“โรคซึมเศร้าไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างมั่วๆ แต่ทุกกรณีของโรคซึมเศร้าเป็นผลมาจากการกระทำและการละเว้นไม่กระทำหลายๆอย่างของผู้มีอำนาจ”
การเมืองมีอยู่ทุกที่ เราไม่อาจจะแยกการเมืองออกจากอะไรได้เลย และสิ่งที่ร้ายกาจที่สุดที่อุบัติขึ้นก็คืออำนาจของการเมืองระดับโลกผลักดันให้ “ทุนนิยม” ยั่งรากและแผ่ขยายออกไป
ทุนนิยมทำลายและแบ่งแยกทุกอย่างออกจากกัน เริ่มจากทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศของโลก การขยายตัวของระบบราชการที่ถูกแปรให้เป็นเอกชน การกระจายอำนาจที่ไร้ซึ่งประสิทธิภาพ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม แม้กระทั่งสุขภาพจิตของมนุษย์ก็คือหายนะที่เกิดขึ้นจากทุนนิยม นี่คือคอนเซ็ปต์ที่ มาร์ค ฟิชเชอร์ เขียนถึง ใน “โรคซึมเศร้ากับอำนาจทางสังคม” ที่ถูกนำมาเขียนและเรียบเรียงใหม่โดยมี สรวิศ ชัยนาม เขียน และ สุชานาฎ จารุไพบูลย์ เป็นผู้แปล ในหนังสือเรื่อง “เมื่อโลกซึมเศร้า Mark Fisher, โลกสัจนิยมแบบทุนและลัดดาแลนด์”
- มาร์ค ฟิชเชอร์ คือใคร
มาร์ค ฟิชเชอร์คือนักทฤษฎีวัตธรรมและอาจารย์ผู้ล่วงลับ เขาถูกกล่าวถึงในบทแรกของหนังสือเล่มนี้ โดยผู้เขียนกล่าวถึงมาร์ค ฟิชเชอร์ไว้ว่าคือคนที่เสนอแนวคิดเชิงวิพากษ์ในทฤษฏี Capitalist Realism(โลกสัจนิยมแบบทุน) และสร้างความเป็นการเมืองให้กับสุขภาพจิต โดยมองว่าทุนนิยมนั่นเกี่ยวข้องกับปัญหาความเจ็บป่วยทางจิตใจที่เกิดขึ้นทั่วโลก การที่จะรักษาโรคซึมเศร้าโดยไม่เผชิญหน้ากับทุนนิยมเป็นได้เพียงการเลี้ยงไข้ และทำให้บริษัทยาเติบโตขึ้น
แนวคิดของมาร์ค ฟิชเชอร์ที่มีต่อทุนนิยมก็คือ ทุนนิยมเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ กำหนดให้มนุษย์ต้องทำงานเยี่ยงทาสในระบบทุน กัดกร่อนจินตนาการและความฝัน โยนภาระทั้งหมดให้กับปัจเจก จนก่อให้เกิดโรคซึมเศร้า
ในหนังสือเล่มนี้ยังได้ยกแนวคิดของนักทฤษฎีท่านอื่นๆมารวมไว้ในเล่มอีกด้วย มาเสริมแนวคิดของ Fisher ในเรื่องที่ว่าทำไมความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การงาน และความเพ้อฝันเรื่องการโยนความรับผิดชอบไปที่ปัจเจกล้วนเป็นสาเหตุหลัก ๆ ที่ก่อให้เกิดโรคซึมเศร้า
- หนังสือเล่มนี้อ่านยากไหม?
หนังสือเล่มนี้ยังแบ่งเป็น 4 บทใหญ่ๆ บทหนึ่งที่น่าสนใจคือ “อย่าไปกลัวผี” โดยเป็นการเล่าเรื่องภาพยนต์ “ลัดดาแลนด์” โดยใช้แว่นตาของโลกสัจนิยมแบบทุน ชำแหละว่าภาพยนต์เรื่องนี้อะไรที่น่ากลัว “ผี” และ “มนุษย์” เป็นเหยื่อของอะไรกันแน่
“ผีไม่ได้ทำอะไร ธีร์ ทั้งไม่ได้เป็นต้นเหตุของปัญหาต่างๆที่รุมเร้าธีร์ อันที่จริงแล้ว พวกผีเป็นเหยื่อของทุน”
เมื่ออ่านในบทนี้เราจะรู้สึกว่า “ชั่ยว่ะ!” ผีแค่เป็นตัวที่ทำให้เหตุการณ์ในภาพยนต์รุนแรงขึ้น และวิธีการจะหนีก็ง่ายมากๆ เพียงแค่ย้ายบ้าน หรือรอให้แสงอาทิตย์ขึ้นก็เรียบร้อย แต่ทุนนิยมหลอกหลอนและทำให้เราต้องตาย ผีในลัดดาแลนด์ เช่น มะขิ่น เป็นผู้อพยพเข้ามาเพื่อหาทุนกลับไปที่บ้านเกิด หรือสมเกียรติที่ทำธุรกิจแล้วล้มละลาย ก็หันมาเครียดและยิงคนในครอบครัวจนตาย
จุดจบของทุกตัวละคร สาวต้นเหตุไปได้ว่าเป็นเพราะ “ทุน”
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่อ่านง่าย และเนื้อหาไม่โดดไปมา ใช้ภาษาที่เข้าใจและอธิบายศัพท์เฉพาะได้อย่างชัดเจน
- ความรู้สึกหลังอ่านจบ
นับว่าเป็นหนังสือที่พูดถึงทุนนิยมและโลกที่กำลังซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี เพื่อจะเข้าใจสังคม เพื่อจะเข้าใจตัวเอง เราต้องเข้าใจบริบทแวดล้อมของการเมืองและทุน ที่ส่งผลอย่างตัวเราด้วย หนังสือเล่มนี้ทำให้ผู้เขียนได้หยุดพักจากเรื่องของงานการที่อยู่เบื้องหน้า และมองไปที่กรอบของสังคมที่ทำให้เราต้องมาอะไรแบบนี้
“คุณไม่ได้เกลียดวันจันทร์ แต่คุณเกลียดทุนนิยมต่างหาก”
หน้า 99, เมื่อโลกซึมเศร้า