FINCH : ทางเดินของความฝันของช่างทำรองเท้าที่ไม่เคยรู้เรื่องการทำรองเท้า
ต่ายรู้จักกับคุณฟินซ์ช่วงปลายปี 2019 ในฐานะ Creator ของ CatDumb แต่วันนี้ต่ายได้มาเจอกับคุณฟินซ์ในฐานะเจ้าของแบรนด์รองเท้า Finch
“สินค้าแฟชั่นคงเป็นสิ่งแรกๆที่คนตัดในช่วงเวลานี้”
ฟินช์ : กฤษฏิ์ ยอดจันทร์ เป็น Creative และทำแบรนด์ Finch Sneaker ตอนนี้ฟินซ์อยู่ที่กรุงเทพ

“จริงๆแล้วใช้ชีวิตที่เชียงใหม่ครับ แล้วตอนปี 4 มีที่รู้จักชวนไปทำข่าวเพราะเห็นว่าเรามีสกิลในการเล่าเรื่อง ตอนนั้นเรียนมหาวิทยาลัยราชภัฏ สายนิเทศ จะบอกว่าเข้าสายก็ไม่เชิงเพราะผมสนใจเรื่องงานเขียน ผมชอบอ่านหนังสือ อ่านวรรณกรรม fiction non-ficition ละก็ดูหนังเยอะ ช่วงมหาลัยเป็นช่วงเสพหนัง ก็เลยทำให้ชอบดูหนัง ชอบอ่านหนังสือและชอบเขียนไปด้วย”
- ทำไมเรียนนิเทศ
“ชอบฟังวิทยุครับ ถ้าเทียบกันกับเพื่อนรุ่นเดียวกันเราจะชอบฟังวิทยุแล้วเราก็จะรู้เรื่องราวในวงการบันเทิง”
“ตอนนั้นใช้โซเชียลมีเดียค่อนข้างเยอะ แรกๆเราจะกดติดตามเพจดารา เพราะมันเป็นช่วงแรกๆที่พวกนี้เข้ามา”
“ต่อมามีรุ่นพี่ที่ มช. เขาทำเพจข่าวสาร เขาก็มาชวนเราไปทำเพราะเขาเห็นว่าเราชอบเขียน ชอบวิจารณ์ — ตอนแรกเราไม่รู้จักกันแต่ผมไม่กลัวอะไร ผมก็ทักไปเลย ผมสามารถทักไปหาคนที่ไม่รู้จักกันได้ อีกอย่างผมรู้จักผ่านเพื่อน เขาก็รู้จักเราผิวเผินแล้วเราก็ทักไปคุยกับเขา”
- ตอนเขียนงานแรก
“จำไม่ได้ว่าตอนนั้นคนกดไลก์หรือคอมเม้นท์ยังไงเท่าไหร่ แต่กึ่งๆว่าเป็นความภูมิใจอยู่เหมือนกันว่าทุกครั้งที่เราเป็นใครไม่รู้ แต่ตอนที่เราเขียนบทความยาวๆหรือวิจารณ์ภาพยนต์อะไรที่มันยาวหน่อย ตอนเราโพสต์ก็จะมีคนกดไลก์ไม่กี่คน แต่พอมันมาอยู่ในเพจที่มีคนเยอะขึ้น มีคนเห็นเยอะขึ้น คนมากดไลก์หลักร้อย มันก็เป็นครั้งแรกที่มีคนมาอ่านเยอะขนาดนี้”

- เริ่มจากเขียนคอนเทนต์แล้วค่อยๆไต่ระดับขึ้นมา
“เราแค่รู้สึกว่ามันมีฝันที่เราอยากทำ เรามีอะไรที่อยากทำมากกว่านี้”
“แรกเริ่มเราไม่ใช่คนแฟชั่นอะไรเลย เราเป็นคนที่แต่งตัวไม่เป็นด้วยซ้ำ แต่ว่าเรามาเริ่มว่าเราค้นพบว่าเราชอบสนีกเกอร์ตอนที่เราเริ่มทำงาน เริ่มมีเงินเดือน เราเดินผ่านร้านรองเท้าแบบ เราก็เห็นว่าแบบนี้สวยดีเหมือนกัน”
“พอเราเห็นว่ามีอะไรเราก็เสิร์ชอินเทอร์เน็ตและเราก็ไปติดตามทำให้รู้ว่ารองเท้าเนี่ยก็จะมีรุ่นต่างๆ แบบคอนเวิร์สก็จะมี Chuck Taylor, Jack Pursell พอเราเห็นเราก็คิดว่ารองเท้ามันมีเรื่องราวของมัน”
- ใช้เวลานานไหมในการตกหลุมรัก
