“โลกต้องรู้จักข้าวซอย เหมือนโลกรู้จักราเมน” – Khao-Sō-i : วิน ศรีนวกุล
สำหรับคนเหนือหรือคนที่เกิดในเชียงใหม่ เมื่อเราพูดถึงข้าวซอย สิ่งแรกที่เข้ามาในหัวคงไม่ต่างกันเท่าไหร่ ร้านข้าวซอยตามตลาดหรือร้านคุณป้าข้างทางที่คุ้นเคย รสชาติกะทิกับเครื่องแกง น่องไก่ ลูกชิ้นเนื้อ หรือเนื้อเปื่อยว่ากันไป บางร้านน้ำใสๆ บางร้านน้ำข้นๆ เผ็ดบ้าง จางบ้าง ดูเหมือนซื้อหวยอยู่เหมือนกัน เป็นอาหารที่ทานมาตั้งแต่เด็ก รู้จักกันดี
สำหรับคนที่อยู่ต่างถิ่น ถ้าพูดถึงข้าวซอยเวลามาเชียงใหม่ก็จะมีร้านที่มีชื่อเสียง ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ไม่กี่ร้าน แต่มันก็ยังเป็นข้าวซอยเหมือนที่รู้จักกันทั่วไป ยิ่งเป็นชาวต่างชาติหรือคนที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะไม่รู้จักเลยว่า ‘ข้าวซอย’ คืออะไร เมื่อก่อนเวลาต่ายเจอชาวต่างชาติมักจะอธิบายว่ามันเป็น “Curry Noodle” หรือก๋วยเตี๋ยวเครื่องแกง ซึ่งมันน่าเสียดายเพราะที่จริงแล้วข้าวซอยนั้นมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ มีความลึกและซับซ้อนในเรื่องของรสชาติส่วนประกอบ ทั้งตัวเส้นเอง เครื่องแกง น้ำซุป ท็อปปิ้ง และเครื่องเคียง คนที่ทำหรือแฟนของอาหารประเภทนี้จะรู้ว่าการทำให้อร่อยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งจะทำให้ออกมาแตกต่างยิ่งยากขึ้นไปอีก
จนวันหนึ่งต่ายมาเจอร้าน Khao-Sō-i “ข้าวซอย” ในแบบที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ต่ายมีโอกาสได้ไปลองที่ร้าน ซึ่งชื่อร้านข้าวซอยที่แยกตัว i ออกมาคล้ายเซตข้าวซอยของร้านที่ถูกแยกออกวางเป็นสัดส่วน หอมดอง ผักกาดดอง เส้นข้าวซอยทอด หรือแม้แต่น้ำกะทิ จัดเสิร์ฟแบบสไตล์ญี่ปุ่น วางด้วยทอปปิ้งเนื้อน่องลายพ่นไฟที่ไม่เหมือนใคร น้ำซุปที่ข้นคลั่กมาพร้อมกับรสชาติที่เข้มข้น ใครที่ชอบข้าวซอยแบบคลุกคลิกน้ำไม่ต้องมากจะฟินมากกับข้าวซอยของที่นี่ การตบแต่งของร้านที่ดูเหมือนร้านราเมนญี่ปุ่น ตั้งแต่หลังคาแบบบ้านญี่ปุ่นโบราณด้านหน้า และโต๊ะไม้สีทะมึนสร้างความขลังให้กับร้าน ตัดกับเคาน์เตอร์บาร์ที่เปิดโล่งให้เห็นกันชัดๆเลยว่าพ่อครัวกำลังทำอะไรอยู่ในเวลานั้น
ต่ายมีโอกาสนั่งคุยกับ คุณวิน ศรีนวกุล เจ้าของร้านและผู้ร่วมก่อตั้งว่าความเป็นมาของเจ้าร้านข้าวซอยนี้เป็นยังไง เพราะก่อนหน้าที่จะมาเปิดร้านอาหารคุณวินทำมาหลายอย่างมาก ตั้งแต่ธุรกิจโรงแรม นำเข้า-ส่งออก มาจนถึงท่องเที่ยว (คนอาจจะรู้จัก Win Travel & Tour นั้นแหละครับ ของเขาเอง) ก่อนที่โควิดระลอกแรกระบาด การปรับตัวครั้งนี้เกิดขึ้นได้ยังไงและทำไมถึงกล้า (อาจจะต้องบอกว่าบ้าบิ่น) เปิดร้านอาหาร ในยุคที่ธุรกิจอาหารมีการแข่งขันกันสูงมาก ล้มหายตายจากกันไปเยอะ แถมไม่พอข้าวซอยที่เขาขายไม่ใช่ราคา 40-50 บาท แต่มันขายในระดับพรีเมียมร้อยกว่าบาท ข้าวซอยถ้วยละร้อยกว่าบาท…ขายยังไง แล้วคนเต็มร้านขายหมดตลอดตั้งแต่เปิดวันแรก เพราะอะไรถึงตัดสินใจทำแบบนั้นและความตั้งใจลึกๆคืออะไรกันแน่
