สิบปีก่อน iPhone เปิดประตูแห่งเทคโนโลยีบานใหม่ของความเป็นไปได้และเปลี่ยนโลกของมนุษย์ผู้ใช้งานหลายพันล้านคนบนโลกใบนี้ไปตลอดกาล – แต่ความจริงแสนโหดร้ายก็คือว่า Apple ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ทุกปี และตอนนี้สิ่งที่ชัดเจนยิ่งกว่ากล้องสามตาก็คือพวกเขามาถึงทางตันของวิวัฒนาการซะแล้ว
กลายเป็นเรื่องที่ “ซ้ำซาก” ไปซะแล้วสำหรับงานอีเวนท์เปิดตัว iPhone ประจำปีของ Apple จำไม่ได้แล้วว่าครั้งล่าสุดที่ตื่นเต้นอดหลับอดนอนเพื่อรอดูคือเมื่อไหร่ ทุกๆปีเราก็จะเจอเรื่องเดิม หลายๆอย่างที่เคยได้ยินมาแล้วเมื่อปีก่อน ปีก่อนหน้า และปีก่อนนู้น – โปรเซสเซอร์ที่เร็วขึ้น กล้องที่ดีขึ้น (ปีนี้จำนวนมากขึ้นด้วย) สีใหม่ ซอฟแวร์อัพเดท และฟีเจอร์เล็กๆน้อยๆ…
แน่นอนว่าทุกปีเราก็จะเห็นคนออกมาบ่น (เหมือนผมนี่แหละ) ว่างานอีเวนท์เปิดตัว iPhone นั้นน่าเบื่อไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ไม่มีการเปิดตัวอะไรที่เซอไพรส์เลย (ปีนี้อุตส่าห์มีความหวังว่าจะได้เห็น AR glasses เท่ๆสักอัน แต่ก็สุดท้ายก็ไม่มี ‘one more thing’) ไม่ใช้วัสดุที่แตกต่างไปจากเดิม (คาดหวังกันไปถึงคาร์บอนไฟเบอร์) หรือมีเทคโนโลยีสร้างภาพฮอโลแกรมอย่างที่เห็นในสตาร์เทรค
แต่ประเด็นมันไม่ใช่ตรงนั้น ถ้ามีคนเอาปืนมาจ่อหัวแล้วบังคับให้บอกว่าอีเวนท์เปิดตัว iPhone ตัวไหนที่รู้สึกว่าตื่นเต้นครั้งสุดท้าย? น่าจะตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2014 ที่เปิดตัว iPhone 6 ที่มีหน้าจอใหญ่ขึ้นเพื่อแข่งกับเจ้าอื่นๆในตลาดนั้นแหละ ตอนนั้นยอดขายของ iPhone เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก (จาก 169 ล้านเครื่องในปี 2014 ไปเป็น 231 ล้านเครื่องในปี 2015 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 37%) ซึ่งหลังจากนั้นมาก็ไม่เกิดขึ้นอีกเลย
ความจริงก็คือมันแทบไม่มีอะไรใหม่ให้พูดถึงเกี่ยวกับ iPhone เลย และการที่เราเห็น (หรืออ่าน) เหล่านักรีวิวทุกช่องทางพยายามงัดกลยุทธทุกอย่างเพื่อทำคอนเทนท์เกี่ยวกับตัว iPhone ที่ออกมาใหม่ในแต่ละปีนั้นก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างปวดใจ คือแพทเทิร์นมันก็แบบเดิม benchmarks ดีขึ้น กล้องดีขึ้น ถ่ายรูปกลางคืนได้สวยขึ้น แบตเตอรี่อึดขึ้น…วนแบบนี้ซ้ำๆ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจอีกต่อไปที่เราเห็นหลายๆคนใช้ iPhone ที่อายุมากกว่า 2-3 ปีขึ้นไปด้วยซ้ำ
จำเมื่อห้าสิบปีก่อนได้ไหมที่ยานอวกาศ Apollo 11 ลงจอดบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรก เราตื่นเต้นกับมันมาก เอามนุษย์ไปดวงจันทร์แล้วกลับมาเลยนะเว้ย! แต่หลังจากนั้นที่ยานอวกาศลงจอดที่ดวงจันทร์ มันก็ตื่นเต้นแหละ แต่ก็น้อยลงๆเรื่อยๆ เพราะเราก็แค่กลับไปดวงจันทร์เหมือนทุกครั้ง การเปิดตัว iPhone ในปี 2007 นั้นแหละ มันเป็นก้าวสำคัญที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง ความกล้าหาญ เผชิญหน้ากับความเป็นไปไม่ได้ แต่สุดท้ายมันก็สำเร็จและได้เปลี่ยนมุมมองของเราที่มีต่อโทรศัพท์ในมือไปตลอดกาล หน้าจอสัมผัสที่ใช้นิ้วเพื่อสั่งงานนั้นเปรียบดั่งพรจากสวรรค์เลยทีเดียว แม้ว่าตอนนั้น Steve Jobs ต้องโน้มน้าวผู้ใช้ที่คุ้นเคยกับโทรศัพท์มือถือที่แบตเตอรี่อึดห้าวันมาเหลือวันเดียวจะเป็นเรื่องยากก็ตาม แต่มันเป็นความเสี่ยงที่ต้องทำ เหมือนกับตอนที่ยานอวกาศ Apollo 11 ลงจอดบนดวงจันทร์ได้นั้นแหละ