“ใช้เวลาไม่นานมากครับ พอเราชอบเราก็เริ่มซื้อคู่ที่หนึ่ง คู่ที่สอง คู่ที่สาม คู่ที่สี่ แต่ที่นี่พอความชอบมา ก็เกิดความไม่พอใจ พอเราเห็นแล้วเรารู้สึกว่าคู่นี้สวยแต่มันไม่ควรใช้วัสดุแบบนี้ ตรงเส้นตะเข็บนี้ไม่ควรเป็นสีนี้นะ หรือไม่ก็ถ้าเป็นอีกแบบหนึ่งจะสวยกว่า เราก็เลยรู้สึกว่าถ้าเราทำมันเองเราจะได้ปรับมันให้เป็นสีที่เราชอบ”
“เราเกิดความคันแล้วอยากจะทำให้มันสวยกว่านี้ ก็เลยไปเรียนทำรองเท้า”
- ทำไมอยู่ๆไปหา
“เสิร์ชกูเกิ้ลอยากทำรองเท้าแล้วก็ไปเรียน หาโรงงานหาเครื่องจักร ตอนแรกผมก็โทรไปถามที่โรงงาน เขาก็บอกว่าถ้าอยากจะทำ ต้องรู้แพทเทิร์นรองเท้าก่อนว่าข้างบนเป็นผ้าหรือเป็นยาง เราก็ไปหาที่สอนทำรองเท้าเราก็ไปเจอละว่าอยู่ที่ไหน ตอนนั้นมันอยู่ที่วงเวียนใหญ่ที่กรุงเทพ เราอยู่เชียงใหม่ก็ลางานครึ่งเดือนเพื่อไปทำรองเท้ายาวๆ”
“ตอนนั้นทำงานมาได้ 3 ปีกว่า ไปเรียนจนรู้ว่ารูปแบบการขึ้นทรงเป็นยังไง มันต้องมีหุ่นที่เป็นเหมือนพลาสติกที่มันมีลักษณะเหมือนเท้าแล้วเราก็วาดลงไปแล้วเราก็เอาเทปนั้นแปะ ตัดกระดาษและชิ้นตรงนั้นก็จะเป็นแพทเทิร์นของรองเท้า แล้วเราก็ใช้ผ้ามาเย็บเอามาประกบกัน แล้วเอาเข้าเครื่องจักร”
“ที่เราเห็นตามสื่อ ก็คงเป็นอีกแขนงหนึ่งของการดีไซน์ แต่รองเท้ามันอาจจะต้องมีแปะหุ่นทำอะไรให้มันเป็น 3 มิติ จริงๆเราจะวาดในกระดาษก่อนก็ได้ แล้วค่อยวาดแปะอีกทีก็ได้”
- สิ่งที่เปิดโลก
“ตอนทำรองเท้าทำให้รู้ว่า จริงๆแล้วรองเท้าข้างซ้ายหรือข้างขวาผ้าทั้งสองฝั่งจะไม่เท่ากัน และเวลาเราจะขึ้นทรงแค่ข้างเดียวต้องทำหุ่นให้เลื่อมกันนิดหน่อย ทำให้เรารู้ว่ารองเท้าที่เราใส่โครงสร้างมันเป็นแบบนี้นะ ข้างหน้าเป็นชิ้นหนึ่ง ข้างหลังเป็นชิ้นหนึ่ง แล้วที่เราเห็นกว่าจะเป็นชิ้นหนึ่งมันประกอบไปด้วยผ้ากี่ชิ้นบ้าง มันทำให้เราเกิดความ appreciate ในรองเท้ามากขึ้น”
“กลับมาไฟลุกได้อยู่พักหนึ่งก็กลับมาซื้อจักรเย็บผ้ามานั่งทำเองเลย เราก็ใช้เวลาหลังจากเลิกงานนี่แหละครับ เย็บรองเท้าเลือกสีซึ่งที่เชียงใหม่ผ้า Canvas จะมีตัวเลือกน้อย เราเลยต้องโทรสั่งแล้วเราก็มาทำ เราก็ทำจนขึ้นเป็นทรงได้ละ แต่ถ้าเราจะทำรองเท้าให้มันขายได้เยอะๆ เราไม่สามารถเย็บวันละข้างได้ มันใช้เวลานานมาก ด้วยความที่เป็นรองเท้า Handmade แบบ 100% มันไม่สามารถทำให้มันเท่ากันได้ หรือถ้าจะทำให้ได้จริงๆต้องเป็นช่างที่มีประสบการณ์มากๆ แล้วรองเท้าต้องรูปแบบไม่ซับซ้อน เราก็เลยหาโรงงานผลิต ที่เขาจะผลิตให้เราได้”
- ตอนนั้นตั้งใจแล้ว?