คุณวินเล่าให้ฟังว่า ช่วงแรกของการเติบโตตัวคุณวินเกิดที่ลอสแอนเจลิส (LA) ประเทศอเมริกา พ่อแม่เจอกันที่นั้นและแต่งงานกัน คุณวินใช้ชีวิตอยู่ที่นั้นจนถึงประมาณ 7 ขวบ จึงกลับมาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นก็เรียนอยู่ที่เชียงใหม่จนจบ ม.ปลายแล้วก็กลับไปเรียนที่อเมริกาอีกรอบ ซึ่งรอบหลังอาจจะเหมือนโดนบังคับอยู่หน่อยๆ เพราะตอนนั้นเพื่อนและสังคมที่มีอยู่ค่อนข้างจะเพรียบพร้อมดี
พ่อของคุณวินรู้ดีว่าสิ่งที่คุณวินต้องการคือประสบการณ์การเอาตัวรอด การใช้ชีวิตด้วยตัวเอง พ่อเลยพาคุณวินไปส่งที่อเมริกา ดำเนินเรื่องสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัย จ่ายค่าเทอม ค่าหอพัก พร้อมทิ้งเงินไว้ให้ 5,000 เหรียญและบอกว่า “กี่ปีก็ได้ไม่ต้องรีบลูก เกรดเฉลี่ยเท่าไหร่ก็ได้ แต่ขอให้จบก็พอ” (หัวเราะ!!) แล้วก็บินกลับไทย ทิ้งคุณวินไว้ให้เผชิญโลกกว้างด้วยตัวเอง “ละแปะ” คือคำที่คุณวินใช้อธิบายช่วงจังหวะนั้น เหมือนโดนทิ้งแบบไม่มีเยื่อใย แต่ที่จริงก็ไม่ใช่แบบนั้นซะทีเดียว
“ตอนนั้นก็ไม่ได้เหวอเท่าไหร่นะ รู้สึกว่าพ่อน่าจะเห็นอะไรบางอย่าง เขาปั้นเรามาตั้งแต่เด็ก ให้ทำงานหนัก อยู่ที่บ้านก็กินข้าวล้างจานอะไรเอง แม้จะอยู่โรงแรมของแม่ก็ไม่ได้ใช้พนักงานของพ่อแม่ได้”
หลังจากทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทางคุณวินก็ต้องเริ่มที่จะคำนวนค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ แล้วก็ต้องเริ่มที่จะหางาน โดยตอนนั้นสิ่งแรกที่คุณวินคิดก็คือห้องสมุด ด้วยความคิดที่ว่า “มันเป็นงานสบายๆนั่งทำการบ้านไป แต่สุดท้ายผมก็เบื่อ เพราะสมัยนั้นไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ สุดท้ายก็เลยย้ายไปทำงานร้านอาหาร ผมพอจะผัดข้าว ผัดกระเพรา ผัดซีอิ๊วอะไรเป็น แต่มันก็ไม่ใช่ความชอบหรืออะไรหรอก”
“คำถามผมตอนนั้นคือเสิร์ฟกับทำอาหารอันไหนมันได้เงินเยอะกว่า?” แล้วคุณวินก็หัวเราะ มันเป็นคำตอบที่จริงใจ ในช่วงเวลานั้นของชีวิตการตัดสินใจด้วยการใช้รายได้ตอบแทนไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร “ผมก็ไปทำร้านอาหารญี่ปุ่นแล้วพี่เจ้าของร้านก็เห็นแววบางอย่าง เลยให้ผมไปเทรนนิ่งเป็นซูชิเชฟ ความขยันและรับผิดชอบที่เหมือนถูกบ่มเพาะมาจากที่บ้านก็ทำให้ขึ้นเป็นเชฟที่นั่นได้”
“ทำร้านอาหารอยู่ 3 ปี ตอนนั้นผมก็เริ่มมีแพชชั่นกับมันบ้าง แต่ไม่ได้คิดจะทำเป็นอาชีพหรอก เพราะความฝันที่ว่าจะใส่สูทผูกไทด์ก็ยังอยู่” แต่ประสบการณ์การทำงานที่นั้นได้นำกลับมาใช้ในอนาคตอย่างไม่คาดคิด คุณวินได้ “เรียนรู้เรื่องความรับผิดชอบและการจัดการในบาร์ รู้ว่าเวลาลูกค้ามากันเยอะๆต้องทำยังไงบ้าง”
ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นที่มาของบาร์เปิดร้าน Khao-Sō-i ถ้าใครเคยมาทานที่ร้านก็จะเห็นว่าการจัดการในร้าน พนักงานในร้านจะทำงานกันเป็นระบบและให้บริการดี แม้ว่าจะมีลูกค้าเยอะ มันเป็นสกิลการจัดการที่ติดตัวมาตั้งแต่ทำงานที่ร้านอาหารญี่ปุ่นครั้งนั้น
“นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมบาร์ตรงนี้ผมเปิดเลย เชื่อว่าถ้าอยากให้คุณค่า มันต้องให้คุณค่ามันไปถึงในครัวเลยให้เขาเห็นว่าเราทำอะไร ใช้เนื้ออะไร ไม่ได้มั่วนะ นี่ถ้าผัดข้างนอกได้ผมผัดเลยนะ”
(คุณวินแอบเล่าให้ต่ายฟังว่าในอนาคตอีก 9 เดือนข้างหน้า คุณวินจะเสริฟข้าวผัดในร้านข้าวโซอิ โดยจะมีรถเข็นและมีท็อปปิ้งบางอย่างมาเสิร์ฟแบบพิเศษด้วย)
เรื่องราวที่อเมริกาของคุณวินยังไม่จบแค่นั้น นอกจากการไปเรียนที่นั้นจะผิดแผนแล้ว คณะที่เรียนจากที่ตั้งใจไว้ว่าจะเรียนบริหาร แต่กลับผันตัวไปเรียนไฟแนนซ์เพราะอาจารย์แนะแนวบอก
“ทุกอย่างพังเลยครับ คือผมไม่อินเลย แต่ไถให้จบ ผมไม่อยากช้าไปอีกเทอมสองเทอม อยากเรียนให้จบไวที่สุดแล้วก็กลับไปทำงาน ผมไม่สน GPA ด้วยซ้ำ ตอนนั้นลาออกจากการเป็นเชฟแล้วมาเป็นเด็กเสิร์ฟด้วยนะ เพราะเชฟมันลางานไม่ได้แต่เสิร์ฟเนี่ยมันลางานได้ เพราะว่าผมต้องเตรียมทรานเฟอร์เข้ามหาลัย ก็เลยต้องเบนเข็มไปเสิร์ฟแทน จากนั้นก็เรียนไม่ไหว สุดท้ายก็เลยไปขับรถเดลิเวอรี่ต่อด้วย”
พอเรียนจบก็เลยไปทำงานแบงค์ ไปเป็นครูแล้วมันก็ไม่รอด คุณวินเล่าว่าตัวคุณวินเองจะไม่เสียเวลาถ้าเกิดว่าทำอะไรไม่ได้ตามเป้าหมาย และนั้นก็คือสิ่งที่พ่อวางแผนเอาไว้ เพื่อให้คุณวินเติบโตและเข้มแข็งด้วยตัวเอง ถ้าไม่ได้ไปชีวิตคุณวินก็คงจะอยู่ที่การเล่นกีฬาและสังสรรค์กับเพื่อน อาจจะกลับมาบริหารโรงแรมต่อจากพ่อแม่เป็นแค่คนที่สืบทอดธุรกิจทั่วไป
“ทุกอาชีพที่ผมทำ ถ้ามันไปไม่ถึงดวงดาว ผมก็จะเลิกเลยผมไม่ฝืนไปต่อ”
“ตอนนั้นผมเข้าใจที่พ่อบอก ที่พ่อบอกว่าไม่ต้องรีบนะ เอาแค่จบ คำว่าไม่ต้องรีบก็คือผมจะได้วิชา สปช. อยู่อเมริกาผมต้องทำทุกอย่างคนเดียว ไม่ว่าจะเกิดเรื่องอะไรขึ้น ต่างกับที่ผมอยู่ที่เมืองไทยถ้ามีปัญหาก็ติดต่อพ่อ ติดต่อเพื่อนๆ”
ด้วยความที่คุณวินมีคุณพ่อเป็นแบบอย่าง ความฝันตั้งแต่วัยเด็กคือการเป็นนักธุรกิจเหมือนกับคุณพ่อ ใส่สูท ผูกไท ซึ่งคุณพ่อของคุณวินทำธุรกิจส่วนตัว เวลาทำงานก็ดูเหมือนไม่ได้ทำงาน รู้สึกว่ามันช่างเท่สุดๆ ไปเลย
“ตอนเด็กผมอยากทำธุรกิจ ในหัวคือต้องมีออฟฟิศ มีเลขา มีห้องประชุมแล้วก็ตอนนั้นรู้สึกว่าคุณพ่อมีเวลาให้ อย่างตื่นขึ้นมาวันนี้อยากไปทะเล ก็ขับรถไปกันเลย เป็นนักธุรกิจที่เท่ๆ ต้องเท่กว่าพ่อกับแม่ด้วยนะ พ่อแม่คือยังทำงานด้วยตัวเอง ผมอยากทำธุรกิจแบบสบายๆ หรูๆ….แต่พอมาตอนนี้ ผมทำหนักกว่าพ่อแม่อีก” แล้วคุณวินก็หลุดหัวเราะออกมาเสียงดัง
