มิ่งมิตร – “พี่โชค – พาโชค รุจิรวัฒน์” บทเรียนจาก “กาแฟอะหยังบะ” สู่ “กาแฟที่ดี เข้าถึงได้ง่าย ดื่มได้ทุกวัน” ของมิ่งมิตร
เป็นเวลากว่าสามปีแล้วที่ต่ายมีโอกาสได้รู้จักกับ “พี่โชค – พาโชค รุจิรวัฒน์” เจ้าของและผู้ร่วมก่อตั้งร้านกาแฟ “มิ่งมิตร” ร้านกาแฟสีเหลืองตุ่นที่มี 19 สาขาทั่วเชียงใหม่แล้วหลังจากเปิดมาได้ 15 ปี ตอนนั้นที่ต่ายได้มาเจอพี่โชคครั้งแรกคือตอนที่เปิดบริษัทใหม่ ๆ เลย เราคุยกันหลายเรื่องอยากทำเดลิเวอรี่ ตั้งแต่เรื่องของเดลิเวอรี่ยังไม่บูมเลยด้วยซ้ำ พี่โชคกับพี่อ้อม (ภรรยา) เป็นคนเรียบง่าย คุยสนุก หัวเราะเก่ง เป็นกันเอง มีแนวคิดการทำงานที่เปิดกว้าง ชอบลองทำอะไรใหม่ ๆ ต่ายกับพี่ๆเลยมีโอกาสได้คุยกันอยู่อยู่เรื่อยมา
แต่วันนี้ถือว่าเป็นโอกาสพิเศษเลยก็ว่าได้เพราะต่ายได้มานั่งคุยกับพี่ๆทั้งสองถึงเรื่องราวความเป็นมาของ “มิ่งมิตร” ตั้งแต่ก่อนที่จะเป็นสาขาแรกว่าต้องผ่านอะไรมาบ้าง อุปสรรคและความท้าทายที่เผชิญและก้าวผ่าน แนวคิดและวิสัยทัศน์ในการทำงานจนทำให้ “มิ่งมิตร” เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งแบบทุกวันนี้ได้
มิ่งมิตรสาขาแรกเริ่มในปี 2549 ที่เชียงใหม่แลนด์ ตอนนั้นเชียงใหม่ยังไม่มีคาเฟ่หรือร้านกาแฟเยอะเท่านี้เลย เรียกได้ว่านับใช้มือนับนิ้วได้เลย แต่การผจญภัยของพี่โชคในการทำธุรกิจนั้นไม่ได้เร่ิมต้นจากกาแฟเลยทีเดียว หลังจากจบมาแล้วทำงานประมาณ 4 ปี ก็เห็นโอกาสบางอย่างในการทำร้านอาหาร เลยตัดสินใจลาออกมาแล้วรวมหุ้นกับเพื่อนเพื่อเปิดร้านอาหารแนวฟิวชั่นชื่อ “บ้านกลางซอย” (ถ้าใครอายุเกิน 30 ปีน่าจะเคยได้ยินชื่ออยู่ครับผม)
“ด้วยความที่เราเป็นคนชอบแฮงเอ้าท์เราก็เลยอยากเปิดร้านอาหารก็เลยชวนเพื่อนสมัยมหาลัยมารวมหุ้นกัน ตอนนั้นก็ลาออกจากงานประจำมาทำร้านอาหาร อายุประมาณ 24-25 ปีละก็ยังไม่มีหนี้สินก็เลยไม่คิดอะไรเลย เพราะตอนนั้นก็เป็นวัยที่อยากทดลองและก็มีภาพอยู่ในใจ ตอนออกมาผลตอบรับก็โอเคเลย ตอนนั้นมีหุ้นอยู่ 6 คน”
“เชียงใหม่ยังเป็นเมืองเล็กๆ ร้านเป็นอาหารแนวฟิวชั่น ซึ่งยังไม่มีที่ไหนทำเท่าไหร่ก็เลยคนรู้จักค่อนข้างเยอะแล้วก็ประสบความสำเร็จ” — พี่อ้อมช่วยเสริม
