เชอรี่-ชนิดาภา ชาติสุทธิวงษ์ กับการรับไม้ต่อของทายาทรุ่นที่สามร้าน “เชียงใหม่กระดุมทอง” ธุรกิจค้าขายอุปกรณ์ตัดเย็บครบวงจรที่อยู่คู่เชียงใหม่นานเกือบสามทศวรรษ
“ร้านอาจจะของเยอะนิดหนึ่งนะคะ แต่เดี๋ยวเชอรี่พาเดินดูของในร้าน”
เสียงต้อนรับอันสดใสของน้องเชอรี่กล่าวขึ้นมาตอนที่ต่ายเดินผ่านประตูหน้าร้าน “เชียงใหม่กระดุมทอง” ซึ่งถ้าใครอยู่เชียงใหม่และตามหาอุปกรณ์ตัดเย็บเสื้อผ้าน่าจะเคยได้ยินชื่อนี้ผ่านหูบ้างหรือบางทีอาจจะเป็นลูกค้าประจำของร้านอยู่แล้วก็ได้ เพราะมันเป็นร้านขายอุปกรณ์ตัดเย็บครบวงจรทั้งปลีกและส่ง ซึ่งเป็นร้านเก่าแก่ที่อยู่คู่เชียงใหม่มาอย่างยาวนานกว่า 26 ปี แล้ว
วันนี้ต่ายมีโอกาสได้คุยกับ “คุณเชอรี่-ชนิดาภา ชาติสุทธิวงษ์” ทายาทเจ้าของร้านเชียงใหม่กระดุมทอง ร้านตั้งอยู่บนถนนช้างม่อยตัดใหม่นั้นอยู่ใกล้ตลาดวโรรส หรือที่หลายคนรู้จักกันว่า “กาดหลวง” นั้นแหละครับแม้ว่าพื้นที่ร้านจะขนาดไม่ใหญ่มาก แต่ของในร้านเรียกได้ว่าอัดแน่นทุกมุม มีครบจบที่เดียวน่าจะได้ น้องเชอรี่พาไปดูอุปกรณ์ต่างๆ ตั้งแต่กระดุม ผ้าเมตร ซิป แทค และอีกมากมายที่ต่ายผู้ไม่เคยรู้เรื่องการตัดเย็บเสื้อผ้ามาก่อนนั้นไม่คุ้นเคยเลยก็ว่าได้
น้องเชอรี่อธิบายให้ฟังว่าตอนนี้ทำงานอยู่ที่ร้านตลอดมาได้เกือบ 5-6 ปีแล้ว แม้ก่อนหน้านั้นก็ลองทำอะไรหลายๆอย่างดู แต่สุดท้ายก็กลับมารับช่วงต่อจากพ่อและแม่ อาจจะไม่ใช่งานที่เป็นความฝันเหมือนที่ตั้งใจไว้ แต่นี่คือธุรกิจของที่บ้านที่อยากให้มันสามารถเติบโตไปข้างหน้าต่อได้
“น้องเชอรี่เป็นผู้หญิงที่เต็มไปด้วยพลังงาน” นี่คือสิ่งที่ต่ายสัมผัสได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เราได้คุยกัน สำหรับต่ายแล้ว ต่ายคิดว่าการสร้างธุรกิจเป็นของตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ซับซ้อนเท่าไหร่ มีไอเดีย มีช่องทาง มีทีม มีทุน ใครก็พอเริ่มกันได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถสืบทอดธุรกิจของที่บ้านได้ เพราะการสานต่องานที่พ่อกับแม่ทำมานั้นไม่ได้มีแค่อุปสรรคเรื่องความเห็นที่แตกต่างกันของชุดแนวคิดที่เติบโตมาคนละยุคสมัย ทั้งการเสียสละความฝันของตัวเองที่อยากทำเพื่อสานต่อสิ่งที่พ่อแม่วางเอาไว้ให้ มันจึงไม่ง่ายเลยกับการทำธุรกิจของครอบครัวแบบนี้ การคิดว่ามีพ่อแม่สร้างไว้ให้แล้วทุกอย่างก็แค่ทำต่อไปมันไม่จริงซะทีเดียว
ขอเล่าย้อนไปนิดหนึ่งครับว่าธุรกิจเริ่มต้นกันยังไง?
