Focus is the key : วิธีเพิ่มสติและโฟกัสกับสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้า
ถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนที่ใช้ชีวิตอยู่เหมือนคนส่วนใหญ่ในโลกปัจจุบัน สิ่งที่ทุกคนแทบต้องเจอคือมีอะไรให้ทำมากมายแต่เวลามีไม่มากพอ และคุณก็รู้ว่าตอนนี้ถึงเวลาที่ต้องนั่งลงทำมันแล้วแต่ก็ติดนู้นติดนี้ไม่ได้ทำซะที เมื่อไหร่ก็ตามที่พยายามอยากมุ่งมั่นตั้งโฟกัส บางอย่างก็มาทำให้ออกนอกลู่นอกทางไขว้เขวอยู่เสมอ บางครั้งอาจจะเป็น notifications บนสมาร์ทโฟน ข้อความจากเพื่อนชวนไปแฮงค์เอาท์ บางทีอาจจะเป็นกองเสื้อผ้าที่พูนสูงขึ้นอยู่มุมห้องต้องเอาไปซัก ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้คือสิ่งรบกวนที่ทำให้เสียสมาธิ และมันเป็นตัวขัดขวางที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายที่อยากทำตั้งแต่แรก
การไม่สามารถโฟกัสในงานที่อยู่ตรงหน้าได้เป็นพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบทางด้านลบในชีวิตอย่างมาก ทั้งส่วนตัวและงานที่รับผิดชอบ แต่เชื่อไหมครับว่าทุกคนก็เผชิญปัญหาเดียวกันนี้แหละ
แต่ยังถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มันมีทางแก้ Elie Venesky ผู้เขียนหนังสือ “Hack Your Brain” กล่าวว่า
“การโฟกัสเป็นกล้ามเนื้อ และเราสามารถสร้างมันได้ หลายคนมักคิดว่าตนเองนั้นไม่มีความสามารถที่จะโฟกัสได้ และสุดท้ายมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ เมื่อใดก็ตามที่เราทิ้งความคิดนี้ได้ เราก็สามารถเข้าสู่การสร้างความสามารถในการโฟกัสซึ่งปฏิบัติได้จริง”
แต่เราจะต้องทำยังไงหล่ะ?
บางครั้งเรายังไม่รู้เลยว่าต้องทุ่มเทพลังงานไปโฟกัสที่ไหน มีหลายอย่างเหลือเกินที่ต้องทำในวันๆหนึ่ง บางครั้งก็ยากเหลือเกินที่จะมานั่งคัดแยกว่างานไหนต้องมาก่อนหลัง
วิธีแก้ที่ง่ายและมีประสิทธิภาพมากที่สุดคือการสร้าง to-do ลิสต์ (หรือเขียนปฎิทิน) ลิสต์ไปเลยว่าวันนี้ อาทิตย์นี้ หรือเดือนนี้ต้องทำอะไรบ้าง ลิสต์ไปด้วยว่าอันไหนเป็น priority สำคัญมากน้อยแค่ไหน อาจจะใช้ตัวอักษร ABCDE เพื่อกำหนดว่างานไหนจำเป็นงานไหนรอได้
ถ้าคุณเป็นคุณแม่ ทำอาหารเย็นอาจจะเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกให้ลูกหลังจากกลับจากโรงเรียน ส่วนการซื้อถุงเท้าคู่ใหม่อาจจะยังรอได้และเลื่อนไปวันอื่น คุณพ่อถ้าให้เลือกโฟกัสระหว่างเก็บกวาดห้องเก็บของกับไปรับลูกที่โรงเรียน อย่างหลังก็ต้องสำคัญกว่าอยู่แล้ว
เราสามารถนำเทคนิคนี้มาใช้ในสิ่งอื่นๆอย่างการเขียนบทความชิ้นนี้ สิ่งสำคัญคือบทความ เขียนให้เสร็จก่อน แล้วชื่อบทความเอาไว้ทีหลัง หรือแม้แต่รูปประกอบก็ยังไม่สำคัญ เขียนให้เสร็จ โฟกัสในสิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างแรก เราต้องรู้ก่อนว่าจะใช้พลังงานไปตรงไหนเป็นอันดับแรก
เรามักไม่ได้เตรียมตัวที่จะโฟกัสเป็นเวลานานๆ มันจึงเป็นสาเหตุที่ว่าหลังจากเริ่มทำอะไรบางอย่างไปสักสิบถึงสิบห้านาทีจะเริ่มรู้สึกระวนกระวายอยู่ไม่สุข กระดิกหยิบมือถือขึ้นมาดู สุดท้ายสมาธิแตกซ่าน
สิ่งที่ Elie Venesky แนะนำคือการนั่งอยู่เงียบๆให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย สูดลมหายใจเข้าออกลึกๆ คล้ายเป็นการทำสมาธิไปในตัว เป็นการมำให้จิตใจและร่างกายสงบก่อนที่จะเริ่มต้นทำงาน ซึ่งจะช่วยให้เราจดจ่อกับงานได้ยาวนานมากขึ้น
