อีโก้คือศัตรู ปัญหาคือทางออก : วัฒน์ธนากร คำสุข กับบทเรียนและการเติบโตของ Flips & Flips Homemade Donuts
ในช่วงที่เมืองเชียงใหม่สงบและไร้ซึ่งนักท่องเที่ยวพลุกพล่าน หลายๆร้านค้าบ่นเป็นเสียงเดียวกันเลยว่าค้าขายไม่ดี หรือบางทีก็ต้องกระโดดเข้ามาจับตลาดออนไลน์ที่เป็นสนามแข่งขันที่โหดร้าย ยังมีร้านหนึ่งของเชียงใหม่ที่ความวุ่นวายยังไม่ได้ลดลง ออเดอร์ต่างๆยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง มีการขยายช่องทางและรูปแบบการขายที่ไม่หยุดนิ่ง ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา คำสัญญาของ “คุณเอ้-วัฒน์ธนากร คำสุข” ที่จะเปิด 11 โมงเช้าทุกวันเพื่อขายโดนัท “Flips & Flips Homemade Donuts” ให้ลูกค้ายังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าวันนั้นจะเป็นวันที่แสนวุ่นวายหรือเหน็ดเหนื่อยแค่ไหนก็ตาม
คงจะไม่พูดเกินจริงไปถ้าจะบอกว่าร้านโดนัท Flips & Flips ของคุณเอ้ ได้ขึ้นแท่นเป็นร้านในตำนานที่ครองใจคนเชียงใหม่และได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องไปแล้ว (ที่จริงร้านนี้มีแฟนคลับเรียกได้ว่าทั่วประเทศไปแล้วนะ) ประวัติความอร่อยของสูตรโดนัทที่เริ่มจากคุณเอ้และคุณฝ้ายอยากกินโดนัทที่นุ่มและเบา เห็นร้านโดนัทเล็กๆในรายการ food network ของอเมริกา จนตอนนี้กลายเป็นร้านค้ายอดขายอันดับหนึ่งของ Busy Rabbit Platform ไปแล้ว ทำให้ต่ายอดไม่ได้จริงๆที่จะต้องกลับไปสัมภาษณ์คุณเอ้อีกครั้งถึงแรงผลักดัน แรงบันดาลใจและมุมมองในการทำธุรกิจ ว่าตลอด 6 ปีที่ผ่านมานั้นเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้างตั้งแต่โดนัทวงแรกที่ทำ (ที่คุณเอ้บอกว่าตอนนั้นหมาที่บ้านยังเมินเลย)
การเรียนจบสายสถาปัตย์ทำมีโอกาสได้เดินทางทำงานออกแบบ เขียนแบบ งานถ่ายภาพ พรีเว็ดดิ้ง ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศอยู่พักใหญ่ กลับมาเป็นฟรีแลนซ์ ตอนนั้นก็อยากมีอาชีพที่มั่นคงเพราะรู้สึกว่าฟรีแลนซ์แม้จะอิสระ แต่ก็รายได้ไม่มั่นคงรู้สึกว่าอยากทำธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำให้ตัวเองมากกว่า หลังจากนั้นเลยลองทำธุรกิจเล็กๆหลายอย่าง เช่น น้ำผักผลไม้ปั่น เครื่องประดับ ฯลฯ ลองทำแล้วล้มลุกคลุกคลาน อุปสรรคและความลองแล้วล้มหลายต่อหลายครั้งกลายเป็นมีคุ้มกันที่ทำให้คุณเอ้พร้อมจะลองไอเดียใหม่ๆได้อยู่เสมอ
