มีการสำรวจในปี 2019 รายงานไว้ในหนังสือพิมพ์ Independent ของอังกฤษ บอกว่าเด็กสมัยนี้อยากจะเป็น YouTuber มากกว่านักบินอวกาศซะอีก ส่วนในประเทศไทยเองมีการสำรวจในปี 2021 พบว่าอาชีพในฝันของเด็กไทยอายุ 7-14 ปี คือการเป็น YouTuber มาแรงเป็นอันดับสาม ส่วนอันดับหนึ่งยังคงเป็นหมอ อันดับสองคือครู อันดับสี่คือนักร้องและดารานักแสดง ส่วนอาชีพอันดับสุดท้ายที่เด็ก ๆ อยากเป็น (ที่อาจจะไม่ได้น่าแปลกใจนัก) คือตำรวจ

ตลาดของ Influencer นั้นใหญ่มาก ทั่วโลกราว ๆ 13,800 ล้านเหรียญ (ประมาณ 5 แสนล้าน) ในปี 2021 ซึ่งหลัง ๆ มาเราเห็นคนที่ทำอาชีพเป็น Influencer เยอะมากบนโลกออนไลน์ ทั้ง YouTuber, TikToker, Content Creators ฯลฯ เพจดัง ๆ มีคนติดตามหลักแสนหลักล้าน สร้างรายได้มหาศาล (Kaykai Salaider, Bie The Ska ฯลฯ) ดูแล้วเป็นอาชีพในฝันของใครหลาย ๆ คน เพราะมันดูอิสระ ไม่มีเจ้านาย ใช้ความคิดสร้างสรรค์ อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ ความเป็นไปได้ไม่สิ้นสุด
ไลฟ์สไตล์บนโซเชียลมีเดียที่เห็นช่างน่าหลงใหล แต่แน่นอนว่ามันมีด้านมืดที่บางคนอาจไม่เคยรู้เลยก็ได้ ภายใต้ภาพลักษณ์ที่หรูหราและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนของรายได้ ต้องใช้เวลานานกว่าจะสร้างเป็นอาชีพได้ การแข่งขันอันดุเดือดจากคนที่มีเป้าหมายเหมือนกันทั่วโลก ความไม่เท่าเทียมของโอกาสและรายได้ขึ้นอยู่กับเพศ เชื้อชาติ ผิวสี สังคม และ ฐานะทางสังคมด้วย
อินฟลูเอนเซอร์ที่ประสบความสำเร็จแล้วหรือมีชื่อเสียงแล้วคงบอกเหมือนกันว่าทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้ในอุตสาหกรรมนี้ เพราะทุกคนมีเวลาเท่ากัน เพียงแค่ต้องรักและทุ่มเทให้กับมัน ฟังดูดีและชวนฝันไม่น้อย
แต่ข้อมูลที่ Brooke Erin Duffy ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดียได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับอาชีพของแฟชั่นบล็อกเกอร์ บิวตี้บล็อกเกอร์ และดีไซเนอร์ จนเขียนเป็นหนังสือ ‘(Not) Getting Paid to Do What You Love’ นั้นไม่ได้สวยหรูอย่างนั้นเลย สิ่งที่เธอพบคือคนที่พยายามอย่างหนัก อยากเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ทุ่มเทอย่างมากเพื่อสร้างคอนเทนท์มากมาย สุดท้ายกลายเป็นงานทำฟรีที่ช่วยโปรโมทแบรนด์ต่าง ๆ แค่เท่านั้น
ในรายงานเดือนเมษายน 2022 ของคณะกรรมการด้านดิจิทัล วัฒนธรรม สื่อและการกีฬา (DCMS) ของรัฐสภาสหราชอาณาจักรระบุว่าความเหลื่อมล้ำของรายได้คือปัญหาใหญ่สุดเลยในตลาดอินฟลูเอนเซอร์ ขึ้นกับสีผิว เชื้อชาติ และความทุพพลภาพของร่างกายด้วย พวกเขาพบว่าคนที่มีสีผิวคล้ำจะได้เงินน้อยกว่าคนผิวขาวถึง 35% เลยทีเดียว นอกจากนั้นอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นกลุ่มเพศทางเลือกก็ถูกกดค่าแรงด้วยเช่นกัน (ในบ้านเราอาจจะเห็นความแตกต่างนี้จากภาษาที่พูด ฐานะทางสังคม และเพศสภาพได้เช่นเดียวกัน)
ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะมาตรฐานในการจ้างงานนั้นยังไม่มี อินฟลูเอนเซอร์ส่วนใหญ่จะเป็นฟรีแลนซ์ รับงาน ทำงานกันด้วยตัวเอง (ยกเว้นที่ดังแล้วก็จะมีทีม แต่กว่าจะถึงตรงนั้นก็ไม่ง่าย) รายได้ไม่แน่นอนเพราะไม่มีกฎหมายไว้ให้ต่อรอง เวลาป่วยหรือพักทำงานก็เสียโอกาสสร้างรายได้ทันที
