Daywork : Freelance Army – กองทัพเด็กฝึกงาน
ต่ายเคยได้ยินชื่อสตาร์ทอัพ “Daywork” มาได้สักพักหนึ่งแล้ว จำได้ว่าตอนนั้นกำลังพยายามหาพนักงานฟรีแลนซ์เพื่อมาช่วยเป็นเมสเซนเจอร์ให้กับบริษัท แต่ยังไม่เคยมีโอกาสได้ใช้บริการ จนกระทั่งมีโอกาสได้เจอ คุณฝ้าย-ศศิวิมล เสียงแจ้ว–CEO & Co-Founder ของ Daywork ที่งาน “ม้านิลมังกร” (“THAILAND INNOBIZ CHAMPION” สุดยอดธุรกิจนวัตกรรมระดับภูมิภาค) แล้วรู้สึกว่าสตาร์ทอัพอันนี้มันน่าสนใจมาก สุดท้ายมีโอกาสได้คุยกันผ่านทาง Zoom (ช่วงนี้ก็ต้องแบบนี้กันไปก่อนนะพี่น้อง)
พูดถึงเรื่องประสบการณ์ในการทำงาน การทำธุรกิจ ตั้งแต่เริ่มต้นการทำธุรกิจวันแรกจนตอนนี้มีฟรีแลนซ์ในระบบเกือบแสนคนแล้ว การรับมือกับกับความเปลี่ยนแปลงและบทบาทหน้าที่การทำงานของคุณฝ้ายจะเป็นยังไง ลองไปอ่านพร้อมๆกันเลยครับ
Daywork เป็นแพลตฟอร์มสำหรับนักศึกษาที่สนใจจะหางานพาร์ทไทม์ โดยแพลตฟอร์มนี้เป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมและประสบความสำเร็จอย่างดี ด้วยความที่แพลตฟอร์มนี้เข้าใช้ได้ง่ายและปลอดภัย แต่ว่ากว่าจะมาเป็น Daywork คุณฝ้ายต้องผ่านมาอะไรมาบ้างหล่ะ
คุณฝ้าย แนะนำกับต่ายว่าจริงๆ แล้ว คุณฝ้ายเรียนจบมาจากคณะสถาปัตฯ ซึ่งก็ไม่เกี่ยวกับสตาร์ทอัพหรือธุรกิจเลย โดยก่อนหน้านี้คุณฝ้ายได้เริ่มทำเว็บไซต์ที่ชื่อว่า เด็กฝึกงาน.com สืบเนื่องมาจากก่อนหน้านี้เมื่อเรียนจบคุณฝ้ายก็ได้เข้าทำงานในบริษัทที่เกี่ยวกับ software ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำหน้าที่พัฒนาแอปพลิเคชัน พัฒนาหน้าเว็บ โดยบริษัทเองก็มีไอเดียที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองเช่นกัน โดยในตอนนั้นเราก็มองเห็นว่า ในขณะนั้นยังไม่มี Community หรือ Website สำหรับหาที่ฝึกงานให้กับทั้งบริษัทและตัวเด็กเอง ก็เลยมองหาจุดร่วมว่าอะไรที่จะสามารถช่วยคนกลุ่มนี้ได้ โดยมองว่าเขาก็จะเป็นกลุ่มแรงงานหลักของประเทศอยู่แล้ว ก็เลยอยากเอาคนตรงนี้มารวมกัน
“เราก็เห็นจุดร่วมว่าเด็กเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ของประเทศต้องฝึกงาน เราก็เลยลองทำ Product Test โดยการสร้างเพจเฟซบุ๊คขึ้นมาเป็นลงงาน รวมงานอะไรประมาณนี้ ตัวเด็กก็เข้ามาในเพจมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็เลยเริ่มทำเป็นเว็บไซต์เก็บโปรไฟล์และประวัติของเด็ก รวมเอาไว้ที่เดียวกันเป็นเว็บไซต์ของเรา แล้วมันก็เติบโตค่อนข้างดี”
“ที่สำคัญเลยคืออยากให้น้องๆ ฝึกงาน มี process ง่ายๆ โดยที่ไม่ต้องโทร walk-in หรือว่าขอลิสต์จากอาจารย์ — พอเรารวมลิสต์มาปุ๊บ เด็กจากเชียงใหม่ก็จะฝึกที่กรุงเทพฯ ก็ได้ สงขลาก็ได้ โดยช่องทางนี้จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับน้องๆ ส่วนตัวบริษัทเล็กๆ เองก็จะค้นหาได้ง่ายขึ้น”