“ตอนนั้นเราก็อยากได้เงินรายวันด้วยแหละ เพราะฟรีแลนซ์ที่เราทำอยู่บางเดือนก็ไม่มีเงินเลยถ้าเรามาทำงานที่ได้เงินวันได้มากได้น้อยก็อาจจะดีกว่าเพราะเราใช้เงินทุกวัน”
“เรื่องที่คลิกจริงๆเลยเนี้ย ตอนนั้นพี่ชายผมมาเล่าให้ฟังว่าร้านก๋วยเตี๋ยวแถวๆที่ผมเรียนอยู่ เขาเซ้งร้าน ช่วงพีคๆเขาขายได้วันหนึ่งประมาณ 6,000 บาท ช่วงที่ขายไม่ดีก็ได้ 3,000 บาทต่อวัน ผมก็มาคิดว่าเงินที่ผมได้ต่อเดือน ถ้ามาคิดเป็นรายวันมันได้วันละเท่าไหร่กัน แต่เขาขายก๋วยเตี๋ยวได้ 6,000 เราก็มาคิดละว่าตอนนั้นจะทำยังไงดี ให้มีรายได้แบบนั้น”
ความเป็นพ่อค้าและนักธุรกิจนั้นที่จริงไม่ใช่เรื่องไกลตัว ครอบครัวของคุณเอ้ทำธุรกิจค้าขายอยู่มาหลายรุ่น อย่างคุณแม่ก็ขายผ้า คุณพ่อก็เคยทำธุรกิจที่ถวาย เปิดร้านขายโคมไฟและคุณปู่คุณย่าก็ขายของชำมา ฝั่งบ้านแฟนของก็ค้าขายเหมือนกัน ช่วงที่เรียนก็มีการทำงานฝีมือขายเป็นรายได้เสริมที่ถนนคนเดินอยู่บ้างด้วย
ร้าน Flips&Flips ตอนที่เริ่ม เริ่มต้นจากไอเดียเล็กๆของ คุณฝ้าย(แฟนคุณเอ้) คิดว่าอยากลองทำดู พออยากทำก็ไปซื้อของมาทำเลย อาจเพราะความอยากกินของคุณเอ้ด้วย
“เราก็ไม่ต้องคิดอะไรมากเพราะว่าหลายๆอันลองมาแล้ว แล้วมันก็เฟลเพราะว่าหลายๆอันลองมาแล้ว แล้วมันก็เฟล — เราก็แค่ลอง ถ้าพูดแบบสตาร์ทอัพผมก็คงจะเป็นพวก fail fast แต่ fail ในต้นทุนที่ต่ำ ผมก็แค่อยากลองทำโดนัทที่นุ่มและดีที่สุด จากนั้นเราก็ไปที่ร้านค้าหาวัตถุดิบต่างๆ ความคิดแรกสุดของเราเลยก็คือซื้อวัตถุดิบที่ราคาแพงที่สุดมาทำ มันต้องอร่อยสิ แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น”
“ลูกค้ากลุ่มแรกจริงๆก็น่าจะเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊คครับ ด้วยความที่เราเป็นดีไซเนอร์ ช่างภาพเราก็ตกแต่ง prob ขายอย่างนั้นเป็นปีเลยก่อนจะมีหน้าร้าน ตอนนั้นผมก็ไม่ได้ใช้ทุนอะไรมากมีตู้มีโต๊ะ — ถ้าถามว่าสมัยนี้หน้าร้านสำคัญไหม ถ้าเรามองตามรุ่น คนรุ่นนี้ก็อาจจะไม่ยึดติดอะไรกับหน้าร้านแล้วแต่การมีหน้าร้านมันจะดูมีตัวตน มีความน่าเชื่อถือ ถ้าจะไม่มีหน้าร้านก็ต้องสร้างแบรนด์ให้มีความน่าเชื่อถือมากๆ ถ้าจะให้ผมแนะนำกับคนรุ่นใหม่ที่อยากลองทำธุรกิจผมว่าลองทำสเกลเล็กก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน เริ่มจากสเกลเล็กๆ”
ในตอนนั้นถ้ามองย้อนกลับไป ถ้าไม่ทำโดนัทจะทำอะไรครับ?
