ภาวะสมองไหล : ความเหนื่อยหน่ายของคนเก่งที่ขอไปตายเอาดาบหน้า
โลกาภิวัตน์ ก่อให้เกิดการพลวัตมากมายหนึ่งในนั้นคือ “การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของมนุษย์ต่อถิ่นที่อยู่” ในประเทศที่ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยทุนนิยมและเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกรอบตัว ทำให้มนุษย์อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กอย่างการเลือกเสื้อยืดสักตัว เราไม่ได้เลือกแค่ร้านขายเสื้อใกล้ๆบ้าน เราสามารถนั่งอยู่กับที่ในห้อง บนที่นอนหรือโซฟา โดยในมือถือแค่อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์เครื่องหนึ่งที่ต่อสัญญาณจากล่องปล่อยสัญญาณสี่เหลี่ยม เพียงแค่นั้นเราก็สามารถหาเสื้อยืดจากทั่วทุกมุมโลกได้
“และถ้าเรามีเงินในบัญชีธนาคารมากพอ เราจะเลือกของที่อยู่ใกล้บ้านแต่ไม่เป็นที่พึ่งประสงค์เพื่ออะไรกันหรือ?”
ใช่ค่ะ ผู้เขียนกำลังเปรียบเปรยว่าศักยภาพของคนก็เหมือนเงินในบัญชี และกลุ่ม “ย้ายประเทศกันเถอะ” ที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้ หลังจากเปิดมาไม่ถึงสัปดาห์มีสมาชิกแล้วกว่า 650,000 คน ก็เหมือนการที่คนท้องถิ่นเริ่มมองหาตลาดใหม่เพื่อไปจับจ่ายใช้สอย และในมุมหนึ่งกลุ่มนี้ก็ทำให้หลายๆคนเริ่มเห็นเค้าลางของปรากฎการณ์ “สมองไหล หรือว่า Brain Drain” อยู่ร่ำไร ว่าแต่ สมองไหลคือการพูดถึงอะไร?
ในเวทีความสัมพันธ์ระหว่าง “ภาวะสมองไหล” เป็นหนึ่งในโรคฮิตของประเทศกำลังพัฒนา อันเกิดจากการที่ประชาชนผู้เป็นมันสมองของชาติ หรือ มีความสามารถในด้านต่างๆ อาทิ นักวิชาการ โปรแกรมเมอร์ วิศวกร แพทย์ พยาบาล ฯลฯ ย้ายออกจากแผ่นดินแม่ไปทำงานที่อื่น กรณีศึกษาในเรื่องของภาวะสมองไหลที่เป็นที่รู้จักและน่านำมาอ้างอิงก็คืองานวิจัยของ ดร.แดน เบน เดวิด (Dr.Dan Ben-David) แห่งมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟที่ศึกษาเรื่อง Leaving the Promised Land A look at Israel’s emigration challenge จากงานวิจัยพบว่า ในประชากรกว่า 10 ล้านคน มีประชากรเพียง 130,000 คนเท่านั้นที่เป็นกำลังหลักของระบบเศรษฐกิจในประเทศ โดยคิดเป็น 2.7% ของประชากรที่ทำงานในภาครัฐ และในด้านของการผลิตเทคโนโลยีในปี 2015 ประชากรด้านนี้เลือกที่จะออกไปทำงานในต่างประเทศกว่า 40.1% ของจำนวนประชากรที่มีความสามารถในด้านนี้ นอกจากนี้งานวิจัยเก่าของเขายังพบว่ามีอาจารย์และนักวิชาการชาวอิสราเอลกว่าร้อยละ 25 ที่ทำงานเต็มเวลา(Full Time)ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ โดยสาเหตุหลักมาจากการที่รัฐบาลไม่สนับสนุนการวิจัยอย่างเพียงและความกังวลเกี่ยวกับข้อจำกัดงบประมาณในประเทศ แม้ว่าอัตราการย้ายออกในอิสราเอลจะไม่สูงมากหากเทียบกับจำนวนของประชากร แต่หากมองในแง่ของศักยภาพของคนที่ออกไปนับว่าอิสราเอลนั้นสูญเสียประชากรคุณภาพไป
สมองไหลแล้วไง?