พี่โชคและพี่อ้อมเห็นตรงกันว่าความสำเร็จในครั้งนั้นเกิดจากสถานที่ที่อยู่ในซอย และก็จัดเป็นอาหารกลางวันในสวน จะมาเป็นครอบครัวหรือเพื่อนฝูงก็ได้ ส่วนอาหารก็หลากหลาย มีทั้งอาหารจานเดียว สเต๊ก สลัด ก๋วยเตี๋ยว เรียกได้ว่ามาที่เดียวจบเลย ราคาเข้าถึงได้ไม่ยาก ทำให้ช่วงนั้นก็มีคนมากินเยอะแล้วก็บอกแบบปากต่อปากกันไปเรื่อย ๆ
พี่โชคหยิบมือถือขึ้นมาเปิดรูปอาหารจานหนึ่งให้ดู ต่ายมองไม่ออกเลยว่าเจ้าก้อนกลมๆสีทองที่เหมือนขนมปังทอดคืออะไร พี่โชคเฉลยว่ามันคือเมนูเด็ดของร้านในตอนนั้นเลย
“‘สลัดทอด’ ตอนนั้นเนี่ยดังมาก ถึงขั้นมีคนอยากให้เอาแช่แข็งไปขายที่ภูเก็ตเลยนะ ไม่มีที่ไหนทำเลย สลัดทอด อีกอย่างก็คือเรามีทีมงานที่ดี เชฟที่ดี เพื่อนที่ดีด้วย”
แล้วจากทำร้านอาหารอยู่ดีๆ ทำไมถึงเข้าสู่วงการกาแฟได้?
“ตอนนั้นเราได้ช่วยงานตำแหน่งบาร์น้ำและเราก็ได้เจอกาแฟ พอมาถึงจุดหนึ่งมีอาหาร ลูกค้าก็เริ่มมาถามหากาแฟ ตอนแรกเราก็มีพวกกาแฟชง แต่ลูกค้าก็ถามว่าทำไมไม่เอากาแฟสดมาลง ก็เลยไปเช่าเครื่องทำกาแฟมา แต่ก็ต้องใช้เมล็ดกาแฟเขา เราก็อ่า โอเค ก็เอามาเป็นเครื่องแบบกดปุ่ม ง่าย ๆ ไม่มีอะไรเลย เขาสอนมาเราก็เอาตามที่เขาว่า”
“จนวันหนึ่งลูกค้าคนหนึ่งชื่อว่าคุณต่ายก็เข้ามาแล้วเขาก็เอาเมล็ดกาแฟมาให้ลอง เราก็เอามาลองแล้วเราก็รู้สึกเลย ‘เฮ้ย….มันดีกว่าที่เราเคยทาน’ ไม่เหมือนที่เรากินปกติ มันเปิดโลกใหม่ของเราเลย”
ก่อนหน้านั้นพี่โชคเข้าใจว่ากาแฟต้องเป็นแบบนี้เข้มๆ ถ้าเป็นกาแฟเย็นก็ต้องหวานมัน ตอนได้กินกาแฟของคุณต่าย ลูกค้าคนนั้นก็รู้สึกว่ารสชาติของกาแฟมันลึกกว่านั้นมาก แล้วเขาก็ชวนเราไปอบรมร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พี่โชคก็ไปที่ศูนย์เกษตรที่สูงตอนนั้นก็ได้เปิดโลกเลย ตั้งแต่สายพันธุ์การเพาะปลูก การสีเมล็ดกาแฟ การทำไร่กาแฟ จนมาถึงการคั่ว
“เราก็รู้สึกว่ารายละเอียดมันมีเยอะมากแล้วก็น่าสนใจ จนวันหนึ่งเราเริ่มลึกไปกับมัน ตอนนั้นแค่อยากจะรู้ให้ลึกๆว่าการชงที่มากกว่าออโต้น่ะเป็นยังไง ตอนนั้นก็เลยติดต่อกับเพื่อนคนหนึ่งที่เจอในงานอบรมกาแฟ เขาเป็นบาริสต้าเราก็บอกเขาเลยว่าเราอยากไปอบรม ซึ่งตอนนั้นเรื่องนั้นค่าเรียนแพงมาก แล้วก็ต้องไปเรียนที่กรุงเทพ แต่ก็ไปเพราะความอยากรู้ พอลงไปเรียนก็เปิดโลกเลย”