“ธุรกิจนี้จริงๆแล้วมันต่อเนื่องมาจากรุ่นของอากง อาม่า ตอนนั้นท่านขายอยู่บนชั้น 2 ของตลาดหลวง (ตลาดวโรรส) อากงอาม่าเริ่มต้นขายเครื่องสำอางค์และอุปกรณ์ตัดเย็บนิดหน่อย แต่พอมารุ่นคุณพ่อเอาลงมาเปิดข้างล่างก็เน้นไปที่อุปกรณ์ตัดเย็บ ตอนนี้ที่ร้านบนกาดหลวงยังมีคุณอาสองคนที่ดูแลอยู่”
“อากงมีลูก 4 คน ลูกทั้ง 4 คนก็ทำธุรกิจแนวนี้ทั้งหมดเลย ส่วนตัวเชอรี่เป็นรุ่นที่ 3 แล้วถ้านับจากที่อากงทำมา ก็ถือว่านานพอสมควร”
แต่อย่างที่บอกว่าทุกคนมีความฝันที่แตกต่างกัน ซึ่งการทำงานสานต่อธุรกิจของที่บ้านอาจจะไม่ใช่ส่ิงที่อยากทำ สำหรับเชอรี่เป็นอย่างนั้นไหม?
น้องเชอรี่หยุดคิดนิดหนึ่งแล้วก็เล่าต่อว่า “แต่พอเราลองไปทำหลายๆอย่างมาแล้ว เราก็เห็นว่าคุณพ่อคุณแม่เหนื่อยเราก็เลยอยากกลับมาช่วย เพราะในธุรกิจสมัยก่อนมันยังไม่มีระบบ เราเลยมองว่ายิ่งนับวันของที่ร้านมันก็เยอะ ระบบมันก็วุ่นวาย เราก็เลยอยากเข้ามาช่วยคุณพ่อคุณแม่” แล้วยิ้ม
เหตุผลอาจจะดูไม่ได้ซับซ้อนมากนัก ความตั้งใจเพียงแค่อยากให้พ่อแม่นั้นสบายขึ้น เบางานที่ทำอยู่ สร้างบางอย่างมั่นคงมากขึ้น เป็นระบบมากยิ่งขึ้นคือเป้าหมายหลัก แถมยังต้องเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
“เชอร์รี่มาทำเต็มตัวเลยมาประมาณ 5-6 ปีแล้วค่ะ ก่อนหน้านี้ก็ไปทำงานโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ จริงๆเชอร์รี่เป็นคนชอบขายของมาก ก่อนหน้านี้ก็ชอบหาอะไรมาขายออนไลน์ไปเรื่อยๆ อะไรที่เป็นงานขายเราก็จะถนัด”
”เราก็มาดูจริงๆจังๆว่าอะไรที่มันจะจัดเป็นระบบได้ เช่น ช่องทางการขายที่สมัยนี้เป็นที่นิยม หลักๆก็คือออนไลน์พอเราลงออนไลน์ ยอดที่ขายออนไลน์ก็ค่อยๆเพิ่มขึ้น แต่มันไม่ได้มาในวันเดียวนะ เราลงไว้เรื่อยๆ เพราะร้านเราไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรมาก แต่ก็พยายามขายในหลายๆแพลตฟอร์มที่ลงไว้ ก็มีออเดอร์มาบ้างในตอนแรกๆ แต่ลูกค้าก็ค่อยๆเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ หลังจากที่ซื้อไปครั้งแรกเขาก็จะกลับมาอีก”
