Gastronomy Tourism : หันกลับไปสู่ Local กันเถอะ
เร็วๆนี้ผู้เขียนพึ่งได้เข้าร่วมงานสัมมนาออนไลน์ (Webinar) ของ สสว. ในหัวข้อ “มองข้างหน้าไปด้วยกันอนาคตท่องเที่ยวเมืองเหนือในมุม Gastronomy Tourism” ในงานสัมมนาได้พูดเรื่องราวที่น่าสนใจไว้หลากหลายผ่านมุมมองของ คุณกรุณา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เชียงราย, รศ.ดร.ยุทธนา พิมลศิริผล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คุณศิริวิมล ทิตพาณิชย์(คุณเปิ้ล) ไร่รื่นรมย์, คุณก้องวุฒิ ชัยวงศ์ขจร(เชฟก้อง) Locus By Native Food Lab และคุณจิรณรงศ์ วงศ์สุนทร (คุณหมี The Cloud)
สำหรับผู้เขียนแล้วงานสัมมนานี้น่าสนใจมากเลยทีเดียวเพราะว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เชิงวัฒนธรรมอาหารในภาคเหนือ และการที่เรามองไปข้างหน้าถ้าสมมติว่าโควิดได้หายไปแล้ว ผู้ประกอบการอย่างเราๆ จะปรับตัวยังไงและสื่อจะต้องทำอย่างไรบ้าง ผู้ที่สนใจสามารถติดตามชมย้อนหลังได้ที่ ชื่อเพจ : Osmep สสว. หรือรับชมได้ทางลิ้งค์ https://fb.watch/5ZldQwxfIR/
ในส่วนของบทความนี้ต่ายจะเขียนถึงมุมมองของผู้เขียนที่มีต่อ Gastronomy Touism และเหตุผลว่าทำไมเราต้องหันกลับไปสู่ Local
Gastronomy Tourism คืออะไร?
Gastronomy Touism หรือ Culinary tourism, food tourism คือการท่องเที่ยวเชิงอาหาร อารมณ์ประมาณว่าเราจะเที่ยวที่ไหนสักที่ แต่การที่เราเดินทางนั้นมีเป้าหมายเพื่อเสาะแสวงหาอาหารใหม่ๆ อร่อยๆ เพื่อเปิดประสบการณ์และเข้าถึงวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งการท่องเที่ยวแบบนี้จะให้ความสำคัญกับร้านอาหารที่จะไปมากกว่าโรงแรมหรือที่เที่ยวเลยทีเดียว
จากการที่ไปหาข้อมูลมาจาก Gastronomy First: 5 reasons for launching food innovations with culinary experts เขาบอกว่าตลาดนวัตกรรมอาหารกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นโดยเติบโตขึ้นมาอยู่ที่ 26 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020 จาก 9 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2016 นับว่าเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะเวลาเพียงแค่ 4 ปี จากความสำเร็จตรงนี้ มันจึงไม่ยากเกินไปที่จะสรุปแบบตรงไปตรงมาว่าผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวควรจะลองศึกษากลยุทธ์ที่เรียกว่า “Gastronomy First”
แต่ว่าเราจะทำยังไงให้การท่องเที่ยวเชิงอาหารในท้องถิ่นของเราเป็นที่รู้จักและน่าไป คำตอบนี้สามารถที่จะตอบได้เหมือนกับที่เราจะตอบว่าทำยังไงให้เราจีบใครสักคนติด “เป็นตัวของตัวเองยังไงหล่ะ”
ในงานสัมมนาแขกรับเชิญทุกท่านจะแสดงความคิดไปในทิศทางเดียวกันคือการส่งเสริมและให้ความสำคัญกับคนท้องถิ่นในการหยิบเอาวัตถุดิบท้องถิ่น (Local Ingredient) หรือ วัฒนธรรมท้องถิ่น (Local Culture) มาต่อยอด
ถ้าให้มองในมุมมองของคนที่อยู่ภาคเหนือมาตลอดชีวิต เราบอกได้ว่าวัยรุ่นภาคเหนือเองน้อยมากที่จะอยากกินข้าวซอยหรือขนมจีนน้ำเงี้ยว โดยทั่วไปแล้วก็จะไม่ค่อยรู้ด้วยว่าที่ไหนของพื้นที่ที่มีข้าวซอยหรือขนมจีนน้ำเงี้ยวอร่อย ในขณะเดียวกันถ้าเรารู้สึกว่าอยากจะกิน เราก็จะค้นหาโดยการถามเพื่อนๆหรือติดตามบล็อกท้องถิ่น เรียกได้ว่าคนท้องถิ่นเองก็จะตาม Authentic by locals คนที่อยู่ต่างพื้นที่ก็จะสนใจ Authentic by locals