แต่มันก็ยากที่จะแยกแยะระหว่าง Apollo 12 และ Apollo 15 เหมือนกับที่ยากจะแยกแยะ iPhone 7, iPhone 8 แม้แต่ iPhone XR, iPhone 11 หรือ iPhone 12 (คือนอกจากที่ไม่มีปุ่ม Home และใช้ Face ID นอกนั้นก็ยังเป็น iPhone ที่คุ้นเคย) ซึ่งถ้าจะให้เท่าเทียมแล้วมองไปอีกด้านอย่าง Samsung เราก็แทบจะเห็นแนวทางเดียวที่เหมือนๆกัน S7, S8…S10 มันก็แทบจะเหมือนกันทุกอย่าง มีอัพเกรดนิดๆหน่อยๆ
มันเหมือนกับโปรเจคของ Apollo นั้นแหละที่ติดแหง๊กอยู่กับที่ เทคโนโลยีที่จะสร้างฐานบนดวงจันทร์หรือส่งมนุษย์ไปดาวอังคารยังมาไม่ถึง เหมือนกับสมาร์ทโฟนที่เราไม่สามารถไปไหนได้เพราะเทคโนโลยีมีอยู่แค่นี้ เรากำลังอยู่ในจุดที่เทคโนโลยีหยุดชะงักและตันไปหมด จึงทำให้การพัฒนา iPhone นั้นติดอยู่กับที่ด้วยเช่นกัน
ช่วงก่อนมี iPhone เราก็ติดอยู่ในวงจรแบบเดียวกันนี้ เหมือน PCs หรือ Game Consoles ที่เมื่อมีรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน ทุกอย่างๆที่เพิ่มเติมเข้ามาก็เป็นเพียงอัพเกรดเล็กๆน้อยๆเท่านั้น แน่นอนว่าเราเห็นการเปลี่ยนแปลงโดยรวมอย่างเช่นฮาร์ดไดร์ฟจากที่หมุนติ้วๆกลายเป็น SSD หรืออย่างหูฟังที่ตอนนี้ก็กลายเป็นไร้สายกันแทบทั้งนั้น กล้องวงจรปิดที่เชื่มต่อกับอินเตอร์เน็ตที่มีอยู่ทุกหัวมุมถนน หรืออย่าง smart speakers ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่บริษัทเหล่านี้เอาเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วมาปรับเปลี่ยนเล็กๆน้อยมากกว่า
แล้วเราจะออกจากการหยุดชะงักแบบนี้ได้ไหม? คำตอบคือได้แหละแต่อาจจะไม่ใช่เร็วๆนี้
ลองคิดถึงเรื่องนี้จากอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่เรียกว่า “วิวัฒนาการ” ก็ได้ นักชีววิทยาหลายคนที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้เชื่อว่าสปีซี่ส์ไม่ได้ปรับเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่เป็นการปรับเปลี่ยนที่รวดเร็วและตามมาด้วยช่วงเวลาที่เงียบสงบ ทฤษฎีการเว้นวรรคของดุลภาพ (punctuated equilibrium) นั้นบอกว่าถ้าไม่มีแรงกดดันจากภายนอกให้เกิดความเปลี่ยนแปลงสิ่งมีชีวิตก็จะไม่เปลี่ยนแปลง มันจะเกิดความเปลี่ยนแปลงก็ต่อเมื่อมีแรงกดดันจากภายนอกเช่นอุกาบาตตกใส่โลกหรือมีโอกาสใหม่เช่นออกซิเจนในอากาศ สิ่งมีชีวิตก็จะใช้สิ่งเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ เพราะฉะนั้นตัวผลักดันจะมาจากภายนอก ซึ่งถ้ากลับไปพูดถึงสมาร์ทโฟนตอนนี้มันก็เป็นอะไรไม่ได้มากกว่าสมาร์ทโฟนนั้นแหละ
เรากำลังอยู่ในจุดที่เทคโนโลยีกำลังชะงัก ต้องรอโอกาสจากภายนอกที่จะมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง (ลองคิดว่ามีเทคโนโลยีชนิดใหม่ที่ทำให้แบตเตอรี่สมาร์ทโฟนสามารถอยู่ได้สองอาทิตย์ เราคงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงแน่นอน) แต่ตอนนี้ก็อย่างที่เห็น พอใจในส่ิงที่มี ดูหน้าจอเดิมๆไป กล้องดีกว่าเดิมอีกหน่อย แบตฯอึดกว่าเดิมอีกนิด บางทีเราอาจจะเห็นแว่นตา AR ปีหน้า วันหนึ่งเราอาจจะหลุดพ้นจากจุดที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็ได้