Bunny Buns – ขนมปังของครูสอนดนตรีกับร้านอาหารที่แอบเปิดโดยที่บ้านไม่มีใครรู้
เช้าวันอาทิตย์เป็นวันหยุดของครอบครัวที่ต่ายถือว่าเป็นวันพิเศษวันหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นทุกเช้าต่ายก็จะพยายามหาร้านอาหารอร่อยๆเพื่อพาครอบครัวไปนั่งทานกัน ก็จะสลับกันไปเรื่อยๆ แต่มีร้านหนึ่งที่ครอบครัวเรายกให้เป็นหนึ่งในดวงใจ เพราะทั้งบรรยากาศของร้านที่สบายๆ (สบายถึงขั้นว่าต่ายตื่นมา แปรงฟันแล้วขับรถไปนั่งทานพร้อมชุดนอนได้แบบไม่เคอะเขิน) คืออย่างน้อยๆเดือนหนึ่งต้องมีสักครั้งสองครั้งที่เราจะต้องแวะไปคือร้าน “Bunny Buns” นี่แหละครับ
พอมาถึงที่ร้านก็จะเจอเมนูที่คุ้นเคย ข้าวหน้าหมูทอด แซนวิชแฮมชีส ข้าวคลุกกะปิ และอีกหลากหลายที่ถ้าจะให้ลิสต์ก็คงใช้เวลาทั้งวัน แต่ไม่ว่าเมนูไหนของที่ร้านมันจะให้ความรู้สึกที่ว่าเรากำลังนั่งทานอยู่ที่บ้าน มันจะเป็นเมนูที่ไม่ได้หวือหวาแต่กลับคุ้นชินและอบอุ่น รสชาติกลมกล่อมไม่โดดไปทางใดทางหนึ่ง ทุกครั้งที่ครอบครัวต่ายไปก็จะรู้สึกแบบนั้น สั่งที่เคาน์เตอร์จ่ายเงินแล้วก็นั่งทานกันอย่างมีความสุข นั้นคือสิ่งที่ทำให้ต่ายสนใจจนอดไม่ได้ที่จะนัดมานั่งคุยกันถึงความเป็นมาของร้าน Bunny Buns พื้นที่ร้านเล็กๆที่อบอุ่นแสนพิเศษแห่งนี้
คุณอ๊อฟ-รักษ์พล ชาญนาวา อดีตนักดนตรีและครูสอนดนตรี และ คุณดาว-ภรัณยา ชาญนาวา อดีตมนุษย์เงินเดือนที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ถ้าดูกันตามเนื้อเรื่องแล้วทั้งสองคนแทบจะเรียกได้ว่าห่างไกลจากความเกี่ยวข้องกับร้านอาหารเลยก็ว่าได้ แต่จู่ๆเปิดร้านอาหารเพราะอะไรกัน?
“พื้นฐานที่บ้านเราทั้งคู่เป็นพ่อค้าแม่ค้ากันอยู่แล้วครับ อย่างบ้านผมก็ขายอาหารตามสั่งก็คลุกคลีกับอาหารมาบ้างแล้ว อย่างตัวผมเองก็ด้านอาหาร ชอบดูรายการอาหารญี่ปุ่น” คุณอ๊อฟเล่าถึงพื้นเพช่วงเวลาตอนเป็นเด็กให้ฟังพร้อมรอยยิ้มบนใบหน้า
“สมัยเราเรียนช่วง ม.ต้น เราก็สนใจด้านอาหาร เราชอบดูรายการโชว์ทำอาหารญี่ปุ่น เราดูเราก็ชอบเพราะวัตถุดิบเมื่อก่อนมันไม่ค่อยมีให้เราทำ แล้วเขาก็ทำโอโคโนนิยากิ ทาโกยากิ”
“พวกน้ำซุปปลาอะไรงี้ก็จะไม่มีเลย ตอนนั้นอ๊อฟอยากลองทำ อ๊อฟก็เลยเอาปลาทาโร่มาต้มทำสต๊อกและลองทำทาโกยากิกินที่บ้าน”
(คุณอ๊อฟเล่าให้ฟังพร้อมหัวเราะเสียงดัง)
“สมัยก่อนมันไม่มีของอย่างนี้เข้ามาในไทยหรือในลำปาง อ๊อฟก็ลองทำดูแล้วมันก็โอเค ตั้งแต่ตอนนั้นเราก็เลยซึมซับและชอบทำอะไรแบบนี้มาเรื่อยๆ”
ส่วนคุณดาวจะทำหน้าที่ดูแลส่วนของด้านหน้า คิดเงิน ทำเครื่องดื่ม งานบริการลูกค้า และบัญชีของร้านเพราะตัวคุณดาวเองเรียนด้านการโรงแรมมาก็พยายามนำส่วนที่เรียนมานั้นมาใช้
“เราจะอยู่ตรงหน้าบาร์และทำพวกกาแฟ อย่างน้อยก็จะได้ใช้ส่วนที่เรียนมาในด้านการโรงแรม ก่อนหน้านี้เป็นมนุษย์เงินเดือนที่ได้เงินรายได้ประจำ”
ปีนี้บันนี่บันก็เข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว เริ่มต้นกันยังไง? เพราะอะไร?