- น้อยแต่มากบทบาทของ Micro Influencers และ local guides
ผู้เขียนชอบกินบะหมี่เกี๊ยวมาก และครั้งหนึ่งเคยนั่งรถเป็น 10 กิโล จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อไปกินบะหมี่ร้านหนึ่งที่สันป่าข่อย เพียงเพราะว่า “เพื่อนคนเชียงใหม่คนหนึ่งบอกว่าอร่อย”
และเคยไปกินราเมนร้านหนึ่ง ที่ขับรถผ่านทุกวันแต่ไม่คิดจะเข้าไปกิน เพราะเพจ เลลาจ๋าให้กี่คะแนน บอกว่าอร่อย
เราคงปฎิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้สื่อและคนรอบข้างมีอิทธิพลต่อความคิด ความอ่าน รสนิยมและแน่นอนที่สุดกระเพาะอาหารของเรา เรามักจะถูกชวนหิวได้ง่ายๆเมื่อเห็นเพื่อนโพสต์ภาพอาหารตอนดึก และวันอีกวันเราก็จะอยากกินสิ่งนั้น เมื่อเราได้ไปกินเราก็จะทำเช่นนั้นเหมือนกัน สิ่งนี้เรียกกันว่า Foodstagrammers (food + instgram) ซึ่งเป็นกระบวนการทางจิตวิทยาที่ว่าด้วยทำไมคนถึงชอบถ่ายภาพอาหาร จากบทความเรื่อง “ไขกระบวนการทางจิตวิทยา “Foodstagramming” ทำไมคนถึงชอบถ่ายภาพอาหาร” บอกไว้ว่าขณะที่เรากำลังอ่านบทความภาพอาหารก็ถูกโพสต์บนอินสตาแกรมกว่า 2 แสนภาพ — สำหรับผู้เขียนแล้วมันเป็นตัวเลขที่มากโข ในบรรดาสองแสนภาพที่เกิดขึ้นมันจะต้องมีเม็ดเงินที่ไหลเวียนจากการจ้างโฆษณาด้วยแน่ๆ และหนึ่งในเรื่องที่เราจะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ Micro Influencers
Micro Influencers ก็คือคนที่เป็นที่รู้จัก ในบ้านเราอาจจะไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญในด้านใด ด้านหนึ่งมากก็ได้ อาจจะเป็นนักศึกษาคนหนึ่งที่ร้องเพลงเพราะหรือเขียนเก่ง แต่พวกเขามี Follower เยอะและเป็นที่รู้จัก แต่ถ้าเอาความหมายตรงๆก็คือคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านในด้านหนึ่งเป็นพิเศษและมีความน่าเชื่อถือ แต่จุดสำคัญของ Micro Influencers ก็คือจำนวน Follwer ที่ต้องไม่น้อยกว่า 5000 คน
ข้อดีของ Micro Influencers ก็คือเขาก็เกือบๆจะเป็นคนธรรมดาทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากกว่า เขาสามารถที่จะทำคอนเทนต์ได้อย่างเป็นธรรมชาติและส่งผลให้เกิด Engagement เยอะกว่าปกติ
- ทำไม Micro Influencer ถึงสำคัญ
อันดับแรกในปัจจุบันจำนวน Follower เป็นสิ่งหนึ่งที่นำมาซึ่งการไว้เนื้อเชื่อใจ อย่างเช่นตัวผู้เขียนเองหากจะซื้อสินค้าออนไลน์สักชิ้น หรือจะเปิดใจยอมรับความคิดเห็นอะไร นอกจากความสมเหตุสมผลของราคาแล้วสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนในฐานะผู้บริโภคดูก็คือยอดผู้ติดตาม ยิ่งยอดติดตามเยอะความเชื่อใจก็จะเยอะขึ้น
สมมติว่าจะพรีออเดอร์สินค้าสักร้านหนึ่งในราคาเท่ากัน ผู้เขียนก็จะเลือกซื้อกับร้านที่มีผู้ติดตามเยอะ หรือร้านนั้นผู้ขายต้องเป็นคนที่ผู้เขียนรู้จัก มากกว่าจะร้านที่ผู้ติดตามน้อยและผู้เขียนไม่รู้จัก ทั้งนี้จากบทความ 7 New Influencer Marketing Statistics That Prove Why It Works กล่าวไว้ว่า “61% of people now find information from ‘a person like me’ to be credible or very credible.” ซึ่ง 61% นี้เป็นสิ่งที่เน้นย้ำถึงพลังของกลุ่ม Micro Influencer ที่โดยปกติแล้วจะเน้นขายไลฟ์สไตล์ของตัวเอง โดยที่จะมีคนที่คล้ายๆตัวเองติดตาม ทำให้กลุ่ม Micro Influebcer มีอิทธิพลต่อกลุ่มเป้าหมาย ทั้งยังประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า