จาก เด็กฝึกงาน.com ทางทีมเองก็เริ่มมองเห็นว่าการฝึกงานเนี่ยเป็นช่วงหนึ่งของชีวิต 3-4 เดือน แต่ยังมีช่วงเวลาที่เหลืออยู่ก็เลยเพิ่ม Daywork ขึ้นมาเพื่อเจาะกลุ่มพาร์ทไทม์ ก่อนที่จะแยกมาทำ Daywork เต็มตัว
“ตอนที่เป็นเด็กมหาลัย เราก็มีหาพาร์ทไทม์แต่เราก็ไม่ได้ตั้งใจเดินเข้าไป แต่ก็จะมีโอกาสที่ว่าเพื่อนชวนไปทำบ้าง แล้วเราก็มองเห็นประโยชน์จากการทำพาร์ทไทม์โดยการที่เราได้เจอคนหลากหลาย ได้ลองทำงานที่ต่างจากที่เรียน การแก้ปัญหา เราก็เลยมองว่าถ้าเราได้เรียนรู้ Life Skills ระหว่างการเรียน เราก็จะได้อีกสกิลหนึ่งที่เราจะได้นอกเหนือจากงานประจำ”
ต่อมาต่ายก็ได้ถามถึงความรู้สึกของการที่มาทำสตาร์ทอัพ
“พูดในเชิงของน้องๆ หรือเด็กมหาลัย ที่มีไฟแรงอยากจะทำสตาร์ทอัพโดยจากการที่ได้เป็นเมนเทอร์มา ก็เห็นว่าการจะทำสตาร์ทอัพเนี่ยมันต้องเริ่มจากตัวเองก่อนเลย ว่าเอาจริงหรือเปล่า — ในช่วงชีวิตการทำสตาร์ทอัพ เราก็จะเจอปัญหา เจอเรื่องที่จะทำให้เราเครียดเป็นปัญหาที่เราต้องแก้ไขในทุกวัน”
“แน่นอนว่าการเริ่มน่ะ มันจะมีเรื่องที่ทำให้เราร้องไห้มากกว่ายิ้ม แล้วก็ถ้าเรามีแพชชั่นไม่มากพอหรือบางทีมีแค่แพชชั่นก็อาจจะไม่พอ สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องมีเลยนั้นก็คือ ความต่อเนื่องในการทำ — วันนี้เรามีแรง มีไฟที่จะทำสิ่งนี้มากๆ เลย แต่ในอีก 2 เดือนข้างหน้าเราเจอปัญหาที่ติด อย่างโปรดักส์ก็ยังไม่พอดี ลูกค้าก็ยังไม่มีมาเทสเลย ยูเซอร์ที่มั่นใจมากก็อาจจะไม่เป็นอย่างที่หวังสักอย่าง หรือไม่ตรงเป้าเลย วันนั้นเรายังอยากจะทำมันหรือเปล่า เรายังอยากจะคอยปรับคอยแก้เรื่อยๆ จริงๆ อยู่ไหม”
“ฝ้ายมองว่าปัญหาหรือไอ้เรื่องแย่ๆ ที่เข้ามานี่แหละที่จะมาทดสอบสภาพจิตใจว่าเรายังอยากจะทำสิ่งนี้ให้มันสำเร็จจริงหรือเปล่า เพราะว่ามันยากมากจริงๆ ที่มันจะประสบความสำเร็จตามเป้า มันต้องปรับกันไปและทุกคนก็จะเจอเรื่องเดียวกันมาทั้งหมด”
ประสบการณ์ที่ท้าทายที่สุดในการเป็น CEO ของ Daywork คุณฝ้ายคิดว่าเป็นเรื่องอะไรและก้าวข้ามมันมาได้ยังไง
“น่าจะเป็นต้อง Lunch App ครั้งแรก ซึ่งตอนนั้นเราก็คิดมาอย่างดีแล้วแหละว่าฟีเจอร์ต้องเป็นอย่างนี้ ยูไอ ฟังชั่นต้องมีอะไรบ้าง กระบวนการทุกอย่างเราจัดการด้วยตัวเองทั้งหมดมาตลอดหนึ่งปี เพื่อดูว่าอะไรมันควรใช้ ควรเพิ่ม และพอเราเริ่มสร้างทีมและปล่อยโปรดักส์ออกไป ปรากฏว่าเดือนแรกมีคนใช้งานประมาณ 45 คนได้มั้งคะ — คุณพระ พัฒนามาเกือบปี มันเกิดอะไรขึ้น”
“ตอนนั้นรู้สึกอึ้งไปเลย เพราะตอนนั้นเราก็ไม่ได้ PR ให้กลุ่มใหม่เลย เรา PR ให้กับกลุ่มที่รู้จักเราอยู่แล้วด้วยซ้ำ แต่ว่าเขาไม่โหลด เราก็เลยต้องกลับมาดูและรื้อใหม่ — เราต้องทำโฟกัสกรุ๊ปใหม่เลย เปลี่ยน CI ทั้งหมด เปลี่ยนยันแบรนดิ้งเลย”
ในฐานะ CEO ในตลาดปี 2020 ว่าแย่แล้ว ในปี 2021 มันท้าทายกว่าตอนนี้ความไม่แน่นอนมีในตลอดทุกวัน แต่ในฐานะซีอีโอ คุณฝ้ายมีการปลุกใจพนักงานหรือมีการทำยังไงให้เรามองไปข้างหน้าหรือมี Positive thinking ยังไงบ้างครับ?