“ตอนนั้นเรายังไม่มั่นใจเท่าไหร่ว่าเราจะมีแบรนด์ได้ไหมเพราะหนึ่งเลยมันต้องใช้ทุนเยอะ และทีนี้เราทำๆไป ถ้าเราทำเราจะทำเป็นแฮนเมดร้อยเปอร์เซ็นไม่ได้ มันต้องเป็นเครื่องจักรหรือช่างที่ชำนาญมากๆ”
- จังหวะที่เราเห็นว่าเป็นรูปเป็นร่าง
“ก็ต้องเป็นรองเท้าตัวแรกที่เราทำ มันเกิดมาจากมันชื่อรุ่นอัลฟ่า ที่มีสีบริเวณขอบตรงข้อเท้า เพราะวันหนึ่งเราขึ้นรถไฟฟ้าแล้วเห็นผู้หญิงคนหนึ่งใส่ถุงเท้าสีเหลืองแล้วรองเท้าสีขาวแล้วสีมันโผล่แค่ตรงขอบเท้า มันโผล่มานิดเดียวเรารู้สึกว่ามันสวยมากเลยแต่นั่นคือสีของถุงเท้าที่ Match กับรองเท้า เราเลยให้สีนั้นมาอยู่บนรองเท้าเลย ให้มันแปะบนรองเท้าเลย เราก็เลยดีไซน์มันขึ้นมาแล้วเอาแบบที่เราทำให้โรงงานดูแล้วก็ให้เขาช่วยทำให้มันใกล้เคียงกับความคิดเรามากที่สุด เมื่อสิ่งที่เราคิดอยู่ในหัวแล้วมันกลายมาเป็นวัตถุสามมิติที่เราสามารถจับต้องได้ รู้สึกดีใจมาก มันดีใจจนบอกไม่ถูก”
- อุปสรรค
“ตอนนั้นทำงานประจำอยู่ครับ ตอนได้รองเท้าคู่แรก ปัญหาในระยะยาว ณ วันที่เรายังทำงานประจำอยู่ก็คือเราทำงานคนเดียวเลย เราไม่มีทีมงานที่จะส่งของให้ เรานับสต๊อก ทำบัญชี ทุกอย่างเราทำด้วยตัวเราหมดเลย เมื่อเราต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งเพื่อจะไปส่งของให้ลูกค้ามันก็จะมาเบียดกับเวลางานประจำของเรา ซึ่งตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่าบอสจะกังวลไหม แต่เราก็พยายามทำงานของเราให้เสร็จตามที่กำหนดเอาไว้ แต่ว่าเรารู้สึกเกรงใจว่าเราเอางานของเรามาเบียดเวลางานหลัก เราก็เลยรู้สึกว่านั่นอาจเป็นปัญหาในระยะยาวได้ก็เลยตัดสินใจว่า ตั้งใจจะทำมันจริงๆอยู่แล้วนี่ ก็เลยลาออกมาทำเต็มตัว”
“คู่แรกที่ขายไป ผมยังไม่รู้วิธีตอบลูกค้าเลยจนหลังๆมาพึ่งมาจับคาแรกเตอร์ได้”
- มันมีปัญหาเรื่องไซต์รองเท้าไหม