ตั้งแต่นั้นมาพี่โชคก็เริ่มหลงใหลในตัวกาแฟ ตระเวนดื่มกาแฟไปทั่วเลย ตอนนั้นกาแฟสตาร์บัคก็เริ่มเข้ามาแล้ว สาขาแรกเปิดที่ไนท์บาซ่า พี่โชคด้วยความอยากเรียนรู้เกี่ยวกับกาแฟมากยิ่งขึ้น ก็ไปสมัครงานเลยแต่…ปรากฎว่าเขาไม่รับ… เพราะตอนนั้นเป็นสาขาแรกเขาเลยใช้ทีมจากกรุงเทพฯมาหมดเลย
“ตอนนั้นก็ไม่ได้เฟลนะ เฉยๆ ละพอเรารู้ลึกๆเราก็เริ่มอยากทำแล้วก็มีลูกค้าที่ร้านอาหารมาถามว่าสนใจเปิดร้านกาแฟใน มช. ไหม เราก็ไปแอบเซอเวย์ดูร้านหนึ่งแถวนั้น ขายดีเว้ย เราก็เห็นภาพเลย สวยงาม”
ตอนนั้นเราก็อยากไปลองเปิดบ้างละ เราก็ชวนเพื่อนหุ้นกันไปจากร้านอาหารนี่แหละ ตอนนั้นได้ทำเลที่หอสีชมพู ออกแบบตกแต่งแนวเรโทรโค้ง ๆ ออกแนวร้านหนังสือ เอาใจนักศึกษานั้นแหละครับ
“เราคำนวนละว่าจะมีหอหญิงกับหอเปิดใหม่ นักศึกษาประมาณพันคน เราขอแค่วันละสิบเปอร์เซ็นต่อวันพอแล้ว เราอยู่ได้แล้ว ก็ลงทุนกับเพื่อนกลุ่มเดิม แต่มาแค่ 4 คนและเพื่อนที่พึ่งเรียนจบมาอีกหนึ่ง ตอนนั้นชื่อร้าน What Da Coffee ‘กาแฟอะหยังบะ’ คืออยากให้ลูกค้าดื่มแล้วแบบ ‘เฮ้ย อร่อย กาแฟอะหยังบะ’ ประมาณนั้นเลย”
คำว่า ‘อะหยังบะ’ เป็นคำแสลงภาษาเหนือที่แสดงความแปลกใจตกใจแปลว่า “อะไรนะ” ประมาณนั้น
“ตอนนั้นมั่นใจมากว่ารอดแน่นอน ทั้งโปรดักส์ สถานที่และกลุ่มลูกค้า เราคำนวนว่าเช้ามาเปิดร้าน 6:30 ตอนนั้นเราคำนวนว่าช่วงนี้นักศึกษาต้องมากินกาแฟก่อนแล้วไปเรียนหนังสือ แต่กลายเป็นว่า 7 โมงก็แล้ว, 7:15 ก็แล้ว, 7:30 ก็ยังเงียบ แล้วพอ 7:50 ก็เหมือนพร้อมใจกันลงมา…แล้วก็รีบวิ่งผ่านหน้าร้าน ไปควบรถมอเตอร์ไซค์ แล้วก็บึ่งไปเรียนเลย! พอตอนบ่าย เขาก็ไม่กลับมาที่หอ ก็กินใกล้ๆใต้คณะเอา”
“ตอนนั้นมีความรู้สึกว่าเฟลนิดๆนะ คือเราไม่ได้ดูกลุ่มลูกค้าของเรา ไม่เคยศึกษาเรื่องพฤติกรรมของพวกเขาเลย เราแค่คิดว่า คนเยอะ มั่นใจและเราก็ลงทุนกับเครื่องมือเลย ตอนนั้นร้านอาหารก็ยังไม่ได้เลิกทำแต่ก็มีร้านอาหารคู่แข่งเพิ่มขึ้นมา จากที่ตอนแรกทำเอามันส์ ก็เริ่มต้องคิดแล้วว่าจะยังไงต่อดี”
จากตรงนั้นพี่โชคก็เก็บความรู้สึกไว้แล้วก็เริ่มหาจุดยืนและกลุ่มลูกค้าร้านกาแฟที่จะตรงกับความต้องการ พี่โชคเล่าให้ต่ายฟังว่าตอนแรกก็ไม่ได้ตั้งใจจะเปิดมิ่งมิตรสาขาแรกที่เชียงใหม่แลนด์ ด้วยความที่ว่าตอนนั้นนิมมานกำลังเป็นที่นิยม ก็เลยสนใจจะเปิดร้านตรงนั้นมากกว่า ช่วงนั้นสตาบัคส์และกาแฟวาวีแถวนั้นก็เริ่มเป็นที่นิยมแล้วด้วย เลยไปดูพื้นที่เช่าที่หนึ่งที่นิมมานฯ