หลังจากนั้นก็ถึงเวลากลับเมืองไทย คุณวินกลับมาก็มาอยู่ที่โรงแรม 4 เดือน กลับไปช่วยแม่บริหารงานที่โรงแรมตอนนั้น ไฟแรงมากแต่สไตล์การบริการของคุณวินกับแม่นั้นแตกต่างกันมาก “คุณแม่เป็นคนที่ทำอะไรได้ ก็จะทำเองทั้งหมด แต่ผมไม่ใช่สไตล์นั้น ผมเข้ามาจัดการนู้นนี่นั้น ทะเลาะกันหนักมาก เรียกได้ว่าโรงแรมจะแตก” มันไปไม่รอด โชคดีที่คุณพ่อเข้ามาช่วยพูด “พ่อบอกว่า พ่อเชื่อว่าผมไม่จำเป็นต้องมาทำธุรกิจต่อจากใคร ถ้าอยากประสบความสำเร็จลูกสามารถประสบความสำเร็จในวิธีของตัวเองได้”
คุณวินเลยไปเริ่มที่กรุงเทพ ตอนแรกก็ไปทำงานเกี่ยวกับ Logistics ก็ไปอยู่ฝั่ง Operation ตอนนั้นก็ไปทำอยู่ 5 ปี
“ตอนนั้นผมรู้สึกว่าผมอายุแค่ 22-23 แล้วมันก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ผมได้ขึ้นไปเป็นผู้จัดการได้ไว แล้วผมก็ได้เป็นคนตัดสินใจอะไรที่มันมีมูลค่าเยอะๆ ผมก็มีตัดสินใจถูกบ้างผิดบ้างแต่ตอนนั้นรู้สึกสนุก และการที่เราได้เจอคน ได้ดีลงานกับคนที่มีอายุมากกว่า สำหรับผม ผมมองว่าตัวผมแฮปปี้ที่ได้คุยกับคนระดับนี้”
ช่วงนั้นคุณวินก็อินกับการทำงานที่นั่นมากจนกระทั่ง ได้กลับมาที่เชียงใหม่และถูกคุณพ่อจุดความฝันขึ้นมาอีกครั้ง
“คุณพ่อมาเป็นช็อต คุณพ่อบอกว่าอยากคุยด้วยแล้วเขาก็ขับมาหาเราที่ออฟฟิศ ไปหาอะไรกิน ได้คุยกัน เนื้อหาใจความก็คือเขาถามว่าเคยคิดอยากทำธุรกิจไหม ตอนนั้นผมก็บอกว่าถ้าวันหนึ่งมีทุนก็ทำแต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้อินมาก ความฝันของผมตอนนั้นยังอยู่นะแต่มันก็ห่างไปแล้ว”
“ตอนนั้นพ่อมาคุยเรื่องธุรกิจ ผมก็เฉยๆ จนผมได้มาเจอพ่อกับเพื่อนมาคุยกัน ตอนนั้นผมเป็นผู้จัดการก็ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศตลอดเวลา แต่โทรศัพท์ของผมจะมีมาตลอดเวลา แต่เพื่อนพ่อ ลูกเพื่อนพ่อเขานั่งคุยกัน เรื่องไปกินข้าวไปตีกอล์ฟอะไร เราก็รู้สึกว่ามันเท่นะ การที่ได้คุยกันเรื่องการลงทุนการได้คุยกันแต่ตัวเลขกับไอเดีย ตอนนั้นผมก็รู้สึกว่านั่นคือความฝันของผม”
ตอนนั้นคุณวินก็เริ่มคิดเรื่องการทำธุรกิจแล้ว แต่ตอนนั้นคุณวินก็ไม่ได้ลาออกทันทีระหว่างที่ทำงานก็ลองทำงานหลายอย่างทั้งอสังหาริมทรัพย์ กระจกพ่นทราย ตอนนั้นคุณวินก็หัวหมุนอยู่เหมือนกันเพราะว่าอยากทำธุรกิจแต่กลายเป็นว่าทำอะไรก็ไม่ประสบความสำเร็จ
“หลังจากกระจกพ่นทราย พ่อก็มาเล่าให้ฟังเรื่องตั๋วเครื่องบินแล้ววันหนึ่งผมก็ไปเห็นบูทขายตั๋วให้ชาวต่างชาติ ผมก็ไปฟังมาแล้วก็ลองมาจิ้มๆในโทรศัพท์ ผมก็เห็นละว่าเขามีการบวกราคาเพิ่มมาเยอะมากทั้งไปและกลับ เผลอๆอาจจะมากกว่าที่ผมคิดไว้ด้วยซ้ำเพราะเขาเป็นเอเจนซ์”