“ถ้าเป็นที่ออฟฟิศ ฝ้ายมองว่าการที่เราต้อง WFH มันทำให้เราไม่ค่อยได้คุยกัน การวัดผลเชิง Performace ว่าเราจะดูอะไร เพราะเราทำงานที่บ้าน อีกเรื่องหนึ่งก็คือ Inspired ฝ้ายจะมาคุยในเรื่องที่ว่าเรามีเป้าหมายเดียวกันในองค์กร ในช่วงนี้เราต้องการให้องค์กรเกิดอะไร ในเชิงยอดขาย ฟีเจอร์หรือโปรดักส์ใหม่ ยังไง เราจะมุ่งเป้าไปที่ผลลัพธ์และทำให้น้องรู้สึกว่าเราจะต้องมาช่วยกันทำตรงนี้ให้ได้ เพราะอะไร และพอทำให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกัน พลังหรือแรงบันดาลใจก็จะเกิดจากข้างในจากคนที่จะทำงาน — ฝ้ายไม่คิดว่าเราจะบิ้วให้เขาฮึกเหิมขึ้นมาได้จากการพูดปลุกใจ — ฝ้ายจะเป็นสไตล์ทำให้คนเห็นผลลัพธ์หรือเป้าหมายเดียวกันมากกว่า แล้วที่เหลือในใจของทุกคนจะต้องจัดการด้วยตัวเอง”
คุณฝ้ายมีวิธีจัดการตารางการทำงานของพนักงานที่อยู่บ้านยังไงครับ?
“ฝ้ายจะให้อัปเดต Task อยู่แล้วค่ะในทุกวัน แบบวันนี้ใครทำอะไรบ้าง ถ้าเป็นกลุ่มงาน Operation หรือที่ Dept. เขาก็จะมีกลุ่มงานของเขาอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นกลุ่มขายเราก็จะดูที่ยอด — สุดท้ายเราก็จะดูที่ปลายทางนั้นแหละ เราจะไม่ใช้พลังในการติดตามระหว่างทางเพราะเราเคยทำแล้วในโควิดรอบแรก ก็ไม่ได้เกิดผลลัพธ์อะไร”
ละทีนี้บริษัทของคุณฝ้าย ทีมเด็ปกับทีมเซลล์อยู่คนละที่กัน ก็จะเจอปัญหากันคนละอันซึ่งจะต้องสื่อสารกันทีนี้คุณฝ้ายเป็นคนจัดการตรงนี้เองไหมครับ?
“CTO จะเป็นคนดูให้ค่ะ ซึ่งเขาคอยดูให้เรา ฝั่งเราจะเป็นฝั่งยูเซอร์ เราก็มาคุยกันแหละ โดยเราจะจัดอันดับให้ว่าอะไรควรทำก่อนทำหลังแล้วก็ค่อยติดตามกันไป”
มีคำถามที่น้องๆ ฝากถามมาครับ เรื่องของเกณฑ์ในการคัดเลือกน้องๆ ที่มาทำพาร์ทไทม์ คุณฝ้ายมีคำแนะนำยังไงบ้างครับ?