“ต้องยอมรับเลยว่าตอนนี้หน้าร้านจะไม่ค่อยมีคนเยอะเท่าเมื่อก่อน อาจจะมีมาบ้างที่อาจารย์สั่งให้มาซื้อของ หรือเด็กวัยรุ่นบางคนเขาก็มาเดินเลือกก็มีนะ แบบมาดูเป็นชั่วโมงเลย กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่รักในงาน DIY ตัดเย็บเองที่บ้าน ก็มีนักเรียนสารพัดช่างก็มาเลือกของไปเรียนตัดเย็บ แต่ก็ซื้อแบบยิบย่อยมากกว่า อีกอย่างงานตัดเย็บเดี๋ยวนี้ก็ค่อยๆน้อยลง ช่างสมัยคุณพ่อคุณแม่ก็เลิกทำ รุ่นลูกก็ไม่มาทำต่อเลยทำให้ลูกค้าหน้าร้านหายไป ธุรกิจที่มาแทนก็จะเป็นโรงงานเสื้อผ้าที่รับทำเยอะๆไปเลย ไม่ได้เป็น customise เหมือนเดิมแล้ว งานโรงงานซึ่งตรงนี้ทำให้ธุรกิจหน้าร้านที่ขายปลีกเนี่ยดร็อปลง แต่ว่าเราก็เพิ่มช่องทางในออนไลน์”
ก่อนหน้าได้ช่วยที่ร้านไหม?
“ก่อนหน้านี้ก็ตั้งแต่เด็กจนเรียนจบก็จะอยู่ดูแลร้านตลอด ปิดเทอมก็จะมาช่วยทำงานเลยถูกปลูกฝังมาตลอดส่วนหนึ่งเลยทำให้เราได้ทำตั้งแต่เด็กๆและตอนนั้นก็ทำให้เราไม่ชอบด้วยเพราะปิดเทอมเพื่อนๆเขาไปเที่ยวกัน แต่พอโตมาจริงๆ เราก็รู้สึกขอบคุณนะคะ เพราะนั้นทำให้เรามีประสบการณ์การทำงานและแข็งแกร่ง”
“ตอนแรกๆไม่ได้คิดแบบนี้เลย ความคิดนี้จริงๆมาพลิกก็คือแค่เห็นแม่เหนื่อยแค่นั้นเลย เราเลยต้องจริงจังและมาทำงานเต็มที่ ต้องมาช่วย มาศึกษาว่ามันคือทำยังบ้าง มาขายอุปกรณ์ตัดเย็บทั้งๆที่ตัวเองเย็บผ้าไม่เป็นด้วยซ้ำ (หัวเราะ!!!) แต่ถ้าถามว่าตอนนั้นชอบไหมก็ไม่ชอบหรอก แต่เราก็มาศึกษาว่าตรงไหนเราจะช่วยจัดให้เป็นระบบได้ เพื่อจะให้เหนื่อยน้อยลง”
ได้ข่าวว่าช่วงแรกๆที่เข้ามาดูหนักมากเลย?
“ตอนมาทำสองสามเดือนแรก ลูกน้องออกหมดเลย!!!!” น้องเชอรี่หัวเราะหนักมาก
“คือเชอรี่เป็นคนที่เคร่งครัดกับงาน ก็ไม่รู้หรอกว่าสาเหตุที่พวกเขาออกคืออะไรกันแน่ แต่ว่ามีวันหนึ่งเรามาที่ร้าน ไม่มีพนักงานเลยสักคน ประตูร้านไม่ได้เปิด ลาออกโดยไม่บอกเรา คืองงมาก แล้วก็เครียดมาก ไม่รู้จะทำยังไงเลยตอนนั้น งานที่ร้านเราจำเป็นต้องมีพนักงานแต่วันหนึ่งอยู่ดีๆเขาก็ออกไปเลย เราก็เปิดรับสมัครใหม่ แต่ก็เจอปัญหาพนักงานเข้าๆออกๆสักพัก จนสุดท้ายเราต้องปรับ mindset เอาแค่ขายเท่าทัน มีพี่ชาย มีแม่ มีเราแล้วเริ่มจากตรงนั้นก่อน อย่าไปหวังพึ่งใคร เอาตัวเราเองที่มีก่อน ตรงนั้นก็เหมือนปลดล็อคความคิดตัวเองได้”
