Gaslighting : งงๆอยู่ว่าไม่ใช่ แต่ปฏิเสธไม่ได้
คุณเคยรู้สึกว่ามีใครคนหนึ่งทำให้ตัวคุณเองตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ถูกต้อง ไม่มั่นใจ รู้สึกว่าตัวเองโง่เง่าเหลือเกิน แต่ก็งงงวยเกินกว่าจะออกมาจากตรงนั้นไหม?
ถ้าคุณคุ้นๆกับความรู้สึกแบบนั้นคุณอาจกำลังถูก “Gaslighting” เข้าแล้ว
คำว่า Gaslighting มันเป็นคำที่นักจิตวิทยาเรียกตามวิธีบงการ (manipulated) ในภาพยนต์เรื่อง Gaslight โครงเรื่องของภาพยนต์เรื่องนี้เล่าถึง สามีที่พยายามสร้างสถานการณ์ต่างๆให้ภรรยาเป็นบ้าเพื่อที่ต้องการจะควบคุมเธอ เช่น การที่ฝ่ายสามีเอาของในบ้านไปซ่อนแล้วก็กล่าวหาว่าฝ่ายภรรยาเป็นคนทำ แล้วก็จะไล่ต้อนไปจนฝ่ายภรรยารู้สึกผิดและรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนทำ จนในที่สุดก็เชื่อว่าตัวเองเป็นบ้า (เป็นเราก็คงหัวปั่นไม่น้อย)
การปั่นหัวแบบ Gaslighting จะเล่นกับ “ความมั่นใจในตัวเอง” ของเหยื่อ โดยแฝงมาในรูปแบบของความหวังดี แต่ที่จริงแล้วอยากจะควบคุม เช่นการบอกว่าจะช่วยอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พอเอาเข้าจริงกลับมีเหตุผลที่ทำให้คุณรู้สึกผิดหรือการปฏิเสธว่าไม่ได้พูด จากนั้นก็เอาคุณไปโพทนาไปทั่ว จนคุณเริ่มไม่มั่นใจแล้วว่าการที่คุณไปทวงสัญญาหรือถามอะไรอย่างนั้นกับเขาเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือเปล่า คุณจะตั้งคำถามกับตัวเองว่า “แล้ว…” “ทำไม…” และสุดท้ายคุณก็จะเกิดความสับสน ไม่มั่นใจและกังขาในการรับรู้ของตัวเองไปเลย
สรุปง่ายๆก็คือ Gaslighting คือการที่ใครคนหนึ่งปั่นหัว สร้างสถานการณ์หรือโกหกให้คุณสงสัยหรือสับสนในตัวเองแล้วเข้ามาควบคุมหรือเป็นเจ้าของการตัดสินใจของคุณ โดยสิ่งนี้ถือเป็น Emotional Abuse(การทำร้ายทางอารมณ์)อย่างหนึ่ง และเกิดขึ้นได้กับทุกความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็น คนรัก เพื่อนสนิทหรือที่ทำงาน คนที่คิดจะ Gaslighting คนอื่นโดยส่วนใหญ่แล้วอาจเป็นคนที่มีลักษณะเป็นคนที่หลงตัวเอง หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Narcissistic Personality Disorder (NPD) คนกลุ่มนี้เขามักจะใช้วิธีนี้เพื่อให้เขาบรรลุจุดประสงค์บางอย่าง
วันนี้ผู้เขียนก็ได้ไปเจอ TED Talk หนึ่งของคุณแอเรียล ลีฟ(Ariel Leve) นักเขียนและนักข่าวชาวอเมริกัน เธอเป็นคอลัมนิสต์ของ The Guardian ผู้มีประสบการณ์ถูก Gaslighting มา เธอใช้ประสบการณ์ของเธอมาบอกเล่าเรื่องราวใน TED TALK ในตอนที่ชื่อ How to deal with gaslighting
การที่จะรับมือการ Gaslighting ตามคำแนะนำของ Ariel Leve คือ
- 1.ยืนกรานในความคิดเห็นของตัวเอง (Remain Defiant) จอมปั่นหัว หรือ gaslighter จะเล่นกับความมั่นใจของเราเพราะฉะนั้นแล้วการที่เรามั่นใจและยืนกรานที่จะปกป้องสิ่งที่เราคิดจึงเป็นหนึ่งในวิธีป้องกันไม่ให้เขาสามารถเข้ามาบงการความคิดเราได้ และถ้าหากว่าเขาต้องการจะข่มขู่หรือทำให้เรากลัว การยืนกรานในความคิดเห็นของตัวเองจะทำให้เราไม่ไขว้เขวและทรงตัวไม่ล้มเอนไปตามความคิดของเขาได้
- 2.มันจะไม่มีการรับผิดชอบใดๆเกิดขึ้น (Recognize there will never be accountability) ผู้คนที่ Gaslighting ใส่เราเขาจะไม่มีทางยอมรับว่านั้นเกิดจากการกระทำของเขา และเขาจะไม่เข้าใจหรือรับรู้ผลของการกระทำใดทั้งสิ้น ถ้าคุณพยายามที่จะใช้เหตุผลมันจะเป็นเรื่องที่เสียเวลาเปล่า แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้แปลว่าคุณไม่มีค่านะ