นั้นคือจุดเหตุจุดประกายของ “วินทราเวล”
“ผมก็โทรหาเพื่อนทุกคนเลย ถ้ามากกว่าประมาณ 70 กว่าเปอร์เซ็น ยอมมาซื้อกับผมผมจะทำ จำได้เลยว่าตัวเลขออกมาที่ประมาณ 72 เปอร์เซ็นผมก็ลุยเลย”
ตอนนั้นคุณวินก็เริ่มทำธุรกิจที่เชียงใหม่ ตอนนั้นก็มีคนเตือนคุณวินว่ามันไม่มีคนทำนะ มีแต่คนปิด แต่คุณวินก็ยังอยากลองสักตั้ง
“ตอนนั้นผมรู้แล้วว่าผมมีคอนเนคชั่นที่ซัพพอร์ต ผมก็เลยต้องทำให้มันดีแล้วก็ราคาโอเค เดือนแรกกำไรสองหมื่น เท่าทุนพอดีเป๊ะเลย สักพักสายการบินเขาก็เห็นศักยภาพบางอย่างในตัวเรา เขาก็มาชวนเราทำทัวร์”
แม้ตอนนั้นคุณวินจะไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการทำทัวร์เลย ทั้งชีวิตไม่เคยใช้บริการทัวร์เลยด้วยซ้ำ ไม่รู้ว่าเขาต้องทำยังไงบ้าง แต่เขาเห็นโอกาสบางอย่างแล้วก็ลองทำเหมือนกับการตัดสินใจทุกครั้งที่ผ่านมาเข้ามาในชีวิตของเขา เขายอมรับเลยว่า “ปีแรกทัวน์ผมห่วยมาก ห่วยสุดๆ โดยคอมเพลนเยอะมาก” ไม่เข้าใจงานบริการ พยายามทำทุกอย่างเองเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย บางเรื่องไปถึงขั้นไหนแล้วตอนนั้นคุณวินไม่รู้เรื่องอะไรเลย เรื่องง่ายๆอย่างแท็กกระเป๋า ก็ยังไม่มี กรอกใบ ตม. ให้กับลูกทัวร์ยังไม่รู้เลยว่าต้องทำ ลืมของ รับผิดชอบไม่ทัน รับลูกทัวร์ล้น พูดง่ายๆก็คือไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับทัวร์เลยนั้นแหละ
“มีอยู่ครั้งหนึ่งเจอลูกค้าต่อว่าลับหลัง แต่ก็เหมือนว่าให้เราได้ยินนั้นแหละ คือมันเสียใจมาก น้ำตาไหลเลย ไม่กล้าหันกลับไปมองเลย ต้องบอกว่าอับอายขายขี้หน้ามาก แต่ว่าหลังจากนั้นผมก็เปลี่ยน ตอนนี้ผมเป็นทัวน์ลีดเดอร์ที่ดีแล้ว”
“ผมกลับมาตอนแรกผมจะเลิกแล้ว แต่เริ่มนึกขึ้นได้ว่าจุดแข็งของเราคือคอนเนคชัน แทนที่เราจะดีลกับลูกค้าหลายสิบคน ถ้าดีลกับคนเดียวที่ดูแลทั้งกรุ๊ปได้ เหมือนหัวหน้างานของหน่วยงานอะไรก็ตาม ผมก็แค่ดีลกับคนคนเดียว” นั้นคือสิ่งที่พลิกโฉมหน้าของ Win Travel & Tour ไปเลย “ทำทัวร์ Corperate อย่างเดียวเลย ก็คือบริษัทหนึ่งจะถ้าจะไปเที่ยวในบริษัทหรือว่าพาลูกค้าไปเที่ยว เราก็จะถามเจ้าของบริษัทคนเดียวเลยว่าจะยังไง อย่างมื้อนี้อัพเกรดไหม ช็อปปิ้งไหม ให้เขาเป็นคนฟันธงเลย”
ทุกอย่างกำลังไปได้สวย และแล้วอย่างที่เรารู้กันว่าโควิด-19 ก็มาเยือน ธุรกิจประเภทเดินทางท่องเที่ยว ถ้าไม่ใช่ยึดอันดับหนึ่งของตารางธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ก็คงจัดอยู่อันดับต้นๆอย่างแน่นอน คุณวินบอกว่าตอนที่มันมาแรกๆ “คิดว่าปลายปี 2020 น่าจะจบ เราก็น่าจะโอเค แต่ว่าตัวเลขมันก็โหดขึ้นเรื่อยๆ” คุณวินเริ่มปรับเงินเดือนพนักงานลง แต่ก็ยังอยู่กันครบทุกคน แม้ว่าจะไม่มีรายได้เข้ามา เขาก็ยังควักกระเป๋าตัวเองจ่ายให้น้อง ๆ