“หนึ่งปีก่อนจะเปิดร้านตรงนี้ หน้าเราซื้อบ้าน เริ่มมีหนี้ (หัวเราะ) รายได้ประจำเดือนก็เริ่มไม่พอกับรายจ่าย เราก็เลยหาต้องคิดหารายได้เสริม ตอนนั้นอ๊อฟก็เริ่มคนเดียวก่อนแล้วดาวเข้ามาช่วยตอนเลิกงาน แต่ไปๆมาๆ คนเดียวมันไม่ทันก็เลยคุยกันว่าจะเอายังไงดี ตอนนั้นก็คุยกันว่า ‘เอา ก็เอา’ มาช่วยกันเต็มแรงดีกว่า”
“ที่บ้านดาวไม่มีใครรู้เลยด้วย! เปิดแบบไม่บอกที่บ้านเลย”
ช่วงแรกที่บ้านคิดว่าคุณดาวยังทำงานประจำอยู่ มาที่ช่วยแค่ตอนเวลาว่างเท่านั้นแต่สุดท้าย…
“มาโป๊ะตอนที่เขาให้เราช่วยติดต่อธุระที่ทำงานเก่าให้ แต่พอไปถึงเจอเพื่อนที่ทำงานเขาก็บอกว่าเราออกไปแล้ว ตอนนั้นที่บ้านถึงรู้ (หัวเราะทั้งคู่เลย) แต่เขาก็ไม่ได้ว่าอะไรมากนะครับ เพราะตอนนั้นร้านก็เริ่มพอจะมีคนมาทานบ้างแล้ว มีรีวิวมีอะไร เขาก็ปล่อย”
ร้านแรกเริ่มตรงไหนครับ?
“ตอนแรกเราเปิดร้านที่บ้านที่ซื้อ เปิดแค่ช่วงเย็นตั้งแต่ 5 โมง ถึง 4 ทุ่ม เป็นอาหารฝรั่งอิตาเลี่ยน สเต๊ก พิซซ่า เบอร์เกอร์”
(ไม่มีพวกอาหารญี่ปุ่นที่หลายๆคนอาจจะคุ้นเคยเลย)
“จริงๆแล้วตรงนี้มันเป็นที่มาของชื่อ “บันนี่บัน” ได้เลยนะครับ อ๊อฟเกิดปีกระต่าย ส่วน “บัน” เนี่ยเกิดจากเมื่อก่อนอ๊อฟขายพวกขนมปังสำหรับเบอร์เกอร์เฉพาะตัวขนมปัง ส่งให้ร้านต่างๆในเชียงใหม่และต่างจังหวัด เพราะฉะนั้นเราเลยเริ่มจากตัวเบอร์เกอร์ พอมีร้านอาหารตอนเย็นเราก็เลยมีขนมปังของเราอยู่ด้วย แล้วก็มาต่อยอดทำพิซซ่า ทำเบอร์เกอร์ ทำสเต็กขาย”
จากครูสอนดนตรีมาเป็นคนทำขนมปังได้ยังไงกัน?
