ร้านต๊อกเกาหลีคู่เด็กเชียงใหม่ : K-POP TTEOKBOKKI CHIANGMAI
K-POP TTEOKBOKKI CHIANGMAI เป็นร้านอาหารเกาหลีเลื่องชื่อร้านหนึ่งที่ต่ายเชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จัก ยิ่งถ้าเป็นกลุ่มเพื่อนที่ชอบฟังเพลง K-Pop ด้วยแล้ว คงจะพลาดร้านนี้ไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง
ที่มาที่ไปของร้าน K-POP TTEOKBOKKI CHIANGMAI ร้านนี้ต้องย้อนไปเมื่อปี 2010 ร้านนี้ก่อตั้งขึ้นโดยคุณชองซุกวอน และคุณจิตติมา วอน (คุณใบเฟิร์น) วันนั้นที่ต่ายไปคุณใบเฟิร์นเป็นคนเล่าเรื่องราวของร้านให้ต่ายฟังเอง คุณใบเฟิร์นบอกว่าปกติแล้วคุณใบเฟิร์น เขาจะไม่ค่อยให้สัมภาษณ์ที่ไหน ถือว่าเป็นโชคดีของต่ายมากๆ
เหตุผลที่ต่ายมาที่ร้านนี้ก็เพราะว่าร้านเคป๊อบต๊อกโปกกีเนี่ยเป็นหนึ่งในร้านอาหารเกาหลีที่เป็นที่รู้จักกันมานาน เป็นที่พบปะสังสรรค์ของวัยรุ่นเชียงใหม่หลายต่อหลายรุ่น ต่ายเองก็เคยมากินร้านนี้ตั้งแต่สมัยเรียน ม.ปลาย ต๊อกของที่ร้านนี้อร่อยจริงๆนะ ขนาดเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วต่ายไม่อินกับวัฒนธรรมเกาหลียังรู้สึกว่าต๊อกคือของอร่อย
- จุดเริ่มต้นของร้าน
“ในตอนนั้นคุณวอนมีธุรกิจร้านอาหารอยู่ที่เกาหลี เป็นพวกปิ้งย่างเกาหลี ตอนนั้นแกก็อยากจะมาเปิดร้านที่ไทย แกก็มาดูทำเลว่าเราจะเปิดเป็นอะไรดี ส่วนตัวเราตอนนั้นเราก็มองว่าปิ้งย่างเกาหลีเนี่ย ต้นทุนสูงและยิ่งถ้าเป็นคนเกาหลีมาทำยิ่งต้องสูง”
คุณใบเฟิร์นเล่าถึงเรื่องราวของร้านให้ต่ายฟัง
“เราต้องมาคิดว่ากลุ่มตลาดของเราเป็นแบบไหน ตอนนั้นเราก็มีเพื่อนคนหนึ่งชวนไปกินต๊อกป๊อกกีที่กรุงเทพฯ ซึ่งกรุงเทพเขากำลังเริ่มกินต๊อกป๊อกกีกัน เราก็สงสัยว่ามันคืออะไรแล้วเพื่อนก็พาไป คุณวอนก็ไปด้วย”
* ต๊อกป๊อกกีคืออาหารยอดฮิตของคนเกาหลีทำมาจากแป้งข้าวเหนียว จะคล้ายกับบัวลอยยาวๆบ้านเราแต่ว่าเป็นของคาว
- ต๊อกป๊อกกีครั้งแรก
“ความรู้สึกแรกตอนได้ลองกินต๊อกป๊อกกีที่กรุงเทพฯ เรารู้สึกว่ามันไม่อร่อยแล้วก็คิดว่ารู้สึกว่ามันแพง ก็เริ่มคิดว่าเดี๋ยวถ้าได้ไปเกาหลีจะไปเดินดูว่าต๊อกป๊อกกีเป็นยังไง”