ถ้าผมไม่ทำโดนัท ผมก็คงทำธุรกิจอย่างอื่น สำหรับผมแล้ว ถ้าทำงานตอนนั้นเราทำตามกิเลสเรา ถ้าเราเป็นลูกน้องเขาเราอาจจะไม่ได้มุมมองที่กว้าง เราอาจจะไม่ได้เกลาตัวเอง ไม่ได้เห็นมุมของเจ้าของธุรกิจการเป็นเจ้าของธุรกิจมันสำคัญมากในการเติบโต
ตลอด 6 ปี ที่ผ่านมา คุณเอ้ยังคงเปิด 11 โมงตรงเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน เพราะอะไรเหรอครับ?
และด้วยการกลับมาพบกันในรอบ 3 ปีได้ ต่ายก็เลยถามถึงมุมมองของน้องเอ้ในการดำเนินธุรกิจ การเติบโตว่าทุกในปัจจุบันนี้รู้สึกว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปไหม และเรารู้สึกยังไงบ้าง
“ตอนนี้ผมทำมาเกือบ 6 ปี มุมมองผมเปลี่ยนครับ เปลี่ยนแน่นอน เพราะการทำธุรกิจทำให้เราได้เรียนรู้ในทุกวัน ผมรู้สึกว่าเราโชคดีมากที่ได้มาทำขนมและระหว่างที่ทำเรามีเวลาประมาณ 10 ชั่วโมงต่อวันในการทำ มือเราทำหูเราถ้าฟังเพลงก็ไม่ได้อะไร ผมเลยเริ่มที่จะฟังพ็อดแคส ฟังหนังสือเสียง ฟังธรรมมะ อะไรก็ตามที่เป็นความรู้ การเงิน หุ้น ทุกอย่างที่ผมสนใจผมสามารถใช้เวลาที่ทำโดนัทเนี่ยฟังได้ทั้งหมดเลยและสิ่งเหล่านั้นมันก็เพิ่มพูนความรู้และทำให้เราได้พัฒนาตัวเองไปเหมือนกัน”
“มันจะมีจุดหนึ่งที่เรารู้สึกว่าเรามีอีโก้สูงมาก เราไม่แคร์ใครและเราเริ่มรู้สึกแล้วว่ามันไม่ใช่ตัวเองแล้ว — จุดที่กระชากผมลงมาก็คือทุกครั้งที่เราขายไม่ดี มันจะทำให้เราได้ทบทวนตัวเอง ทำให้เราได้เห็นว่าเราทำผิดพลาดตรงไหน ไม่ว่าจะเป็นตัวเรา ขนมเรา บริการเรา ทีมงานเรา หรือว่าการตลาดของเรา และทุกครั้งที่เราได้ทบทวนตัวเอง เราก็จะเห็นว่าตรงไหนที่เป็นอีโก้ ตรงไหนที่เราไม่ดี”
“และอีกอย่างการที่ผมได้ฟัง Podcast ต่างๆ ก็ทำให้ผมรู้สึกว่าเรายังไม่ดีพอ การที่เราจะสำเร็จได้เราต้องถ่อมตัว เมื่อเราเอาเรื่องนี้ไปผนวกกับศาสนาที่เป็นธรรมะ ที่แก่น ก็เลยทำให้เรารู้ว่า อันไหนที่เป็นธรรมชาติ อันนั้นจะอยู่รอด เราก็เลยพยายามดึงตัวเองลงมาไม่ให้ไปยึดติดกับอีโก้ และทำให้อารมณ์เบาลง ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้เรามีมุมมองชีวิตที่ใสขึ้น ละเอียดขึ้น เพราะการมองที่เราพยายามมองให้เยอะขึ้น โดยพยายามมองจากตัวเองก่อน”
ต่อมาต่ายก็ได้ถามถึงอุปสรรค คุณเอ้บอกตามตรงว่าปัญหาเนี่ยก็มีมาเรื่อยๆ อย่างเครื่องจักรที่ซื้อมาตอนนี้ก็ยังมีปัญหา เงินก็ยังค้างอยู่มันเหมือนเป็นคำสัญญาที่ให้ไว้กับแม่ที่เป็นหุ้นส่วน แต่เรายังทำให้เห็นผลไม่ได้ คุณเอ้รู้สึกเฟลมากๆแต่การทำธุรกิจก็ยังต้องดำเนินต่อไป
