เสมือนว่านี่คืองานสุดท้ายของเรา : คุณจ้ำ – ณริสสร สมสวัสดิ์ ประสบการณ์ 20 ปี สู่ KRISP Cafe‘
การระบาดของโควิดระลอก 3 ทำให้ประเทศไทยเป็นกลายเป็นอัมพาตจนถึงตอนนี้ (ซึ่งก่อนหน้านี้ก็อาการหนักเดี้ยงมาสักพักหนึ่งแล้วนะ) เชียงใหม่ถือว่าได้รับผลกระทบครั้งนี้เป็นอย่างมาก เพราะมีทั้งการตั้งเคอร์ฟิวที่ไม่ใช่เคอร์ฟิว ทั้งการสั่งปิดไม่ให้มีการนั่งที่ร้านแบบไม่มีกำหนด ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่นั้นประสบปัญหากันถ้วนหน้า หลายแห่งต้องมีการปรับ บ้างปรับเปลี่ยนวิธีเข้าถึงลูกค้า เปลี่ยนมุมของการตลาด การออกแบบโปรโมชั่น ไปจนถึงเรื่องการปรับเปลี่ยนแนวคิดแผนธุรกิจ บางแห่งต้องหาลูกค้ากลุ่มใหม่เพื่อจะประคองธุรกิจให้อยู่รอดผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากตรงนี้ไปให้ได้
ก่อนโควิดระลอกนี้ เราจะเห็นว่ากระแส “ครัวซองต์” กำลังเริ่มได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก อารมณ์เหมือนช่วงที่ชานมไข่มุกได้รับความนิยมเมื่อประมาณ 2-3 ปีก่อนนั้นแหละ ตอนนี้ก็เริ่มมีร้านครัวซองต์ใหม่ๆเริ่มออกมาให้เห็นกันเยอะมากขึ้น (ขนาดเพื่อนต่ายเองยังมีไปเรียนทำแล้วเปิดร้านจากบ้านจริงๆจังๆเหมือนกัน) แต่มีร้านหนึ่งที่ต่ายรู้สึกสนใจเป็นพิเศษชื่อว่า KRISP Cafe’ ไม่ใช่เพียงเพราะหุ้นส่วนของร้านเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเท่านั้น แต่ต่ายสนใจเรื่องของมุมมองในการทำธุรกิจร้านคาเฟ่ในเชียงใหม่ที่การแข่งขันค่อนข้างสูง การมาถึงของกระแสครัวซองต์ที่จะเป็นยังไงต่อไป ที่สำคัญคือเรื่องการปรับตัวในช่วงโควิดที่ลูกค้าไม่สามารถมานั่งทานที่ร้านได้จะเป็นยังไงซะมากกว่า
วันนี้ต่ายก็มีโอกาสได้มาพูดคุยกับ คุณจ้ำ-ณริสสร สมสวัสดิ์ หุ้นส่วนหลักจากร้าน KRISP Cafe ตอนที่ต่ายมาถึงร้าน พี่จ้ำกำลังจัดแจงรายละเอียดเรื่องการส่งของต่างๆที่หน้าเคาน์เตอร์ พนักงานต่างกำลังจัดเรียงครัวซองท์ มีกล่องพัสดุวางอยู่บนโต๊ะที่ร้านหลายสิบกล่อง หลังจากยกมือไหว้ทักทายกันเรียบร้อย เราก็มานั่งหามุมเงียบๆคุยกันที่ชั้นสอง (อย่างแรกต้องบอกว่าร้านสวยมากกกกกกก เปิดให้นั่งเมื่อไหร่รับรองว่าคนเต็มร้านแน่นอน)
คุณจ้ำเริ่มเล่าให้ต่ายฟังว่าก่อนหน้านี้คุณจ้ำทำงานสายอาหารมาประมาณ 21 ปี โดยเริ่มแรกคุณจ้ำเป็นผู้จัดการฝ่ายอาหารที่ห้างคาฟูร์ (ยังจำได้ไหม จำได้รึเปล่า?) จากนั้นก็มาเริ่มเปิดร้านของตัวเองร้านแรกที่บลูคอนเนอร์ จากนั้นก็เปิดบุฟเฟต์เฮ้าท์ และ Mix Restaurant และธุรกิจต่างๆอีกหลายแห่งทั้งในเชียงใหม่ ในต่างจังหวัดและในต่างประเทศ
“ระหว่างนั้นก็มีช่วงหนึ่งที่ผมไปเป็นอาจารย์ด้วย เคยสอนหนังสืออยู่ประมาณ 12 ปีได้ สอนสิ่งที่เราเรียนมาโดยตรง ผมเรียนประวัติศาสตร์ที่ มช. ทั้ง ป.ตรี ป.โท — อาหารคือความรัก แต่ประวัติศาสตร์คือความชอบ”
ทำไมต้องเป็นครัวซองต์?