“ถ้าเป็นอินเตอร์แบรนด์เขาจะมีไซต์ครึ่งให้ แต่ของเรามันจะไม่ละเอียดขนาดนั้นมันจะมีเป็น 7 8 9 US แต่ถ้าลูกค้าเคยใส่ 9.5 มาก่อนในซักแบรนด์หนึ่งเราอาจจะต้องแนะนำให้เป็นเบอร์ 9 ของเราเพราะว่า ถ้าพูดกันแบบไม่โฆษณาเกินจริง แบรนด์ของผมจะออกแบบให้หน้าเท้ามันกว้างกว่าปกติ บางแบรนด์ที่เป็นสนีกเกอร์หน้าเท้าเราจะกว้างกว่า ถ้าลูกค้าเคยใส่ 9.5 อาจจะใส่ 9 ของเราได้ แต่ถ้าใส่ไม่ได้เรามีบริการเปลี่ยนไซต์ฟรี ซึ่งเราเข้าใจดีว่าการเป็นแบรนด์ที่ไม่มีหน้าร้านอาจจะต้องมีความรับผิดชอบต่อลูกค้าเยอะๆ เคยมีลูกค้ามาขอเปลี่ยนไซต์สามครั้ง ผมก็ให้เปลี่ยน”
- ตัดสินใจยากไหม ออกจากงานประจำ
“ตัดสินใจหลายคืนอยู่นะครับ และก็กังวลมาเรื่อยๆว่างานที่เป็นความฝันจะทำควบคู่กับงานประจำแล้ววันหนึ่งมันจะมาเบียดกัน และถ้าเราออกไปมันจะรอดไหม การขายแค่รองเท้าอย่างเดียวมันจะเลี้ยงชีวิตเราไปได้ไหม และเราก็ทำคนเดียวไม่ได้มีทีมมาร์เก็ตติ่ง หรือ โฆษณา กลยุทธ์เราก็ทำคนเดียว เราค่อนข้างเครียดอยู่เหมือนกัน แต่วันนั้นที่ตัดสินใจออกมาเพื่อทำรองเท้า ถ้าเราไม่ตัดสินใจเราอาจจะเสียใจมากกว่า”
“จังหวะที่เอาวะ มันเกิดจากรูปแบบงานเดิมของเรามันเป็นคอมฟอร์ตโซนและไม่ได้พลิกแพลงอะไรมากนัก เราก็เลยรู้สึกว่าเอาวะ ลองท้าทายตัวเองโดยการทำสิ่งที่ไม่คุ้นเคยอย่างการทำแบรนด์รองเท้า เราตัดสินใจง่ายด้วยเพราะเราตัวคนเดียว”
“คิดอยู่เหมือนกันว่าถ้าเราอายุมากกว่านี้ คงจะไม่บ้าบิ่นเท่านี้ก็ได้ เพราะฉะนั้นการที่เราลองกระโดดออกมาก็ดี ถ้าเราจะเจ็บจะล้มเหลวก็คงดีกว่าให้มันล้มเหลว ณ วันนี้ไปเลย ได้รู้ดีกว่าไม่รู้”
- สิ่งที่ต้องเจอเมื่อมาเป็นผู้ประกอบการ
“ด้วยความที่เราไม่มีความรู้เรื่องการตลาดและทำบัญชีก็ไม่เป็นเลยไม่มีความกลัว ตั้งแต่แรกเลย เราจะกลัวทำไมเพราะเราไม่รู้ว่าจะกลัวอะไร”
“แรกๆก็มีคนแนะนำว่าถ้าเราทำธุรกิจต้องมีการลงทะเบียนนะ ต้องทำบัญชีรายรับรายจ่าย ต้องวางแผนด้วยนะว่าจะใช้ค่า PR เป็นกี่เปอร์เซ็นของรายรับหรือยอดขาย เราก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้างเพราะบางสิ่งเราก็ไม่ค่อยเข้าใจ แต่เราก็คลำๆมันมาเรื่อยๆ พอเราเริ่มคำนวนเป็น เราก็รู้ละว่าแค่ตรงไหนควรพอ”
- สิ่งที่เรียนรู้ในการออกมาทำธุรกิจของตัวเอง
“การลงทุนมีความเสี่ยงครับ เราควรจะรู้ว่าเราทำอะไรอยู่และวางแผนทางการเงินให้ดี ไม่ว่าจะของส่วนตัวและธุรกิจด้วย อย่างของผมเราทำคนเดียว บัญชีส่วนตัวกับบัญชีธุรกิจมันสลับกันนิดหน่อย บางทีมันก็ปนกันมั่วหน่อย”