“ผมก็มาถามตัวเองว่าในสถานการณ์อย่างนี้ผมทำอะไรได้บ้าง ในเมื่อเราก็ยังทำอะไรไม่ได้เราก็เลยต้องค่อยๆแก้ปัญหาไปทีละจุด อย่างการแก้ปัญหาองค์กรที่ยังไม่ดี บางครั้งเราก็รู้สึกว่ามันล้า มันเหนื่อยแบบว่ากว่าจะขาย กว่าจะหมด เราก็ต้องค่อยๆแก้ไป”
“เมื่อเจอปัญหาบางครั้งผมก็เอาลูกค้ามาเป็นที่ตั้งถึงแม้ว่าเราจะมองว่าเขาไปกินร้านอื่นก็ได้ แต่ถ้าเรามองว่าเขารักในแบรนด์เรา เขาอยากกินของเรา ถ้าเราหยุดเขาก็ไม่ได้กินละ ผมก็ขี้เกียจไม่ได้เลย อย่างแพลตฟอร์มพรีออเดอร์ของต่ายเนี่ย เราขี้เกียจไม่ได้เลยนะ ลูกค้าบางคนเขาจองไว้เป็นเดือนแล้ว เขาจ่ายเงินอะไรเรามาเสร็จสรรพมีลูกค้ารอเราอยู่ บางวันมีพรีออเดอร์มาแค่คนเดียวเราก็ต้องทำ เราก็แค่ตั้งใจทำไปเรื่อยๆ ถ้าเหนื่อยถ้าเพลียก็นอนแล้วค่อยลุกขึ้นมาใหม่”
คำถามต่อมาที่ต่ายอยากถามก็คือในอีก 5 ปีข้างหน้าคุณเอ้อยากเห็น Flips&Flips เดินไปในทิศทางไหน
“จริงๆแล้วสำหรับผม ผมมีเป้าหมายที่อยากจะเห็นสำหรับองค์กรผมอยากสร้าง Supervisor เพื่อจะขยายสาขา อยากปั้นเขาให้ไปขยายสาขาให้ แต่ถ้าเป็นตัวผม ผมก็อยากจะทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน วิ่งให้ได้มากกว่าเมื่อวาน”
พอคุยกันมาถึงตรงนี้ต่ายก็รู้สึก เอ๊ะ ขึ้นมาละครับเพราะว่าครั้งแรกที่เจอกันน้องเอ้ไม่ได้สนใจเรื่องการขยายสาขาเลย
“ตอนนั้นมันมีช่วงหนึ่งที่ผมหาผู้จัดการร้านแล้วก็มีคุณคนหนึ่งมาสมัคร ผมก็นัดกินข้าวเย็นด้วยและเราก็คุยกัน เขาถามผมถึง JD (เจดี) ซึ่งตอนนั้นผมไม่รู้เลยว่านั่นคืออะไร JD คืออะไรไม่ได้ทำวัดซักหน่อย แล้วเย็นนั้นผมก็ได้คุยกับเขาก็ทำให้ได้รู้ศาสตร์ของ HR หลายอย่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมต้องศึกษาเพิ่ม เพราะอย่างแต่ก่อนผมไม่รู้อะไรเลย เอาวัดตามพอใจ”
“การคุยกันครั้งนั้นมันจุดประกายการปั้นงาน บริหารคนขึ้นมา ผมก็นึกถึงการขยายสาขาแต่ผมก็ยังกลัวเฟรนด์ชายอยู่นะเพราะถ้าเขาเอาไปเขาจะทำอะไรกับมันก็ได้ สำหรับผมขายเฟรนชายด์ก็เหมือนการฆ่าแบรนด์ แต่การขยายสาขามันยังมี core value ที่เราคุมได้ ทีมงานของเรา คนที่เราปั้น หลังจากวันนั้นผมก็ไปศึกษาเรื่อง HR เพิ่มขึ้น มันก็เลยเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมมองเห็นโอกาสที่จะขยาย”