“จากนั้นเราก็เลยไม่ได้กังวลเรื่องพนักงาน ใครเข้ามาออกไปเราก็ไม่เป็นไร ก็ปรับแนวคิดในหัวไป แต่มันก็จะมีนิดนึงว่าตอนแรกถ้าเข้ามาเราจะทุ่มเทกับการสอนพนักงานมาก เราจะสอนงานเป๊ะทุกอย่างจนหลังๆ เราจะให้เขาอยู่สักพักหนึ่งก่อนแล้วค่อยๆสอนไปเรื่อยๆ ให้เข้ากับระบบของที่ร้านเราได้ ทำงานที่พอจะไว้ใจได้ ตอนนี้ก็มีพนักงานที่อยู่กันไปยาวๆปีสองปี”
“ต่อจากนั้นเราก็เริ่มพยายามทำระบบบาร์โค้ด แต่มันยังไม่สำเร็จเลยเพราะว่าของเราเยอะมาก คือแค่บอกว่าเอากระดุมใส่บาร์โค้ด แค่กระดุมอย่างเดียวก็เป็นร้อยๆอย่างแล้ว ก็เลยต้องปรับใหม่ ในเมื่อบาร์โค้ดมันยังทำไม่ได้ ก็ต้องลองเป็นวิธีการการจัดของให้หาง่ายมากขึ้น เวลาเดินหาของในร้านจะใช้เวลาไม่นาน ของก็เช็คง่ายขึ้น ตอนนี้ก็ไม่เละแล้ว ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น”
เรื่องการทำงานกับคนอื่นก็เรื่องหนึ่ง แต่การสานต่อธุรกิจของครอบครัวแบบนี้มี generation gap ไหม? หมายถึงแนวคิดที่แตกต่างกัน
“อันนี้ที่จริงมีกับคุณพ่อค่ะ เพราะคุณพ่อเขาเป็นคนเริ่มทำแล้วก็เป็นผู้นำสูง เขาก็จะมองว่ามันต้องเป็นแบบนี้ๆ แต่พอเราเข้ามาทำ บางอย่างเราก็จะคิดว่ามันไม่ได้นะ ก็มีความที่ขัดกันเยอะมากๆ โดยเฉพาะในตอนแรกๆ อาจจะเพราะเขายังไม่เชื่อใจด้วย แต่พอพ่อเห็นว่าเราจริงจังกับมัน หลายๆปีต่อมาพ่อก็จะไม่ค่อยมาคุมแล้วเพราะเขาวางใจเรามากขึ้น ให้เราตัดสินใจมากขึ้น ที่จริงเรื่องนี้ทุกอย่างอยู่ที่เราทำให้พ่อกับแม่เห็นมากกว่า การลงมือทำมันสำคัญกว่า เราทำให้พวกเขาเห็น”
“อีกอย่างหนึ่งอาจจะเพราะว่าคุณพ่อปลูกและฝากฝั่งเราตั้งแต่เด็กว่าเราต้องช่วยทำธุรกิจต่อ ตรงนี้เองอาจจะทำให้พ่อปล่อยวางได้ง่ายขึ้นด้วย ถึงแม้ว่าตอนเราเรียนจบเราไม่มาช่วยเลยเราไปทำธุรกิจที่อื่นต่อ เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร เขาถือว่าเราหาประสบการณ์ แต่ด้วยความที่เขาอยากให้เราทำอยู่แล้ว พอเราเข้ามาทำเต็มตัวและจริงจัง เขาก็เลยค่อยๆปล่อย เชอรี่ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาอยากให้เราทำอยู่แล้วด้วยนั้นแหละ”
พฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไปพอสมควรอย่างที่เชอรี่บอก ไม่ค่อยมีคนมาเดินซื้หน้าร้านเหมือนเมื่อก่อน ออนไลน์มากขึ้น มีกลุ่มไหนที่น่าสนใจเป็นพิเศษไหมครับ?