“ถ้าเป็นฝั่งน้อง น้องสามารถสมัครเข้ามาได้หมดเลยค่ะ แต่เราจะมาคัดเลือกตอนที่จะต้องส่งไปบริษัทซึ่งเกณฑ์ก็แล้วแต่เลย ดูคุณสมบัติก่อนว่าสอดคล้องกับงานที่บริษัทต้องการจ้างหรือเปล่า เคยมีประสบการณ์ใกล้เคียงไหม หรือบางกรณีก็จะมีโทรคุยด้วยเพราะว่าทางบริษัทต้องการคนคุยเก่ง ก็คือพรีสกรีนแหละค่ะ — ในฝั่งบริษัท เป็นองค์กรเล็กใหญ่เราก็จะไปดูค่ะ”
ก็คือคุณฝ้ายพยายามที่จะทำให้ทั้งสองฝั่งพึงพอใจที่สุดในการจ้างและเข้าทำงานด้วยกัน
“แล้วเราก็จะมีทีมพี่เลี้ยงด้วยค่ะ ก็คือ Daywork Master ซึ่งเหมือนพี่เลี้ยงที่คอยดูแลน้องๆ บางทีเด็กที่พึ่งออกจากรั้วมหาลัยอาจจะยังมีความกล้าๆ กลัวๆ เราก็เลยอยากให้มีทีมพี่เลี้ยงที่จะสามารถคุยกับน้องได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ภายในองค์กรหรือการจ้างงานที่อาจจะไม่ตรงกับรายละเอียด — พอเรามีข้อมูลจากน้องๆ เราก็จะหาทางที่จะไปคุยกับลูกค้าหรือไปสืบว่าจริงไหม ก็คือไปช่วยแก้ปัญหาตรงนี้เพื่อให้น้องมีความสุขในการทำงานมากขึ้น”
คุณฝ้ายช่วยแชร์เรื่องที่น้องๆ เจอให้ฟังหน่อยได้ไหมครับ?
“เรื่องที่น้องทำแล้วแฮปปี้ก็เช่นได้เจอเพื่อนใหม่หรือได้รับการติดต่อให้ทำงานต่อ ซึ่งอันนี้ก็คือเป้าหมายของเราเลย ถ้าน้องทำงานดีและยินดีที่จะอยากเข้าองค์กรนี้อยู่แล้ว ตรงนี้ก็เหมือนเป็นทางลัดไปเลย เราก็จะรู้สึกดีใจมาก เพราะการที่ลูกค้ามาติดต่อให้น้องๆ ไปทำงานต่อเนี่ยอาจเป็นเพราะเราจัดการคุณสมบัติและแมซต์ตัวน้องฝึกงานกับลูกค้าได้ดี เหมือนเป็นความสำเร็จของเรา”
แล้วอย่างนี้นี่คุณฝ้ายมีวิธีการป้องกันไม่ให้ไปจ้างงานกันนอกรอบไหมครับ?
“จริงๆ แล้ว มันป้องกันร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้หรอกค่ะ เราเคยเจอเคสที่เราคุยกันไม่ได้ จะไปต่อรองกับบริษัทให้น้องตกงานก็ไม่ใช่จุดประสงค์ของเรา เราก็เลยพยายามสร้าง benefits บางอย่างให้ตัวน้องๆอยากสมัครงานผ่านเรามากกว่าแทน”
สำหรับ Busy Rabbit เองก็เคยใช้บริการของ Daywork มาก่อน และเราก็รู้สึกว่าดีตรงที่ทาง Daywork เหมือนเลือกพนักงานมาให้ก่อน และตัวบริษัทก็มาคัดเลือกอีกที เพราะฉะนั้นทางเราเชื่อว่า Daywork จะต้องเติบโตได้อีก ต่ายเลยถามว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าคุณฝ้ายได้วางโรดแมพไว้บ้างไหมครับ?