“มันจะเป็นแกลอรี่หนึ่ง ละมันก็จะมีที่เล็กๆแล้วเราก็ไปสืบเสาะมา จนเราเจอว่าสัญญาที่นี่มันแค่ปีเดียว ก็มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งแนะนำมาว่าถ้าสัญญาปีเดียวจะคุ้มเหรอ เพราะเราจะต้องลงทุนเยอะด้วยพื้นที่ คุยไปคุยมา ตรงนี้ก็จะเป็นแค่ช่วงเช่าช่วง”
“ตอนนั้นก็จบไป เราก็หาที่ใหม่ มีอยู่วันหนึ่งเดินออกมาจากบ้านที่เชียงใหม่แลนด์ไปเซเว่น วันนั้นเดินออกมาเราก็เห็นว่ารถเยอะ เราก็ไม่ทันคิดนะว่าบ้านเราตรงนี้มันเป็นทางลัดไฮเวย์ไปในเมือง เราก็คิดว่ามันน่าสนใจ เช้านั้นเราก็เอาเลยนั่งนับรถ นับตั้งแต่ 7 โมงจนถึง 8 โมงได้เป็นร้อยๆคัน แล้วแถวๆนั้นก็เป็นโซนที่มีคนเข้ามาออก 24 ชั่วโมงมีทั้งออฟฟิศ ผับบาร์”
“เราก็ไปเจอร้านหนึ่งเป็นผับเก่า มีต้นไม้อยู่หน้าร้านซึ่งที่อื่นมันไม่มีเลย เราก็เลยไปถามดูเขาก็บอกว่าให้เช่า ตอนแรกเปิดมากลิ่นอบายมุขทะลักออกมาเลย กลิ่นห้องน้ำ กลิ่นเหล้า ต่างๆ โอ้วโหว แต่เราก็ชอบต้นไม้ต้นนี้เราก็เลยแบบว่าเอาก็เอา”
“ส่วนชื่อร้านนี้เกิดจากการที่อยากได้ชื่อไทย ไม่อยากได้ชื่อฝรั่งแล้ว ไม่เอาละ What Da Coffee และตอนนั้นเราอินกับอำเภอปายมาก ร้านกาแฟก็จะเป็นเทรนด์สบายๆ เราก็เลยเอาสไตล์นี้มาทำสาขาแรก ตอนแรกเราก็คิดไม่ออกหรอกว่าจะเอาชื่อไทยยังไง เพราะมันตั้งยากมาก แล้ววันนั้นเราบังเอิญได้ไปอ่านหนังสือสารคดี แล้วเจอประโยคหนึ่งที่บอกว่า
ตอนนั้นเราก็ชอบความหมายก็เลยใช้คำว่ามิ่งมิตรดีกว่า อีกอย่างก็คือเราเป็นคนเพื่อนเยอะ และชอบทำกาแฟให้เพื่อนดื่ม เราก็เลยว่าใช้ชื่อนี้ดีกว่า มิ่งมิตร ตอนแรกแอบคิดนะว่าจะเชยไหม แต่พอเขียนเป็นภาษาอังกฤษก็ดูดีนะ ก็เลยใช้คำว่ามิ่งมิตร — ทุกวันนี้เวลาเทรนด์น้องบาริสต้าก็จะถ่ายทอดให้ว่าเป็นการทำกาแฟให้กับเพื่อนที่มาเที่ยวบ้านเรา แล้วเราก็เสิร์ฟกาแฟดีๆให้เพื่อนเรา”
“ตอนนั้นขายอาหารดีแต่เหนื่อยยยยมาก มีวันหนึ่งพี่อ้อมมาสายเพราะต้องดูแม่ที่ลำพูน พี่ต้องชงทั้งกาแฟ ทำอาหารเช้าให้ลูกค้า วิ่งเข้าวิ่งออก ไม่มีลูกจ้าง สุดท้ายไม่ไหวเราก็ทำประมาณ 5-6 เดือน”