- 3.อย่าไปหวังเชียวว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง (Let go of the wish for it to be different) จากข้อ 2 เมื่อเราพยายามที่จะใช้เหตุผลตรรกะอะไรกับคนที่ Gaslighting ใส่เรา แต่เขาไม่ยอมรับ เราก็อาจจะปล่อยให้เขาทำต่อไป เพราะเราหวังว่าพูดไปแล้วเขาอาจจะเปลี่ยนหรือเขาอาจจะสัญญาว่ามันจะไม่เหมือนเดิม แต่ความเป็นจริง จะไม่มีทางเป็นอย่างอย่างนั้น
- 4.ตัดขาดความสัมพันธ์จาก Gaslighter อย่างสมบูรณ์ (Develop healthy detachment) ความสัมพันธ์กับ Gaslighterเขาจะทำให้เราพบเจอประโยคที่ทำให้เราไขว้เขว เช่น ครั้งหนึ่งเขาอาจจะต่อว่าเราอย่างรุนแรง แต่พอต่อมาเขาก็จะชื่นชมเรา
“ฉันเกลียดเธอ เธอมันห่วย”
“ฉันเป็นห่วงเธอ”
“เธอมันแย่ ไม่มีฉันเธอต้องลำบาก”
“สุดท้ายแล้วเราจะเติบโตไปด้วยกัน”
เมื่อเราเจออะไรแบบนี้ เพื่อที่จะให้รักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันไว้ เราอาจจะต้องเชื่อว่าประโยคที่ไม่พึ่งประสงค์ การต่อว่า ด่าทอ เกลียดชังนั้นมันไม่มีความหมายอะไร ในตอนนั้นเราอาจจะต้องการความแน่นอนในความสัมพันธ์
แต่ในโลกของความเป็นจริง ความแน่นอนไม่มีอยู่จริงแน่ๆ เพราะอย่างนั้นแล้วคุณ Leve เลยแนะนำว่าในขั้นสุดท้ายนี้เราต้อง ปรับสมดุลและอยู่ให้ห่างจากคนประเภทนี้ แต่ไม่ได้ความว่าจะต้องตัดขาดกันไป มันคือการที่เราต้องจำแนกให้ขาดว่าอะไรคือ โลกแห่งความเป็นจริงและโลกที่ Gaslighter สร้างขึ้นมา
คุณปล่อยให้คนว่ากันไป แต่สุดท้ายแล้วคุณต้องอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง
GASLIGHTING IN WORK PLACES
ประสบการณ์หนึ่งที่ผู้เขียนเคยได้ยินมาคือ “การปลอบโยนจากเพื่อนร่วมงาน” เพื่อนคนหนึ่งของผู้เขียนได้เริ่มงานใหม่ในสถานประกอบการหนึ่ง หลังจากเทรนด์งานได้สักพักเพื่อนของผู้เขียนก็รู้ตัวในทันทีว่า งานนี้ไม่เหมาะกับเขาแน่นอน เขาก็เลยพยายามที่จะ “ลาออก” ฝ่ายบุคคลก็มาถามถึงปัญหา เพื่อนของผู้เขียนก็เล่าถึงปัญหาไป แต่กลายเป็นว่าที่พูดไปนั้น ไม่ได้ช่วยปรับปรุงหรือแก้ไขปัญหา แต่นำข้อมูลนี้ไปคุยกับหัวหน้าทีม จากนั้นกระบวนการ Gaslighting ก็เกิดขึ้น โดยการที่หัวหน้าทีมเข้ามาพูดให้เพื่อนของผู้เขียนไขว้เขว
”ผลงานของคุณเนี่ยดีมากเลย คุณเป็นคนที่ทีมต้องการ คนที่ผลงานอ่อนกว่าคุณเขาก็ยังอยู่เลยนะ เวลางานของคุณแค่ไม่กี่เดือนถ้าลาออกไปตอนนี้เขาก็จะหาว่าคุณเป็นคนไม่สู้งานนะ ทางเราก็พร้อมจะสนับสนุนคุณเสมอ ถ้ามีอะไรไม่สบายใจก็เล่าให้ผมฟังได้”
จากประโยคด้านบนเห็นอะไรไหมคะ?
1.การเปรียบเทียบ
2.การโกหกว่าจะสนับสนุน
3.การชี้นำว่าปัญหาเกิดขึ้นจากเพื่อนของผู้เขียน
เมื่อเจอคำพูดนี้เข้าไปเพื่อนของผู้เขียนก็ไขว้เขวและทำงานต่อโดยเชื่อว่าตัวเองยังพยายามไม่มากพอและขาดความมั่นใจในตัวเองไปเลย
ระหว่างที่เขียนเรื่องนี้ผู้เขียนนึกถึงเพลง The Heart Wants What It Wants และคิดว่ามันใช่เลย และถ้าใครคิดว่าตัวเองกำลังเจอกับสถานการณ์ Gaslighting ผู้เขียนก็อยากจะให้กำลังใจและยืนเคียงข้างคุณ สิ่งที่คุณรู้สึกมันเป็นของจริง คุณค่าของคุณ คุณเป็นคนกำหนด การตัดสินใจทั้งหมดเป็นของคุณ อย่าได้ไขว้เขวกับการตัดสินใจของตัวเอง
“มั่นใจในตัวเองเถอะนะ อย่าให้ใครมาฉกฉวยความมั่นใจไปได้”
อ้างอิง
http://johjaionline.com/opinion/รักล้างสมอง-เรื่องของ-gasligthing/