“จริงๆร้านนี้ผมแพลนมาสองปีแล้ว ตอนนั้นถ้าดูพวกขนมในร้าน Mix จะเป็นพวก Plated Dessert (ขนมหวานที่ตบแต่งสวยงามบนจาน) คนก็อาจจะเข้าถึงยาก อย่าง Saruda Finest Pastry คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้นเพราะเป็น เค้กที่ขายเป็นชิ้น แต่ค่อนข้างบอบบางส่งข้ามจังหวัดค่อนข้างยาก และ Plated Dessert เป็นขนมที่คนต้องมาทานที่ร้าน ถ้าเป็นครัวซองต์คนทั่วประเทศน่าจะเข้าถึงง่ายกว่า สามารถส่งไปที่ใกลๆได้ จึงสนใจทำครัวซองต์”
“ส่วนหนึ่งที่เป็นจุดสำคัญคือพาร์ทเนอร์ที่เป็นอินฟูเอนเซอร์ของเราอย่างคุณพลอย ชิดจันทร์ น้องขยันมาก ทำคอนเทนท์ ลงยูทูป อัพเตทร้านตั้งแต่เริ่มสร้าง ทำให้มีคนติดตามกันเยอะ เปิดร้านมามีคนมาถ่ายรูป และแชร์ภาพร้านกันหลักหลายพัน เพราะร้านสวย ครัวซองต์เลิศ จึงไม่ต้องใช้งบโปรโมทร้านมาก สวนทางกับการทำร้านอาหาร คนละทางเลยนะ — ครัวซองต์เป็นขนมที่ทำตลาดไม่ค่อยยากเท่าไหร่เพราะว่าอยู่ในกระแส ก่อนหน้านี้อย่างมิกซ์เนี่ยการใช้งบประมาณต่างกันเยอะมากๆ สวนทางคนละทางเลยนะ”
“ถ้าเป็นร้านอาหาร ให้คนมานั่งทานในภาวะโควิดแบบนี้ ค่อนข้างทำตลาดยาก แต่พอเป็นขนมมันก็คิดง่ายมากขึ้น คนซื้อทานกันง่ายขึ้น ทั้งการขนส่งอะไรด้วย ผมมองการทำพวกโปรดักส์อย่างนี้เหมือนนักวิชาการ ถ้าเขียนหนังสือมาละไม่มีคนอ่านมันก็จะไม่ค่อยมีประโยชน์ ถ้าทำโปรดักส์คุณภาพคนเข้าถึงได้น่าจะดีกว่า”
คุณจ้ำเล่าให้ต่ายฟังคราวๆว่าทีมเบคเกอร์ของร้านให้ความสำคัญกับตัวครัวซองต์มากๆ นอกจากที่ร้านจะเลือกใช้วัตถุดิบที่ดีที่สุดแล้ว การเตรียมแป้งและเนยให้พร้อมต้องใช้เวลา 3 วัน แต่การพรูฟแป้ง และอบครัวซองต์ จะทำให้จบในวันเดียว ไม่พรูฟค้างคืน ทีมเบคเกอร์เลยต้องเริ่มงานกันตั้งแต่ตี 3 ทุกวัน เพื่อให้อบขนมและพร้อมสำหรับการวางขายในช่วงเช้า เรียกได้ว่าครัวซองต์ที่ร้านคริสป์ทุกอย่างคือพิถีพิถันเป็นอย่างมากในทุกๆขั้นตอนเลยทีเดียว
“ช่วงนี้อาจยังเป็นช่วงลมเพลมพัดอยู่ แต่สุดท้ายสิ่งที่จะทำให้เราอยู่ได้นานไม่นานขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของตัวสินค้าของเรา สถานที่ของเรา ซึ่งเรื่องพวกนี้ก็เลยทำให้เราวางแผนมานาน ซึ่งนั้นก็ถือว่าเป็นข้อดีเหมือนกันทั้งเรื่องการออกแบบ และขนม ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่าขนมของเราเนี่ยค่อนข้างจะหลากหลาย”
ขอบคุณรูปขนมฟินองซิเออร์จากทางร้าน
