ตัดสินใจที่ตัดไม่พ้นใจ
ความลังเล ความกังวลใจ เกิดขึ้นได้เสมอเมื่อเราต้องตัดสินใจ แต่บางทีการตัดสินใจก็เป็นเรื่องที่ยาก เมื่อเราคาดหวังว่าตัดสินใจยังไงให้ได้ประโยชน์ที่สุด ทำยังไงให้ถูกต้องที่สุด วันนี้เราจะมาเล่าความคิดเห็นเรื่องการตัดสินใจ ว่าตัดยังไงแล้วให้มันสิ้นสุดลงในใจ
ตัดสินใจไม่ได้ มันเกิดจากอะไร?
- 1.ความพยายามตามหาสิ่งที่ดีที่สุด อย่างที่ผู้เขียนเชื่อว่าเมื่อใดก็ตามที่เราตามหาสิ่งที่ดีที่สุด เมื่อนั้นชีวิตจะพบกับหายนะเสมอ เพราะนอกจากเราจะไม่เจอแล้ว เราอาจจะเผลอเก็บเอาความรู้สึกว่าทำไมกัน ทำไมมันไม่สมบูรณ์ แบบนี้ไปเรื่อยๆ
- 2.การนำประสบการณ์ในอดีตมาเปรียบ ในอดีตที่ว่าอาจจะไม่ใช่สองปีที่ผ่านมา แต่อาจจะเป็นเสี้ยววินาทีที่เรามองเห็นหรือรู้สึกว่ามีอะไรที่น่าจะดีกว่าอยู่ข้างๆ อาจจะพูดได้ว่ายังไม่วางตากับสิ่งที่พึ่งผ่านพ้นไป และสุดท้ายเราก็จะลังเล
- 3.ความไม่มั่นใจว่าจริงๆแล้วตัวเองต้องการอะไร ข้อมูลที่ไม่มากพอในหลายๆครั้งก็นำมาซึ่งความไขว้เขว้และเป็นสิ่งที่เราอาจจะเอามาเปรียบเทียบเมื่อต้องตัดสินใจ
อย่างไรก็ตามการตัดสินใจสำหรับบางคนมันเป็นเรื่องที่ยากเสมอ ไม่ว่าการตัดสินใจว่าวันนี้จะใส่เสื้อตัวไหนหรือรองเท้าคู่ไหน แม้กระทั่งตัดสินใจว่าเช้านี้จะลืมตาขึ้นมาตามเสียงนาฬิกาปลุกดีไหมนะ ก็เป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจ
เพราะเป็นมนุษย์เลยต้องตัดสินใจ ในบางครั้งเรามีข้อมูลไม่มากพอ เรามีประสบการณ์ที่แย่ เรามีธงในใจว่าจะต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุด ในสถานการณ์ที่เหมือนยืนอยู่เป็นเส้นด้าย ความถูกต้องและความผิดพลาดมีโอกาสเกิดขึ้นได้ 50:50 มันคือการต้องพบเจอกับการความเสี่ยงบางอย่างที่ไม่แน่นอน บางทีการไม่ตัดสินใจก็คือการตัดสิน ทว่า
“เรื่องที่น่าเสียดายที่สุดในชีวิตคือการคิดแต่ไม่ได้ตัดสินใจทำ”
- การตัดสินใจเป็นทักษะ
การตัดสินใจถือเป็นทักษะหนึ่งของมนุษย์ เพราะฉะนั้นแล้วการตัดสินใจจึงสามารถที่จะฝึกฝนกันได้ การตัดสินใจก็เหมือนกับทักษะอื่นๆ เราอาจจะต้องเริ่มการปฏิวัติตัวเองโดยเริ่มจากเช้าเล็กๆวันหนึ่งที่ลืมตา เริ่มต้นวันโดยการตัดสินใจที่เด็ดขาดว่า เมื่อนาฬิกาปลุกดังขึ้น ฉันจะตื่น หรือหยิบเอาเสื้อยืดสีดำคอกลมสักตัวมาใส่โดยไม่ไขว้เขว้กับสีขาว การฝึกฝนทักษะต่างๆมักเริ่มต้นสิ่งเล็กๆเสมอ
“คิดแล้วทำเลยดูสักครั้ง ตราบใดที่มันไม่ทำให้ใครเดือดร้อน นั่นคือการตัดสินใจที่ดี”
- วิธีแก้ความลังเลและตัดสินใจให้เร็วขึ้น
- เลือก ‘ทำให้ดีพอ’ แทน ‘ดีที่สุด’
- ดูเป้าหมายให้ชัด
- ทำความเข้าใจว่าทำไมถึงลังเล
- ประเมินข้อดีที่สุดและข้อเสียเพื่อตกตะกอนความคิด
- ใช้ mental energy (พลังงานจิต) อย่างจำกัด หากเราคิดมากเกินก็อาจจะทำให้เรารู้สึกเหนื่อย คล้ายกับการทำข้อสอบ