“อีกสิ่งที่เราเรียนรู้ระหว่างทำงานก็คือ แม้เราจะขายหรือคิดเองคนเดียวเราก็ต้องทำงานร่วมกับคนอื่นด้วย เช่น อินฟลูเอนเซอร์หรือคนอื่นๆ มันทำให้เราต้องศึกษาว่าวิธีการที่ว่าต่อให้สินค้าเราจะดีแค่ไหน แต่ถ้าเราทำการตลาดไม่เป็นมันอาจจะไปไม่ถึงสายตาของลูกค้าได้”
- การเข้าหาลูกค้าของเรา
“คาแรกเตอร์ของเราเป็นคนกวนๆ ตอนนี้ที่เพจก็เลยเป็นแบบนั้น แต่ตอนที่เราโพสต์ขายแรกๆก็จะค่อนข้างจริงจัง ถ้าเราดูแฟชั่นอื่นเขาก็จริงจัง โพสต์รูปภาพพร้อมกับโมเดล คนหล่อคนสวยมาใส่ให้ดูเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แรกๆเราก็ทำแบบนั้นเหมือนกัน เราจ้างนายแบบ นางแบบมาใส่แล้วก็โพสต์ขายอย่างจริงจังไปเลย แต่มันอาจจะนิ่งๆด้วยความที่สินค้าเราอยู่ในที่ทางที่สวยแล้วแหละ แต่ว่ามันนิ่ง เราอยากให้มันเกิดการ engagement การเข้ามาถึงที่ทางของเรามากกว่านี้ เราไม่อยากเป็นแค่แบรนด์ขายรองเท้า ที่แค่สวยๆ”
“แรกๆเราก็ไม่กล้าแต่ด้วยความเป็นตัวเราที่จริงๆแล้วเราเป็นคนที่สนุกสนานเฮฮา เราสามารถคุยกับคนได้หลากหลาย เราเลยแย็บๆโพสต์อะไรตลกๆ ขำๆเฮฮา มันก็เริ่มมีคนมารีแอคกับเรา มีคนมาชวนคุยแม้จะไม่ซื้อเลยก็ตาม แต่มันก็ได้ทางอ้อม พอเราโพสต์อะไรตลกๆก็มีคนอยากติดตามเราต่อไป อยากจะแชร์รูปภาพรองเท้าหรือมุขตลก ถ้าเราใช้วิธีเดิมอาจจะไม่เกิดการ engagement เหมือนวันนี้ ก็คือคลำทางมาเรื่อยๆน่ะครับ”
“เราก็ค่อยๆเรียนรู้ว่าคนรับเลเวลนี้แต่เราจะไม่เกินเลยไปถึงขั้นทะลึ่งตึงตังหรือหยาบคาย”
“เราใช้วิธีสื่อสารด้วย MEME ซึ่งมันเป็นวิธีสื่อสารใหม่ของ Gen Z และ Gen Alpha คนเจนอื่นอาจจะเข้าใจว่านี่ตลกนะ นี่ขำนะแต่เราคงไม่ได้เป็นผู้ผลิตมันออกมา แต่พอเราผลิตมันออกมา มันก็ไปถูกจริตคน Gen Z คนเจนนี้ก็เลยเข้ามาในเพจมากกว่าเจนอื่นๆ แล้วที่นี่พอเป็นเด็กที่เขาเห็นมีมแล้วมาติดตาม ช่วงแรกก็ยากที่จะควบคุมนิดหนึ่ง แต่ใช้เวลาเรียนรู้สักพักหนึ่ง บางวันเยอะบ้าง น้อยบ้างก็ต้องมา HomeRoom กันหน่อย ทุกคนก็เข้าใจ”