“รุ่นพี่ที่ผมเคารพเขาเปิดร้านเบอร์เกอร์ชื่อว่า ไวกิ้งจังเกิลเบอร์เกอร์ ตอนนั้นเราก็เริ่มทำขนมปังเลยไปเสนอพี่กิวเขาว่าจะทำขนมปังเบอร์เกอร์ให้พี่ลองชิม เผื่อเป็นพาร์ทเนอร์ส่งขายกัน เขาคอมเมนท์ แล้วเราก็มาปรับสูตรจนได้สูตรที่คนส่วนใหญ่ชอบกัน”
“แต่พอทำที่บ้าน เราเจออุปสรรคตรงที่มันอยู่ในซอยลึกและซอยข้างๆจะเปลี่ยวด้วย ลูกค้าบางคนเขาก็ไม่กล้าจะมา ถนนก็ไม่ค่อยดีด้วย เปิดได้สักปีหนึ่งก็เริ่มมองหาแถวข้างนอกและก็มาเจอที่ตรงนี้ปล่อยเซ้งพอดี ซึ่งตรงนี้เป็นที่โรงคั่วกาแฟ ก็เลยพอเหมาะ เราอยากเปิดร้านกาแฟด้วย อยากขายคู่กับขนมปัง ตอนนั้นเริ่มต้นก็จะมีครัวซองต์กับขนมปังและกาแฟ”
แล้วอาหารญี่ปุ่นต่างๆมาได้ยังไงกัน?
“อาหารญี่ปุ่นเริ่มมาจากตอนนั้นอ๊อฟว่างและอยู่บ้านทั้งวันเวลาว่างจากออกขนมปัง อ๊อฟต้องทำอาหารกิน จะกินพวกอาหารอิตาเลี่ยนก็เบื่อแล้วเลยดึงความรู้เก่ามา ย้อนดูคลิปในยูทูปบ้าง แล้วก็ลองศึกษาและลองกินเอง อาหารญี่ปุ่นเลยกลายเป็นอาหารหลังครัว เป็นอาหารที่เราชอบกิน”
“สักพักก็มีเพื่อนแนะนำว่าทำไมเราไม่เอาอาหารญี่ปุ่นที่เราทำขายบ้างหล่ะ?”
ตอนนี้เห็นมีร้านราเมนเปิดใหม่ด้วย อันนี้เป็นมายังไงครับ?
“มันเป็นโชคชะตาและเรื่องบังเอิญเลย ช่วงที่โควิดระลอกแรกมาถึง ตอนแรกเราก็ลังเลเพราะช่วงเวลาที่เดินทางโควิด-19 เริ่มมีข่าวรุนแรงขึ้นแล้ว ตอนแรกไปญี่ปุ่นอาทิตย์หนึ่ง พอเรากำลังจะกลับตั๋วก็โดนเลื่อนไป เราก็เลยได้อยู่ญี่ปุ่นต่อ (แบบเลือกไม่ได้) เพราะตั๋วเลื่อนไปเรื่อยๆ ด้วยเงินที่มีจำกัด เราก็พยายามหาอะไรก็ได้ที่ราคาไม่สูง อย่างราเมนอะไรงี้ ทานกันทุกวันเลยเพราะงบจำกัด ต้องอยู่รอด”
(หัวเราะ)
“ตอนนั้นเราอยู่ที่ฟูกุโอกะ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดทงคัตสึราเมนที่มีชื่อเสียงเลย แต่ละร้านมันก็มีความคล้ายกัน แต่ในขณะก็ไม่เหมือนกันซะทีเดียว เราเลยไปกินไปชิมทุกร้านที่ทำได้แล้วก็ค่อยๆแกะสูตรเอา”