ก็เป็นที่รู้กันดีว่า การเปิดร้านเบเกอร์รี่ขึ้นมาสักร้านหนึ่งเนี้ยใช้เวลาเยอะมากๆ ทุกวันต้องใช้เวลาเตรียมตัวมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน ต่ายก็เลยถามถึงการบริหารเวลาของน้องเอ้ว่าทำยังไงให้มีเวลาเพิ่มจาก 24 ชั่วโมงเป็น 30 ชั่วโมงต่อวัน เฮ้ย ไม่ใช่! ถามว่าคุณเอ้มีการจัดสรรเวลาในแต่ละวันยังไง
“ถ้าวันไหนหนักจริงๆก็จะหลับแล้วไปออกกำลังกายครับ เข้ายิมได้ก็เข้า ปั่นจักรยานได้ก็ไป เพราะตอนแรกผมก็ทำงานไปละไม่ได้ออกกำลังกายแต่พอผมมาออกกำลังกาย ผมก็รู้ว่าการออกกำลังกายมันไม่ใช่การใช้แรงเพิ่ม แต่มันคือการชาร์จแบตและเพิ่มพลัง พอผมออกกำลังกายแล้วการทำงาน 13 ชั่วโมงก็เป็นเรื่องธรรมดา”
คุยเรื่องมุมมองธุรกิจ ข้อคิดและประสบการณ์ระหว่างทำร้านมาได้สักครู่แล้ว ก็ถึงช่วงของการถามมุมมองของน้องเอ้ว่า ทั้งหมดที่เราทำมาเนี้ยคิดว่าร้าน Flips&Flips มาถึงตรงนี้ได้เป็นเพราะ Skill หรือ Luck หรือเพราะอะไร? น้องเอ้ตอบต่ายมาว่าทุกอย่างมันคือเหตุปัจจัยที่มารวมกันครับ
“ผมว่าความสำเร็จนี้เกิดจากเหตุปัจจัยประกอบกันให้เรามาถึงจุดนี้ มันเกิดจากการที่เก็บสะสมความจริงและพัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ มันก็คือความจริงที่เราปฏิบัติและสะสมกันมา ถ้าผมอีโก้เยอะๆผลลัพธ์ตอนนี้อาจจะไม่เป็นแบบนี้มันอาจจะเป็นแบบอื่น ลูกค้าอาจจะหาย ทีมงานอาจจะหาย แต่เราถ่อมตัวผลก็น่าจะเป็นอีกแบบหนึ่ง ผมก็เลยคิดว่าทุกอย่างเป็นปัจจัย”
“ต่อมาโชคเกี่ยวไหม เกี่ยวนะ แต่ส่วนตัวผมเอง ผมไม่ได้เอาโชคเป็นที่ตั้ง ไม่อย่างนั้นผมอาจจะยึดว่าพรุ่งนี้ผมจะโชคดี ผมจะขายได้เยอะ วันพรุ่งนี้ผมอาจจะโชคไม่ดีผมก็จะไม่ทำขายเยอะ ถ้าผมเชื่อเรื่องโชค ถ้าผมอิงกับโชคความซวยก็จะมาเยือนเพราะอะไรผมก็จะโทษโชคไปหมด ผมอาจจะไม่อยากศึกษาเพิ่ม ผมอาจจะไม่อยากไปคุยกับคนนั้นคนนี้เพราะผมเชื่อเรื่องโชค หรือถ้าผมเชื่อว่าตัวเองโชคดีผมก็อาจจะทำอะไรไปเรื่อยและมันก็จะเสี่ยงอีก ถ้าผมเชื่อแต่โชคเรื่องเดียว”