“ขนมหลายตัวมาจากแพชชั่น อย่าง ฟินองซิเออร์ (Financier) ใช้เวลาลองผิดลองถูกมาราวๆ 3-4 ปี เราไปลองทานที่ร้านดังในโตเกียวและปารีสมาแล้วรู้สึกว่ามันอร่อยมาก อยากทำให้ได้แบบนี้ แล้วก็จำสัมผัสและรสชาติของมันเอาไว้ ซึ่งตัวนี้คิดก่อนครัวซองต์อีก ปรับมาเรื่อยๆ ทั้งอุณหภูมิและวัตถุดิบ จนเจอสิ่งที่เราต้องการ จากนั้นก็เกิดการต่อยอดไปสู่รสชาติอื่นๆ”
“อย่างตัวหนึ่งเช่น ฮาเซลนัสฟินองซิเออร์ ปกติแล้วฟินองเซเออจะทำจากอัลมอลต์ 90% แต่อันนี้เป็น ฮาเซนัทบด 90% ราดด้านบนด้วยฮาเซนัทพารีน ที่ได้จากการนำฮาเซนัทไปอบคาราเมลก่อนปั่นให้เป็นของเหลว ซึ่งเป็นเทคนิคทาง pastry ที่เรานำมาใช้กับ Baker”
“เชฟศรุดา*ยังเคยเรียนทำแยมกับเชฟสเปนมา แยมที่นี่ตัวหนึ่งใช้เวลา 3-5 วันกระทะก็ต้องสั่งฝรั่งเศสมา ถ้าถามว่าทำไมใช้กระทะทองเหลืองไม่ได้ เชฟศรุดาให้เห็นผลว่าเพราะโลหะทั้งสองมีการนำความร้อนที่ต่างกัน เวลาทำก็ต้องมีการวัดค่าความหวาน วัดค่ากรดด่าง ทุกอย่างต้องสัมพันธ์กันหมดเลย มันเป็นศาสตร์ที่ลึกหมดของแต่ละสาย พอเราเอามาเสิร์ฟในรูปแบบของครัวซองต์ เราเลยได้ครัวซองต์ในมิติที่แตกต่าง บางคนอาจจะรู้สึกเฉยๆก็ได้ เพราะบางคนอาจจะมีรสชาติในใจของเขา แต่สิ่งที่เราทำคือสิ่งที่พยายามมอบอะไรที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า”
การปรับเปลี่ยนตัวเองเมื่อเจอโควิดทำยังไง เมื่อลูกค้าเข้ามาหาเราไม่ได้
คุณจ้ำเล่าให้ต่ายฟังว่าร้านนี้เปิดมาในช่วง COVID-19 พอดิบพอดี เปิดร้านช่วง 3 วันแรกก็มีปัญหาที่จอดรถไม่พอรบกวนเพื่อนบ้าน แต่โชคดีที่สามารถแก้ไขได้ทันการณ์ จนทุกวันนี้ร้านมีที่จอดรถของร้านเกือบ 50 คัน เรื่องของไทม์ไลน์ผู้ป่วย COVID-19 ที่ทำให้ต้องปิดร้าน พาน้องพนักงานไปตรวจและทำความสะอาดตามมาตราการหยุดร้านไป 14 วัน หลังจากนั้นเปิดมาไม่กี่วันก็มีมาตราการไม่ให้นั่งทานที่ร้าน คุณจ้ำบอกกับต่ายว่าก็ต้องปรับตัว เอาเก้าอี้ออกไปทั้งหมด เปิดขายแบบเดลิเวอรี่และกลับบ้านอย่างเดียวเลย
สิ่งที่ต้องเปลี่ยนเลยคือแนวคิดของร้านว่าตอนนี้เราจะทำยังไงให้เข้าถึงลูกค้าที่อยู่ต่างจังหวัด ต่างพื้นที่ให้ได้ ใส่กล่องแพคส่งแบบเย็นให้สินค้าไปถึงโดยยังคงรสชาติที่ดีได้ยังไง ปรับตัวจากร้านที่ตั้งเป้าว่าจะเปิดให้คนเข้ามานั่งมาทานที่ร้าน ก็ต้องกลายเป็นการส่งให้ถึงมือลูกค้าแทน ค่าส่งแม้ไม่ได้ถูกเพราะเป็นแบบรถเย็น แต่ยังมีกลุ่มลูกค้าที่พร้อมลองสั่งไปทานที่บ้านอยู่ แม้ไม่รู้ว่าวิกฤตครั้งนี้จะยาวไปอีกนานแค่ไหน ตรงนี้ก็ถือว่ายังพอเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้ไปต่อได้อยู่