นอกจากนั้นยังไม่มีความโปร่งใสในเรื่องของโครงสร้างการจ้างงาน ไม่มีราคากลางหรือราคามาตรฐาน คนจ้างพอใจจ้างแค่ไหน ถ้าไม่ใช่คนที่มีชื่อเสียงก็เรียกร้องอะไรไม่ได้ ทำให้มูลค่างานของตัวเองตกลงไป บางคนทำงานฟรีเพียงเพราะหวังว่าจะสร้างผลงานให้เพียงพอถึงจะเรียกค่าตัวได้ เมื่อทำไปนาน ๆ กลับเบิร์นเอาท์เพราะไม่ได้ผลตอบแทนอย่างที่คาดหวังเอาไว้
การแข่งขันที่สูงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้อินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่ ๆ เข้าสู่วงการได้ยาก เพราะอัลกอริทีมบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ นั้นทำงานไม่เหมือนกัน ต้องคอยอัพเดทเทรนด์อยู่เสมอ บางทีบทความหรือคลิปเกิดเป็นไวรัลกระแสขึ้นมา คนนั้นก็อาจจะดังไปเลย (ลองดูอย่างคนขายโตเกียวเนยกรอบครับ)
หลายคนพยายามสร้างคอนเทนท์แทบตายอัลกอริทึมก็ไม่เห็นสักที บางคนถึงขั้นลองทำอะไรแผลง ๆ อย่างการท้าทายที่เสี่ยงชีวิตเพื่อให้ตัวเองติดไวรัลวีดีโอแล้วเสียชีวิตก็มี (ผมเขียนเรื่องนี้ไว้ที่ 101.world) คนยอมทำอะไรมากมายที่จะโด่งดัง เป็น ‘game of visibility’ ที่แลกมาด้วยอะไรหลายอย่างที่บางทีอาจจะไม่คุ้มในระยะยาว
การต้องพยายามตามเทรนด์อยู่ตลอดเวลา สร้างคอนเทนท์ตลอดเวลา กลายเป็นดาบสองคมที่ทั้งกดดันตัวเองและถ้าผลออกมาไม่ดีก็หมดความมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำไปด้วยเลย ซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตได้ด้วย เพราะงานต้องทำอยู่ตลอดเวลา ไม่มีเส้นแบ่งว่าอันนี้คือชีวิตส่วนตัว อันนี้คืองาน (เพราะถ้าไม่ทำก็ไม่ได้สร้างคอนเทนท์ เมื่อไม่สร้างคอนเทนท์ คนก็ไม่เห็น เมื่อไม่เห็นก็ไม่ดัง เมื่อไม่ดังก็ไม่มีคนสนใจ วนลูปนรกไป)
ไม่พอใจในรูปร่างหน้าตาตัวเอง ไม่พอใจกับชีวิตความเป็นอยู่ อิจฉาคนอื่น ๆ FOMO กลายเป็นเป้าโจมตีเมื่อทำเรื่องไม่ถูกใจสังคม เบิร์นเอาท์และซึมเศร้ากลายเป็นเพื่อนสนิทที่เข้ามาเคาะประตูแบบไม่ได้เชื้อเชิญ
อินฟลูเอนเซอร์เป็นอาชีพหนึ่งไปแล้วและคงไม่หายไปไหน ชีวิตของอินฟลูเอนเซอร์ดูสวยงามหรูหรา มันคืออาชีพที่หลายคนใฝ่ฝัน แต่มันก็เหมือนทุกอย่างในโลกใบนี้นั่นแหละ มันก็มีข้อเสียของมันเช่นกัน ในทุกสายงาน ในทุกอย่างของชีวิตทุกคนมีแต้มต่อจุดเริ่มที่ไม่เหมือนกัน แค่คิดง่าย ๆ ว่าคนที่มีฐานะทางสังคมหรือมีคอนเนคชั่นเยอะ ๆ ก็ไม่ได้เริ่มจากศูนย์แล้ว เพราะฉะนั้นสำหรับคนทั่วไป สิ่งที่ต้องระวังคือความคาดหวังของเราเอง ความกดดันว่าต้องสำเร็จเหมือนคนอื่นสุดท้ายอาจเป็นตัวบดทำลายตัวเราให้แหลกสลายไปด้วย
============
อ้างอิง
https://www.bbc.com/worklife/article/20220713-the-dark-side-of-being-a-content-creator
https://theconversation.com/the-dark-side-of-social-media-influencing-181553
https://www.statista.com/statistics/1092819/global-influencer-market-size/
https://www.altv.tv/content/altv-news/6146fc88f3a5e8670b389e56
No Comment! Be the first one.