โง่ศาสตร์ : เมื่อนักเศรษฐศาสตร์ทำความเข้าใจคนโง่
หนังสือโดย Carlo M. Cipolla แปลโดย สุนันทา วรรณสินธ์ เบล
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่บางที่สุดตั้งแต่ผู้เขียนได้ทำการเขียนรีวิวมา เล่มนี้มีไม่ถึง 100 หน้ารวมปกหน้าและหลังแล้ว แต่มันตราตรึงใจอย่างน่าเหลือเชื่อ
หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Carlo M. Cipolla และจัดพิมพ์โดย Mad Millers ในช่วงแรกหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มีต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ คาร์โล เป็นศาสตราจารย์ชาวอิตาเลี่ยน ผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์เศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ หนังสือเล่มนี้ใช้กรอบคิดทางเศรษฐศาสตร์ในการทำความเข้าใจคนโง่ นิยาม และวิเคราะห์ปรากฏการณ์พื้นฐานของ “ความโง่” ซึ่งเป็นภัยต่อมวลมนุษยชาติ
หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ในจำนวนจำกัด เพื่อแจกจ่ายในหมู่เพื่อนแค่ 100 เล่ม ในช่วงปี 1976 จนกระทั้งมีการแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาอิตาลีในช่วงปี 1988 หนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมอย่างกว้างขว้าง โดยที่ต้นฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษยังไม่เคยถูกเผยแพร่ออกมา
และใช้เวลากว่า 25 ปี หนังสือเล่มนี้จึงถูกตีพิมพ์และเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษในปี 2011
สำหรับในประเทศไทยหนังสือเล่มนี้แปลและตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Bookscape ในปี 2020 โดย สุนันทา วรรณสินธ์ เบล ซึ่งเป็นนักเขียนและนักแปลวรรณกรรมระดับโลก จากการได้อ่านก็สามารถบอกได้เลยว่าหนังสือเล่มนี้มีที่มาที่ไปที่น่าสนใจและควรค่าแก่การมีครอบครองไว้สักเล่ม
เรื่องย่อ
The Basic Laws of Human Stupidity เป็นหนังสือที่ประกาศตนเองว่าเป็นหนังสือจำแนกสิ่งมีชีวิต อันเป็นผลมาจากความพยายามอย่างสร้างสรรค์ ที่จะระบุและเข้าใจ “กองกำลังมืดอันทรงพลังยิ่ง” ที่สามารถขัดขวางความเจริญก้าวหน้าและความผาสุกของมวลมนุษยชาติ
หนังสือเล่มนี้ได้เขียนกฏพื้นฐานว่าด้วยความโง่เขลาไว้ด้วยกัน 5 ข้อ และมีการนิยามคนโง่ขึ้นมาใหม่ โดยความโง่ของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้วัดจาก I.Q. E.Q. A.Q. อย่างที่เรามักจะคุ้นชิน แต่จำแนกโดยการการกระทำโดยพื้นฐานของคน เขาได้เสนอว่าพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่มักจะไม่คงเส้นคงวานัก บางคนอาจกระทำความฉลาดและต่อมากราฟก็ไปลงที่ความกระจอก แต่คนโง่จะมีพฤติกรรมคงเส้นคงวา
กฏพื้นฐานนี้อนุมานว่ามนุษย์แบ่งออกเป็นสี่ประเภทหลัก ๆ ตามแกน X และ Y ได้แก่ คนกระจอก(Helpless) คนฉลาด(Iintelligent) คนโฉด(Bandit) และคนโง่(Stupid) ซึ่งสามารถสรุปได้ง่าย ๆ ว่า “คนโง่คือคนที่สร้างความเสียหายแก่คนอื่นหรือกลุ่มอื่น ทั้งที่ตนเองไม่ได้รับประโยชน์ กระทั่งอาจได้รับความเสียหายด้วยซ้ำ”
เล่มนี้อ่านยากไหม
เล่มนี้เป็นหนังสือความเรียงสั้น ๆ ที่ใช้ภาษากระชับ เน้นใจความสำคัญ โดยแบ่งออกเป็นบทและมีสรุปท้ายเล่ม มีการใช้วิธีการทางเศรษฐศาสตร์ในการอธิบายสมมติฐาน มีการอธิบายเป็นกราฟและมีการใช้สัญญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เสียดสีและส่อเสียด การกระทำความโง่ได้อย่างสมเหตุสมผล มีหลักการ และมีสมดุลย์ระหว่างหนังสือไร้สาระที่พูดถึงความโง่ และหนังสือวิชาการว่าด้วยความโง่
ความรู้สึกหลังจากที่อ่านจบ
“มันคือหนังสืออะไรว่ะ” โดยปกติแล้วการที่เราจะกล่าวหาใครสักคนว่า “โง่” เป็นเรื่องที่ฟังดูเป็นคนใจร้าย เหยียด ชอบกดขี่และดูถูกมนุษย์ผู้อื่น การได้อ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนเป็นบททดสอบจิตใจของเราว่า เราเห็นด้วยแค่ไหนกับ “ความเชื่อที่ว่ามนุษย์บางคนก็เกิดมาเพื่อโง่” ของผู้เขียนท่านนี้
หนังสือเล่มนี้เมื่ออ่านไปแล้ว เรารู้สึกว่าคนโง่น่าเห็นใจนะ เขาเกิดมาเป็นหายยะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าเราเห็นใจคนโง่ก็เท่ากับว่าเรามองว่าความโง่เป็นธรรมชาติ และเปิดใจให้กับการกระทำโง่ ๆ ที่พวกเขาก่อหรือเปล่านะ…
เป็นหนังสือเบาสมองที่ชวนให้พิจารณาในเรื่อง โง่ ไม่โง่
มันก็อาจจะจริงอย่างที่นักเขียนผู้นี้กล่าวไว้ว่า คนโง่ในสังคมมีจำนวนมากมายและเรามักจะประเมิน จำนวนของพวกเขา ความเป็นอยู่ของพวกเขา สถานะทางสังคม บุคลิกลักษณะและความอันตรายของพวกเขาต่ำไป และในที่สุดโลกทั้งใบอาจตกที่นั่งลำบากเพราะเราไม่มีทางต่อกรกับคนโง่ได้ โลกหรือระบบสังคมที่มีมาอย่างยาวนานก็อาจตกต่ำลงไปได้ เพราะกลุ่มคนโง่ที่มีอำนาจ
และที่น่าสลดใจกว่านั้นก็คือเราอาจกำลังเป็นเจ้าโง่ในสายตาของใครสักคน….