Good Mood Food : เพราะอาหารคือความสุข Red Box
Redbox กับต่ายที่จริงแล้วเรารู้จักกันมาค่อนข้างนานแล้ว ถ้านับคือน่าจะเป็นลูกค้าคนแรกๆของต่ายเลยก็คงไม่ผิดนัก แต่ด้วยความที่ต่างคนต่างยุ่งกับการทำงานเราก็ไม่เคยได้นั่งคุยกันจริงๆจังๆสักที จนกระทั่งวันหนึ่งเราไปเจอกันทีไปสัมภาษณ์คุณจ้ำที่ร้าน Krisp แล้วบังเอิญเจอ “เชฟแดน” ชินดนัย บุญเฉลียว และ “คุณพราว” พิมพ์มาดา กรรณกุลสุนทร ที่นั้นพอดีเลยมีโอกาสได้นัดวันและคุยกันสักที
บ้านสีขาวหลังเล็กๆกลางเมืองที่ร่มรื่น บรรยากาศสงบในซอยเล็กๆที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีร้านอาหารซ่อนตัวอยู่ “เชฟแดน” และ “คุณพราว” เดินออกมาต้อนรับแล้วพาต่ายและทีมงานชมร้านที่ตบแต่งแนวโฮมมี่ มีความเป็นบ้านที่เดินเข้ามาแล้วสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นทันที
RED BOX ไม่ใช่กล่องสีแดงตามความหมายแต่อย่างใด หากได้รู้จักทั้งคู่แล้ว REDBOX เริ่มจากธุรกิจอาหารกล่องที่บรูใน ที่นำเสนอให้รูปแบบที่แปลกใหม่ Trendy สะอาดและมีคุณภาพ R_E_D จึงย่อมาจาก Ready | Eatable | Distinctiveness นั้นเอง
เชฟแดนเป็นเด็กเชียงใหม่ เรียนจบมงฟอร์ตคนหนึ่งแต่หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้ไปเรียนต่อที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย
คุณแดนไม่มีแพชชั่นในการทำอาหารมาก่อนที่จะมาซิดนีย์เลย
“ตอนนั้นผมก็มีย้ายร้านไปบ้าง เริ่มจากเด็กล้างจาน หั่น ยำแล้วก็ย้ายร้าน พอย้ายแล้วผมก็มีประสบการณ์ล้างจานหั่นยำมาแล้วผมก็ขอผัด อาจจะไปเทรนด์เทคนิค บางร้านทำสด บางร้านใช้ซอส มันก็เลยกลายเป็นว่าเราต้องฝึกความเร็ว ความอดทน ขยัน งานที่เมืองนอกก็จะให้ข้อคิดมาประมาณนี้”
“ผมทำทั่วซิดนีย์เลย ร้านอาหารไทย ญี่ปุ่น อิตาเลี่ยน อีกอย่างหนึ่งก็คือผมติดเพื่อนด้วย เพื่อนย้ายไปร้านไหนผมก็ตามไปร้านนั้น แล้วมันก็จะมีจุดเปลี่ยนคือตอนที่ผมไปอยู่ที่ร้าน ‘Spice I Am’ ซึ่งเป็นร้านที่เทพที่สุดในซิดนีย์ มันใกล้เคียงไทยที่สุดและลูกค้าเยอะ ร้านนี้เขาเริ่มสอนให้ทำรสชาติให้เป็นไทย”
“ต่อมาผมก็อยากเปิดร้านอาหารไทยเป็นของตัวเอง ด้วยความที่เห็นเพื่อนๆเราเปิดร้าน ทำธุรกิจ เราก็อยากเปิดบ้าง ซึ่งพื้นฐานแล้วครอบครัวผมมีร้านอาหารอยู่ที่บรูไน แล้วก็มีร้านอาหารไทยอยู่ 4 สาขา ก็จะเป็นอาหารประเภท comfort thaifood ข้าวผัด ผัดกระเพรา ผัดไทย อะไรประมาณนี้ ตอนนั้นผมก็ปรึกษาที่บ้านว่าอยากเปิดที่ซิดนีย์บ้าง แต่ที่บ้านบอกว่า ไม่ได้ ถ้าจะเปิดให้มาเปิดที่บรูไนละกันเดี๋ยวจะเปิดให้อีกสาขาหนึ่ง ซึ่งตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะไปบรูไน แต่พอดีลกันละเราก็โอเค”