ถ้าใครกำลังหาทางรอดทางธุรกิจท้องถิ่น Micro Influencers อาจเป็นคำตอบ
- Local ingredients สำคัญยังไง สร้างรายได้ให้กับชุมชนแบบไหนบ้าง
ต่ายเคยไปคุยกับแอดมินหมี (เปิดใจ “แอดมินปากร้าย ที่แสนใจดี” แอดมินหมีแห่งกรุ๊ปขายอาหารที่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่) ซึ่งตอนนั้นแอดมินหมีได้เล่าให้ต่ายฟังว่าเขาเคยทำอาหารให้กับคุณหมึกแดง ซึ่งตอนนั้นเขาเป็น Celebrity ในวงการอาหารเลยก็ว่าได้ แอดมินหมีเล่าให้ต่ายฟังว่า
“คุณหมึกแดงมากินที่ร้านแล้วเขาก็มาถูกใจเมนู หมูกรอบผัดแกงฮังเล เขาก็เอาไปลงเดลินิวส์”
ในตอนนั้น “แกงฮังเล” กลายเป็นกระแสไปเลย และจากการบอกเล่าของแอดมินหมีคนมาที่ร้านหลายๆคนมาจากหลายที่ หลายจังหวัด โดยดูจากทะเบียนรถ เขามาถึงที่เชียงใหม่เพื่อจะกิน “แกงฮังเล” อาจจะบอกไม่ได้เต็มปากว่าแอดมินหมีคือคนที่ทำให้เกิดแกงฮังเลฟีเวอร์ แต่การที่คนขับรถมาไกลๆเพื่อกินแกงฮังเลที่ภาคเหนือ มันเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่ธรรมดาและที่สุดแล้ว แกงฮังเล แกงเหนือๆของเราที่ทำกันทุกงานบุญก็เป็นที่รู้จักกว้างขึ้นจากการที่คนในท้องถิ่นประยุกต์อาหารให้เข้าถึงได้ง่าย
- ในงานเสวนาเชฟก้อง (ร้าน Locus) และคุณเปิ้ล (ไร่รื่นรมย์) ได้พูดถึง Local ingredients อย่างหนึ่งที่น่าสนใจมาก
เชฟก้องบอกว่าหัวใจของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารนั้นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กับวัตถุดิบก็คือเรื่องราวของสิ่งที่นักท่องเที่ยวกำลังจะทานเข้าไป เหมือนเล่านิทานหรือซีรี่ย์ของเขา ซึ่งสิ่งนี้ผู้เขียนแอบคิดว่าก็เหมือนกับคอนเทนต์ของต่ายใน Busy Rabbit ที่บางครั้งเลือกร้านจากการที่ต่ายไปชิมแล้วชอบ ก็เลยไปขอคุยกับร้านอาหารหรือผู้ประกอบการเพื่อให้เราได้รู้ข้อมูลและกินอาหารจากร้านนั้นได้อร่อยยิ่งขึ้น
ต่อมาคุณเปิ้ลก็พูดถึงความสำคัญของ Local Ingredients ในด้านที่ว่าท้องถิ่นของเรายังมีของดีอยู่มากไม่ได้แพ้ต่างประเทศ เพียงแค่ว่านักท่องเที่ยวอาจจะไม่สามารถที่จะเข้าถึงประสบการณ์ตรงนั้นได้ง่ายๆ หรือสิ่งเหล่านั้นถูกมองว่าเป็นของท้องถิ่นที่ดูไม่มีมูลค่า การนำเอาวัตกุดิบมาต่อยอดเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเพิ่มประสบการณ์เข้าไปได้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และสอดคล้องกับสไตล์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวในปัจจุบันที่จะมีการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อมมมากขึ้น ในงานเสวนามีการพูดถึง จิงจูฉ่าย ว่าเป็นผักที่ปลูกที่ไหนก็ไม่มีรสชาติเหมือนภาคเหนือ (ตรงนี้ก็ดึงไปหา Micro Influencers ได้จากที่ผู้เขียนไม่ชอบกินผักแต่พอมาฟังผู้เชี่ยวชาญที่เป็นเจ้าของไร่บอกว่าอร่อยก็อยากลองแล้ว)
- บทเรียนจาก COVID-19 ที่ทำให้เราต้องหันกลับมา
สิ่งหนึ่งที่พิเศษในงาน Gastronomy Tourism นี้ก็คือเป็นงานออนไลน์ พูดได้ว่าโควิด 19 คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราต้องหันหน้าเข้าหาโลกดิจิตอลเพราะกลัวโรคมากขึ้น วิทยากรหลายท่านบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าจากที่ไม่ค่อยชอบออนไลน์เท่าไหร่ ตอนนี้ก็มีอุปกรณ์และใช้การสื่อสารดิจิตอลคล่องกันแล้ว รวมถึงบอกด้วยว่าสื่อออนไลน์ในปัจจุบันเป็นช่องทางนำเสนอธุรกิจของตัวเองที่สำคัญช่องทางหนึ่งเลย