คุณอ๊อฟเล่าให้ต่ายฟังว่าก่อนหน้านี้ ทางร้านคุณอ๊อฟและคุณดาวจะช่วยกันทำเองตลอด จนกระทั่งช่วงวิกฤตที่ไปติดอยู่ที่ญี่ปุ่น คุณอ๊อฟและคุณดาวเลยมองว่าอาจจะต้องเริ่มจ้างเด็กมาช่วย ต่ายเลยถามต่อว่าแล้วถ้าเป็นอย่างนี้ จากที่เมื่อก่อนควบคุมเอง แต่วันนี้มีการจ้างงานเกิดขึ้นแล้วรู้สึกว่ามันจัดการยากขึ้นไหม เพราะเมื่อก่อนทุกอย่างเราควบคุมเองมาตลอด
“กลุ่มลูกค้าของเราก็มีทั้งที่เป็นกลุ่มวัยทำงาน กลุ่มเพื่อนและกลุ่มครอบครัว บางคนเขามากินร้านเราตั้งแต่เพิ่งคบกัน จนท้อง ตอนนี้มีน้องวิ่งไปวิ่งมาแล้ว — ร้านเราอยากให้เป็นร้านสบายๆลูกค้าแต่งชุดนอนมากินก็ได้”
“ร้านเราอยากให้มันเป็นร้านสบายๆ ลูกค้าจ่ายเงินเอง สั่งออเดอร์เอง ลูกค้าบางคนเขาก็อาจจะไม่ถูกใจ เราก็เสียลูกค้าส่วนนี้ไปเยอะ แต่เราก็รู้สึกว่าอยากให้มันเป็นบรรยากาศที่สบายๆแบบนี้มากกว่า”
ตอนแรกเปิดมากังวลไหม?
“กังวลครับ ตอนเริ่มเปิดร้านเราอยู่ในบ้าน กลุ่มลูกค้าต่างชาติก็ไม่ค่อยมี รสชาติอะไรก็อาจจะยังไม่ใช่รสชาติที่แท้จริง แต่โชคดีที่เรามีเพื่อนมาช่วยชิมและช่วยปรับ อย่างซอสพิซซ่าก็มีคนอิตาลีมาทาน ตอนแรกๆเขาก็บอกว่ามันติดหวานไปบ้าง ตรงนั้นบ้าง ตรงนี้บ้าง หลังๆคือเขาก็จะกวักมือเรียกกระซิบว่ามันเป็นยังไง จนสุดท้ายเขาบอกว่านี่แหละรสชาติที่แท้จริง”
“เวลาต่อๆมาเราก็ปรับเมนูเอาเมนูญี่ปุ่นเพิ่มเข้ามา เพราะตัวพาสต้า พิซซ่า มันไม่สามารถจะกินได้ทุกวัน พอมาเพิ่มเมนูญี่ปุ่น มันก็คุ้นปากกับคนไทยเพราะมันเป็นข้าว”
“ลูกค้าญี่ปุ่นที่มากินที่ร้านเราส่วนใหญ่จะเป็นคนที่อยู่ไทยและชอบกินอาหารไทยมาอยู่แล้ว”
เสียงตอบรับของร้านราเมน?
“มันเป็นความตั้งใจของร้านเลยครับ เรารู้สึกว่าเมนูนี้มันพิเศษมากและอีกอย่างที่ร้านสาขาหลักเมนูเราก็มีเยอะแล้ว เราเลยเอาตัวใหม่ที่เราคิดว่ามันพิเศษแยกออกไป แล้วก็อยากให้ที่ร้านที่เราทำให้ความรู้สึกเหมือนที่เราเคยทานมากที่สุด”
“น้ำซุปเราต้มประมาณ 2-3 วันเพื่อให้ได้รสชาติที่ต้องการ — ก่อนหน้านี้เคยทำราเมงมาก่อนแต่มันไม่เคยสำเร็จ พอเราไปกินและกลับมาก็มีลูกค้าคนญี่ปุ่นคอยแนะนำ และเราก็หาข้อมูล ทั้งญี่ปุ่น อังกฤษ ลองทำนู้นนี่ ต้มทิ้งต้นขว้างจนได้สูตรนี้มา ใช้เวลาประมาณปีหนึ่งเลยทีเดียว”