“เมืองที่ผมอยู่ชื่อคัวลาเบลัท(Kuala Belait) ซึ่งเมืองนั้นเป็นเมืองที่เขาจะขุดเจาะน้ำมัน ครึ่งหนึ่งเป็นคนท้องถิ่น อีกครึ่งหนึ่งจะเป็นต่างชาติ ซึ่งต่างชาติที่มาก็จะเป็นวิศวกรเพราะเขาขุดเจาะน้ำมัน ผมก็ไปเปิดร้านอาหารใต้ออฟฟิศและตอนนั้นก็ได้ไปเจอคุณพราว”
คุณพราวเล่าให้ต่ายฟังว่าตัวคุณพราวเองก็เป็นคนเชียงใหม่ ทำงานสาย HR ในสายปิโตเลียมในแถบ Southeast Asia ซึ่งตอนหลังก็ได้มาอยู่ที่บรูไน คุณพราวบอกกับต่ายว่าชีวิตของคุณพราวตอนนั้นก็เหมือนกับพนักงานธรรมดา เข้าทำงาน กินข้าวกลับบ้าน และตอนแรกก็ไม่คิดจะกลับบ้านด้วยกะว่าจะอยู่ที่นั่นจนเกษียณ
ตอนอยู่ที่บรูไนคุณพราวมีงานเสริมเป็นปาร์ตี้แพลนเนอร์ ด้วยความที่คุณพราวชอบจัดโต๊ะ จัดจาน แต่งร้าน เตรียมสถานที่ ก็เลยลองทำธุรกิจหลายอย่างเจ๊งไปเพราะไม่มีเวลาก็เยอะ
“ตอนนั้นพราวก็รู้สึกว่ามันว่าง อีกอย่างตอนนั้นเราสองคนก็คบกันแล้วก็เลยชวนกันทำอาหารกล่อง เพราะคุณแดนชอบทำอาหาร ส่วนพราวชอบถ้วยจานช้อนซ้อม เราก็เปิดเป็นไอจีเล็กๆชื่อ Red Box ประมาณ 2017 ทำเป็นงานพาร์ทไทม์”
“ตอนนั้นเราก็สังเกตว่าคนในโรงงานจะมีคนอยู่สามประเภทคือ ห่อข้าวไปกินเอง ซื้อจากรถที่มาขายราคาถูกๆไม่กี่เหรียญ และชาวต่างชาติที่จะกินเมนูเดียวซ้ำๆ ตอนนั้นเราก็คิดว่าถ้าเราทำกับข้าวเป็นกล่องแบบนี้ไปน่าจะขายได้ เริ่มแรกเลยเราขาย 7 เหรียญ มีขนม มีข้าว ตอนนั้นก็ทำกันสองคน ตอนเช้าทำอาหาร ตอนสายๆขับรถไปส่ง”
“ช่วงแรกก็ขายไม่ค่อยได้หรอกเพราะมันก็แพงและคนยังไม่ค่อยรู้จัก แต่ต่อมาเราก็ที่รู้จักจากการที่ว่าเราชอบทำบุญ ชอบไปบริจาคแต่ที่นั้นจะไม่ค่อยมีวัด เราก็เลยจัดเป็นปาร์ตี้แชร์ริตี้ แล้วเราก็เอาเงินไปบริจาคให้กับบ้านเด็ก ซึ่งตอนนั้นมีนักข่าวมาทำข่าว เราก็เลยเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น”
“ตอนที่ Red Box มันอยู่ได้ระดับหนึ่งแล้ว เราก็เลยอยากให้มันมีหน้าร้าน ที่บรูไนก็จะมีช่องๆ CUBE SHOP เราก็ไปเช่าโซนอาหารแล้วก็เอาอาหารไปวาง ตอนนั้นเราก็มีเค้กมีเครื่องดื่มแล้วเอาไปวาง เราก็ส่งตอนเช้าเช็คตอนเย็น ตอนนั้นทุกอย่างก็กำลังไปได้สวยเลยแต่เราก็ต้องกลับมาเมืองไทย”
“เหตุผลหนึ่งก็คือเราอยากกลับมามีหน้าร้านแล้วก็มีเรื่อง VISA ทำงานต่างๆ เราก็เลยตัดสินใจว่ากลับมาเมืองไทยดีกว่า”
ตอนนั้นบริษัทน้ำมันชื่อดัง ก็ติดต่อมาหาคุณพราว เป็นงานประจำที่ตำแหน่งดี เงินก็ดี ตอนนั้นตัดสินใจลำบากมาก ถ้าเกิดว่าไม่รับโอกาสตรงนี้ก็จะไม่มีอีกแล้ว คืออายุก็เริ่มมากขึ้น จะไปหางานประจำแบบนี้ก็คงไม่ง่ายแล้ว