อีกอย่างหนึ่งก็คืองานเสวนานี้จริงๆควรจะต้องจัดที่เชียงราย แต่ว่าไม่มีใครได้ข้ามจังหวัดไปหากันเลย ต่างคนต่างยึดหลัก “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ในการเข้ามาสื่อสารกัน ต้องเข้าเว็บเองลงทะเบียนเอง ผู้เข้าร่วมหลายท่านก็ประสบปัญหาในการเข้า ซึ่งเป็นสัจธรรมหนึ่งที่เราประสบได้ในช่วงวิกฤตการณ์โรคระบาดแห่งศตวรรษในครั้งนี้ “วิกฤต Login & Server” ในขณะเดียวกันการที่เชื้อไวรัสประหลาดนี้ปรากฎขึ้น มันทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงักและชะลอลงโดยเฉพาะในส่วนของการคมนาคม ช่วงโควิด-19 ระบาดหนักๆ ร้านค้าหรือการบริการที่ต้องพึ่งพิงสิ่งที่ส่งเข้ามาหรือต้องส่งออกไปชะงักกัน ร้านค้าหรือการบริการที่อยู่ได้ก็จะเป็นการบริการที่คนท้องถิ่นรู้จัก พูดง่ายๆก็คือถ้าจับกลุ่มนักท่องเที่ยวหรือเน้นการนำเข้าอย่างเดียวก็ต้องมีเจ็บตัวกันบ้าง
- โอกาสของ Gastronomy Tourism
จาก Idealmagazine เล่าไว้ว่าเมืองหลวงของไทยอย่างกรุงเทพ เป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยวที่รักอาหาร เพราะว่าเป็นหนึ่งในเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอาหาร สามารถหาอาหารอินเดียถึงอิตาลีแท้ๆได้ในเมืองเดียว ในขณะเดียวกันเมืองที่ผู้เขียนอยู่อย่างเชียงใหม่ก็เป็นที่รู้จักดีในหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวยามว่างของผู้คนและมีอาหารที่เป็นเอกลักษณ์อย่าง ข้าวซอย ไส้อั่ว แกงฮังเล หรือที่เขามักจะเรียกกันว่าอาหารล้านนา ซึ่งในปัจจุบันวงการอาหารเหนือยังมีแข่งขันที่ไม่สูงมาก คนเหนืออาหารเหนือมักจะทำและกินกันเอง แต่ว่าธุรกิจที่จับทางอาหารเหนืออย่าง Locus ก็เป็นร้านหนึ่งสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักชิมให้เข้าสู่เชียงรายเป็นจำนวนมาก
“การท่องเที่ยวแบบ Gastronomy Tourism เป็นหนึ่งในรูปแบบการท่องเที่ยวที่ยืนยาวได้ เพราะคนเราต้องกิน ต้องทานทุกวัน ถ้าหากธุรกิจไหนสามารถจับตรงนี้ได้ก็รอดไปยาวๆแล้ว”
นี่คือตัวอย่างหนึ่งในธุรกิจบริการที่ขายความเป็น Local ได้อย่างน่าสนใจ LocalAroi (เจ้าเดียวกับ LocalAlike) โดยเป็นการทำธุรกิจที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยใช้อาหารจากป่าเป็นจุดขายและยกระดับวัตถุดิบจากป่าให้เป็นอาหารระดับ Local Fine Dinning
จากทั้งหมดที่เล่ามาจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันที่เรากำลังมองหาสิ่งใหญ่ๆ สิ่งแปลกๆ สิ่งใหม่ๆ เรามองไปไกลเหลือเกิน จนบางทีเราอาจจะพลาดสิ่งดีๆที่อยู่ใกล้เรา คล้ายกับ “เส้นผมบังภูเขา” เมื่อในทุกท้องถิ่นล้วนมีสิ่งที่เรากำลังมองหา แต่เรากลับมองไม่เห็น
อ้างอิง
https://www.convinceandconvert.com/influencer -marketing/influencer-marketing-statistics/
https://www.motiveinfluence.com/blog/99/Micro -Influencer-คือใคร
https://blog.busyrabbit.co/admi n-mee-interview/
https://www.brandbuffet.in.th/2016/11/psych ology-of-foodstagramming/
https://idealmagazine.co.uk/10-ideal-foodie-d estinations-in-southeast-asia/