“ผมสนแค่ว่าถ้าตอนที่รวยผมรวยที่สุด ถ้าตอนที่จะจนก็ให้ผมจนที่สุด”
หลังระลอกแรกก็ดีขึ้นมานิดหนึ่ง มีงานเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเข้ามาบ้าง แต่ต่อมาระลอกสอง “ทัวร์ที่เหลือก็แคนเซินหมดเลย ระลอกสามนี่เปรี๊ยงเลย ซึ่งสิ่งที่เจ็บปวดที่สุดคือการขอคืนเงินที่เขาคืนเป็นเครติด เงินผมค้างในสายการบินเยอะมาก รอบสองกับรอบสามผมก็เลยต้องคืนลูกค้าเป็นเครติดไปบ้างบางส่วน”
“ช่วงโควิดผมก็รู้ละว่าชีวิตผมต่อจากนี้จะเหงา ช่วงนั้นก็ว่างละ ก็เลยหาอะไรทำไปเรื่อยๆ” ไปเป็นพิธีกรบ้าง เป็นวิทยากร Team Building บ้าง ทำอสังหากับเพื่อน ก็เป็นรายได้ที่เอามาใช้จ่ายทั่วไปได้
โควิดคือจุดเร่ิมต้นของความฝันครั้งใหม่ของคุณวิน
อย่างที่เราทราบกันดีว่าโควิดเป็นช่วงที่คนเริ่มทำอาหารกัน ทุกคนอยู่บ้านเป็นเชฟยูทูปกันหมด วันหนึ่งภรรยาอยากทำข้าวซอยให้ชิม “สูตรข้าวซอยผมมาจากบ้านแฟน เขาเคยทำข้าวซอยขายเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ชื่อว่าข้าวซอยเจียงใหม่ ซึ่งเคยขายที่หนองหอย” แต่ปิดกิจการไปนานแล้ว ปรึกษากันว่าอยากเปิดร้านอาหาร หารายได้ให้กับครอบครัวของทางนั้น คุณวินบอกได้เลยว่า
“ชิมวันแรกผมบอกเลยว่าไม่ผ่าน”
คุณวินเล่าให้ฟังว่าตัวคุณวินเองเป็นคนที่มี “เทสตลาด” ก็คือถ้าคนส่วนใหญ่ชอบคุณวินก็จะชอบ ไม่ได้หมายความว่าลิ้นเทพลึกล้ำ แต่เป็นลิ้นที่สามารถรับรู้ได้ว่ารสประมาณไหนคนส่วนใหญ่จะชอบ ตอนนั้นแฟนคุณวินก็โกรธ เขาก็เลยกลับไปแก้มือมาใหม่อีกหลายครั้ง
“ผมก็บอกไปว่ามันขาดอะไรไปบ้าง แต่พอรอบสองผมกินเข้าไปผมเลยเริ่มเห็นความเป็นไปได้แล้ว ผมก็เลยอยากเห็นวิธีทำ โดยที่เราก็เริ่มจากสูตรข้าวซอยเจียงใหม่นี่แหละ มาปรับ ช่วงนั้นผมแบบว่าใส่เข้าไปอีกๆ เอาให้ข้นอีก ผมรู้เลยว่ามันจะขายได้ถ้ามันจะชามละร้อยกว่าบาทก็ต้องรสนี้แหละ”
แต่ตอนแรกไอเดียของการเปิดร้านข้าวซอยนั้นไม่ได้อยู่ในหัวคุณวินเลย “ตอนแรกผมก็คิดว่าผมจะไปอุดหนุนแต่จะไม่เป็นเจ้าของร้านนะ ถ้าจะทำแค่มีอาชีพ แล้วแฟนผมก็เลยถามว่าแล้วอะไรที่วินต้องการ?”
“ผมก็เลยบอกว่าถ้าผมจะทำ ผมจะทำให้สุด ตอนนั้นเขาก็ทำน้ำข้าวซอย ผมก็เริ่มคิดละว่าถ้าจะทำก็ทำเป็นข้าวซอยเส้นสด น้ำต้องไม่เหมือนใคร”
“เส้นนอกจากสดแล้ว เส้นต้องไม่เหมือนใคร ผิวสัมผัสยังไง คนอาจจะไม่ชอบบ้างเพราะว่ามันฟิวชั่นไปหน่อย แต่น้ำของผมคือเข้มข้นมาก ทีนี้ผมก็ทำการบ้านละว่าจะทำยังไงให้ขายข้าวซอยให้มีคุณค่า อย่างแรกที่คิดคือร้านต้องสวยละ แต่ไม่รู้ว่าจะยังไงดี” ต่อจากนั้นก็เป็นการเริ่มตะเวนชิม “ทุกวันก็เริ่มไปร้านคนอื่นเรา ไปดูร้านที่เขาสำเร็จ ตอนนั้นเริ่มศึกษาว่าร้านอื่นเขาทำกันยังไงแล้วผมก็ได้คำตอบ จากการไปกินราเมนที่ร้าน Sanmai Ramen”