ครัวซองต์จะเป็นกระแสไปอีกนานแค่ไหน
“ถ้าให้มองในมุมมองนักประวัติศาสตร์ มองว่า สินค้าเหล่านี้มีวัฏจักรของมัน อย่าง มาการอง บิงซู ชานมไข่มุก เฉลี่ยแล้วเป็นที่นิยมมากในข่วงเวลา 5-6 ปี ดังนั้นครัวซองต์อาจยังมาไม่ถึงครึ่งทาง หากมองให้ลึกขึ้นครัวซองต์เป็นเพียงหนึ่งในขนมแนว Viennoiserie (ขนมอบที่ใช้วิธีอบคล้ายๆกับขนมปัง) ที่เรายังสามารถนำเสนอขนมชนิดอื่นๆ ออกมาได้อีกมากมายหลายชนิด และที่ Krisp เราก็มีขนมอื่นๆ ออกมาให้ลูกค้าได้ชิมและเรียนรู้กันตลอดเวลา”
คุณจ้ำเล่าให้ต่ายฟังว่า คุณจ้ำยังเป็นคนที่ชอบสะสมงานศิลปะ ที่นี่ก็เลยทำเป็นที่แสดงงานศิลปะด้วย ที่นี่จะมีห้องแสดงงานศิลปะ 3 ห้อง และบางชิ้นก็จะเป็นของสะสมของคุณจ้ำ ส่วนงานศิลปะก็จะมีการแสดงหมุนเวียนเปลี่ยนกันไป อย่างช่วงนี้ก็จะเป็นการแสดงงานของคุณสิงห์ทอง โดยห้องแสดงงานเหล่านี้คุณจ้ำดีไซน์ร่วมกับสถาปนิก(Also Design)
สถานที่ตรงนี้เดิมทีเป็นของคุณน้าของคุณจ้ำ(พ่อเลี้ยงอุดรพันธ์ จันทรวิโรจน์) ที่ส่งต่อมาให้พี่สาว ซึ่งคุณจ้ำก็ได้เก็บโครงสร้างเดิมเอาไว้แล้วก็ปรับฟังชั่นต่างๆในบ้าน เสริมความแข็งแรงเข้าไป คุณจ้ำเล่าให้ต่ายฟังว่าบ้านหลังนี้กว่าจะลงตัวก็ใช้เวลานานพอสมควร ทั้งเรื่องของแบบที่สร้าง วัสดุ ไม้ และการใช้สอยสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ในรูปแบบใหม่ เช่นสระว่ายน้ำที่ใช้ไม่ได้แล้ว ก็เอามาปรับให้เป็นที่นั่งถ่ายรูป เป็นขั้นบรรได เป็นเหมือนลานคอนเสิร์ตเล็กๆถ้าอยากใช้ก็ได้เช่นกัน
“เท่าที่เห็น ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาที่ร้านมักเน้นถ่ายรูปกับสถานที่มากกว่าขนม แรกๆ ก็นึกสงสัยว่าขนมยังไม่ดีหรืออย่างไร จนพบว่าหากวันไหนครัวซองหมดเร็ว ลูกค้าก็กลับเลยเหมือนกัน จึงพอสรุปได้ว่าทั้งร้านและขนมของเราโดดเด่นไม่แพ้กัน เพียงแต่ยุคนี้เป็นยุคถ่ายภาพตัวเองลงไอจี มากกว่าเน้นถ่ายภาพขนม(อาหาร)”
“พอเราเข้ามาทำบ้านหลังนี้ก็นึกอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นบ้านน้าของเรา จึงตั้งใจทำมากเป็นพิเศษ ส่วนที่เป็นเสน่ห์ทุกอย่างก็ยังคงเก็บไว้อย่างซุ้มโค้ง บันได สระว่ายน้ำบางอย่างก็จะมีการเปลี่ยนฟังชั่น”