“ส่วนเรื่องของสกิล ผมว่าก็เกี่ยวเหมือนกัน กฏ 10,000 ชั่วโมง เนี่ยใช่เลย ช่วงแรกมันเหมือนกับว่าผมฆ่าตัวเองอ่ะ ผมลองมาหมดเลยนะ ช่วง 3 ปีแรกเนี่ย เหมือนฆ่าตัวเองอ่ะ ทุกเช้าที่ต้องตื่นมาคือความทรมาน ไม่อยากจะตื่นเลยและตอนทำขนมเสร็จก็เหมือนโดนทุบ เจ็บขาเจ็บตัวไปหมด ทำได้แค่กินข้าวและนอน ไม่ต้องพูดถึงการออกกำลังกาย จนวันหนึ่งร่างกายไม่ไหว ตรงนั้นก็พาเรามาถึงจุดเปลี่ยน เราต้องออกกำลังกายแล้ว มันก็เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เราสนใจสุขภาพและทำให้เรามีแรงมากขึ้น มันขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้เลย”
“อีกเรื่องคือการอุปถัมภ์ เขาอาจจะบอกว่าผมก็ทำได้สิที่บ้านผมรวย แต่ถ้าเอาจริงๆ ถ้าลูกมาขอเงินเฉยๆแล้วไม่มีอะไรเลยใครจะกล้าให้ถ้าเราไม่ลงมือทำ อย่างตอนผมกู้เงิน ผมคิดว่าถ้าเข้าไปละจะไปกู้ได้เลยแต่ไม่ใช่เลย เขาจะถามหาบัญชี ถามงบ เราก็เลยต้องมาเตรียมมาดูละ ทุกอย่างถ้าเราได้มาง่ายๆ เราก็อาจจะไม่ได้พัฒนาหรือเรียนรู้อะไรเลย”
ในช่วงท้ายต่ายก็ได้ถามถึงการเติบโตต่อไปข้างหน้าว่าอยากเห็นแบรนด์เป็นแบบไหน
“ในอนาคตผมอยากขยายสาขาให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าครับ อยากให้ได้ลอง ได้กิน ได้ให้ทีมงานมีอนาคตและมีเป้าหมายร่วมกันกับเรา เพราะสำหรับผมแล้ว ผมว่าถ้าผมอายุสัก 50 ปีผมก็อาจจะต้องหยุดแล้ว ผมก็จะให้รุ่นต่อไปทำไปเลย”
“เอาจริงๆ ผมทำงานหนักแล้วก็อยากจะสบาย จริงๆแล้วตอนนี้เราอาจจะสบายเลยก็ได้ก็แค่เลิกทำ แต่คุณค่าของผมอยู่ตรงไหน ถ้าผมสบายตอนนี้ผมก็คงแพ้กิเลสตัวเอง หลับดึก นอนเล่น ไม่อ่าน ไม่ศึกษาอะไรเพิ่ม แล้วสุดท้ายผมก็คงไม่คิดว่าชีวิตผมมีคุณค่า สู้ให้ผมทำงานหนักแล้วก็หาเป้าหมายเล็กๆ ท้าทายตัวเองไปเรื่อยๆจะดีกว่า”
“การมาทำธุรกิจแบบนี้มันทำให้ผมมีระเบียบและความรับผิดชอบมากขึ้น”
ในตอนท้ายสุด ต่ายให้น้องเอ้ฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากจะทำธุรกิจเป็นของตัวเองสักหน่อยว่าควรจะเริ่มจากตรงไหนและมีอุปสรรค แนวทางการเริ่มทำธุรกิจของตัวเองอย่างไรบ้าง
“เริ่มจากหาความต้องการของลูกค้าแล้วเอาความสามารถที่ตัวเองมีมาแมตซ์กันครับ ไม่ใช่ว่าอยากทำอะไรก็ทำไม่ดูความต้องการของตลาดเลย มันอาจจะดูย้อนแย้งกับเรื่องของ Flips&Flips แต่ตอนนั้นที่ผมเริ่ม ผมเริ่มจากความต้องการในสมัยคริสปี้ครีมพอดี ซึ่งตอนนั้นเราต้องใช้ความสามารถพิเศษนะ ไม่ใช่ความสามารถพิเศษเล็กๆน้อยๆ ต้องความสามารถพิเศษเพราะมันจะทำให้เราเด่นกว่าคนอื่น หาให้เจอและชูมันให้ได้”
สำหรับคนที่ไม่เคยอ่าน Interview Flips&Flips ในครั้งแรกสามารถคลิกตรงนี้ได้เลยครับ