“ยุคนี้เป็นยุคที่แบรนด์เสื้อผ้าไอจีเยอะมาก เมื่อก่อนเราอาจจะขายส่งแต่ตอนนี้โรงงานหลายโรงงานก็ปิดตัวไปเยอะมาก เพราะฉะนั้นจะหวังล็อตใหญ่ๆทีเดียวเหมือนเมื่อก่อนเป็นเรื่องที่ยากแล้ว แถมไม่พอช่างก็แก่ตัวลง ไม่ทำต่อ เลิกทำกันไปเยอะ แต่ตอนนี้ที่เราเห็นก็คือธุรกิจแบรนด์เสื้อผ้าในไอจีที่เกิดขึ้นมาตลอด”
“คนที่สร้างแบรนด์ด้วยตัวเอง อาจจะลองตัดเย็บเสื้อผ้า 5 ตัวก็สร้างแบรนด์ได้แล้ว เขาอาจจะค่อยๆทำธุรกิจทีละเล็กๆที่ค่อยๆโต”
“อีกสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปคืออย่างเราเป็นร้านค้าที่เหมือนเป็นตัวกลางระหว่างโรงงานและลูกค้า แต่พฤติกรรมของลูกค้าตอนนี้คืออยากซื้ออะไรก็กูเกิ้ลก่อน แล้วก็จะเจอโรงงาน เขาก็จะทักไปหาโรงงาน ด้วยความที่ตอนนี้โรงงานออเดอร์เล็กๆก็เริ่มทำด้วย โรงงานเขาขายตรงๆก็ขายนะ ส่วนนี้ทำให้ลูกค้าบางส่วนของเราก็หายด้วย แต่ก็จะมีลูกค้าบางกลุ่มที่หาในเน็ตไม่ได้ก็จะมาเดินหาตามร้านค้าใหญ่ๆในเมืองบ้าง ตรงนี้ก็ยังพอมีลูกค้าใหม่ๆเพิ่มบ้าง”
“ตอนช่วงโควิดระบาดแรกๆนี่ขายไม่ทันเลย จังหวะที่คนกำลังหาผ้า หายางยืดไปทำหน้ากาก เราเหมือนอยู่ตรงนั้นพอดี เราไม่ได้ลงในช่วงที่ข่าวโควิดกำลังระบาดนั้น ที่จริงเราลงขายออนไลน์ก่อนนั้นมาได้เกือบสองปีแล้ว แต่สินค้าของเราเป็นอะไรที่ไม่ใช่สินค้าแมสที่คนจะมาซื้อทุกวัน แต่พอช่วงโควิด – 19 คนก็เข้ามาค้นหาแล้วก็อยากทำหน้ากากผ้า ซึ่งเราก็มีทั้งผ้า ทั้งยางยืด ตอนนั้นออเดอร์ก็เยอะมาก”
“เรารู้สึกขอบคุณตัวเองเลยที่ลงไว้ก่อน ถ้าเราไม่เคยทำไว้ก่อนก็คงไม่ได้ออเดอร์ตรงนั้น แม้ว่าตอนนี้ยอดออนไลน์อาจจะชะลอลงไปแล้ว แต่มันก็พอจะทดแทนหน้าร้านได้ ลูกค้าออนไลน์ที่เคยซื้อไปเขาก็จะจำได้ กลับมาสั่งอีก เหมือนเขาไว้ใจเราแล้วก็ซื้อใหม่ได้ไม่ยาก”
การขายออนไลน์เป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจน่าจะต้องมุ่งไปทางนั้น มีอะไรบ้างที่ยังอยากทำต่อจากนี้ เชื่อว่าน้องเชอรี่น่าจะมีวางแผนเอาไว้บ้าง?