- กลุ่มลูกค้าตอนนี้
“เป็นกลุ่ม 20 ต้นๆ และมีต่ำกว่าเล็กน้อย แต่คนที่มา engage กับเราจะเป็น Gen Z”
- ขยายตลาด
“เราอยากนะครับ มันเป็นความฝันของผู้ประกอบการที่เขาเป็นเจ้าของแบรนด์ ถ้าใครเป็นเจ้าของแบรนด์เขาน่าจะอยากไปออกบู้ทส์ และอยากให้สินค้าของเราได้แสดงออกมาในวงกว้างที่สุด แต่ด้วยว่าการออกบู้ทส์หรือจัดแสดงสินค้ามันต้องใช้งบประมาณและต้องมีคนช่วยเหลือด้วย อย่างผมทำคนเดียวแทบจะทั้งหมดเลยยากหน่อยที่จะไปออกบู้ทส์หรือแสดงสินค้าที่นู้นที่นี่ แต่ถามว่าในอนาคตถ้ามีโอกาสเราจะไปครับ”
“ตอนนี้ทำมาประมาณ 2 ปีกว่า แต่ตั้งไข่กับมันมาก็ประมาณ 2018 ก็ 3 ปีกว่า เกือบ 4 ปี ทุกวันนี้สนุกกับทุกข์มาแบบแบ่งๆกันไป แต่น่าจะสนุกมากกว่าด้วยความยากลำบากหรือสิ่งที่เราต้องเรียนรู้กับมัน มันไม่ได้บั่นทอนจนรู้สึกว่าไม่อยากทำแล้ว”
- มีช่วงเวลาบั่นทอนไหม
“ช่วงที่รู้สึกเครียดมากๆคือช่วงที่ยอดขายมันตกแล้วเราไม่รู้ว่า ควรจะทำยังไงให้ยอดกระเตื้องขึ้นมา เป็นช่วงที่เรียนรู้อยู่”
“ช่วงที่ยอดตกเราก็พยายามบูทส์โพสต์ และโฆษณาแต่มันไม่เวิร์ค เราก็เลยค้นพบวิธีโปรโมตวิธีอื่นเช่นโพสต์อะไรตลกๆก็เลยกลายเป็นคาแรกเตอร์แบบที่เห็น”
- ลูกค้าซื้อไปแล้วกลับมาซื้อซ้ำ
“ครั้งหนึ่งเคยมีลูกค้าซื้อไปแล้วสองคู่แต่เราเอ็นเตอร์เทรน กับเขา เขาก็บอกว่าพ่อค้าตลกมากเลย มาๆเอามาอีกสองคู่แล้วเขาก็ซื้อ ตอนนั้นเลิฟมาก”
- ตอนนี้มีสองรุ่น
“ตัวอัลฟ่าหน้าเท้ามันจะเป็นเหมือนแหลมๆออกมา ซึ่งจริงๆแล้วตั้งใจให้มันเหมือนลูกศรที่ชี้ไปข้างหน้าเมื่อเราใส่แล้วเราจะเหมือนเดินไปข้างหน้าตลอดเวลา มันล้อกับโลโก้ของเรา แต่ด้วยความรู้สึกที่เราออกแบบมันเอง พอเราขายๆไปเรารู้สึกว่าดีไซน์นี้มันค่อนข้างที่จะแหลมคมไป เราเลยอยากทำรุ่นสองให้เป็นโค้งมนเป็นตัวอยู่ เปลี่ยนวัสดุมันแล้วก็ตะเข็บที่เป็นรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่เราปรับ ซึ่งมันจะยังมีครอบอยู่แต่เราตัดสีมันออก หน้าตาก็เปลี่ยนเลยเปลี่ยนชื่อมันสักหน่อย”
- ต่อไปอยากทำรองเท้าอยู่ไหม