สิ่งที่ต้องทำคือปรับสภาพสมองและบอกตัวเองว่าต่อไปเราจะทำอะไร ปิดความคิดอื่นๆทิ้งและเริ่มลงมือทำ
หลายต่อหลายครั้งที่ผมนั่งเขียนงานและสิ่งที่กวนใจมากที่สุดคือสมาร์ทโฟนที่ตั้งอยู่ข้างหน้า สิบห้านาทีผ่านไปรู้สึกอยากเช็ค IG ผ่านไปอีกสิบนาที ขอดูเฟสบุ๊คส์หน่อยหนึ่งละกัน ซึ่งในตอนแรกก็จะเช็คแค่นาทีเดียว สุดท้ายกลายเป็นนั่งเลื่อนฟีดดูวีดีโอของน้องแมวไปแล้วยี่สิบกว่าอัน ผ่านไปครึ่งชั่วโมงยังไม่ได้ทำอะไรเลย
ทางแก้นั้นค่อนข้างง่าย : เอามันออกไปให้ห่างตัว
เมื่อไหร่ก็ตามที่ผมรู้ว่าตัวเองต้องโฟกัสกับงานจริงๆ เป็นระยะเวลานานๆ (ไม่งั้นไม่เสร็จ) เอาโทรศัพท์ไปไว้ในห้องครัวหรือห้องทานข้าว ไม่ก็ห้องนอนเลย เมื่อไหร่ก็ตามที่อยู่นอกรัศมีวงแขน ผมก็ไม่สามารถคว้ามันมาดูได้ ง่ายๆแค่นี้แหละ แต่มีประสิทธิภาพสูงเลยทีเดียว
แน่นอนว่าสิ่งที่กวนใจนั้นไม่ได้มาในรูปแบบเดียวกันซะหมด ลูกน้อยหอยสังข์ช่างพูด ก็จับยัดไว้ที่ห้องครัวก็คงไม่ได้ ไหนจะคู่ชีวิตที่มักอยากมีบทสนทนาระหว่างที่เรากำลังต้องทำงานอีก บางครั้งการอยู่ที่บ้านอาจจะต้องจัดห้องสำหรับนั่งทำงานโดยเฉพาะ ตั้งเวลาเอาไว้ว่าชั่วโมงหนึ่ง เดี๋ยวขอทำงานก่อนแล้วจะออกมาปาร์ตี้ด้วยก็ไม่ได้น่าเกลียด
หรือถ้าบ้านไม่สามารถทำงานได้จริงๆ ก็ไปหาที่เงียบๆ ร้านกาแฟข้างบ้านก็เป็นทางเลือกที่ดี ถ้าใครบ้านอยู่ใกล้ห้องสมุดสาธารณะก็ถือว่าโชคดี
สุดท้ายแล้วสิ่งที่ก่อกวนความสงบและทำให้โฟกัสระเบิดนั้นมาในหลายรูปแบบ วิธีแก้ไขปัญหาก็แตกต่างกันออกไป แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำได้ งานจะเสร็จเพิ่มขึ้นและเร็วขึ้นอีกหลายเท่าเลยทีเดียว
มันเป็นเรื่องยาก (หรืออย่างน้อยเป็นไปแทบไม่ได้) ที่จะโฟกัสได้เป็นเวลาหลายๆชั่วโมงตลอดทั้งวัน และถึงแม้ว่าคุณจะเหนือมนุษย์และทำได้สำเร็จ สุดท้ายแล้วร่างกายจะเหนื่อยล้าเป็นอย่างมาก และมันก็มีเหตุผลด้วย
ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา Alejandro Lleras เรียกมันว่า “vigilance decrement” หรือการคลายตัวของความเอาใจใส่ ซึ่งมันหมายถึงว่าเมื่อเราโฟกัสกับบางสิ่งนานเกินไป สมองเราจะหยุดรับรู้ในสิ่งนั้น ยกตัวอย่างเช่นเราสวมเสื้อผ้าอยู่ตลอดเวลา แต่สมองของเราไม่ได้โฟกัสกับความรู้สึกของเสื้อผ้าที่เราสวมใส่แล้ว เรารู้ว่ามันอยู่นั้นแหละ แต่ไม่เคยคิดถึงมันเลย
สิ่งนี้ก็สามารถเกิดขึ้นกับการโฟกัสเป็นระยะเวลานานได้เช่นกัน บางครั้งสมองตื้อนั่งจ้องบทความที่เขียนค้างมาแล้วหลายชั่วโมงแต่ไม่ไปไหนเลย ความเป็นไปได้ก็คือว่าสมองเราหยุดรับรู้ถึงมันแล้ว
ทางออกที่ดีที่สุดคือการ : หยุดพักสั้นๆ
Lleras พบในงานทดลองของเขาว่าคนที่หยุดพักสั้นๆหลังจากที่โฟกัสในงานมาเป็นระยะเวลานานจะไม่มีปัญหาว่าสมาธิจะลดลง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่ายิ่งฝืนยิ่งเจ็บและอาจจะจบไม่สวย เมื่อไหร่ก็ตามที่เริ่มล้า ให้ลุกเดินไปเทน้ำใส่แก้วแล้วหยุดพัก 5-10 นาทีจะทำให้คุณกลับมาลุยงานได้อย่างเต็มที่มากขึ้น
ทุกคนนั้นล้วนต่อสู้กับการโฟกัส แต่ถ้าเราเตรียมพร้อมและรู้ขั้นตอนในการรับมือมัน อยู่ให้ห่างสิ่งกวนใจเข้าไว้ สุดท้ายแล้วคุณจะรู้ว่าคุณไม่ใช่โฟกัสไม่เป็น แค่ต้องฝึกมันสักหน่อยเท่านั้นเอง
(บทความนี้ใช้เวลา 30 นาที)