“ที่แพลนไว้คือการจัดระบบให้ดีขึ้น ตัดระบบมนุษย์ออกให้มากที่สุด สต็อกสินค้าให้ดีขึ้น คือเรียนรู้พฤติกรรมการซื้อของลูกค้าให้มากขึ้น เข้าใจลูกค้ามากขึ้น เพื่อให้เราได้รู้ว่าอันไหนขายดีไม่ดีเผื่อว่าจะลดออกหรือว่าเสริมเข้ามา แล้วก็การเพิ่มช่องทางที่จะจัดระบบและลงสินค้ามาลงมากขึ้น”
“ส่วนหน้าร้านก็คิดว่าน่าจะยังมีนะคะ แต่อาจจะมีสินค้าอื่นมาเสริม ที่มองไว้อาจจะเป็นเหมือนร้านสะดวกซื้อที่เกี่ยวกับการตัดเย็บแบบเหมือนของร้านญี่ปุ่นไปเลย ที่เข้ามาแล้วหยิบจับง่ายขึ้น เข้ามาเลือก มาชม มาดู และถ้าเป็นไปได้แอบคิดว่าอยากขยายด้วยนะคะ แต่คงจะต้องทำสาขาแรกให้ดีก่อน”
คิดว่าการทำธุรกิจในสมัยนี้ทำยังไงถึงจะสำเร็จได้?
“ธุรกิจสมัยนี้ยากขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าทำอะไรไม่ได้หรือว่ายาก ถามว่ายากไหมยากขึ้นแน่นอน อย่างเชอรี่ก็มีความคิดว่าถ้าเป็นไปได้ก็ทำธุรกิจอีกอันที่น่าจะเป็นขายของเหมือนกันค่ะ เป็นการขายสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพแต่ไม่ได้ผลิตเองนะคะ อาจจะเป็นตัวกลางเหมือนกัน เรามองไว้และคิดว่าอยากจะทำ แต่เราต้องเห็นและปรับเปลี่ยนแนวให้ทันโลก อย่างร้านเชียงใหม่กระดุมทองถ้าเชอรี่ไม่เปลี่ยนไม่เพิ่มอะไรเลยจากที่ทำรุ่นพ่อรุ่นแม่ตอนนี้ก็น่าจะอยู่รอดยาก”
“ธุรกิจมันมีช่องทางทำได้แหละ แค่ว่าเรายังหามันไม่เจอและเราอาจจะเปลี่ยนแนวไปแล้วแต่ยังหาแนวไม่เจอ ตัวอย่างที่เราเห็นก็มีนะคะ ที่เขาก็รวยได้ ณ ปัจจุบันที่เราเห็นว่าเศรษฐกิจแย่มาก มันยังมีช่องทาง ซึ่งเชอรี่มองว่าจุดนี้มันอยู่ที่ตัวเราและความคิดเราว่ากล้าลองไหมที่จะเปลี่ยน”
“ถ้าเรากล้าลอง กล้าหาใหม่ๆทำมันอาจจะไม่ประสบความสำเร็จแต่ถ้าเราไม่ลงมือเลย คิดเฉยๆสุดท้ายเราก็จะไม่ทำอะไรสักอย่าง เราก็จะอยู่ที่เดิม แล้วเราก็จะบ่นว่าธุรกิจอันนี้มันยาก มันทำได้แค่ต้องเปลี่ยนแนวให้โดน”
“ธุรกิจตอนนี้ต้องปรับตัวค่ะ และเชอรี่เชื่อว่าคนทุกคนปรับตัวได้อยู่แล้ว ช่วงแรกอาจจะเหมือนช็อกไปก่อน จากร้อยเหลือศูนย์ แต่เราจะต้องมาคิดว่าจะทำยังไงให้จากศูนย์นั้นมันกลับขึ้นมา ซึ่งเชอร์รี่มองว่าเราต้องลอง มันต้องมีทางแต่อาจจะไม่ได้เท่าเดิม อย่างน้อยมันก็ไม่ศูนย์”
6 ปีที่ผ่านมาเชื่อว่าน้องเชอรี่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก มีอะไรที่คิดว่าเห็นชัดเจนที่สุด?