“ถ้า ณ วันนี้เราอยากทำรองเท้าไปเรื่อยๆ ให้แบรนด์เราเป็นสนีกเกอร์ที่น่าจดจำ ให้มันเป็นสิ่งแรกที่ลูกค้าจะจดจำว่าเราโดดเด่น ที่ผ่านมาเราก็เพิ่มเชือกรองเท้าเป็นเครื่องประดับเล็กๆน้อยๆ มีหมวกด้วย แต่สิ่งที่ได้รับความนิยมที่สุดเลยเป็นสนีกเกอร์ เราเลยโฟกัสที่จะทำรองเท้าสีใหม่ๆแบบใหม่ๆขึ้นมา”
- มันมีนวัตกรรมไหม
“นวัตกรรมจริงๆแล้ว มันคือเทคโนโลยีที่แบรนด์ใหญ่ๆมันใส่เข้าไปอาจจะเป็นเมมโมรี่โฟม ที่เหยียบแล้วคืนตัวหรือการเอายางเศษวัสดุเหลือทิ้งมาปั่นแล้วหล่อ ให้เป็นพื้นยางหรือเป็นผ้าแคนวาส มาเป็นผ้าถักทอให้มันเบาและระบายอากาศมากขึ้นของแบรนด์ใหญ่ๆที่เขาต้องพัฒนาและใส่มากเรื่อยๆ ลูกค้าจะสัมผัสได้เอง แต่ของเราอาจจะไม่ได้ใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมาก แต่ของเราสามารถโฆษณาได้ว่าใช้ยางพาราไทย เราอาจจะไม่ได้ใช้เทคโนโลยีมากแต่เราสนับสนุนเกษตรกรไทย”
- รู้สึกตัวเองเติบโตขึ้นไหม
“รู้สึกปลอดภัยมากกว่าช่วงที่ทำใหม่ๆเพราะตอนนั้นเราไม่มี Know how อะไรเลยที่จะทำเพจ ทำแบรนด์ การที่จะทำให้แบรนด์เราเป็นที่พูดถึงหรือหน้าฟีดแต่ตอนนี้เราทำมาได้นานแล้วเป็นปีแล้ว เราก็เลยรู้ว่าต้องทำประมาณนี้นะ ว่าเราทำแล้วมันขายดีเราก็เอามาเสิร์ฟ หรือทำมันมาเพิ่มอย่าไปอินดี้มาก ถ้ามันขายดี อย่าไปหยุดขาย”
“ถ้าเราเป็นแบรนด์หน้าใหม่อย่าอินดี้ขนาดนั้นเลย”
- ตอนนี้ถึงจุดที่อยากกลับไปทำงานประจำ
“ต้องโทษโควิดด้วยละครับ มันทำให้เศรษฐกิจชะงัก พอมันชะงักเราเลยขายสินค้าของเราได้น้อยลง และมันเป็นสินค้าแฟชั่นที่คนจะหยุดซื้อเป็นอย่างแรกๆ”
“ในช่วงก่อนจะตัดสินใจกลับไปทำงานประจำ ตอนนั้นมันเป็นช่วงที่เราขายสินค้าได้ดีแต่เราดันหยุดขาย และประจวบกับเศรษฐกิจมันแย่เราเลยคิดว่าเราจะกลับไปทำงานประจำ ไปสะสมทุนใหม่แล้วช่วงนี้ก็จะเรียนรู้การตลาดไปด้วย แล้วค่อยกลับมาอย่างเต็มตัวในอนาคต”
“ตอนนี้เราก็ยังขายอยู่เรื่อยๆนะครับ แต่ว่าเราอาจจะไม่ได้โฟกัสการทำสีใหม่แบบทันทีเราค่อยๆทำมันอย่างช้าๆ”
- อยากมีหน้าร้านไหม
“อยากครับ อยากมีมากๆ เพราะหนึ่งเลยเราอยากเจอลูกค้าเราอยากเจอตัวเป็นๆ ของเขา และเราก็คิดว่าลูกค้าก็น่าจะอยากเจอเราด้วย เพราะเขาอาจจะอยากเล่นกับเรา ถ้าเรามีโอกาสได้เจอเขาจริงๆ เราอาจจะสร้างเป็น Community Sneaker”
