ละคนไม่ทำงานหนักมาก่อน มันคงไม่ออกมาเป็นรูปร่างนี้ เบื้องหลังมันเยอะครับ” (คุณกู๋)
“อย่างกาแฟเนี่ย ผมก็ดึงดันสู้มาหลายปี โดนดูถูกจนไปถึงขั้นระดับโลกไปถึง BBC อะไรมาแล้ว เราไปถึงจุดที่เราขยันมาก และพอวันนี้เราได้มาทำอะนีฆา ผมเลยไม่เชื่อคำว่าโชค เพราะคำว่าโชคมันไม่มีทุกคนต้องทำ ถึงจะเห็นสิ่งข้างหน้า เวลาคนเราเจ็บปวดมันเกิดจากสิ่งที่เราทำนะครับ แต่คนที่ทำก็ควรจะได้รับผลอย่างนั้น เพราะหลังความเจ็บปวดมันคือความสำเร็จทั้งนั้น ผมเชื่อว่าทุกคนทำมาอย่างเจ็บปวดทั้งนั้นเลย เชฟกว่าจะถึงตรงนี้ คุณบั้มเขาก็มีวันที่ต้องปิดร้านเหมือนกัน เขารู้มาแล้ว ผมก็รู้ว่ากาแฟมันถึงจุดที่แย่ที่สุดของมันและดีที่สุดของมัน อย่างพี่กู๋เขาก็รู้เรื่องการตลาด ดีไซต์ และคุณป๋อมก็ดุดันมา ถึงขั้นโดนโกงกันมาหมดแล้ว ตอนนี้ก็เหมือนเอาประสบกาณ์มากลั่น อย่างคุณกู๋บอกพี่ต้นผมอยากได้กาแฟอย่างหนึ่ง มันก็ไม่ใช่การเริ่มต้นใหม่แต่มันคือการเอาประสบการณ์กว่า 7 ปีที่เราลุยมาทั้งหมด ลงมาหย่อนในแก้วที่เรากินกันนี่แหละครับ” (คุณต้น)
“ผมคิดเสมอนะว่าในขณะที่ทุกคนหลับอยู่ ผมยังทำงานต่อเนื่องมาตลอด สินค้าบางตัวต้องใช้ครีมมากกว่าสองสามร้อยลิตร ต้องเทสครีมเททิ้งหลายครั้งเพื่อให้มันได้สูตรที่ดีที่สุด ผมว่า work hard เป็นรางวัลจากความ productive ผมคิดว่าความเจ็บปวดที่สอนเรามาถึงตรงนี้มันส่งผลมาถึงสินค้าที่เราส่งไป” (คุณบั้ม)
ถ้ามีเด็กรุ่นใหม่ที่อยากทำธุรกิจ จะบอกอะไรกับพวกเขาบ้าง?
“สำหรับน้อง ๆ ที่พึ่งเรียนจบ อยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง อยากให้อดทน ไม่ย่อท่อแล้วก็มีอุปสรรคอะไรเข้ามาอย่าเก็บ ข้ามมันไปให้ได้ และพัฒนาตัวเอง ทำซ้ำ ๆ ปัญหาเข้ามาก็แก้ไข และใช้สติ การทำธุรกิจต้องใช้ความอดทนสูงมาก เราต้องผ่านมันไปให้ได้” (คุณป๋อม)
“จริง ๆ ผมก็ไม่ได้เก่งอะไรมากนะครับ แต่ผมอยากฝากว่าอย่าหนีปัญหา และเรียนรู้ที่จะเรียนรู้จากการเกิดปัญหานั้น ๆ และพัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ พาตัวเองเข้าไปอยู่ในจุดที่มีคนเก่ง ไม่ใช่คิดแค่ว่าจะได้เงินเท่าไหร่ เพราะบางทีเราต้องใช้ต้นทุน เป็นเวลาเพื่อเข้าไปอยู่ท่ามกลางคนเก่ง ๆ และเรียนรู้จากคนเหล่านั้น และถ้าคุณเป็นคนดี คนที่พร้อมจะเรียนรู้ เขาจะเอ็นดูเราแน่นอน และที่สำคัญครับ อดทนในการเรียนรู้” (คุณบั้ม)
“มุมมองของผมอีกมุมก็คือเด็กจบใหม่ เห็นอายุน้อยร้อยล้านอยากประสบความสำเร็จเร็ว และเมื่อไหร่ที่ไม่สำเร็จ เขาจะเฟล ซึ่งผมอยากบอกว่าแต่ละคนอาจจะมีเวลาประสบความสำเร็จที่ต่างกัน แต่ละคนจะมีช่วงที่ประสบความสำเร็จไม่เหมือนกัน บางคนสำเร็จตอนต้น เฟลตอนปลาย เพราะฉะนั้น Keep Going ครับ วันหนึ่งถ้าเวลามันใช่ มันจะใช่เอง ทุกคนมีหมดแหละ” คุณกู๋ บอกกับต่ายว่าพูดในฐานะคนที่เคยดูดวงมาก่อน
“ผมว่าคิดแล้วทำครับ เป็นตัวเองก่อน เพราะว่ายุคนี้ถ้าไม่มีอะไรที่เป็นตัวเองเลย ความแตกต่างอาจจะไม่ใช่ตัวเองนะครับ เราต้องเป็นตัวเอง บางครั้งมันอาจจะไม่ได้แตกต่างเลย ดังนั้นเป็นตัวเองดีกว่าแตกต่างเยอะครับ” (คุณต้น)
“คนคิดเยอะๆอาจจะล้มหายตายจาก แต่คนที่ลงมือทำเขาจะอยู่ได้”
(คุณบั้มพูดปิดท้าย)
ช่องทางติดต่อ :
Facebook Fanpage : Aneekha Hontu
Webpage : http://aneekhahontu.com/
Tel. : 093 452 4556
ที่อยู่ : https://g.page/aneekhahontu?share
=