“เปลี่ยนมาก โดยเฉพาะเรื่องวินัย เราก็อยู่ไปตื่นสายบ้างอะไรบ้าง แต่ทุกวันนี้เราต้องตื่นมาวิ่งออกกำลังกายแล้วก็ทำงานกี่โมงๆ ควบคุมวินัยตัวเองได้เยอะขึ้น”
“รู้สึกว่าวิ่งตอนเช้ามันทำให้เรารู้สึกดี เหมือนทำให้เรามั่นใจในช่วงนั้นมากขึ้น เหมือนว่าวันนี้ทำเรื่องยากๆไปแล้ว ทุกอย่างที่เหลือจะไม่ยากอีกต่อไป ทำให้พร้อมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นมายิ่งขึ้น”
“ที่จริงเชอรี่เริ่มวิ่งตอนช่วงพี่ตูนวิ่งค่ะ ก่อนหน้านั้นเราก็สนใจพวกการวิ่งอยู่แล้วก็มาพอดีกับที่พี่ตูนวิ่งเราก็เลยเริ่มวิ่งงานนั้นงานแรก และเริ่มก็ออกกำลังกายจริงจังเลย 3ปี พอหลังๆมาเราก็มีวินัยมากขึ้น การได้ตื่นเช้าและออกกำลังกายมันทำให้เรารู้สึกว่ามีวินัยมากขึ้นและปรับ mindset พอเราไปทำงานอื่นวินัยตรงนั้นเราก็ได้ใช้เยอะมาก”
แรงบันดาลใจในการทำธุรกิจสำคัญแค่ไหนและถ้ามีคนมาถามเรื่องการทำธุรกิจตอนนี้?
เชอรี่ยิ้มๆ ก่อนจะตอบว่า “แรงบันดาลใจก็คือเงิน” หัวเราะเสียงดัง
“อาจจะเป็นของเชอรี่ เราทำทุกอย่างเพราะอยากได้เงิน เงินมันเป็นตัวขับเคลื่อนแต่เราก็ต้องดูว่าเรามีความถนัดอะไร ถ้ารู้แล้วก็ลองเลย การเริ่มต้นธุรกิจเริ่มต้นจากการลอง แต่เราอาจจะต้องลองจากเล็กๆลงทุนเล็กๆ เช่น เชอรี่เริ่มแบรนด์เสื้อผ้าก็เริ่มจากแค่ 5 ตัว ถ้ามันไปต่อไม่ได้เราก็เจ็บตัวน้อยแต่มันคือการลอง การทำธุรกิจการลองมันสำคัญ มันคือการหาประสบการณ์ถ้าเราไม่ลองทำอะไรเลยมันก็ไม่รู้ว่าเราจะไปจุดไหน”
เชอรี่เป็นผู้หญิงที่น่าทึ่ง เธอทำงานหลายอย่างมาก นอกจากจะดูแลร้านเชียงใหม่กระดุมทองเป็นหลักแล้ว ยังมีงานรับถ่ายแบบ มีธุรกิจแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเอง ธุรกิจเช่าเสื้อผ้าออนไลน์อีกด้วย ตลอดการสนทนากันวันนั้นน้องเชอรี่เอ่ยถึงคำว่า “กล้าลองทำ” อยู่บ่อยๆ ซึ่งต่ายเชื่อว่านั้นคือตัวตนของน้องที่ไม่หยุดนิ่ง เป็นคนที่พร้อมวิ่งเข้าหาโอกาสถ้าเจอ แม้ว่าจะไม่รู้ว่ามันจะดีหรือไม่ดียังไง
แต่ก็อย่างที่น้องบอก ‘ถ้าเราไม่ลองทำอะไรเลยมันก็ไม่รู้ว่าเราจะไปจุดไหน’
มันยังเป็นความจริงอยู่เสมอ
ช่องทางติดต่อ
เฟซบุ๊คแฟนเพจ : https://facebook.com/cmkdt
อินสตราแกรม : https://www.instagram.com/kradoomthong.cnx/
ไลน์ : http://line.me/ti/p/%40cmkdt
เบอร์โทรศัพท์ : 081 672 7822