“ตอนที่เราไปเกาหลี เราก็เดินดูตลาดต๊อกป๊อกกีที่นู้นว่าเป็นยังไง เราก็จะเห็นเต้นซ์แดงกันลม เพราะที่นู้นมันหนาว พอเราเข้าไปอยู่ในเต้นซ์อุ่นๆมันอร่อย พอประกอบกับบรรยายกาศซอสแดง ออบุก ต๊อกของทอด มันดีมากๆเลย — แต่ยังไงเราก็คิดว่ามันเป็นแค่แป้งๆหวานๆ ถ้าเอามาทำขายที่ไทย ตอนนั้นคนไทยจะชอบไปเป็นกลุ่มก็น่าจะไม่เหมาะ”
“คุณวอนก็เลยไปย่านชินดังดง ซึ่งย่านนั้นจะเป็นย่านที่ขายต๊อกป๊อกกีทั้งเส้น เราก็เลยไปทานของเจ้าต้นตำรับ ‘มาบงนิม ฮัลมอนิ ต็อกบกกี’ ซึ่งพอมากินที่เจ้าต้นตำรับแล้วที่นี่เขาจะเสิร์ฟเป็นหม้อไฟดิบ แล้วเราก็ต้องเอามาต้มเอง ตอนนั้นเรารู้สึกว่านี่แหละ ใช่เลย”
“คุณวอนเขามีพรสวรรค์ด้านการทำอาหาร ส่วนคุณแม่คุณวอนก็ทำอาหารอร่อย ตอนนั้นเขาก็ปรึกษาคุณแม่และทดลองสูตร ตอนนั้นเราก็ต้องมาดูพวกวัตถุดิบด้วยเพราะว่าหลายๆอย่างที่เมืองไทยยังไม่นำเข้า ของก็จะยังไม่ค่อยเป๊ะ แป้งต๊อกก็หาซื้อยาก พริกเกาหลีนี่ค่อนข้างยาก เราก็ต้องเช็คของเอง ตอนนั้นคุณวอนก็ต้องการที่จะใช้วัตถุดิบที่เป็นเกาหลีให้เขานำเข้ามา ก็ติดต่อหาซัพพรายเออร์ให้นำเข้ามา กว่าจะเปิดร้านได้ก็เป็นปีเหมือนกัน”
“เปิดจริงๆก็วันที่ 15/11/2011” (เกือบ 10 ปีแล้ว)
จริงๆแล้วถ้าย้อนไปตอนนั้นแล้ว อาหารเกาหลียังไม่เป็นที่นิยมเท่านี้เลย ในตอนนั้นคุณเฟิร์นกลัวไหมที่จะเปิดร้านอาหารเกาหลี
“กลัว แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรที่แปลกออกมา เราก็คงจะนำเขาไม่ได้ ถ้าคนคิดถึงอาหารเกาหลีก็จะคิดถึงแต่หมูย่าง กิมจิ แกงกิมจิ แต่ถ้าเป็นตอนนี้เขาก็จะคิดถึงต๊อกป๊อกกี คิมบับและจาจังเมียน หมูย่างในตอนนี้ก็เริ่มหั่นราคากันแล้ว”
- ใช้เวลานานไหมลูกค้าถึงเยอะ
“ตอนเริ่มดูพื้นที่คุณวอนมองไว้ ด้วยประสบการณ์การทำงานของเขา เขาบอกว่าถ้าจะเปิดเล็กแค่ 10 ที่นั่งการหมุนเวียนจะไม่เกิด คือเขาจะเข้าในใจนิสัยของคนไทยว่าเวลามาจะต้องมานั่งพูดคุยกัน ชอบนั่งนานๆยิ่งถ้ามีร้านที่เราตั้งใจจะให้มีแอร์เย็นๆ มีรายการเพลง คนที่เขาชอบ K-Pop เค้าก็จะยิ่งนั่งนาน เราก็มองไว้ว่าตรงนี้จะให้เป็นที่ที่สำหรับคนที่ชอบสิ่งเดียวกัน ชอบเพลง ชอบอาหารเกาหลี คุณวอนก็เลยมองหาที่ที่มีขั้นต่ำ 25 โต๊ะขึ้นไป”