“บ้านหลังนี้ใช้เวลาออกแบบนาน 4 เดือน และรีโนเวทอีก 6 เดือนครับ ใจผมอยากจะเร่งให้เสร็จเร็วที่สุด ช่างเกือบ 20 คนมาช่วยกัน ผมเองก็มาช่วยสร้างเหมือนเป็นโฟแมนคุมงานและลงมือทำเองในส่วนที่เราสามารถช่วยทำได้ ” คุณจ้ำพูดแล้วก็หัวเราะ
ถ้ามีอะไรที่สามารถฝากให้กับคนที่อยากทำธุรกิจในตอนนี้
“อันดับแรกเลย ถ้าอยากทำให้ธุรกิจนั้นมั่นคง เราต้องรักในธุรกิจนั้น และทุ่มเทให้เต็มที่ พยายามเป็นผู้นำในธุรกิจนั้นให้ได้ รวมทั้งต้องมีการพัฒนาสินค้าของเราอยู่เสมอ และวางแผนแก้ไขปัญหาให้ทันเหตุการณ์ ทั้งหมดนี้เรายังควรมีทีมที่ดีคอยสนับสนุน ในเรื่องการออกแบบ การประชาสัมพันธ์ และสร้างภาพลักษณ์ให้สินค้าและแบรนด์ เพราะว่าโจทย์สมัยนี้เปลี่ยนไปเมื่อก่อนทำอาหารให้สวยก็อาจจะจบ สถานที่จะเป็นที่ที่เสริมบรรยากาศให้อาหารจานนี้ ให้น่านั่ง น่าดื่ม แต่ทุกวันนี้โจทย์เปลี่ยนไปแล้วการดีไซน์ร้านเพื่อให้คนมาถ่ายภาพกับสถานที่กลายเป็นเรื่องสำคัญ และหากจะทำอะไรก็ควรเต็มที่กับธุรกิจนั้น เสมือนว่าเป็นธุรกิจสุดท้ายของชีวิต ซึ่งหากสำเร็จ มันอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายธุรกิจที่ยิ่งใหญ่และ มั่นคงในอนาคต”
และถ้าเป็นน้องๆที่เรียนจบด้านอาหารมาละครับ
“อันดับแรกขอเป็นกำลังใจให้น้องๆทุกคนนะครับ อยากแนะนำว่าถ้าเรียนจบด้านนี้มาควรไปหาประสบการณ์ผ่านการทำงานเป็นลูกจ้างในกิจการที่ประสบความสำเร็จก่อน เพื่อพัฒนาทักษะความรู้ และระบบการจัดการ ทั้งนี้ยังมีอะไรอีกหลายเรื่องที่ในสถาบันการศึกษาไม่ได้สอนเรา เช่นเรื่องการตลาด หรือปัญหาการทำธุรกิจที่สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน การจัดซื้อ และปัญหาของบุคลากร ที่คนไม่ผ่านการทำงานจริง คงยากที่จะรู้และเข้าใจ
วันหนึ่งเมื่อเราพร้อม ค่อยเริ่มเปิดกิจการของเราเอง ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จครับ”
เมื่อพูดถึงเรื่องอาหาร ก็เลยอดถามต่อไม่ได้ว่าต่อไปจะมีโอกาสไหมที่จะเห็นอาหารในร้านคริสป์
“มีครับ” (ตอบอย่างรวดเร็ว! แล้วก็หัวเราะ)
“ตอนนี้ออกแบบไว้หมดแล้ว เหลือแค่รอให้เปิดนั่งกินที่ร้านได้ ตอนนี้ที่แพลนไว้ก็จะมีประมาณ 29 เมนู แต่จะเน้นให้บริการ อาหารยุโรปเรียบง่าย เช่น พาสต้าที่ทำเส้นกันสดๆ วันต่อวัน สลัด ซุป ขนมปังบริยอชที่ใส่ใส้ต่างๆ เช่น ไส้กุ้ง / เนื้อปู / เนื้อวากิว และเห็ดทรัฟเฟิล และยังมีสเต็กชั้นดีที่ให้บริการในมื้อค่ำ”