(แต่ด้วยสถานการณ์ของโควิดระลอก 3 ทำให้ร้านราเมงที่เปิดใหม่ต้องพักไปช่วงหนึ่ง ตอนนี้เมนูราเมงสามารถทานได้ที่สาขา 1 ตรงแม่เหียะแล้วนะครับ)
นอกจากอาหารคาวที่คุณอ๊อฟและคุณดาวสร้างสรรค์เมนูขึ้นมาหลายปี อีกตัวซิกเนเจอร์ของร้านที่ไม่พูดถึงเลยไม่ได้ก็คือ “ขนมปัง”
“นวดมือด้วยนะ แต่ตอนนั้นมันก็เหมือนงานอดิเรกมากกว่า เพราะมีเงินเดือนประจำอยู่แล้วเลยไม่ได้เครียดมาก”
“ตอนเป็นงานอดิเรกมันก็สนุกดี เราทำให้รุ่นพี่ ให้เพื่อนชิม แต่พอมาเป็นร้านค้าให้ลูกค้ามาชิม เราก็เลยค่อนข้างจะกดดัน — แต่ก่อนที่เราจะมาเปิดร้านเราก็เคยเอาไปฝากขายใต้หอหรือตามร้านขนมเราก็จะได้รับคำติชมกับแนะนำเราก็เอามาปรับแก้ในระยะนี้ เราค่อยๆไปทีละสเต็ปตามจังหวะที่มันมา”
“พอเราทำทุกวันๆแล้วเบื่อ อ๊อฟก็จะไปทำอย่างอื่นในงานเดิม ทำไส้อื่น ทำเมนูกับข้าวอื่นเพื่อให้ตัวเองไม่รู้สึกว่ามันน่าเบื่อ”
“มันมีคำหนึ่งของอาจารย์ที่สอนอ๊อฟ ท่านบอกว่าเราไม่กลัวอะไรหรอก”
“ทำอะไรให้มันเก่ง จนชำนาญ จนเคยมือ ถ้าเราทำอะไรจนเบื่อแสดงว่าเราเชี่ยวชาญและชำนาญแล้ว”
“เปิดสาขาราเมงให้ยืนให้ได้ก่อนและก็มีเปิดร้านเบเกอร์รี่เพื่อรองรับลูกค้าที่เขาอยากมากิน เพราะเราเห็นว่าลูกค้าของเราหลายคนเดินทางมาไกลแต่ขนมที่ร้านดันหมดไปแล้ว”
โควิดสอนอะไรบ้างไหม?
“มันทำให้เราต้องแข็งแกร่งขึ้น บางทีมีในใจว่ามันจะไหวไหมน้า อาจจะมีช่วงที่ท้อที่ต้องการกำลังใจ ก็จะมีลูกค้าประจำที่เข้ามาสนับสนุนเรา มันก็เลยเป็นเหมือนแรงที่จะซัพพอร์ตเรา และทำให้เรารู้ว่ามีคนรักเราอยู่ก็เลยทำให้เราเหมือนมีแรงที่จะเดินต่อไปได้ก็จะสู้กับมันต่อไป”
“สิ่งเดียวที่เราทำได้ก็คือการคิดเมนูที่ร้าน ตอนนี้ก็ออกมาหลายตัวแล้ว พยายามไม่ฟุ้งซ่านทำอะไรก็ได้ที่ชอบ ให้มันเกิดประโยชน์และต่อยอด บางทีเราเห็นกระแสเราก็อาจจะดาวน์แต่อย่าเก็บมาท้อ เราคิดทุกอย่างเตรียมไว้ เดี๋ยวรอโควิดหายก็จะลุยเลย”
“เรามีเดลิเวอร์รี่เพิ่มเข้ามา ตอนแรกเราไม่อยากให้มีเพราะเรารู้สึกว่าเราไม่อยากเสียเปอร์เซ็นให้กับเดลิเวอร์รี่แต่พอโควิดเริ่มหนักขึ้นเราก็ต้องยอมแล้ว ก็ถือว่าประคับประคองไปได้”
ถ้าย้อนกลับไป ถ้าไม่ทำบันนี่บันตอนนี้จะเป็นยังไงบ้าง?