“วันแรกที่เปิดส่วนใหญ่ที่เข้ามาก็จะเป็นเป็นน้องนักศึกษา และเราก็ทำโปรโมชั่นลด 50 เปอร์เซ็นสองวันแรก เรียกลูกค้า ตอนนั้นเราขายแต่หม้อไฟอย่างเดียว เราคิดว่าถ้าอยากให้ลูกค้าเข้ามาลองกินอะไรใหม่ๆ เราก็ต้องมีราคาที่เป็น “ราคาสำหรับทดลอง” ซึ่งสองวันแรกที่เปิดโต๊ะเต็มเลยนะคะ”
“แต่ก็ไม่ได้พีคแบบนี้ตลอด เปิดร้านไปสักพักหนึ่งลูกค้าจะอยากทานเป็นจานเล็ก เพราะถ้าตอนนั้นเทียบกับหมูกระทะ 189-199 อันนี้หม้อไฟหม้อละ 179 ละ และบางทีเขาก็อาจจะเลี่ยนหรือกินไม่หมด อันนี้ก็เลยเป็นตัวเปรียบเทียบทำให้ลูกค้าบางคนมาดูแล้วก็ผ่านไป”
“ตอนนั้นเราก็เลยต้องบอกคุณวอนว่าเริ่มเห็นผลละนะว่าสองเดือนนี้ลูกค้าไม่กล้ากิน ละอีกอย่างตอนนั้นตัวพี่เองก็ทำงานประจำอยู่ด้วย คุณวอนก็ ใหม่มากๆ เรียนพูดภาษาไทยมาก็ยังพูดไม่ค่อยได้ มีปัญหาอะไรก็ยังโทรหาเรา พอท้องน้องคนแรก พี่ก็เลยลาออกมาดูแลร้านเลย”
- งานประจำกับการเป็นคนดูแลกิจการแตกต่างกันไหม
“งานเก่าของพี่ก็จะเป็นคล้ายๆกับงานออฟฟิศก็จะมีต้องพบปะพูดคุยกับคนทั่วไป งานรับรอง VIP อะไรประมาณนี้ ช่วงแรกพี่ออกมาพี่ยังไม่เข้าครัว แต่พอมาคำนวนเหมือนเราขาดทุนนะ ตอนนั้นเราก็เห็นว่ามันมีทุนแฝง มีค่าของรายวัน ค่าของนำเข้า เราก็เลยมาจัดการบัญชีและการตลาด”
“สองสามเดือนแรกคือติดลบหลายแสนเลย”
“ตอนนั้นมีรายการทีวี เข้ามาฟีคแบคก็เลยเริ่มดีขึ้นเราก็เลยเริ่มคิดถึงการมีสื่อ จากนั้นปีแรกลูกค้าก็เริ่มกลับมา จะให้บูมจริงๆก็ปีที่ 4 ที่ลูกค้าต้องมาเข้าคิว ต่อโต๊ะ คนเต็มร้าน”
“ตัวคุณวอนเองตอนแรกถอนใจแล้วนะ เพราะว่ามันไม่เหมือนที่เกาหลี ที่เกาหลีสามเดือนปังคือปัง แต่ที่นี่ต้องมารอเป็นปี”
- ทำยังไงถึงผ่านวิกฤตมาได้
“ก็คือเรามองเห็นปัญหาว่ามันเกิดจากการตลาด เราก็เลยเพิ่มป้าย ลงสื่อ ทำเฟซบุ๊คแฟนเพจเพื่อคอยตอบลูกค้า ตอนนั้นจำได้ว่าไม่มีเดลิเวอร์รี่เลย จนกระทั่งเรามาทำเมนูที่เป็นจานด่วน ตอนนั้นลูกค้าก็เริ่มอยากซื้อกลับบ้าน เป็นของต่างๆที่เพิ่มเข้ามา พวกบริการเดลิเวอร์รี่เลยเข้ามาปีที่ 5”
- คิดว่าอะไรเป็นสิ่งที่มัดใจคนเชียงใหม่