“อีกเรื่องหนึ่งที่ลืมบอกไป ที่นี่เรามีพาร์ทเนอร์ที่แข็งแกร่งด้านกาแฟด้วยนะครับ เป็นรุ่นนน้องของผมที่สนิทกันมาตั้งแต่ ม.ปลาย แกทำกาแฟมากว่า 18 ปี ตั้งบริษัทให้บริการกาแฟครบวงจรชื่อ All About Coffee จริงๆคนทำกาแฟดีๆที่เชียงใหม่มีเยอะมาก แต่เราก็พยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราสามารถทำได้ — ตอนนี้อยู่ระหว่างสั่งเครื่องชงกาแฟเครื่องใหม่ราคาเกือบล้านบาท เพราะสามารถสกัดรสชาติและกลิ่นของกาแฟได้อย่างยอดเยี่ยม”
“และเจ้าของร้านและเชฟ ร้าน Redbox ที่ได้รางวัล Michelin plate มาถึง 2 ปีซ้อนติดต่อกัน”
หลังสัมภาษณ์คุณจ้ำให้เกียรติพาต่ายเดินทัวน์รอบๆฮะ ละก็ชี้ให้ดูลานหิน
เชื่อไหมครับว่าวันนั้นต่ายได้ชิมครัวซองต์ของทางร้าน สิ่งหนึ่งที่ต่ายบอกได้เลยคำเดียวคือมันมีความสมดุลย์ขององค์ประกอบหลายๆอย่างรวมกัน ทั้งผิวสัมผัส กลิ่นเนยหอมที่กลมกล่อม ไม่โดด ความกรอบด้านนอกของผิวครัวซองต์ที่อบใหม่ กัดเข้าไปข้างในกลับนุ่มนวลจนหยุดทานไม่ได้ แต่ที่ต่ายว่าเด็ดกว่า (อันนี้คิดเองเลยนะ) คือเจ้าตัว Madeleine หรือขนมไข่ฝรั่งเศสรสออริจินอล ที่โอ้โห…นอกจากลายข้างนอกจะสวยแล้ว ตัวหยักเรียบกริ๊บ สีน้ำตาลเท่ากันทั้งก้อน กัดคำแรกเท่านั้นแหละ ข้างในชุ่ม เนียน หอมวานิลลา แบบ…ตายไปเลย ซึ่งต่ายบอกได้เลยครับว่า ร้านนี้มีมากกว่าครัวซองต์และถ้ามาเดินดูดีๆจะพบความใส่ใจในลายละเอียดของคุณจ้ำและเหล่าพาร์ทเนอร์ที่รังสรรค์ทำให้เกิดร้านนี้ขึ้นมา และก็เหมือนกับที่คุณจ้ำบอกจริงๆครับว่า
ข้อมูลเพิ่มเติมของ “เชฟศรุดา” นะครับ
เชฟศรุดา เป็นเชฟที่มีประสบการณ์การทำขนมมากว่า 14 ปี เชฟเคยผ่านการเรียนรู้การทำขนมระดับสูงจากเชฟระดับโลกมาแล้วหลายท่าน เช่น Cedric Grolet เชฟขนมหวานอันดับ 1 ของโลกในปี 2017-2018 [World Best Pastry Chef], Bedros Kabranian เชฟขนมอบอันดับ 2 ของโลกปี 2019 [World Baker of the year], Olivier Bajard เจ้าของสถาบันทำขนม Olivier Bajard International Patisserie School ในฝรั่งเศส และ Julien Alvarez แชมป์โลกขนมหวาน [World Champion Pastry] ปี 2011
ข้อมูลติดต่อ
ที่อยู่ร้าน : ร้านอยู่ในซอย ศิรินธร ( ส.เภสัช) เยื้อง มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่
Instagram : @krisp.cafe
Facebook Fanpage : KRISP Cafe’
Tel : 063 525-4245