“คงเป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่นะคะ (หัวเราะ) อาจจะทำขนมปังส่งและเป็นครูสอนดนตรี — แต่การมาทำบันนี่บันถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ถึงแม้ว่ามันจะเหนื่อยมากๆ”
“ตอนแรกที่เปิดร้านได้กำไร 800 เราคิดว่ามันเยอะแล้ว แต่เราไม่รู้เลยว่ามันจะต้นทุนแฝงหรืออะไร คุณน้ามาถามตั้งเงินเดือนให้ตัวเองเท่าไหร่? ตอนนั้นก็ไม่เข้าใจ คิดแต่ค่าวัตถุดิบ ไม่ได้คิดค่าน้ำค่าไฟ สักพักทำไปทำมา ก็รู้เลยว่าเท่านี้มันไม่พอแล้ว — กำไรเห็นๆ แต่พอซันไลต์หมดไม่มีเงินซื้อ!!!”
(ตบเข่า!)
ถ้ามีน้องคนหนึ่งอยากทำธุรกิจมีคำแนะนำให้เขาไหม?
“ก็จะถามก่อนเลยว่าใจสู้ไหวหรือเปล่า ถ้าเขาตอบได้ไม่เต็มคำจะไม่แนะนำให้อยู่ในวงการนี้เพราะมันคือการลงทุน มันไม่ใช่การที่เราทำงานแล้วได้รับเงินกลับมาเลย มันคือการที่เราต้องควักเงินออกไปและได้กำไร”
“ต่อมาอยากให้คุยกับที่บ้านให้แน่ให้ชัวร์ เพราะสุดท้ายแล้ววันที่เราไม่ไหวแล้วจริงๆก็จะมีเขานี่แหละที่คอยซัพพอร์ต ไม่ว่าจะกำลังใจหรือทุน และก็ต้องมีแพชชั่นและตั้งเป้าหมายให้ชัด”
“ของดาวก็จะถามว่าพร้อมแค่ไหน และจะทำแบบไหน ต้องถามให้อะไรละเอียด ถ้าเขายังตอบไม่ได้ และอะไรคือจุดยืนของตัวเอง ถ้าเขาพร้อมเราก็จะคอยให้คำปรึกษาเขา ซัพพอร์ตเขา”
ประสบการณ์ 5 ปีที่ผ่านมาและ 5 ปีต่อจากนี้
“ถ้าใจเราสู้เราก็จะเปลี่ยนเป็นคนใหม่ และถ้าเกิดว่ามีแบคอัพที่พร้อมไปกับเรา เราก็พร้อมจะเปลี่ยนเป็นผู้ใหญ่ เพื่อนเราครอบครัวเราคนที่เขาซัพพอร์ตเรา เขาก็จะทำให้เรามองเห็นว่าเราต้องแคร์กันให้มากกว่านี้ เราก็เลยปรับเป็นอีกคนหนึ่งที่ดีขึ้นในด้านความคิดโลกของเราก็จะกว้างขึ้น”
“บัญชีเราจากที่แต่ก่อนเราไม่ค่อยคิด ไม่ค่อยแบ่งเงิน ตอนนี้เรามีสามกระเป๋าและกระเป๋าในกระเป๋า มันจะมีคำว่าสายป่านและมีเงินสำรอง ต้นทุน บัญชี เงินเดือนพนักงาน เราต้องทำให้เป็นสัดส่วน ไม่ว่ารายได้จะได้มากขนาดไหน เราต้องเคี้ยวกับตัวเองนิดนหนึ่ง”
“อีกอย่างก็คือร้านตรงนี้อยากเปิดเป็นราเมนสาขาสอง เพราะแถวนี้ลูกค้าประจำเราก็อยากให้มี อาจจะเปิดเป็นตอนเย็น”
การอัพเดทล่าสุดนะครับ ร้านราเมนของ Bunny Buns พร้อมเปิดขาย Ramen ที่สาขาแรกแล้วนะครับ โดยคุณอ๊อฟฝากบอกต่ายมาว่าเปิดให้ทานราเมนได้ตั้งแต่ 17:00 – 21:00 ส่วนสาขา Gohan-Ramen ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงปรับปรุงสาขา โดยที่ Gohan-Ramen จะเป็น Bakery shop ชั่วคราวก่อนเพื่อให้ลูกค้าที่อยู่ในเมืองจะได้เข้าซื้อขนมปังได้ใกล้ขึ้นอีกนิดนึง
ข้อมูลติดต่อ