“เราอยากให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่เหมือนเมืองนอกที่น้องๆ ก็ทำงานกันอย่างแพร่หลาย โดยที่ไม่ได้ถูกบลูลี่หรือถูกถามว่าบ้านมีปัญหาเหรอ — ซึ่งเราเคยเจอนะ เราเลยพยายามแก้ตรงแบรนด์ดิ้งด้วยว่าการทำงานมันเท่นะ ถ้าเห็นในเพจเราก็จะพยายามเชิดชูตรงนี้ด้วย เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่น่าอายและก็เป็นจุดประสงค์หนึ่งของเราในตอนที่เริ่มเลย ในอีก 5 ปีเราก็อยากจะเห็นภาพนั้น”
“และเราอยากเป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่เด็กๆ จะคิดถึงเวลาเริ่มทำงาน เพราะเราเริ่มตั้งแต่ non-skill คือไม่มีสกิลก็เริ่มงานได้ เพราะเราอยากให้ทุกคนมีโอกาสในการเข้าถึงงานจริงๆ และประโยชน์ในการเข้าถึงงานพาร์ทไทม์ก็เป็นสิ่งที่มหาลัยให้ไม่ได้ เราเลยมองว่าการทำพาร์ทไทม์เนี่ยจะเป็นสิ่งที่เด็กๆ จะสามารถเอาไปใช้ในอนาคตได้จริงๆ “
อย่างของเมืองนอกเอง มีเด็กตั้งแต่อายุ 15 ขึ้นไป ที่มาฝึกงาน ต่ายเลยอยากสอบถามว่าในอนาคต Daywork จะขยับลงมาจากมหาลัยไหมครับ —- เพราะว่าเด็ก ม.ปลาย หลายคนต่ายว่าเขาก็อยากทำงานนะ
“ตอนนี้เดย์เวิร์คเริ่มต้นที่ 18 ปีขึ้นไป ด้วยข้อกฎหมายของเมืองไทย แต่ถ้าถามว่าทำได้ไหม ทำได้ค่ะแต่นายจ้างจะต้องดูแลอีกรูปแบบหนึ่งว่าห้ามเกินเท่าไหร่ๆ ต่อสัปดาห์ — ในอนาคตอาจจะไปถึงตรงนั้นไหม ถ้าถามตอนนี้อาจจะยัง เรายังโฟกัสที่กลุ่ม 18 ปีขึ้นไปก่อน”
ตอนนี้ Daywork มีเด็กในระบบประมาณ 70,000 กว่าคน นับว่าประสบความสำเร็จมากๆ ในช่วงระยะสองปีจากวันแรก ต่ายเลยอยากถามคุณฝ้ายว่าได้เรียนรู้อะไรในการทำสตาร์ทอัพตัวนี้ตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา มันเปลี่ยนคุณฝ้ายยังไงบ้าง
“อันดับแรกก็คือเราได้ท้าทายตัวเองในทุกวัน ได้ออกจากคอมฟอตโซนของตัวเอง เราไม่ชอบการ Pitching ไม่ชอบการขึ้น Stage เราก็ต้องทำ และมีเรื่องใหม่ๆ ให้ได้เรียนรู้ตลอดเวลา ทั้งการทำไฟแนนซ์ การทำการตลาด คือมันเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้และถ้าเรามีจุดมุ่งหมายใดๆ ที่เราต้องทำก็ต้องทำจริงๆ อย่างหนึ่งที่อยากฝากถึงกลุ่มคนที่อยากทำสตาร์ทอัพหรือเริ่มต้น ฝ้ายก็อยากจะฝากเรื่อง “ความต่อเนื่องค่ะ” เพราะเราอาจจะต้องเจอปัญหาที่อาจจะเข้ามาทำร้าย ทำลายสิ่งที่เหมือนกับลูกของเรา เราก็ต้องพยายามที่จะขับ เข็น ตรงนี้ให้ไปต่อ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ถนัดเลยก็ตาม เราก็ต้องคอยเรียนรู้และทำมันให้ได้”
สิ่งหนึ่งที่ต่ายมองเห็นเลยก็คือคุณฝ้ายแข็งแกร่งขึ้นมากๆ จากคนที่ไม่เคยทำธุรกิจเลยจนมาถึงตรงนี้ ซึ่งต่ายก็เห็นว่าตัวต่ายเองก็ไม่ได้แตกต่างกันเพราะตัวต่ายเองก็เคยที่จะไม่ชอบการไปพูดคุยกับคนอื่น ต่ายก็ต้องเรียนรู้และในที่สุดก็ได้พบอีกมุมของตัวเองว่าที่จริงเราก็ทำได้ และเราก็ได้เรียนรู้และเติบโตไปกับมัน
—-
ช่องทางการติดต่อ
Website: https://www.daywork.co
Facebook Fanpage : Daywork : บริการสรรหา งานพาร์ทไทม์ หาคนทำพาร์ทไทม์
Dowload Application :
IOS : https://apps.apple.com/th/app/daywork/id1450249413
Android : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.paiduaytech.dayworkapp