“ราเมน ไม่มีใครเรียกว่า Japanese Noodle มันเกิดจากวันที่ไปนั่งกิน Sanmai ที่คิดว่าเขาขายชามละร้อยกว่าบาท ซึ่งราคามันอาจจะดูแพงนะ แต่ผมไม่รู้สึกเลยว่ามันแพง ผมว่ามันสมราคา เพราะเขาทำแล้วผมรู้สึกว่าเขาใส่ใจ”
ตอนนั้นผมคุณวินก็เห็นและราเมนก็ได้จุดประกายว่าทำไมข้าวซอยถึงไม่เหมือนราเมน เพราะว่าเราไม่ได้ให้คุณค่ากับข้าวซอยแบบนั้น “ญี่ปุ่นทำได้ยังไง ทั้งโลกกินราเมน ตอนนั้นผมคิดเลยว่าข้าวซอย ยังไงต้องข้าวซอย ผมจะทำให้ได้เลย ผมทำร้านนี้เหมือนร้านราเมน”
“โลกจะต้องรู้จักข้าวซอยว่าข้าวซอย เหมือนรู้จักราเมนว่าราเมน”
“ทำบาร์อะไรเหมือนกับราเมนเลย ถ้าพี่ไม่ได้สั่งผัดแห้งกระบวนการทุกอย่างมันอยู่ตรงนี้หมดเลย ผมใส่คุณค่าเข้าไปวิธีการเสิร์ฟ การอธิบาย การทำ เชฟก็ต้องเรียนรู้เส้น น้ำกะทิ น้ำข้าวซอย เราเปิดมาสองอาทิตย์แรกเราก็มีปัญหา เราพึ่งมีไอเดียที่จะทำตอน 15 มกราคม เริ่มที่นี่ตอน 1 พฤษภาคม ตอนแรกมันเป็นหน้าหนาวเส้นเราไม่ได้มีปัญหาแต่หลังจากนั้นฝนตก เส้นเราก็เป็นเมือก เราก็ต้องแก้ปัญหาตอนนี้ก็แก้ได้แล้ว ผมยังงงวิธีแก้ของผมอยู่เลยว่าทำไมถึงทำได้”
“มันสนุก สนุกสุดๆเลย การทำทัวน์ทำให้คนแฮปปี้จริง แต่มันไม่เหมือนกับตอนทำครัว ที่เราเจอคนใหม่ทุกวันและเขาก็ปราบปลื้มกับของเรา บอกว่าอร่อย เราเห็นฟีคแบคทันทีเลย”
“ตอนแรกกะเปิดๆแล้วก็เดี๋ยวให้คนมาทำต่อ แต่ว่าตอนนี้อยากขยายแล้ว อยากอยู่ในธุรกิจนี้แล้ว” หลังจากเปิดมาได้เดือนนิดๆ (เริ่มเปิดวันแรกคือ 18 พฤษภาคม) คนก็เริ่มเข้ามาเยอะขึ้น อาจจะเป็นเรื่องของการตบแต่งร้านที่ลงตัวด้วย แม้ว่าภรรยาคุณวินจะไม่ใช้สื่อโซเชียลมากนัก แต่เขาก็ทราบดีว่าถ้าต้องการให้ลูกค้ามาทานต้องตบแต่งแบบไหน “เขาออกแบบอะไรเอง แล้วเขาก็บอกว่าอันนี้เป็นยังไงๆ เขาก็คุยกับช่างเอง เลือกกระเบื้องหลังคาเอง ซึ่งหลังคาเนี่ยมหากาพย์เลยนะ” คุณวินเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ มันเป็นประสบการณ์ที่สนุกมาก
“หลังคาคือแฟนผม เขาบอกว่าใช้กระเบื้องกาบกล้วยได้ไหม มันจะออกมาญี่ปุ่นๆ แต่แฟนผมไม่ยอม ถึงขั้นไปหาอาจารย์ที่เทคโนฯ เพื่อหล่อโมเดล จะให้โรงงานทำให้ ผมก็เห็นแล้วก็เริ่มคิดละว่าเลยเถิดกันไปใหญ่แล้ว วันนั้นผมก็เลยโพสต์ขอความเห็นใจ ใครรู้ว่าซื้อที่ไหนช่วยบอกผมที แล้วตอนนั้นคนก็เลยเริ่มสงสัยแล้วว่าผมจะทำอะไรกันแน่ แล้วสุดท้ายก็มีน้องคนหนึ่งหามาได้ เขาบอกว่าอันนี้เหลือแค่นี้แล้วนะ เขาจะเลิกผลิตแล้ว ผมก็เลยได้มาใส่หลังคาด้านหน้า แค่นี้หมดแล้วจริงๆ”
“เรื่องแต่งร้านผมยกให้แฟนเลย เขาทำทุกอย่างและเขาเข้าใจเรื่องการแต่งนู้นนี่นั่น สวนก็ทำเอง ออกแบบเองหาซื้อต้นไม้มาค่อยๆเติบ”