“เราคิดว่าน่าะจะเป็นสูตรของซอสที่ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่ใช่ว่าเจ้านี้เสนอราคามาถูก เราก็จะเปลี่ยน เราคงวัตดุดิบและคุณภาพของสินค้า เรื่องของซอสคุณวอนจะเป็นคนที่ดูแลตลอด”
“สูตรนี้ถ้าเทียบกับที่เกาหลี ต๊อกที่นี่จะเค็มขึ้นมานิดนึงเพราะถ้าเป็นเกาหลีจะติดหวาน ถ้าจะปรับก็จะเป็นคุณวอนที่ปรับเอง เช่นตอนนี้ใช้น้ำสต๊อกสาหร่ายทะเลน้ำลึก”
- การรับมือช่วงโควิด
“จริงๆแล้วร้านไม่เคยปิดหน้าร้านเลย ตั้งแต่ช่วงโควิดรอบแรกเพราะว่าเราอยากให้พนักงานมีงาน เราก็บอกกับเขาว่าถ้าได้เงินน้อยน้องจะทำไหม ถ้าน้องไม่ทำพี่ก็จะปิดร้าน แต่เขาบอกว่าโอเค เขาไหว เราก็เปิด แต่ก็คุยกับเขาว่าถ้าเปิดเนี่ยอย่าถามพี่ว่าหากำไรนะ พี่เปิดให้น้องมีเงิน”
- การขยายสาขา
“แผนขยายสาขา พี่เคยคุยกับคุณวอนหลายครั้งละ ตอนนี้ที่มีสาขาเดียวพี่ก็ดูแลทุกอย่างทุกปัญหาด้วยตัวเอง มีคนถามซื้อเฟรนชายด์เราก็ไม่ทำนะ เพราะกลัวว่าเขาจะเอาไปไม่ดี คุณวอนก็อยู่ในครัวตลอด พี่ก็มาเช็คความเรียบร้อยของร้านตลอด เราดูแลเองทุกขั้นตอน เพราะฉะนั้นถ้ามีปัญหาเราต้องเป็นคนแรกที่รู้ เช่น ถ้าเจอเศษพลาสติกตกลงไปในหม้อเราก็จะเทแล้วก็ทำใหม่เลย หรือไม่ลูกค้าบอกว่าไม่เป็นไร เราก็จะลดราคาให้”
“ทุกอย่างพี่เป็นคนจัดการปัญหาแล้วก็ตัดสินใจ พี่ก็เลยคิดว่าถ้าเปิดอีกสาขาจะแยกร่างไปยังไงเราเลยอยากทำที่เดียวให้ดีที่สุด”
ฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากทำธุรกิจ
“เรื่องวินัยก็สำคัญ อย่างทุกวันนี้คุณวอนตื่นตี 5 6 โมงไปตลาดสองที่ เพื่อดูของนำเข้ากับของสด ตัวคุณวอนก็มีคนต่างชาติที่อยากเข้ามาทำธุรกิจเข้ามาปรึกษาเยอะ เหมือนคุณวอนเป็น “ซาจังนิม” ที่ประสบความสำเร็จ แต่แกก็บอกตลอดว่าถ้าแกคนเดียวไม่ประสบความสำเร็จหรอก มันต้องมาด้วยกันหมดเลย ไม่ใช่ว่าจะมีเงินลงทุน สอนเขาแล้วเขาจะทำตาม ตรงนี้เราต้องควบคุมดูแลทุกอย่าง”
“จะเปิดก็เปิดได้แต่ถ้าอยากให้ประสบความสำเร็จต้องลงมือทำเองทุกอย่าง ถ้าทำแป๊บๆแล้วก็ถอนใจก็เจ๊ง”
ช่องทางติดต่อ
เฟซบุ๊คแฟนเพจ : K-POP TTEOKBOKKI CHIANGMAI
โทรศัพท์ : 084 046 8389
แผนที่ : https://goo.gl/maps/7ia26btTc1KNbRcf8