อุปสรรคของการตัดสินใจ
สิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาทักษะการตัดสินใจนี้ก็คือ “ความกลัว” กลัวสังคมตัดสิน(Social Pushinesment) การกลัวที่จะต้องแบกรับภาระที่เกิดจากการเลือก และ “ความเหนื่อย” เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้มีโอกาสได้ฟัง Podcast “4 ขั้นตอนการตัดสินใจของผู้นำ ฉบับโอบามา”
โดยใน Podcast นี้คุณเคน ได้สรุปบทความเรื่อง “How I Approach the Toughest Decisions: Our choices reflect and determine who we are.” โดย บารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่ามี 4 ขั้นตอนด้วยกัน
1.ฟังข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญและข้อเท็จจริง
2.รู้ว่าเป้าหมายของตนคืออะไร
3.วิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับหลักการของตน
4.ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นให้คิดว่าได้ทำดีที่สุดจากข้อมูลที่มี
มันมีช่วงหนึ่งของเรื่องราวที่โอบามา ลุกออกมาจากห้องประชุมเพื่อไปตัดผมและทานอาหารเย็นก่อนที่จะตัดสินใจเรื่องสำคัญระดับประเทศ ใน Podcast คุณเคนเล่าให้เราฟังอย่างน่าสนใจว่าบางทีเราก็ต้องการพื้นที่ในการคิดหรือการพักจากความตึงเครียด “การพักให้ตัวเองได้ครุ่นคิด มันจะช่วยทำให้กลั่นความคิดของเราได้ดีขึ้น”
จริงๆมีการกล่าวว่าการตัดสินใจที่ดีสามารถเปลี่ยนชีวิตได้ ความกล้าเพียงครั้งเดียว ที่ฝนกระดาษคำตอบข้อ A ที่คิดว่าเป็นคำตอบที่ถูกที่สุดหรือส่งอีเมลล์สัมภาษณ์บริษัทในฝัน อาจนำมาซึ่งการเป็นอันดับหนึ่ง แต่ไม่เห็นจำเป็นจะต้องไปคิดอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นการกล้าที่จะตัดสินใจทำบางอย่างที่ดีเพื่อตัวเอง มันควรเกิดขึ้นเมื่อเราสบายใจ รับฟัง มั่นคงและเมื่อเรากล้าที่จะตัดสินใจแล้ว ก็จงอย่าได้กลัวความล้มเหลว หรืออย่าคาดหวังว่ามันจะเป็นสิ่งที่ถูก
เพราะจริงๆ แล้วหลายอย่างบนโลกก็เกิดจากการตัดสินใจที่ผิดพลาด เราไม่มีทางรู้ได้หรอกว่าในกล่องคุกกี้สีแดงมันสามารถมีอะไรอยู่ได้บ้าง ต่อให้เราไม่ได้สร้างสิ่งที่ดีที่สุด แต่ในที่สุดแล้วการที่เราการตัดสินใจย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆแน่
เมื่อตัดสินใจแล้วก็ใช้ชีวิตต่อไปซะ อย่าได้ยึดติด
ถ้าเราได้ทุกอย่างที่ต้องการและเป็นคนที่ถูกต้องไปเสียทุกเรื่องเราจะยังเป็นมนุษย์อยู่ได้ยังไง?
อ้างอิง
https://barackobama.medium.com/how-i-approach-the-toughest-decisions-dc1b165cdf2d
https://faithandbacon.co m/indecisiveness/
https://sumrej.co m/9-ways-to-make-decisions-with-confidence-2-2017/
https://www.pobpad.co m/คิดมาก-กังวลเกินไป-ทำยัง