พอเปิดร้านกระแสโซเชียลก็มาช่วย ด้วยความโดดเด่นของรสชาติ การนำเสนอ การตบแต่งของร้านที่สวยงาม และเพื่อนๆที่ช่วยกันดันด้วย คนก็ตามกันมาเรื่อยๆ ร้านเต็มอยู่ตลอดซึ่งก็เป็นที่น่าพอใจ แต่ต่ายก็ถามว่ากังวลไหมเมื่อกระแสมันมาเร็วมันก็จะไปเร็วด้วย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับธุรกิจหลายแห่งในเชียงใหม่ คุณวินเล่าว่าแน่นอนว่าความกังวลมันมีอยู่แล้ว
“แต่เราก็หมั่นที่จะเช็ค วางแผนตั้งรับ แต่ถามว่ากลัวไหม เราต้องวางแผนไว้ ตอนนี้เราวางไปถึง 9 เดือนข้างหน้าว่าจะทำอะไรบ้าง เดี๋ยวเราจะมีเส้นแบบใหม่ เส้นบีทรูทสีแดงที่กำลังจะออกใหม่ มันหอมแล้วก็อร่อยดี วันนั้นผมลั่นออกไปในเฟซบุ๊ค ลูกค้าก็มาตามหากันใหญ่”
ต่ายถามคุณวินว่า “คิดว่าเชียงใหม่เป็นเมืองปราบเซียนไหม” คุณวินเล่าให้ต่ายฟังว่าคุณวินไม่คิดแบบนั้นซะทีเดียว “ผมไม่เชื่อนะ ผมฟังมาทั้งชีวิต เอาแฟร์ๆนะยุคก่อนคนเชียงใหม่เขาไม่ค่อยใช้เงินกัน วิถีชีวิตเขาเป็นแบบนั้น”
“ยุคก่อนอาจจะทำธุรกิจที่ขายของแพงยาก มันก็เลยกลายเป็นของปราบเซียน”
“ผมเชื่อว่าเชียงใหม่เป็นเมืองศิลปิน คนเชียงใหม่ยุคนี้ใช้เงินนะ สมัยก่อนปราบเซียนจริงแต่คนสมัยนี้เขาจใชเงินในที่ที่อยากจะใช้จริงๆ ผมเชื่อว่าเราต้องสร้างสรรค์หน่อยแล้วก็ต้องไม่เหมือนใคร”
“การก็อปปี้คนอื่นอยู่ยาก”
“มันต้องทำการบ้านหนักหน่อย มันไม่จำเป็นต้องถูกปากเรา แต่มันต้องถูกปากคนจำนวนที่มากพอด้วยนะ”
“ผมจะไม่ใช่อาร์ตทิสนะ ถ้าผมมีเป้าหมายผมเป็นคนที่ไม่ใช่ค่อยๆโตแต่จะไปถึงเป้าหมายให้ไวที่สุด ผมอยากให้คนญี่ปุ่นได้กินข้าวซอย ผมอยากให้คนต่างประเทศได้เห็น ตอนนี้ผมก็กำลังไปปรึกษาคนที่พาร้านไปเติบโตที่ต่างประเทศ เขาก็บอกว่าอันดับแรกต้องไปเติบโตที่กรุงเทพให้ได้ เราถึงจะไปตรงโน้น ไม่ใช่อยู่ดีๆก็พุ่งไปเลย”
ในส่วนของวินทราเวลก็ยังไม่ได้ทิ้งซะทีเดียว พนักงานน้องๆทุกคนก็ยังอยู่ หลายคนก็มาช่วยที่ร้านข้าวซอย แต่เมื่อทุกอย่างกลับมา เดินทางได้อีกครั้ง “ก็ต้องกลับไป ผมเชื่อว่าทีมงานของผมก็จะมาช่วยผมมากขึ้น” อย่างตอนนี้ “เส้นสดผมไม่ได้มีโรงงานเป็นของตัวเอง มันมีบางวันที่เราผลิตไม่ทัน อีกสักไม่ถึงเดือนผมคงต้องคุยกับโรงงาน ซึ่งผมลองให้เขาทำแล้วมันยังไม่เหมือน ตอนนี้ก็ต้องปรับยังไงให้มันได้เท่ากัน พวกหัวตัด พวกอะไร”
“ข้าวโซอิเป็นแพชชั่นของผม ที่ผมแฮปปี้ ผมคิดเรื่องขยายสาขานะ แต่ความฝันสูงสุดคือ คนต่างประเทศต้องรู้จักข้าวซอย เหมือนที่เขาเรียกว่าราเมน”
“ผมคิดนะว่าวันหนึ่งร้านข้าวซอยผมต้องได้ไปเปิดที่ญี่ปุ่น ให้เขาได้กินข้าวซอยของผมแพงๆบ้าง ตรงนั้นจะเป็นเป้าหมายที่ผมทำสำเร็จแล้ว”
“มันต้องมีสักวันที่เขาจะพูดกันว่า What should I have for lunch? KhaoSoi!!!”
ข้อมูลติดต่อ :
เฟซบุ๊คแฟนเพจ : Khao-Sō-i
เบอร์โทรศัพท์ : 061 515 4529
แผนที่ : https://goo.gl/maps/9LYSuDZTeUSYeduE8
ร้านเปิด 11:00 – 17:00 โมงทุกวัน ปิดวันจันทร์