- อยากมีรองเท้า Customise ไหม
“เคยคิดครับ แต่ว่า cost มันจะสูงมากๆ”
- ต่อไปในอนาคตสำหรับตัวเอง
“ณ วันนี้อยากทำรองเท้าให้มีหลากหลายมากกว่านี้อยากมีสี มีโมเดลมากกว่านี้และมียอดขายที่สม่ำเสมอต่อเดือน”
- เมืองไทยมีแบรนด์เยอะไหม
“ถ้าเป็นเฮาส์แบรนด์ก็มีสิบกว่าเจ้านะครับ เราคิดว่ายังมีคนที่ต้องการรองเท้าที่มีสตอรี่ที่แตกต่าง ที่มันไม่เหมือนใคร เราเองยังอยากทำรองเท้าของเราเอง แต่ถ้าวันหนึ่งจะมีคนชอบสิ่งที่เราดีไซน์คงจะเป็นเรื่องที่เรายินดีมากๆเลย”
- เห็นคนอื่นใส่รองเท้าของเรารู้สึกยังไง
“โอ้โห มันอยากจะกรี๊ดออกมาตอนนั้นเลยครับ มันคงเป็นความรู้สึกเหมือนผู้กำกับหนังที่ทำหนังแล้วคนไปดู แต่ถ้าเป็นผู้กำกับเขาจะรู้ว่าต้องไปที่โรงหนังแต่รองเท้าเราไม่รู้ว่าเขาจะไปใส่ที่ไหนและยิ่งเป็นแบรนด์เล็กมากๆ ถ้าเราบังเอิญเจอใครสักคนที่เราไม่รู้จักเขาเลยใส่รองเท้าของเราอยู่ มันเป็นความรู้สึกที่ Fullfill มากๆเลยใจฟูมากๆ”
“เราไม่เคยทักเขานะ บางทีเขาอาจจะแค่อยากซื้อรองเท้าเราไม่ได้อยากรู้จักเรา แต่เราดีใจ ถ้าลูกค้าทักเราก่อนเราก็เข้าไปคุยได้”
- ถ้ามีน้องคนหนึ่งอยากทำธุรกิจจะแนะนำหรือบอกกับเขาว่ายังไง
“ถ้าเขาอยากทำธุรกิจ ถ้าเป็นเมื่อสองสามปีก่อนจะแนะนำว่าให้ดูแพชชั่นว่าเราอยู่กับมันแล้วมีความสุขไหม แต่ถ้าเป็นสถานการณ์ ณ ปัจจุบันคงถามว่า วางแผนทางการเงินไว้โอเคแล้วใช่ไหม มีทุนทรัพย์มากพอแล้วใช่ไหม ถ้าเรื่องทุนไม่ได้เป็นปัญหา เรามาดูว่าคุณอยากทำอะไรแล้วชอบสิ่งนั้นจริงๆหรือเปล่า คุณทำมันแล้ว แล้วมันไม่ใช่ตัวตนแต่มันเลี้ยงคุณได้คุณจะโอเคไหม คุณคิดว่าพร้อมจะตายไปกับสิ่งนี้ได้ไหม ถ้าเรารู้สึกอย่างนั้นก็ไม่มีอะไรให้ต้องรอครับ ทำไปเลยปัญหาต่างๆมันจะเกิดขึ้นแน่นอน เพราะฉะนั้นเวลาทำอะไรผมจะไม่คิดว่าเราจะเจอกับปัญหาอะไรแต่ผมจะคิดว่าปัญหาจะเจอแน่ แต่เราจะไปแก้มัน”
“ถ้าเราคิดถึงปัญหาแรกก่อนจะเริ่มทำมันจะทำให้เรากลัวและไม่กล้าทำ”
ช่องทางติดต่อ
เฟซบุ๊คแฟนเพจ : FINCH Sneakers
เบอร์โทรศัพท์ : 086 659 6103