“ช่วงนั้นมันก็เป็นเพราะว่าเรายังไม่มีจุดยืน เราคิดแค่ว่าจะทำยังไงให้ร้านมันอยู่ได้ เราจะขายกาแฟ ทำคาเฟ่หรืออาหาร แต่สุดท้ายก็ทำไม่ไหว”
“มาแต่เช้ากลับดึกเพราะต้องเตรียมวัตถุดิบ เราก็ไม่ไหว ตอนแรกเราก็หวงไม่กล้าจ้างลูกจ้าง จะหาวันหยุดก็ไม่กล้าเพราะตอนนั้นก็เริ่มมีหนี้แล้ว จังหวะนั้นก็คือฟัดมากแต่เราก็ลุยเพราะเราชอบ เราเต็มที่กับมัน”
ช่วงที่เปิดมิ่งมิตรร้านครัวกลางซอยก็ยังเปิดอยู่ พี่โชคต้องวิ่งไปวิ่งมาระหว่างร้านอาหารกับร้านกาแฟด้วย แต่สุดท้ายมันก็ต้องเลือก
“สุดท้ายก็ตัดสินใจ จ้างพนักงานคนแรกชื่อว่า แอ๊ แอ๊ได้ทำอาหาร ทอดไข่ ทำทุกอย่างเลย พอตอนนั้นเราก็เริ่มปล่อยได้ พี่อ้อมก็ไปเปิดสำนักงานบัญชี แล้วตอนนั้นร้านอาหารที่เราทำอยู่ก็ไปขอถอนตัวออกมา เพราะเราทำทั้งสองที่ไม่ไหว เหนื่อยมาก และอยากทุ่มเทกับร้านกาแแฟ ตอนแรกก็คิดนะว่าจะต้องนำเงินจากส่วนร้านอาหารมา แต่ว่าโชคดีที่สำนักงานบัญชีกำลังไปได้ดี เงินก็พออยู่ได้ ก็ช่วยๆกัน”
“จุดที่ทำให้มิ่งมิตรอยู่ด้วยตัวเองได้ ตอนแรกมันเกิดจากเราไม่ได้คิดโมเดลธุรกิจ คุณภาพและลูกค้าก็เริ่มเยอะขึ้น จากเจ็ดร้อยมาถึงเจ็ดแปดพันต่อวัน เราก็เลยรู้สึกว่ามันดีขึ้น ใช้เวลาประมาณสามปีเราถึงเริ่มเห็นภาพลูกค้าและพฤติกรรมที่ชัดเจนมากขึ้น”
“ต่อมาคาเฟ่ก็มากลุ่มแม่บ้านก็เริ่มมาหาที่นั่งคุยรอลูก กลุ่มไกด์มานั่งรอเวลา หรือ คนออกกำลังกายมาหาอะไรกิน ช่วงนั้นก็จะมีเรื่องขนมที่มากินคู่กับกาแฟ ตอนนั้นยังไม่ใช่คาเฟ่ hopping แต่เป็นแนว community”
จากสาขา 2 จนถึงตอนนี้ สำหรับต่ายแล้ว มิ่งมิตรเป็นแบรนด์หนึ่งที่เรารู้สึกว่าจะได้มาตรฐานแน่นอน
“จริงๆแล้วทำมา 15 ปี ก็พึ่งได้มาทบทวนตัวเองว่าเราทำธุรกิจนี้มาเพื่ออะไรกันแน่ เงินเหรอ? ส่วนหนึ่งก็ใช่ แต่ว่าในใจแล้วเราอยากจะ
“ทำกาแฟดีๆ เพื่อให้คนเข้าถึงได้ง่าย ดื่มได้ทุกวัน”
แค่นี้ — นี่เป็นคำตอบที่ผมพึ่งได้ขมวดมาว่าความตั้งใจของเราเป็นแบบนี้ เป็นคุณค่าที่เราอยากให้กับลูกค้าเลย”
ต่อมาพี่โชคเล่าให้ต่ายฟังในเรื่องของเฟรนชายด์ ในตอนที่เราทำเฟรนชายด์มันเกิดขึ้นจากการที่เราไม่ได้วางแผนมาแล้วก็คู่แข่งก็เริ่มมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ
“ทุกอย่างไม่ได้คาดหวังหรือวางแผนอะไร ในตอนที่มีสาขาที่ 3 เราก็มีญาติพี่น้องมาช่วยกัน ที่ทำให้มิ่งมิตรเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะว่าเราซื่อสัตย์ พอมาสาขาที่ 4 เราก็ค่อยๆทำมาอีก ต่อมาก็ลองเฟรนชายด์ สาขาแรกเราเปิดที่หน้าโรงพยาบาลลานนา ตอนนั้นก็ดีนะ เขาก็ไปได้ดีเราก็ดีใจ — เราทำตัวเป็นชายสี่บะหมี่เกี๊ยวเน้นขายซัพพลายอย่างเดียว ง่ายเราง่ายเขาแฟร์ๆ” พี่อ้อมกับพี่โชคช่วยกันเล่าให้ต่ายฟัง
“ตอนทำเฟรนชายด์ต่อๆมาเราก็เจอปัญหาเหมือนกัน ที่ว่าเราไม่ได้วางแผน เราค่อยๆเป็นค่อยๆไป เราเน้นเอาประสบการณ์มาสอนตัวเอง จนวันหนึ่งที่เราตื่นมาแล้วไม่อยากทำงานเพราะเราเอาปัญหาคนอื่นมาคิด ซึ่งนั้นก็เลยเป็นจุดที่ทำให้เราต้องกลับมาคิดเรื่องสิทธิ์การบริหาร”
“แค่จังหวะและโอกาสเข้ามาเราก็เอาวะๆ พอมาเจอปัญหาเยอะๆ เราก็ย้อนกลับมาดูตัวเองแล้วก็ตกผลึกเพื่อให้เรารู้ว่าจะไปทางไหนดี — ถ้าคนอื่นเขาอาจจะไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาแต่เราไปจริงจังกับทุกอย่างและคิดว่าตัดมันออกแล้วมุ่งไปสู่ประเด็นตลอด”
“ขอใช้คำว่า ลูกค้าคาดหวังได้ เข้าถึงง่ายในคุณภาพและราคาในขนาดนี้”
ถ้ามีสิ่งหนึ่งที่อยากบอกคนที่อยากทำธุรกิจในตอนนี้
“การทำธุรกิจในปัจจุบันถ้าอยากจะฝาก ก็คงจะบอกเรื่องคุณค่าที่จะส่งมอบให้กับลูกค้า อย่าเอาตัวเงินเป็นที่ตั้ง แน่นอนว่าการทำธุรกิจต้องมีกำไรแต่สิ่งที่เราจะมอบให้มันมีคุณค่าอะไรให้กับคนอื่นบ้าง และอาจจะมองไปถึงว่าสิ่งเหล่านี้มันตอบสนองกับโลกใบนี้ได้ยังไง อาจจะไม่ได้เบียดเบียนโลกจนเกินไป ทุกวันนี้ก็คิดอยู่นะบางอย่างก็ยังทำไม่ได้ บางทีมันคิดเป็นแง่ธุรกิจจนเกินไป จนมันไปเบียดเบียนโลกทำให้โลกเลวร้ายไป”
“ละก็อีกเรื่องหนึ่งก็คือ คนทำงาน น้องพนักงานของเราก็มองเขาเป็นเหมือนพาร์ทเนอร์ อะไรที่ให้ได้เราก็ให้ อะไรที่คุยกันได้เราก็คุย ถ้าคนทำงานมีความสุขงานของเขาก็จะดี เราเลยพยายามทำให้เขามีความสุขในระดับที่เราทำได้”
จากตรงหมดนี้ก็คือการสิ่งที่ทำให้มิ่งมิตรเป็นมิ่งมิตรครับ การทำธุรกิจที่ไม่เหมือนธุรกิจ การค่อยเป็นค่อยไปและการใส่ใจคุณภาพ
คิดว่าอะไรทำให้มิ่งมิตรประสบความสำเร็จ? เป็นโชคหรือความสามารถมากกว่ากันครับ?