คนเก่งย้ายประเทศไปแล้ว เดี๋ยวก็ส่งเงินกลับมาให้ครอบครัว? อู้ววว ถ้าใครจะคิดแบบนี้ก็บอกเลยว่าไม่ผิดฮะ เพราะครั้งหนึ่งประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างฟิลิปปินส์ก็เคยมีวิสัยทัศน์เช่นนี้ ครั้งหนึ่งในยุคของประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มาร์กอส ก็เคยสนับสนุนให้คนหนุ่มสาวของฟิลิปปินส์ออกไปทำงานนอกประเทศ สนับสนุนกันใหญ่โตเรียกได้ว่าเป็น นโยบายเน้นการส่งออกแรงงานของประเทศ (Labor Export Policy) ช่วงแรกก็เกิดผลดีด้วยในช่วงนั้นการส่งคนหนุ่มสาวออกไปทำงานนอกประเทศนอกจากจะกระตุ้นเศรษฐกิจและลดอัตราความยากจนภายในประเทศแล้ว เงินที่หนุ่มสาวชาวฟิลิปปินส์ส่งกลับมายังสามารถนำไปพัฒนา โรงเรียน โบสถ์หรือเป็นทุนการศึกษาได้ด้วย และตัวของแรงงานเองก็ยังได้แลกเปลี่ยนและเกิดความร่วมมือกับประเทศอุตสาหกรรมอื่นในด้านต่างๆอีกด้วย
แต่ผลที่ตามมาก็คือที่ฟิลิปปินส์ขาดแคลนแรงงานแทบจะทุกประเภท เช่นในวิกฤตการณ์โควิด – 19 ที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์ก็ประสบปัญหาขาดแคลนพยาบาลเพราะค่าแรงในต่างประเทศสูงกว่า ซึ่งการไหลออกไปของพยาบาลทำให้ฟิลิปปินส์ประสบปัญหาอย่างมากในด้านการจัดการสาธารณสุขภายในประเทศ
ไหนจะเกิดสภาวะต้องพึ่งพิงรายได้จากแรงงานที่ทำงานในต่างประเทศอย่างหนัก เพราะเมื่อส่งแรงงานไปต่างประเทศผลผลิตภายในประเทศก็จะต่ำลง อีกทั้งยังสูญเสีย “ชนชั้นสร้างสรรค์” ทำให้ประเทศไม่อาจจะพัฒนาได้อย่างเต็มที่ และหากมองในด้านการบริหารการที่ภาครัฐต้องพึ่งพาเงินจากแรงงานในต่างประเทศเท่ากับว่ารัฐนั้นไร้ศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจของตัวเอง
นอกจากสมองไหลจะกระทบต่อด้านแรงงานและด้านเศรษฐกิจแล้ว ตัวปัจเจกก็ใช่ว่าออกไปแล้วจะมีความสุข เพราะในการทำงานต่างประเทศ อาจจะมีทั้งเรื่องการของการเหยียดสีผิวและสัญชาติ แล้วยิ่งเฉพาะแรงงานสตรีอาจต้องเผชิญกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของสตรีทั้งเรื่องการเลือกปฎิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ การข่มขู่ การคุกคามและความรุนแรงในหลากหลายรูปแบบทั้งกาย วาจาและจิตใจ ไหนจะเรื่องการเกลียดกลัวคนต่างชาติหรือ Xenophobia ที่หลายๆประเทศกำลังประสบปัญหากัน และในด้านของสถาบันครอบครัวเด็กเกิดใหม่ในฟิลิปปินส์ก็อาจจะต้องเกิดมาแล้วไม่ได้พบกับหน้าพ่อหรือแม่เพราะพวกเขาไปทำงานในต่างแดนอีก
เล่าเรื่องสมองไหลมาถึงตรงนี้แล้ว ในทัศนะของผู้เขียนก็ยังเชื่อว่าภาวะสมองไหลและคนอยากย้ายออกนอกประเทศ เป็นเรื่องที่มีผลเสียมากกว่าผลดี ทั้งในมุมของประเทศแม่ ประเทศต่อและในมุมของคนที่ต้องการจะย้ายเองก็ตาม อย่างไรก็ดีทางแก้ปัญหาสามารถเริ่มต้นได้โดยการที่ผู้นำต้องตรรหนักไว้ว่า “ทุกประเทศต้องการคนเก่ง และคนเก่งก็ต้องการอย่างเดียวคือพื้นที่ที่จะได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ ถ้าประเทศแม่ปิดกั้น และไม่มีช่องทางให้แสดงความคิด คนเก่งที่ไหนจะอยากอยู่.”
อ้างอิง :
http://drdancando.com/ผลดี-และ-ผลเสียของนโยบาย/
https://www.calcalistech.com/ctech/articles/0,7340,L-3763310,00.html
https://shoresh.institute/archive.php?f=research-paper-eng-emigration.pdf
https://www.thaigeneralkonsulat.de/th/karkhoslasychataithy.html
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A5