“เราก็ทำทุกอย่างสวดมนต์ จับฉลาก ขอพรพระ ให้ตัดสินใจให้ถูก มันไม่ง่ายเลยจริงๆ”
“ความคิดเราต่างกันมากและเราไม่เคยทำงานด้วยกันจริงๆ เราก็เลยมาคุยกันเยอะมากกว่าพาร์ทเนอร์ร้านอาหารปกติ เราคุยกันถึงว่าถ้าต้องทะเลาะกัน ถ้าจบ จะจบแบบไหน เราคุยกันมาถึงตรงนี้เลยนะ”
แต่เมื่อตัดสินใจที่จะทำร้านอาหารจริงๆ เชฟแดนและคุณพราวก็มาที่บ้าน ทั้งสองคนเล่าว่าวันแรกที่เปิดเข้ามาบ้านหลังนี้น้ำท่วม ก็ใช้เวลา 9 เดือน ทาสี ขนของ ตัดหญ้า ขนหิน ทำทุกอย่าง เหลือแต่ห้องครัวและระหว่างนั้น แม่ของเชฟแดนก็บอกให้ทำอะไรขายระหว่างนั้น ตอนนั้นทั้งคู่ก็ขายน้ำพริก ทำเค้กส่งขายร้านกาแฟ ส่งอะไรทั่วๆไปให้พอมีเงินกินข้าว บ้านหลังนี้ไฟก็ต้องทำใหม่ทั้งหลัง ทั้งวันก็มาเป็นพนักงานก่อสร้าง อาหารที่กินก็เป็นอาหารลด 50% จากห้าง
“ลูกค้าคนแรกจำได้ว่าคือแม่ แม่เข้ามาพาแขกเข้ามา 10 คน แม่ก็บอกชั้นจะกินเป็นคอร์ส คราวนี้ก็โทรหาเพื่อนให้มาช่วยจัดจานล้างจานหน่อย และตอนนั้นสิบคนที่แม่เชิญมาเป็นนักธุรกิจในเมืองเชียงใหม่หมดเลย”
“เขาก็มีพูดบ้างนะว่าอาหารแบบนี้ การจัดจานแบบนี้ ราคาแบบนี้คนเชียงใหม่จะไม่กิน ดูจากข้างนอกบ้าน ดูไม่ออกว่าจะเป็นร้านอะไร ตัวบ้านก็เหมือนบ้านสถานทูต เหมือนเขาจำกัดธีมมาละว่าต้องเป็นยังไง”
แต่มีอยู่คนหนึ่งที่คิดต่างออกไป
“เพื่อนของแม่คนสุดท้ายเขาก็บอกว่าถ้าจะทำแบบนี้ก็ทำต่อไป อย่าเป๋เวลาคนคอมเม้นรับฟังได้ แต่แก่นของเราคืออะไร รสมือเรา รสชาติเรา เราอาจต้องดัดแปลงให้เข้ากับปากคนไทย ไม่ใช่อาหารไทยเมืองนอก”
“ทำแบบนี้มาได้ 8 เดือน ลูกค้าก็เริ่มเข้าเรื่อยๆ แล้วก็ได้ Best Thailand Taster มาแบบงงๆ ต่อมาก็ได้ TOP 40 เชียงใหม่ จากนั้นก็ได้ ThaiSelected ที่ธนาคารไทยพานิชย์ และพีคสุดคือทำมาได้ 1 ปี 8 เดือนได้รางวัลมิชลินเพลท”
“ตอนนั้นใจชื่นขึ้นมาก และร้านนี้ถ้าเราไม่รักจริงๆ เราต้องทะเลาะกันจนเลิกกันแล้วแน่ๆ คงมาไม่ถึงจุดนี้ได้ถ้าเราไม่ได้รัก — มันเครียดนะ เราต้องทำทุกอย่างกว่าจะถึงจุดนี้ระหว่างทางมันเยอะมาก ต้องอดทนต้องทำไปให้ดีที่สุดของทุกวันๆ”
“ผมอยากเห็นเรสบ็อกซ์เป็นแบบนี้หลายๆที่ เราอยากทำให้มันครบรส อาหาร บริการ เราพยายามให้คนที่มาทานมีความสุขและกลับไป”
เชฟแดนทิ้งท้ายไว้ว่าร้านนี้เกิดจากความรักของคุณพ่อคุณแม่ และของทุกคนที่หวังดีกับเชฟแดนและคุณพราว ทั้งคู่เลยอยากจะส่งต่อออกไปในรูปแบบอาหารให้ทุกคนได้ชิม
คงบอกได้ยากว่า อาหารแบบเรสบ็อกต์จะมีรสแบบไหน เราอยากให้คุณได้ลอง
เชฟแดน – คุณพราว
ช่องทางติดต่อ
เฟซบุ๊คแฟนเพจ : The Redbox Restaurant
เบอร์โทรศัพท์ : 092 979 4542
แผนที่ : https://g.page/redboxthailand?share