“มันก็ 50:50 นะ ความสามารถเราก็มี เราก็ศึกษามาเยอะ ส่วนเรื่องระบบการจัดการเราก็เรียนรู้ไปปรับปรุง เราเสียเงินไปเยอะเลยนะกับเรื่องความสามารถเนี่ย” พี่โชคหัวเราะ
“ต่อมาเรื่องของโชค เราโชคดีมากที่เรามีผู้ใหญ่เอ็นดู เราก็จริงใจและซื่อสัตย์ ซึ่งพี่เชื่อมากเลยนะว่าความซื่อสัตย์ต่อหุ้นส่วนหรือพาร์ทเนอร์และทุกคนที่เข้ามาคือส่ิงที่สำคัญ”
“ตอนคัดสรรวัตถุดิบเราก็เลือกสิ่งที่ดีที่สุด ถ้าเราคิดว่ามันใช่ เราจะไม่เปลี่ยนเลยนะ แม้ว่าจะมีคนมาเสนอราคาที่ดีกว่า เราชิมเองทุกอย่างเพื่อให้ได้ของที่ดีที่สุด — เราเคยใช้วัตถุดิบถูกๆแต่ตอนที่เราทำ เราไม่กล้าที่จะนำเสนอแล้วมันไม่เต็มใจ ไม่จริงใจ เราก็ไม่กล้าพูด เราจะไปขายราคานี้ก็รู้สึกไม่ดี เราก็ไม่เอา”
“ทุกอย่างคือเรากินเอง เรารู้ว่าเราต้องอะไรมา ขวดน้ำหรืออะไรเราก็นึกถึงลูกค้าก่อนเลย”
“ในอนาคตเราก็ต้องการที่จะขยายอยู่นะ เพราะว่าตั้งแต่แรกเรามองแล้วว่าลูกค้าต้องเข้าถึงง่ายและอย่างออนไลน์คาเฟ่เราก็เปิดกว้างและยอมลงทุนนะ แผนธุรกิจเราอาจจะเปลี่ยนแต่ลูกค้าต้องเข้าถึงง่าย คุณภาพของเราจะไม่เปลี่ยน ถ้าในอนาคตเราเปลี่ยนไปไม่ขายกาแฟแต่ Core Value ตรงนี้จะไม่เปลี่ยนเลย”
ช่องทางติดต่อ
Facebook Fanpage : Mingmitr Coffee
Webpage : http://www.mingmitrcoffee.com/
เบอร์โทรติดต่อ :
สาขา หมู่บ้านเชียงใหม่แลนด์ : 096-1607720
สาขา ริมปิง นวรัฐ : 083-9443864
สาขา ศิริมังคลาจารย์ : 064-2044909
สาขา รวมโชค : 091-4792456
สาขา ร.พ.ลานนา : 087-7283132
สาขา ถ.รัตนโกสินท์ : 084-1294249
สาขา ศูนย์ราชการ ถ.โชตนา : 053-216415
สาขา สมุดลานนา ถ.ห้วยแก้ว สาขา มหิดล ถ.มหิดล : 098-7472828
สาขา กาดวรุณ : 064-2044808
สาขา มาลาดาสแปซ : 093-3156325
สาขา หางดง : 091-0689082
สาขา สารภี : 095-2856315
สาขา ปั๊มเอสโซ่ : 064-0472458
สาขา นวรัฐ ข้าง รร.ดารา : 062-2582596
สาขา สันผีเสื้อ : 064-1127874
สาขา สันทราย : 088-9794825
สาขา ท่าแพ : 092-3875228
สาขา ถ.วัวลาย : 092-9710038